คนรุ่นใหม่: บทบาทในการเปลี่ยนวิกฤติโรคให้เป็นโอกาสแห่งการพัฒนา

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย 

นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 8 – 10 มิถุนายน 2563 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่ The 3rd ASEAN–India Youth Dialogue ซึ่งจัดโดย India Foundation ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอินเดีย จุดมุ่งหมายสำคัญของงานประชุมครั้งนี้มีขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนกับประเทศอินเดีย ทั้งยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนคนรุ่นใหม่แลกเปลี่ยนทัศนะในมิติที่หลากหลาย ความพิเศษของการจัดงานในครั้งนี้ก็คือการเปลี่ยนรูปแบบการประชุมมาอยู่บนพื้นที่ดิจิตอล ในลักษณะ Virtual Dialogue เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ
สาระสำคัญของการประชุมมุ่งประเด็นไปที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวแทนแต่ละประเทศกล่าวถึงสภาพการณ์ปัจจุบัน มาตราการจากภาครัฐ รวมถึงการเข้าไปมีบทบาททางสังคมของคนรุ่นใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีใคร หรือประเทศใด ที่กำลังต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดนี้เพียงลำพัง

ความสำคัญของ Digital transferring คือ สิ่งทุกประเทศกำลังให้ความสนใจ โดยเน้นย้ำว่าการปรับตัวเข้าหานวัตกรรมเป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยากในขณะนี้ ภาคธุรกิจต้องพึ่งพาช่องทางแบบ e-commerce เพื่อความอยู่รอด ในขณะที่แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการอุปโภคบริโภคสามารถสร้างผลตอบแทนได้มหาศาล เช่น การส่งอาหารเดลิเวอรี การขายสินค้า การประชุมสัมมนา การเสพศิลปะและความบันเทิง แพลตฟอร์มเหล่านี้จะถูกพัฒนาให้มีตัวเลือกที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้การระดมทุนธุรกิจของสตาร์ทอัพขยายขอบเขตได้กว้างขึ้นโดยไม่จำกัดอยู่เพียงแหล่งทุนภายในประเทศ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มองว่าสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ได้สร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางใหม่ๆ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่โลกของเราจะหันหน้าเข้าสู่ยุคดิจิตอลแบบเต็มรูปแบบ

กลุ่มผู้นำยังตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่แสดงความเอาใจใส่กับอำนาจทางการเมือง ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงเกี่ยวกับมาตราการทางสาธารณสุข นโยบายการบริหารงาน และความไม่โปร่งใสของรัฐ เกิดเครือข่ายแบ่งปันข้อมูลกันแบบไร้พรมแดนเพื่อเสนอทางแก้ไขและยื่นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการ เช่น ลดค่าธรรมเนียม ภาษี ดอกเบี้ยการกู้ยืม การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ต้องไม่ใช่แค่การกำจัดเชื้อโรค (disease) แต่เป็นสภาวะความเจ็บไข้ทางด้านจิตใจ (illness) ที่มาจากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

บทบาทด้านจิตอาสาของคนรุ่นใหม่มีให้เห็นมากขึ้น ทั้งการทำหน้าที่แจกจ่ายสิ่งของอุปโภคบริโภค ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ให้แก่ผู้ประสบวิกฤตถึงที่พักอาศัย หลายกลุ่มรวมตัวกันผลิตคอนเทนท์อออนไลน์ที่มีประโยชน์กับการรับมือโรคระบาด ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารภายในสังคมที่รวดเร็ว ทำได้ง่ายและต้นทุนต่ำ เช่น ศิลปินวัยรุ่นชาวเวียดนามแต่งเพลง Ghen Cô Vy (Jealous Coronavirus) พร้อมท่าเต้นประกอบเพื่อรณรงค์ให้คนหันมาล้างมือให้ถูกสุขลักษณะต้านเชื้อไวรัส จนกลายเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลก

ประเทศสิงคโปร์มีทูตดิจิตอลจำนวนมาก อาสาสมัครเหล่านี้คอยช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุให้เข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น ระบบอินเตอร์เน็ต การเงิน การแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ ประเทศมาเลเซียส่งอาสาสมัครออกให้ความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อเพื่อรับมือกับข่าวปลอม โดยเล็งเห็นว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนใช้โซเซียลมีเดียมากและยาวนานกว่าปกติ การรับสารโดยไม่ผ่านการไตร่ตรองข้อเท็จจริง หรือตรวจสอบแหล่งที่มา จะสร้างความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ สร้างความขัดแย้งกับบุคคลภายนอก อันได้แก่ ผู้กลับจากต่างประเทศ ผู้อพยพ และแรงงานข้ามชาติ ได้ง่าย สำหรับประเทศไทยส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธาณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เข้ามามีบทบาทในการเฝ้าติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเพื่อลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ นับเป็นการทำงานในระดับชุมชนที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

การแบ่งปันประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงานยังสะท้อนให้เห็นทิศทางความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น (micro level) ที่ดีขึ้น อย่างในพม่าผู้นำระดับบนและประชาชนระดับล่างลงมา สามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นจนรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ลดลง ที่อินโดนีเซียวัยรุ่นชายหญิงสมัครเป็นสมาชิกคลับต่างๆ บนดิจิตอลแพลตฟอร์ม เพื่อแลกเปลี่ยนความสนใจและงานอดิเรกร่วมกัน เช่น กลุ่มหนังสือ Baca Rasa Dengar
ความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติทำให้แต่ละประเทศหันมาใส่ใจกับการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง (self-reliance) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องขึ้นอยู่กับการนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างกรณีประเทศอินเดียและเวียดนามหันมาผลิตอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสที่ได้มาตราฐานใช้เอง ทั้งหน้ากากอนามัย ชุด PPE และเครื่องทดสอบหาเชื้อไวรัสโควิด หลังที่ก่อนหน้านี้ต้องอาศัยนำเข้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่
"การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเดียกับภูมิภาคอาเซียนย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อความร่วมมือที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และสาธารณสุข เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน"
อย่างไรก็ตามที่ประชุมลงความเห็นว่า การพึ่งพาตนเองไม่ได้หมายความว่าจะตัดขาดความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในทางตรงกันข้ามจะช่วยวางกลยุทธ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แนวโน้มความร่วมมือในอนาคตที่เห็นชัด ได้แก่ แผนความร่วมมือในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว การส่งเสริมความรู้ด้านสาธาณสุข ที่สำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศในอาเซียนและอินเดียแบบสองทิศทาง (เฉพาะระดับปริญญาเอกมีมากกว่า 1,000 ทุน) ซึ่งนักศึกษาในโครงการเหล่านี้มีโอกาสที่จะกลายมาเป็นผู้นำในการพัฒนานโยบายต่างๆ ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแท้จริง
การรับรู้มุมมองความคิดของคนรุ่นใหม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อประเทศในโลกส่วนใหญ่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อินเดียนับเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรวัยรุ่นมากที่สุดในโลกถึง 450 ล้านคน นับจากช่วงอายุ 15-35 ปี ลองจินตนาการว่าในอีกยี่สิบปีข้างหน้า คนอินเดียรุ่นใหม่จะมีโอกาสที่จะกลายมาเป็นแถวหน้าของการพัฒนาโลกที่ไร้พรมแดนได้ไม่ยาก ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเองก็มีความก้าวหน้าในการพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง ส่งผลให้กลายเป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สูง ซึ่งประเทศมหาอำนาจต่างกำลังให้ความสนใจ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเดียกับภูมิภาคอาเซียนย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อความร่วมมือที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และสาธารณสุข เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *