โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562
https://xstremarea.home.blog/2019/02/15/163/
แนวคิดลัทธิสุดโต่งในทัศนะของอิสลาม คือ หลักแนวคิดที่มีการปฏิบัติเกินขอบเขตพื้นฐานของศาสนา รวมทั้งการพยายามสื่อถึงความคลั่งไคล้ทางศาสนา จนนำมาสู่แนวทางที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักการของศาสนาอิสลาม ไม่เปิดกว้างทางความคิด และใช้หลักการของตนเองเป็นที่ตั้งในการบังคับผู้อื่นให้นับถือตามหลักความเชื่อของตนเอง อย่างไรก็ตามแนวคิดสุดโต่งเกิดจากสาเหตุอีกหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งในด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม อุดมการณ์ทางการเมือง ชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อมของความรุนแรง เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในทิศทางที่ตนเองปรารถนา อาทิ การเรียกร้องให้ใช้กฎหมายอิสลาม การปกครอบแบบรัฐอิสลาม ระบอบคอลีฟะห์ เป็นต้น
คำว่า “สุดโต่ง” ตามคำอธิบายของพจนานุกรมไทย คือ มากเกินขอบเขตที่ควรเป็น ตึงหรือหย่อนเกินไป ดังนั้น การมีพฤติกรรมแบบสุดโต่งมากเกินความพอดี จึงเรียกว่าเป็นกลุ่มสุดโต่ง ซึ่งมิได้มีแค่เฉพาะกลุ่มมุสลิมสุดโต่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มสุดโต่งจากศาสนาอื่นๆ ที่มีความเคลื่อนไหวตามแนวคิดสุดโต่งอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม คำว่า “สุดโต่ง” ในความหมายทั่วๆ ไป อาจมองเป็นคำที่สะท้อนในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก กล่าวคือ “สุดโต่ง” หมายถึงกลุ่มที่ยึดมั่นแนวคิดของสำนักคิดของตนเองเป็นหลัก ในหลักการทางศาสนาอิสลาม คือ กลุ่มที่มีความเคร่งครัดมากเกินไป จนนำมาสู่การตัดสินผู้อื่น ๆ ทั้งที่ในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด (ซล) ที่ครั้งหนึ่งได้เคยเตือนสาวกของท่านถึงพิษภัยของลัทธิคลั่งศาสนาไว้ว่า “พวกเจ้าจงระวังความคลั่งในศาสนา เพราะแท้จริง สิ่งที่ทำให้ชนรุ่นก่อนต้องพินาศก็คือ ความคลั่งในศาสนานั่นเอง” ดังนั้น มุสลิมสุดโต่งจะมีเฉพาะบางคน บางกลุ่มที่ไม่เข้าใจหลักการและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของศาสนา [1]
ความคลั่งไคล้ทางศาสนาอิสลามจึงเป็นภัยอันตรายต่อสังคม ศาสนาอิสลามจึงไม่สนับสนุนต่อความคลั่งไคล้ศาสนา ซึ่งขัดต่อหลักคำสอนของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ซล.) ที่ยึดมันในหลักสายกลาง ตรงกับภาษาอาหรับที่ว่า “วสฏียะฮ์” มีความหมายทางภาษาว่า กลาง ตรงกลาง หรือท่ามกลาง นักปราชญ์นิยามคำวสฏียะฮ์ ซึ่งเน้นหลักการของความสมดุล (Balance) ความยุติธรรม (Justice) และความเที่ยงตรง (Justness) [3]
ศาสตราจารย์ อิรฟาน อับดุลฮาหมีด ฟัตาห์ ได้กล่าวว่า “แต่ละศาสนาจะมีศาสนิกอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1) ผู้เป็นแนวคิดสุดโต่ง 2) ผู้ที่ละเลยต่อศาสนา และ 3) ผู้มีแนวคิดสายกลาง กลุ่มที่หนึ่งและสอง จะนำความเสื่อมเสียให้กับสังคมและเป็นภัยคุกคามต่อโลก ในขณะที่ผู้ที่มีแนวคิดสายกลางจะนำความผาสุกและสันติสุขต่อโลกนี้” [4]
หากเป็นเช่นนั้นในยุคของเสรีภาพทางศาสนาจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งในศาสนาเดียวกัน และระหว่างศาสนา จนนำมาสู่การใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ และสร้างกลุ่มแนวร่วมตามฐานความคิดแบบอคติ ไม่เคารพซึ่งกันและกัน ทั้งที่ศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญในการยึดเหนี่ยวจิตใจมนุษย์ให้มีความประพฤติดี ทำดีทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ในขณะที่ Baradat ได้อธิบายความหมายของสุดโต่งว่า เป็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง ซึ่งเกิดจากการไม่พอใจของสังคม การถูกกดทับจากสังคมส่วนใหญ่ การใช้ความรุนแรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม [5] เป็นมูลเหตุสำคัญต่อการสร้างความวุ่นวายทางสังคม สร้างกลุ่มก้อนของกลุ่มก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่งจึงถือเป็นหลักแนวคิดพื้นฐานของความรุนแรงที่มีพัฒนาการไปสู่การพัฒนาการก่อการร้าย ดังนั้น คำว่า สุดโต่ง ในทัศนะของอิสลามจึงเป็นภัยคุกคามของสังคม ทั้งในกลุ่มมุสลิมเองและในกลุ่มอื่นๆ
ศาสนาอิสลามไม่สนับสนุนให้เกิดสำนักคิดสุดโต่งของศาสนา แต่แนวความคิดสุดโต่งเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมของความรุนแรง ความขัดแย้งในลัทธิ และแนวคิดทางการเมือง ตลอดจนการเข้าใจหลักของศาสนาในทางที่ผิด โดยใช้อุดมการณ์ทางศาสนาเป็นเครื่องมือชักจูง เพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อสู่เพื่อศาสนาตามที่ตนเชื่อ โดยไม่คำนึงถึงหลักการสายกลางตามที่ศาสดามูฮำหมัด (ซล) ได้ให้คำสอนไว้
ความสำคัญต่อความเข้าใจสุดโต่งในทัศนะอิสลาม คือ ต้องแยกแยะจากกลุ่มที่เคร่งครัดต่อศาสนากับผู้คลั่งไคร้ศาสนา ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้นกลุ่มที่เคร่งครัดต่อศาสนา ไม่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีลัทธิสุดโต่ง เนื่องจากเขาเหล่านั้นได้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักการของศาสนาถือว่าเป็นจำเป็น อาทิ การปฏิญาณตนต่อพระเจ้าองค์เดียว การทำละหมาด 5 เวลา การถือศิลอด การบริจาคทาน และการไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นหลัก 5 ประการที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถือเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานของมุสลิมทุกคน แต่แนวคิดสุดโต่งมักจะอยู่ในกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง การแบ่งแยกดินแดน กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง จึงมักใช้หลักคิดของการต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนา “ญิฮาด” โดยมีความมุ่งหวังในพระองค์อัลลอฮว่า ผู้ใดเสียสละเพื่อปกป้องศาสนาจะไม่ถูกสอบสวนในวันสิ้นโลก และจะได้รับสรวงสวรรค์เป็นการตอบแทน ผู้ที่มีอุดมการณ์ทางความรุนแรงจึงใช้อุดมการณ์แบบสุดโต่ง เพื่ออ้างการปกป้องศาสนามาเป็นเครื่องมือในการสร้างแนวร่วมและผลิตกลุ่มแนวคิดสุดโต่งรุ่นใหม่ๆ ตามมา
Footnote
[1] อับดุลสุโก ดินอะ มุสลิมสุดโต่ง การยึดมั่นในหลักการ และอิสลามานุวัตร ออนไลน์ใน http://www.islammore.com/view/1282 (เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2562)
[2] ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ. (2017) รากเหง้าอิสลามสุดโต่งและคลั่งไคล้ คือการขาดความถ่อมตนทางวิชาการ ออนไลน์ใน https://www.publicpostonline.net/13987 (เข้าถึงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562)
[3] หลักทางสายกลาง (الوسطية) ในอัลกุรอานและอัลฮะดีษ ออนไลน์ใน https://www.skthai.org/th/articles/113053 (เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2562)
[4] อับดุลสุโก ดินอะ. มุสลิมสุดโต่ง การยึดมั่นในหลักการ และอิสลามานุวัตร ออนไลน์ใน http://www.islammore.com/view/1282 (เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2562)
[5] Baradat, L. P. (1999). Political ideologies: Their origins and impact. Upper Saddle River¸ NJ: Prentice-Hall Inc. pp. 19
Photo credit :
Photo by Kowit Phothisan on Unsplash