พุทธสุดโต่งในเมียนมา: ความบาดหมางระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 26 มิถุนายน 2562

https://xstremarea.home.blog/2019/06/26/myanmar-and-buddhist-extremism/

เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ภาพของกลุ่มพระภิกษุในเมียนมาออกมาร่วมประท้วงร่วมกับชาวพุทธเพื่อเรียกร้องและผลักดันให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาออกนอกประเทศ การก่อการจราจลและการใช้ความรุนแรงของชาวพุทธในเมียนมาต่อชาวมุสลิมในเมียนมา ทำให้มีการตั้งคำถามถึงแนวคิดของพุทธศาสนา ที่เน้นเรื่องความไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่เหตุใดพระภิกษุสงฆ์ถึงมาร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย

บทความนี้ นำเสนอให้เห็นถึงบทบาทของกลุ่มพระภิกษุที่แนวคิดชาตินิยม ปลุกกระแสความเกลียดกลัวมุสลิม จนนำไปสู่ความบาดหมางและการใช้ความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติและศาสนาในเมียนมา

ทบทวนต้นตอของความหมาดบาง

ปัญหาความรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์และศาสนาในเมียนมา เริ่มต้นที่ปัญหาระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมหรือชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตอนใต้ของพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยเริ่มต้นจากชาวมุสลิม 10 คน ถูกกลุ่มชาวอาระกันนับร้อยล้อมรถโดยสาร และโจมตีจนเสียชีวิต เนื่องจากโกรธแค้นที่นางสาวธิดา ทเว หญิงอาระกันวัย 27 ปี ถูกข่มขืนและฆ่าโดยชาวมุสลิม 3 คน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม และเชื่อว่าผู้ก่อเหตุอยู่บนรถโดยสารคันดังกล่าว (ขณะที่สื่อรัฐบาลรายงานว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมแล้วตั้งแต่วันก่อเหตุ) จากนั้นชาวมุสลิมในย่างกุ้งรวมตัวชุมนุมหน้ามัสยิดเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่เพื่อนชาวมุสลิม 10 คนที่ถูกสังหารและได้เข้าพบนางอองซาน ซูจีที่สำนักงานพรรคเอ็นแอลดี เพื่อขอความช่วยเหลือคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ดังกล่าวก็บานปลาย เกิดการจราจลในหลายเมืองในรัฐอาระกัน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งชาวอาระกันและชาวมุสลิมโรฮิงญา จนนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายเมือง และการประท้วงของชาวอาระกันที่เจดีย์ชเวดากอง เพื่อขับไล่ “ชาวเบงกาลี” ให้ออกนอกประเทศ [1]

ความไม่พอใจในกลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญา ก็ขยายวงกว้างไปในพื้นที่อื่น ๆ ในปีต่อมา โดยความรุนแรงแสดงออกผ่านการทำลายบ้านเรือน สถานที่ละหมาด มัสยิด รวมถึงการทำร้ายร่างกายชาวมุสลิม จนถึงความรุนแรงในการขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งกลุ่มชาวพุทธสุดโต่งในเมียนมา รวมตัวประท้วงรัฐบาลให้ใช้คำว่า ‘เบงกาลี’ เรียกชาวโรฮิงญา ย้ำจุดยืนว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่พลเมืองของประเทศ แต่เป็นผู้อพยพมาจากบังกลาเทศ [2]

รัฐยะไข่กับโรฮิงญา

ตามประวัติศาสตร์แล้ว รัฐอาระกันหรือยะไข่ กับ “พม่า” นั้น ไม่ได้เป็นรัฐที่มีศูนย์รวมการปกครองเดียวกัน โดยชาวยะไข่ เข้ามาตั้งหลักแหล่งในบริเวณรัฐยะไข่ปัจจุบันเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 15 [3] และ “พม่า” เข้ามายึดครองรัฐยะไข่เมื่อปี พ.ศ. 2327

รัฐยะไข่ เดิมเป็นรัฐผสมที่มีทั้งพุทธ ฮินดู และมุสลิม โดยกษัตริย์ยะไข่แม้ว่าจะเป็นพุทธ และใช้วัฒนธรรมและภาษาของพม่า แต่ก็มีธรรมเนียมแบบเบงกอล และมียศสุลต่านแบบมุสลิม [4] อย่างไรก็ดี การเข้ามาปกครองของอังกฤษในพม่า ส่งผลให้ชาวมุสลิมทั้งจากอินเดียและบังคลาเทศเข้ามาอยู่ในพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะในรัฐยะไข่

วันดี สันติวุฒิเมธี ได้สะท้อนถึงความทรงจำของเธอเมื่อไปเยือนเมืองซิตตวย เมืองหลวงของรัฐยะไข่ เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ว่า “ประชาชนในรัฐยะไข่ยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แม้จะมีความแตกต่างทางศาสนาพุทธและอิสลามอยู่ในใจ แต่ผู้คนทั้งสองศาสนาก็ยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีใครแสดงความเกลียดชังกันจนถึงกับต้องฆ่าฟันให้ตายไปข้างหนึ่งเหมือนอย่างในวันนี้” [5] แต่สิ่งที่เห็นชัด ก็คือชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ มีสถานะเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองพม่าเหมือนชาวยะไข่ รัฐบาลพม่าเองก็ปฏิเสธว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในประเทศ และชาวอาระกัน (ยะไข่) ก็ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงยาเป็นชนชาติหนึ่งในรัฐอาระกัน ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับและไม่มีสิทธิความเป็นพลเมืองในบ้านเกิดของตนเอง [1]

กลุ่มพุทธหัวรุนแรงในเมียนมา

พระภิกษุถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทในความเคลื่อนไหวต่อต้านและขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งกลุ่มพระสงฆ์ที่มีบทบาทมากที่สุดคือกลุ่มมาบาธา (Ma Ba Tha) หรือ คณะกรรมการเพื่อป้องกันเชื้อชาติและศาสนา (Association for Protection of Race and Religion)

ต้นกำเนิดของกลุ่มมาบาธานั้น มีข้อมูลที่แตกต่างกัน บ้างก็ว่า กลุ่มมาบาธา กำเนิดมาจากกลุ่ม 969 ที่นำโดยพระวีระธู อาชิน และในปี พ.ศ. 2556 สมาชิกของกลุ่ม 969 ก็เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น คณะกรรมการเพื่อป้องกันเชื้อชาติและศาสนา (Association for Protection of Race and Religion) หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามกลุ่ม มาบาธา [6] ในขณะที่ข้อมูลบางแหล่ง ก็อธิบายว่ากลุ่มมาบาธา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ 2557 ในการประชุมพระสงฆ์ที่กรุงมัณฑะเลย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องพุทธศาสนาสายเถรวาทในเมียนมา [4],[7]

ในทัศนะของกลุ่มมาบาธา ความจริงเพียงอย่างเดียวก็คือชาวพุทธเป็นเหยื่อของอิสลาม พระเอนดาร์ ซักกา บิวินธา กล่าวว่า กลุ่มมะบะธาไม่มีปัญหาใด ๆ กับพลเมืองชาวมุสลิมที่เคารพกฎหมาย แต่ต้องไม่ลืมมองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอินเดีย ที่กลุ่มอิสลามผู้รุกรานบังคับให้คนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้พระสงฆ์กลุ่มนี้เห็นว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างเหี้ยมโหดในตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้อันยาวนานเพื่อขับไล่ชาวมุสลิมที่มารุกรานดินแดนชาวพุทธ [8]

นอกจากการต่อต้านและขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญาแล้ว กลุ่มมาบาธานี้ก็ยังประสบความสำเร็จอย่างสูงที่ทำให้ เต็ง เส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ผ่านกฎหมายจำนวน 4 ฉบับเกี่ยวกับเชื้อชาติและศาสนา ได้แก่

1. กฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนาโดยต้องขออนุญาตจากทางการ

2. กฎหมายการมีคู่สมรสเพียงคนเดียว

3.กฎหมายการควบคุมประชากรและด้านสุขภาพ

4.กฎหมายการแต่งงานข้ามเชื้อชาติของหญิงชาวพุทธ ซึ่งกำหนดให้หญิงชาวพุทธที่จะแต่งงานกับชายที่นับถือศาสนาอื่นจะต้องขออนุญาตจากผู้นำชุมชนก่อน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม [6]

กลุ่ม 969 : ความเชื่อมโยงกับกลุ่มมาบาธา

แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับการก่อตั้งกลุ่มมาบาธายังมีสับสน แต่สิ่งที่แน่นอนสิ่งหนึ่งก็คือ กลุ่มมาบาธาและกลุ่ม 969 มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เพราะพระวีระธุ อาชิน ผู้นำกลุ่ม 969 เข้าร่วมในการประชุมที่กรุงมัณฑะเลย์ด้วย นอกจากนี้ ในข่าวที่นำเสนอเกี่ยวกับความรุนแรงของกลุ่มพุทธสุดโต่งในเมียนมา มีทั้งกล่าวถึงกลุ่มมาบาธา และกลุ่ม 969 ผ่านพระวีระธุ อาชิน (Ashin Wirathu) ที่เป็นบุคคลหลักในความเคลื่อนไหวนี้

กลุ่ม 969 ซึ่งตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของกลุ่ม 969 [9] ทางกลุ่มอ้างว่า เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมของชาวพุทธและศาสนาพุทธในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ในประเทศเมียนมา โดย U Kyaw Lwin และในปัจจุบันมีพระวีระธุ อาชิน เป็นผู้นำกลุ่ม (ปัจจุบันนี้เว็บไซต์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว)

ชื่อกลุ่ม 969 นั้นมีความหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยตัวเลข 9 แรก คือคุณลักษณะ 9 ประการของพระพุทธเจ้า ตัวเลข 6 หมายถึงคุณลักษณะ 6 ประการของพระธรรม หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และตัวเลข 9 สุดท้าย หมายถึงคุณลักษณะ 9 ประการของพระสงฆ์ [10] โดยหมายเลข 969 นี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธเพิ่มเติมจากพระรัตนตรัยและธรรมจักร

เหตุผลของการก่อตั้งกลุ่ม 969 ตามที่ระบุในเว็บไซต์ของกลุ่ม ก็คือ เนื่องมาจาก “การ­ขยายตัวของขบวนการใต้ดิน (subversive elements) ที่พยายามยับยั้งหรือหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ชาวเมียนมาใช้ชีวิตตามหลักธรรมะ” ดังนั้นกลุ่ม 969 จึงต้องการปรับเปลี่ยนสภาพความไม่พึงพอใจของพุทธศาสนิกชน และป้องกันไม่ให้ขบวนการดังกล่าวล้มล้างหรือทำลายวัฒนธรรมประเพณีของชาวเมียนมา

อย่างไรก็ดี การกระทำของกลุ่ม 969 นั้นเป็นความเคลื่อนไหวเชิงชาตินิยม รณรงค์ให้ชาวเมียนมาต่อต้านชุมชนชาวมุสลิมรวมถึงธุรกิจของชาวมุสลิม ใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านชาวมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มโรฮิงญาในเมียนมา โดยทางกลุ่ม 969 โจมตีว่าชาวมุสลิมเป็นชาวต่างชาติ เช่น ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาหรือชาวมุสลิมมีมาแต่เดิมในเมียนมาร์แต่เป็นพวกที่อังกฤษนำเข้ามาสมัยอาณานิคม และยังกล่าวหาอีกว่ากลุ่มชาวต่างชาติพวกนี้ได้ครอบงำเมียนมาร์ในทางเศรษฐกิจและยังมีแผนที่จะครอบงำในทางวัฒนธรรมและการเมือง รวมทั้งมีแผนเอาศาสนาอิสลามมาแทนที่พุทธศาสนา หากชาวพุทธไม่ลุกขึ้นต่อต้านและจัดการกับชาวมุสลิม พม่าก็จะ “สิ้นชาติ” และพุทธศาสนาก็จะดับสูญ [4]

นอกจากนี้ กลุ่ม 969 ยังอ้างว่ากิจกรรมหรือการกระทำของกลุ่ม 969 นี้เป็นไปตามหลักการของพระพุทธเจ้าและศาสนาพุทธ โดยผู้นำกลุ่ม 969 พยายามที่จะป้องกันไม่ได้เกิดการใช้ความรุนแรง รวมถึงมีความอดทนอดกลั้น (Tolerant) และพร้อมที่จะมอบความเมตตา ความรัก ให้ที่พึ่งพิงกับผู้บริสุทธิ์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะไม่อดทนต่ออาชญากรรม พฤติกรรมที่ผิดศีลธรรม การใช้ความรุนแรงกับกลุ่มทางศาสนา รวมไปถึงการกดขี่ต่อเพศหญิง

เป็นที่รู้กันดีว่าวาระซ่อนเร้นของกลุ่ม 969 ก็คือ ทางกลุ่มมองว่า ศาสนาอิสลามเป็นภัยคุกคามต่อประเทศเมียนมา ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจะต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องและรักษาวิถีชีวิตของตนเอง [11]

ทางกลุ่ม 969 ยังอ้างอีกว่า ทางกลุ่มยอมรับต่อความหลากหลายทางศาสนาที่เป็นแนวปฏิบัติทั่วโลก แต่กลุ่ม 969 ยืนยันในสิทธิทางประชาธิปไตยของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ที่จะตัดสินใจถึงนโยบายที่เหมาะสมต่อประเทศชาติ กิจการทางศาสนาและสังคม

พระวีระธุ อาชิน ผู้นำกลุ่ม 969

แม้ว่าพระวีระธุ อาชิน ผู้นำกลุ่ม 969 จะปฏิเสธว่ามีส่วนร่วมในความรุนแรงต่าง ๆ แต่ก็เชื่อว่า คำเทศน์ของพระวีระธุเป็นต้นเหตุหรือสิ่งกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง [12]

พระวีระธุ ใช้เฟซบุ๊กในการโจมตีมุสลิม เผยแพร่ข้อความที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อมุสลิมโดยเฉพาะชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยเฟซบุ๊กของพระวีระธุมีผู้ติดตามมากว่าแสนคน แม้ว่าจะได้รับเสียงประณามจากนานาประเทศ แต่ชาวพม่าชาตินิยมบนโลกออนไลน์กลับแสดงความชื่นชม

แต่เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 โฆษกของเฟซบุ๊กชี้แจงว่า ทางเฟซบุ๊กได้ปิดเพจของพระวีระธุตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ตามนโยบายมาตรฐานของชุมชน อย่างไรก็ดี นายเทย์ เซย์ วิน นักเคลื่อนไหวชาวพม่า ให้ความเห็นว่า การปิดเพจก็ยังไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา เพราะแม้ว่าจะปิดเพจไปแล้วแต่ยังมีวิดีโอและคำเทศน์ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังที่ยังอยู่บนเฟซบุ๊ก (รวมถึงยูทูป) และลูกศิษย์ของเขาจะเผยแพร่ต่อไป [13]

นอกจากนี้ ทางมหาเถรสมาคมเมียนมา ได้มีมติห้าม พระวีระธุ พระสงฆ์ชาตินิยมหัวรุนแรงที่เป็นสมาชิกกลุ่มมะบะธา เทศนาภายในประเทศ เป็นเวลา 1 ปี เริ่มมีผลตั้งแต่ 10 มีนาคม เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า พระวีระธุ เป็นผู้เทศนาสร้างความเกลียดชังด้านศาสนา อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างศาสนา ขัดต่อหลักนิติธรรม และเลือกข้างกับพรรคการเมือง ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และเกิดปัญหาระหว่างศาสนา ซึ่งผิดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

จากกลุ่มมาบาธา สู่มูลนิธิการกุศลพุทธธรรม

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 กลุ่มมาบาธาถูกห้ามให้ดำเนินกิจกรรมใด ๆ และถูกสั่งให้ปลดป้ายชื่อกลุ่มออกจากสำนักงานทั่วประเทศ ทำให้กลุ่มมาบาธา เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิการกุศลพุทธธรรม (The Buddha Dhamma Charity Foundation) ซึ่ง Ashin Sopaka โฆษกของมูลนิธิ ยืนยันว่า จะยังคงดำเนินงานต่อไปเพื่อเชื้อชาติและศาสนาของชาวเมียนมา [11]

เมื่อค้นหาข้อมูลด้วย The Buddha Dhamma Charity Foundation ผลการค้นหาจาก google search จะนำไปสู่ https://www.eng.wirathu.com จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ มูลนิธิการกุศลพุทธธรรม พบว่า เป็นข้อมูลและข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมบริจาคเงินเพื่อการกุศลต่างๆ  โดยโครงการที่องค์กรดูแล ประกอบไปด้วย โครงการให้การศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย กลุ่มบริจาคเลือด คณะกรรมการช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมา รวมไปถึงโรงเรียนสอนศาสนา และที่สำคัญคือ ยังมีพระวีระธุ อาชินเป็นบุคคลหลักของมูลนิธินี้ ดังเห็นได้จากภาพของพระวีระธุ อาชินปรากฎทั่วไปในเว็บไซต์ รวมถึงชื่อเว็บไซต์ eng.wirathu.com อีกด้วย

