“Finally I Can See God!” การสื่อสารเชิงบวกในภาวะ COVID-19

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต

คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Facebook Pages: กระแสอินเดีย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563
https://www.facebook.com/KrasaeIndia/posts/123031236037759?__tn__=K-R

แคมเปญ “Finally I Can See God!” หรือ “ในที่สุด ฉันก็เห็นเทพเจ้า” เป็นแคมเปญที่ทำขึ้นโดยบริษัทโฆษณาเล็ก ๆ ชื่อ Kanade Advertising ตั้งอยู่เมือง Ichalkaranji รัฐ Maharashtra ประเทศอินเดีย เพื่อโปรโมตบริษัทตัวเอง ผ่านการรณรงค์เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าในประเทศอินเดีย

แคมเปญนี้เป็นสื่อโฆษณาดิจิทัล โดยแนวคิดหลักของแคมเปญ ก็คือ ผู้คนในประเทศอินเดียกำลังเผชิญกับโรคร้ายอย่างโคโรนาไวรัส

“ใครก็ตาม” ที่ช่วยชีวิตผู้คน ก็คือเป็น “เทพเจ้า” สำหรับพวกเขา

ดังนั้น ภาพที่สื่อออกมาจึงเป็นภาพของตำรวจ หมอ และคนกวาดถนน แต่สวม “ศิราภรณ์” หรือเครื่องประดับศีรษะเหมือนเทพเจ้า เพื่อสะท้อนมุมมองของประชาชนทั่วไปที่มีต่อผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้

แล้วทำไมต้องเป็น 3 อาชีพนี้ ?

หมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์

บุคคลที่ต้องรับมือโดยตรงกับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส ยิ่งถ้ามีผู้ติดเชื้อมาก บุคลากรทางการแพทย์ก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาโรคนี้โดยตรง

ตำรวจ 

เรามักจะเห็นแต่ภาพของตำรวจที่ถือไม้ไล่ตีผู้คนในอินเดียที่ทำผิดกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคมในช่วงวิกฤติการณ์โคโรน่าไวรัส หากมองมุมกลับ การกระทำของตำรวจนั้น ก็เพื่อที่จะทำให้เกิดระเบียบ และลดหรือบรรเทาจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด เพื่อหยุดโคโรนาไวรัส ตามที่แคมเปญต้องการจะสื่อสาร

คนกวาดถนน 

แม้ว่าจะเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยในสังคม และถูกมองข้ามมากที่สุด แต่เราต้องไม่ลืมว่า หากไม่มีคนกวาดถนนแล้ว ใครเล่าจะดูแลขยะมูลฝอยต่าง ๆ ที่อาจเป็นแหล่งของเชื้อโรคหรือพาหะนำโรคโคโรนาไวรัสนี้

ทั้งสามอาชีพนี้ คือตัวแทนคนตัวเล็ก ๆ ในสังคม เป็นอาชีพที่หลายคนมองข้าม แต่กลับเป็นมดงานที่สำคัญช่วยปกป้อง ป้องกัน หรือแม้กระทั่งช่วยชีวิตผู้คนจากโรคร้าย คนตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ คือเทพเจ้าที่แท้จริงของพวกเขา ทำงานหนักเพื่อคนอื่น มากกว่าที่จะคิดถึงตัวเอง คนตัวเล็ก ๆ เหล่านี้คือบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องและเชิดชูอย่างแท้จริง

แคมเปญ “Finally I Can See God!” หรือ “ในที่สุด ฉันก็เห็นเทพเจ้า” นี้ เป็นตัวอย่างของการสื่อสารเชิงบวกที่ดีตัวอย่างหนึ่ง การสื่อสารเชิงบวก หรือ Positive Communication เป็นการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ ให้กำลังใจ ทำให้มองโลกในแง่ดีและมีความรู้สึก (หรืออารมณ์) เชิงบวกต่อเรื่องนั้นๆ

แคมเปญนี้จึงเปรียบเทียบบุคคลตัวเล็กๆ ในสังคม เสมือนเป็นเทพเจ้าตัวจริงในช่วงภาวะวิกฤตินี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั้งในอินเดียและทั่วโลก เคารพ หรืออย่างน้อยเข้าใจและเห็นใจผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ ที่ทำงานเพื่อหยุดเชื้อโคโรนาไวรัสเพื่อพวกเราทุกคน

ในช่วงเวลานี้ ประชาชนทุกคนมีความเครียด และความกังวลใจเพียงพอแล้ว ดังนั้นการสื่อสารที่ตอกย้ำความผิดพลาดหรือมุ่งเป้าประนามกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่จะช่วยให้เราหยุดเชื้อโรคหรือผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ แต่การเคารพและเข้าใจผู้อื่น เพื่อให้กำลังใจทั้งตนเองและผู้คนรอบข้าง น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยชุบชูใจพวกเราทุกคนในวิกฤติการณ์เช่นนี้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

– https://www.adsoftheworld.com/…/kanade_finally_i_can_see_go…

– Leontovich, Olga. (2014). Positive Communication: Definition and Constituent Features. Vestnik 

– Volgogradskogo gosudarstvennogo universiteta. Serija 2. Jazykoznanije. Volume 24, Number 5, 2014, pp. 121-126(6). Available from https://doi.org/10.15688/jvolsu2.2014.5.16

Photo credit :

Finally I Can See God!, India, Agency Network: Kanad, Published/Aired: April 2020 https://www.adsoftheworld.com/media/digital/kanade_finally_i_can_see_god

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *