![](https://southasiainsight.com/wp-content/uploads/2020/07/islam-and-media.png)
โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 6 มิถุนายน 2562
https://xstremarea.home.blog/2019/06/06/islam-and-media/
สถานการณ์สื่อมุสลิมในปัจจุบัน
ปัจจุบันมุสลิมในไทยกำลังประสบปัญหาการหลงใหลวัตถุนิยมมากเกินไป ด้วยกับสภาพแวดล้อมและการเติบโตของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ที่ทำสื่อต้องเริ่มคิดใคร่ครวญใหม่ว่า แท้ที่จริงแล้วมุสลิมกำลังออกห่างจากศีลธรรมของอิสลามมากขึ้นหรือไม่ ด้วยปัญหาดังกล่าว ผู้ที่จัดทำสื่อจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านสัญญาณดาวเทียมมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งพี่น้องมุสลิมและคนต่างศาสนิกทั่วประเทศมีรายการที่ส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม สื่อการเรียนการสอน ถามตอบปัญหาศาสนา ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติของอิสลามที่ถูกต้อง ตามแนวทางคำสอนของคำภีร์อัลกรุอ่านและปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านศาสนดามูฮำหมัด (ซล) ทำให้มีผู้คนเริ่มกลับมาสนใจเรื่องราวของศาสนาอิสลามมากขึ้น และเป็นทางเลือกใหม่ในการศึกษาอิสลามอย่างเข้าใจ
สื่อมุสลิมในไทยจึงต้องเน้นย้ำในเรื่องของการนำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลามผ่านรูปแบบของการบรรยายธรรม ข่าว ละคร จนถึงการลงพื้นที่เพื่อสะท้อนสภาพของสังคมมุสลิมในแต่ละท้องที่ ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกมุสลิมเพื่อให้สังคมไทยเข้าใจอิสลามมากขึ้น
การก่อตั้งสื่อมุสลิมในไทยต้องอาศัยส่วนประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนทุนตั้งต้น บุคลากร เทคโนโลยี และการโฆษณา ซึ่งจะต้องมีแผนการดำเนินการระยะยาว เพื่อให้สามารถยืดหยัดในเวทีสื่อได้ ทั้งนี้มีสื่ออีกหลายสำนักที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงต้องล้มหายตายจากไปตามสภาพสถานะทางเศรษฐกิจของตนเองในประเทศไทย แต่ก็ยังคงมีสำนักสื่อมุสลิมมากมายกำเนิดขึ้น อาทิ ทีวีมุสลิม ยาตีมทีวี ไวท์แชนแนล มุสลิมไทยโพสต์
การจะทำให้สำนักข่าวมุสลิมมั่นคงได้นั้น สื่อมุสลิมไทยทุกสำนักต้องวางแผนที่จะหารายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสำนักสื่อส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพารายได้ของตนเองเป็นหลักด้วยกับการโฆษณาและการขอรับบริจาคจากประชาชนที่เข้ามาเป็นสมาชิก โดยผ่านการเชิญชวนในโอกาสและวาระต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงของเดือนรอมฏอน วันตรุษ และในวันสำคัญอื่น ๆ
รวมทั้งต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร เพิ่มการเข้าถึงกลุ่มประชาชน โดยเฉพาะในท้องถิ่นผ่านการนำเสนอในรูปแบบนวัตกรรมใหม่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการจัดงานร่วมกัน เพื่อนำรายได้มาพัฒนาสื่อของตนเอง รวมทั้งการสนับสนุนผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการสร้างสื่อเฉพาะกิจขึ้นมาในช่วงเวลาที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนที่เน้นในเรื่องของการนำเสนอความเข้าใจอิสลาม มีคณาจารย์ที่มีความรู้ทางศาสนาลซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเน้นในด้านการนำเสนอการแปลความหมายและอรรถาธิบายความหมายของคำภีร์อัลกรุอ่าน รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติศาสนากิจที่ถูกต้อง ในขณะที่บางสำนักก็ให้ความสำคัญต่อการนำเสนอในรูปแบบละครสอนใจ และวาไรตี้ต่าง ๆ อีกด้วย
![](https://southasiainsight.com/wp-content/uploads/2020/07/1-1.jpg)
มุสลิมไทยโพสต์ ( Muslimthaipost )มุสลิมไทยโพสต์ ( Muslimthaipost )
ยาตีมทีวี (Yateem TV)
![](https://southasiainsight.com/wp-content/uploads/2020/07/2-1.png)
![](https://southasiainsight.com/wp-content/uploads/2020/07/3.png)
ไวท์แชนแนล (White Channel)
การเติบโตของสื่อมุสลิมไทย
การเติบโตของสื่อมุสลิมไทย ทำให้ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่ลงทุนซื้อจานดาวเทียม (จานดำ) เพื่อรับชมทั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ (ฟรีทีวี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยจะเปิดทีวีไว้ตลอดทั้งวัน เพื่อรับฟังคำสอนของศาสนา ในขณะที่คนรุ่นใหม่ติดตามทางสื่อออนไลน์มากกว่า และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งในแง่ของการสนับสนุนและไม่เห็นพ้องกับข้อมูลที่นำเสนอ จนบางครั้งนำมาภาพลักษณ์ของสื่อที่นำความแตกแยกไปสู่สังคมตามมา แม้ว่าสำนักข่าวจะมีการนำเสนอข่าวในอีกหลายช่องทางทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ด้วยภายใต้กรอบการส่งเสริมความเข้าใจในศาสนาอิสลามและการเผยแผ่ศาสนาก็ตาม
ในโลกแห่งการสื่อสารที่รวดเร็วก็อาจมาพร้อมกับภัยเงียบที่แอบแฝงมากับความอคติ และการนำเสนอที่สุ่มเสียงต่อความขัดแย้งในกลุ่มมุสลิมกันเอง ทั้งนี้เกิดขึ้นจากสภาวะการแย่งชิงกันป็นผู้นำในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และลักษณะการอธิบายหลักการของศาสนาบนพื้นฐานของความแตกต่างของสำนักคิด (School of thought) จนเกิดกระแสทั้งในแง่การสนับสนุนและกระแสการต่อต้าน และนำมาสู่ความแตกแยกระหว่างของสังคมมุสลิมในไทยตามมา
เมื่อสื่อมุสลิมในไทยมีอิทธิพลกับกลุ่มคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์ การนำเสนอของแต่ละสำนักข่าว การนำเสนอข่าวสารที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งแล้วนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่สำนักข่าวแต่ละแห่งต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อระงับความแตกแยกระหว่างมุสลิมในสังคมไทย หรือหน่วยงานกลางอย่างเช่น สำนักจุฬาราชมนตรี อาจต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำชับ ควบคุม ดูแล และตรวจสอบความถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง และการนำเสนอแบบสุดโต่งตามมา
References
[1] http://www.muslimthaipost.com/main140358/content.php?page=content&category=109&id=9131
[2] https://whitechannel.tv/