แม้บทบาทของกลุ่มมาบาธาจะเปลี่ยนไปเป็นการดำเนินงานเชิงการกุศลหรือมูลนิธิ แต่ด้วยคำยืนยันของโฆษกของมูลนิธิที่กล่าวว่า มูลนิธิยังคงดำเนินงานเพื่อเชื้อชาติและศาสนาของชาวเมียนมาต่อ เราก็ยังคงต้องจับตาดูถึงความเคลื่อนไหวของมูลนิธิการกุศลพุทธธรรมต่อไปว่าจะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวเชิงความรุนแรงต่อกลุ่มคนต่างเชื้อชาติหรือศาสนาอีกหรือไม่ในอนาคต อย่างไรก็ดี ปัญหาในของรัฐยะไข่ ยังมีความซับซ้อนมากกว่าแค่ความแตกต่างด้านศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อที่รอการแก้ไขจากรัฐบาลเช่นกัน

References

[1] โลมาอิรวดี. (16 มิถุนายน 2012). ชาติพันธุ์-ศาสนา ปัญหาซ้อนปัญหาในรัฐอาระกัน. เข้าถึงจาก http://transbordernews.in.th/home/?p=1089. เข้าถึงเมื่อ 8 มิถุนายน 2562.

[2] 2 Voice TV. (2016). พุทธสุดโต่งพม่าประท้วงให้เรียกโรฮิงญาว่า ‘เบงกาลี’. เข้าถึงจาก https://www.voicetv.co.th/read/387405 เข้าถึงเมื่อ 4 ธันวาคม 2561.

[3] ดุลยภาค ปรีชารัชช. (2558). โรฮิงญา รัฐ ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์และความขัดแย้ง. กรุงเทพฯ: มติชน.

[4] พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา. (13 สิงหาคม 2560). เมื่อความเกลียดและความหลงเข้าครอบงำ “ชาวพุทธ”. เข้าถึงจาก http://www.workpointtv.com/news/46473. เข้าถึงเมื่อ 8 มิถุนายน 2562.

[5] วันดี สันติวุฒิเมธี. (28 กันยายน 2560). เรื่องเล่าจากรัฐยะไข่. เข้าถึงจาก https://www.the101.world/story-from-rakhine/. เข้าถึงเมื่อ 8 มิถุนายน 2562.

[6] MOE MOE. (3 September 2018). Ma Ba Tha Changes Name, Still Officially Illegal. Available from https://www.irrawaddy.com/news/ma-ba-tha-changes-name-still-officially-illegal.html. เข้าถึงเมื่อ 8 มิถุนายน 2562

[7] Radio Free Asia. (15 January 2014). Myanmar Buddhist Monks Launch Group for ‘Defending Religion’. เข้าถึงจาก https://www.rfa.org/english/news/myanmar/buddhist-congress-01152014180734.html/. เข้าถึงเมื่อ 8 มิถุนายน 2562.

[8] เฟอร์กัล คีน, (14 กันยายน 2017). วิกฤตโรฮิงญา: ฟังความเห็นพระสงฆ์สายสุดโต่งในเมียนมา. เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/international-41266484. เข้าถึงเมื่อ 30 ธันวาคม 2561.

[9] http://www.969movement.org/what-is-969-movement/ เข้าถึงเมื่อ 20 ธันวาคม 2561

[10] Bookbinder, A. (2013). 969: The Strange Numerological Basis for Burma’s Religious Violence. The Atlantic. เข้าถึงจาก https://www.theatlantic.com/international/archive/2013/04/969-the-strange-numerological-basis-for-burmas-religious-violence/274816/ (เข้าถึงเมื่อ 27 มีนาคม 2562).

[11] Thompson, N. (16 July 2013). The 969 Movement and Burmese Anti-Muslim Nationalism in Context. Buddhist Peace Fellowship [online] เข้าถึงจาก http://www.buddhistpeacefellowship.org/the- 969-movement-and-burmese-anti-muslim-nationalism-in-context/ เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2561.

[12] Fuller, T. (20 June 2013). Extremism Rises Among Myanmar Buddhists. [online] The New York Times. เข้าถึงจาก https://www.nytimes.com/2013/06/21/world/asia/extremism-rises-among-myanmar-buddhists-wary-of-muslim-minority.html เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2561.

[13] ข่าวสด. (28 กุมภาพันธ์ 2561). เฟซบุ๊กเผยเอง! ปิดเพจ ‘วีระธุ’ พระพม่า “ขวาสุดโต่ง” แล้ว. เข้าถึงจาก https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_782621. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2561.

Photo credit :

– https://www.worldbulletin.net/islamic-world/buddhists-to-protest-against-oic-visit-to-myanmar-h122645.html

– https://www.dw.com/en/two-ultra-nationalist-buddhist-monks-in-myanmar-return-to-preaching/a-42921238

– https://www.eng.wirathu.com

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *