ข้อพิพาทเขตแดนระหว่างอินเดียกันเปาล

โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน

นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อินเดียมีอาณาเขตดินแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 8 ประเทศด้วยกัน คือ บังกลาเทศ จีน ปากีสถาน เนปาล เมียนมา และภูฏาน ส่วนศรีลังกาและมัลดีฟส์มีอาณาเขตทางทะเลติดต่อกับอินเดียในทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามลำดับ ซึ่งศรีลังกาและมัลดีฟส์ ถือเป็นประเทศจุดยุทธศาสตร์สำคัญในมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์และรักษาผลประโยชน์ต่อประเทศเพื่อนบ้านจึงมีความสำคัญต่ออินเดียอย่างยิ่ง

ในปี 2015 จากนโยบาย “เพื่อนบ้านมาก่อน” (neighborhood first policy) ของนายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ส่งสัญญาณว่าอินเดียมีเจตนารมณ์ต่อการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 8 ประเทศ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของนายนายนเรนทรา โมดิ กลับต้องเผชิญกับภัยแทรกแซงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (one belt one road) ของจีนในเอเชียใต้ ซึ่งทำให้ประเทศเล็กๆ ในเอเชียใต้เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายไปพึ่งพาการลงทุนกับจีนมากขึ้น ตลอดจนประเด็นข้อพิพาทระหว่างพรมแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน จีน และเนปาล 

นโยบาย “เพื่อนบ้านมาก่อน” ของอินเดียจึงมีคำถามตามมาและมีข้อถกเถียงว่า นโยบายดังกล่าวนี้จะสามารถทำให้อินเดียกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ได้จริงหรือไม่ เพราะผลที่ตามมาจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวกลับมีทิศทางตรงกันข้าม อันเนื่องมาจากประเด็นความละเอียดอ่อนของข้อพิพาทและปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรมแดนของอินเดียกับประเทศเพื่อนบ้าน จนนำมาสู่การเผชิญหน้าและใช้กำลังทางทหารอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปากีสถานที่มีประเด็นข้อพิพาทในดินแดนแคชเมียร์ (Kashmir) หรือแม้กระทั่งจากกรณีล่าสุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารอินเดียและทหารจีนในดินแดนข้อพิพาทบริเวณหุบเขากาลวาน (Galwan valley) โดยต่างฝ่ายต่างโจมตีกันด้วยข้ออ้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรุกล้ำดินแดนข้อพิพาท การก่อสร้างถนนและพัฒนาพื้นที่ และการยั่วยุของทหารทั้งสองฝ่ายตามตะเข็บชายแดน ดังนั้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอินเดียจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

ตรงกันข้ามกับเนปาลซึ่งเป็นประเทศไม่มีทางออกทางทะเล (Land lock) อาณาเขตของเนปาลมีพรมแดนทางทิศเหนือติดกับประเทศจีน และทิศตะวันตกและตะวันออกติดกับอินเดีย ด้วยลักษณะภูมิประเทศทำให้เนปาลจำเป็นต้องพึ่งพาผลประโยชน์ในด้านต่างๆ จากอินเดียและจีนในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเนปาลจึงเปรียบเสมือนประเทศกันชนระหว่างมหาอำนาจทั้งสองประเทศ ทำให้เนปาลจึงต้องดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงขนส่งคมนาคมผ่านพรมแดนในจุดต่างๆประเทศ

สำหรับอินเดียแล้ว เนปาลถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีสิทธิพิเศษมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น พรมแดนระหว่างอินเดียกับเนปาลเป็นพรมแดนที่อนุญาตให้คนทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างอิสระหรือเป็นพรมแดนเปิด (open border) ด้วยเหตุนี้ทำให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบว่า เนปาลเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้

ข้อพิพาทระหว่างอินเดียกับเนปาลเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับเนปาลในยุคปัจจุบัน ความขัดแย้งในดินแดนข้อพิพาทของทั้งสองประเทศปะทุขึ้นหลังจากสภาเนปาลมีมติเห็นชอบต่อการกำหนดเขตแผนที่ประเทศขึ้นใหม่ เมื่อวันพุธที่ 17 มิถุนายน 2020 โดยรวมเขตพื้นที่ช่องเขาลิปูเลค (Lipulekh pass) การลาปานี (Kalapani) และลิมปิยาดุร่า (Limpiyadhura) ซี่งมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเนปาล ติดกับพรมแดนที่กั้นระหว่างจีนและอินเดีย

https://myrepublica.nagariknetwork.com/news/way-to-solve-india-nepal-border-dispute/
Credit : https://myrepublica.nagariknetwork.com/news/way-to-solve-india-nepal-border-dispute/
จากการประกาศกำหนดแผนที่ประเทศใหม่ในครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามองว่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับเนปาลอย่างไร แม้ว่าประเด็นดังกล่าวอาจไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในกระแสหลักในสังคมไทยมากนัก เพราะว่าความเข้มข้นของความขัดแย้งระหว่างพรมแดนอินเดียกับปากีสถานนั้นมีมากกว่า รวมถึงปัญหาข้อพิพาททางเขตแดนระหว่างอินเดียกับจีนด้วย ดังนั้นการทำความเข้าใจและเรียนรู้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอินเดียและเนปาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ และน่าติดตามเพื่อให้เข้าใจต่อพลวัตของปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้

การตัดสินใจกำหนดเขตแผนประเทศขึ้นใหม่ของเนปาลในครั้งนี้ถือเป็นการที่ตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ โดยจะมีขยายอาณาเขตจากเดิมที่มีอาณาเขต 147,181 ตารางกิโลเมตร เป็น 147,516 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากเดิม 335 ตารางกิโลเมตร ท่าทีที่แข็งกร้าวของเนปาลนี้ส่งผลให้เนปาลต้องเผชิญกับการกดดันจากอินเดียในหลายๆ ด้านตามมา โดยเฉพาะทางด้านการเชื่อมโยงการค้าระหว่างพรมแดน ด้านงบประมาณในการช่วยเหลือจากอินเดียด้วย แน่นอนว่าอินเดียไม่ยอมรับและปฏิเสธการประกาศเขตแผนที่ประเทศใหม่ของเนปาลทั้งในระดับรัฐและระดับประชาชน โดยอินเดียอ้างเขตกรรมสิทธิ์พื้นที่การปกครองดังกล่าวว่า เป็นที่ตั้งฐานทัพของทหารอินเดียเพื่อรักษาความสงบบริเวณชายแดนระหว่างอินเดียกับจีน

เมื่ออินเดียเริ่มมีการก่อสร้างถนนและพัฒนาพื้นที่ในบริเวณดินแดนข้อพิพาทในช่องเขาลิปูเลค (Lipulekh Pass) โดยอ้างว่าเป็นดินแดนที่อยู่ในเขตของรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) สภาของเนปาลจึงจุดประเด็นสำคัญนี้ขึ้นมาถก เพื่อลงมติเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศใหม่นี้ขึ้นมา จุดยุทธศาสตร์ดังกล่าวเปรียบเสมือนดินแดนสามเหลี่ยมระหว่างอินเดีย จีน และเนปาล เป็นพื้นที่ในเทือกเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,700 ฟุต การแย่งชิงข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศของภูมิภาค โดยอินเดียมองว่า การแข็งกร้าวของเนปาลครั้งนี้จีนน่าจะมีผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุน แต่เนปาลอ้างว่าต้นเหตุจากการประกาศแบ่งเขตการปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ 370 ของอินเดีย ที่แบ่งแยกเขตการปกครองแคชเมียร์ (Kashmir) และลาดัก (Ladakh) ให้เป็นเขตปกครองพิเศษนั้น ส่งผลให้อินเดียมีสิทธิ์กำหนดเขตแดนของประเทศซึ่งรวมถึงดินแดนข้อพิพาทแห่งนี้ด้วย เนปาลจึงไม่ยอมรับและผลักดันให้สภาออกมติต่อการกำหนดแผนที่ประเทศของเนปาลขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ภาคประชาชนชาวเนปาลก็ออกมาแสดงความไม่พอใจต่ออินเดีย โดยชาวเนปาลออกมาเรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือพื้นข้อพิพาทดังกล่าว โดยเฉพาะบริเวณเขตกาลาปานี (Kalapani) ว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเนปาลมาตั้งแต่อดีต

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพิจารณาว่าดินแดนนี้ใครมีกรรมสิทธิ์ชอบธรรมในการปกครอง คงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และหลักฐานต่างๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวที่เกิดขึ้น น่าสนใจว่าในประเด็นความขัดแย้งทางพรมแดนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยการปกครองของกษัตริย์พรีวี่ นารันยา ชาร์ (Prithvi Narayan Shah) ในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งได้แยกการปกครองดินแดนเนปาลเป็นเอกเทศ กษัตริย์พรีวี่ นารันยา ชาร์ (Prithvi Narayan Shah) ได้ขยายอาณาเขตดินแดนของเนปาลระหว่างสิกขิม (Sikim) ทางด้านทิศตะวันออกจนถึงรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ทางด้านทิศตะวันตก ผนวกเข้าเป็นดินแดนเนปาล ต่อมาราวในช่วงปี 1814-1816 เกิดความขัดแย้งกับบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) จึงมีการทำสงครามระหว่างเนปาลกับอังกฤษ พื้นที่ข้อพิพาทดังกล่าวจึงเป็นประเด็นข้อแย้งสำคัญระหว่างอังกฤษกับเนปาล แต่สงครามก็จบลงด้วยกับการกำหนดเขตแดนระหว่างอังกฤษและเนปาลภายใต้สนธิสัญญาซุกัวลี่ (Treaty of Sugauli) ซึ่งเป็นการกำหนดเขตแดนระหว่างบริษัทอินเดียตะวันออกกับเนปาล ซึ่งผลต่อการแบ่งอาณาเขตครอบครองมาจนถึงปัจจุบัน

ภายใต้สนธิสัญญาซุกัวลี่ เนปาลต้องเสียดินแดนให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกถึงหนึ่งในสามของดินแดนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสิกขิม (Sikim) คูเมา (Kumaon) และการฮ์วาล (Garhwal) ซึ่งปัจจุบันการฮ์วาลอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอุตตราขัณฑ์ในอินเดีย เมื่อพิจารณาจากสนธิสัญญาซุกัวลี่ เนปาลอ้างว่า ลิมปียาดุร่า (Limpiyadhura) คือจุดกำเนิดของแม่น้ำมหากาลี (Mahakali river) หากใช้จุดกำเนิดของแม่น้ำสายนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงพรมแดนระหว่างอินเดียกับเนปาลได้อย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงช่องเขาลิปูเลค (Lipulekh pass) กาลาปานี (Kalapani) และลิมปิยาดุร่า (Limpiyadhura) ที่เนปาลอ้างกรรมสิทธิ์ในการกำหนดอาณาเขตประเทศใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ถึงปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวนี้จะไม่สมบูรณ์หากไม่ได้อธิบายถึงความเกี่ยวโยงกับจีน พื้นที่ดังกล่าวแม้ว่าจีนไม่เผชิญหน้าโดยตรงกับอินเดีย แต่ความขัดแย้งแบบตัวแทนของจีนอาจเกี่ยวข้องกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเนปาลด้วย

หากย้อนไปในปี 1962 เมื่อเกิดสงครามระหว่างอินเดียกับจีนขึ้น กาลาปานี (Kalapani) เป็นพื้นที่ฐานที่มั่นสำคัญของทหารอินเดียซึ่งในขณะนั้นเนปาลก็ไม่ได้โต้แย้งใดๆ ต่อการครอบครองพื้นที่ของอินเดีย เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าเนปาลอาศัยอำนาจของอินเดีย เพื่อยับยั้งการรุกรานของจีนในบริเวณข้อพิพาทแห่งนี้ ทหารของอินเดียตั้งที่มั่นอยู่ในพื้นที่กาลาปานี (Kalapani) อยู่ประมาณ 36 ปี จนกระทั่งในช่วงปี 1998 รัฐบาลเนปาลนำประเด็นการใช้ดินแดนดังกล่าวเป็นฐานที่มั่นของอินเดียนั้นไม่สามารอ้างกรรมสิทธิ์ยึดดินแดนดังกล่าวเป็นของตนโดยถาวร ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ได้นำปัญหาดังกล่าวมาเป็นประเด็นของนโยบายทางการเมืองของมาโดยตลอด
เนปาลในปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาย เค พี ชาร์มา ออยล์ (Khadga Prasad Sharma Oli) จากพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้แสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในหลายมิติ ทั้งในด้านการลงทุน การค้า และการตอบรับการเชื่อมโยงของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (one belt one road) ของจีนในเนปาลด้วย เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลยุคปัจจุบันมีความเชื่อมั่นต่อจีนและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากกว่าอินเดีย และการเมืองภายในประเทศของเนปาลจึงขึ้นอิงอยู่กับการสนับสนุนจากจีน รวมทั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ในเนปาลเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างมาก ดังนั้นการแข็งกร้าวกับมหาอำนาจในเอเชียใต้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

การดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่ออินเดียในครั้งนี้เป็นนัยสำคัญนี้ทำให้เชื่อได้ว่าจีนมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในเนปาล และต่อกรณีข้อพิพาทในครั้งนี้ ในขณะเดียวกันกระแสของภาคประชาชนของเนปาลก็เป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมหนึ่งที่สร้างแรงกดดันและกระตุ้นรัฐบาลมากขึ้น โดยประชาชนในเนปาลต่อต้านอินเดียในการอ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนพื้นที่ข้อพิพาท และออกมาแสดงจุดยืนว่า ดินแดนข้อพิพาทเป็นดินแดนของเนปาลมาตั้งแต่เดิม

ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะมีสนธิสัญญาซุกัวลี่ระหว่างบริษัทอินเดียตะวันออกกับเนปาลในกำหนดเขตแดนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความคลุมเครือไม่มีชัดเจนในตัวของสนธิสัญญา ท้ายที่สุดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเบื้องต้น อาจต้องนำประเด็นปัญหาข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการเจรจา ซึ่งอินเดียยืนยันว่าพร้อมต่อการเจรจา ในขณะที่เนปาลยังสงวนท่าทีต่ออินเดีย ดังนั้นการหยิบยกหลักฐานมาหักล้างกัน เพื่อยืนยันอาณาเขตและกรรมสิทธิ์ครอบครองของแต่ละประเทศ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือไม่

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

References

– https://theprint.in/opinion/modis-neighbourhood-first-push-is-being-pulled-down-by-decades-of-policy-stagnation/365895/

– https://www.careerpower.in/neighbouring-countries-of-india.html

– https://www.bbc.com/news/world-asia-52967452

– https://kathmandupost.com/national/2020/05/20/government-unveils-new-political-map-including-kalapani-lipulekh-and-limpiyadhura-inside-nepal-borders

– https://www.aljazeera.com/news/2020/06/nepal-parliament-approves-map-includes-land-india-claims-200618074902407.html

– https://indianexpress.com/article/explained/the-new-indian-road-to-lipu-lekh-nepals-protests-and-the-strategic-importance-of-the-area-6413914/

– http://narayan-puri.blogspot.com/2011/07/what-is-sugauli-treaty.html

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *