Hotel Mumbai : ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียและปากีสถาน

โดย วิทวัส ดีเมฆ

นิสิตสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร

ประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นครมุมไบ (Mumbai) เป็นเมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) และเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของอินเดียรองจากเดลี (Delhi) มีประชากรประมาณ 20 ล้านคน ถือได้ว่ามุมไบเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมบันเทิงที่ถูกรู้จักในนาม “บอลลีวู้ด” (Bollywood) ทั้งยังเป็นที่ตั้งของธนาคารชั้นนำระดับประเทศและนานาชาติ เป็นศูนย์กลางของบริษัทชั้นนำ เช่น Tata Group, Godrej, Reliance ทำให้มุมไบเป็นเมืองที่เจริญในลำดับต้นๆ ของอินเดีย รวมทั้งยังมีอัตราการชำระภาษีให้แก่รัฐบาลในภาคอุตสาหกรรมสูงถึงร้อยละ 25 ของประเทศ [1]
กระทั้งช่วงเช้าของวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้นใจกลางนครมุมไบ มีกลุ่มคนร้ายได้สาดกระสุนและวางระเบิดไปทั่วนครมุมไบ ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟซีเอสที ศูนย์ศาสนาชาวยิว รวมไปถึงโรงแรมทัชมาฮาล (Taj Mahal) ซึ่งเป็นโรงแรมหรูและมีชื่อเสียง โดยคนร้ายได้กราดยิงผู้คนที่อยู่ข้างใน รวมถึงวางระเบิดตามจุดต่างๆ ภายในตัวอาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้เวลามากกว่า 40 ชั่วโมง กว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 165 คน บาดเจ็บกว่า 295 คน [2]

ภาพยนตร์ Hotel Mumbai

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญการก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดใน ค.ศ. 2008 เหตุการณ์ครั้งนั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Uri: The Surgical Strike, Battalion 609, Blank รวมทั้ง Hotel Mumbai ด้วย เนื้อหาของภาพยนตร์ส่วนใหญ่ล้วนสื่อให้เห็นถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในนครแห่งนี้และความปลอดภัยของประชาชน ภาพยนตร์เรื่อง Hotel Mumbai เริ่มฉายครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2018 กำกับภาพยนตร์โดย แอนโทนี มาราส (Anthony Maras) ผู้กำกับชาวออสเตรเลีย เนื้อเรื่องนำเสนอเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 หรือเรียกสั้นๆ ว่า 26/11 ได้เป็นอย่างดี [3]) การดำเนินเรื่องของ Hotel Mumbai นั้นมีความกระชับ รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน ไม่รู้สึกเบื่อ นอกจากประเด็นเรื่องการก่อการร้ายภาพยนตร์ยังพูดถึงปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเหยียดเชื้อชาติและศาสนาที่แตกหลากหลายในอินเดีย
ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นทั้งความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนผ่านภาพโรงแรมหรูที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสลัม หรือ ตัวละครต่างๆ เช่น อาร์จันเป็นชาวซิกซ์ปัญจาบผู้ยากจน ตัวละครหัวหน้าห้องอาหารเป็นชาวฮินดูเชื้อสายอารยัน หรือ ผู้ก่อการร้ายเป็นชาวมุสลิมในอินเดีย ที่มีหัวหน้าแก๊งผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ที่เป็นมุสลิมชาวปัญจาบ มากไปกว่านั้น ภาพยนตร์ได้สื่อให้เห็นสถานภาพของ “เหยื่อ” จากสงครามที่เกิดขึ้นจากความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ โดยการอ้างปมความขัดแย้งทางศาสนา ชีวิตที่ยากจนและเหลื่อมล้ำทางสังคม
Hotel Mumbai มีกระแสการตอบรับจากสังคมค่อนข้างดี ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือด้านการเฝ้าระวัง และวางแนวทางป้องกันการก่อการร้ายในอินเดีย แต่ในทางกลับกันภาพยนตร์เรื่องได้ปลุกกระแสการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา และความแค้นของผู้คนขึ้นมาด้วย ทำให้หลังภาพยนตร์ออกฉายได้ไม่นาน เครื่องบินอินเดียถูกกองกำลังติดอาวุธของประเทศปากีสถานยิงตก ตามมาด้วยเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศ ณ เมืองบาลาโคต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ทำให้มีสมาชิกกลุ่มติดอาวุธเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บาดแผลความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
ด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ Hotel Mumbai ถูก Netflix ระงับการฉายในอินเดีย รวมทั้งในนิวซีแลนด์ เนื่องจากเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดที่ไครสต์เชิร์ชเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562 [4] ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้ชมก็ต้องวางท่าทีและมีสติ เนื่องจากภาพยนตร์มีความละเอียดอ่อนค่อนข้างสูง

มุมไบกับเหตุการณ์ความไม่สงบ

แม้ว่ามุมไบเคยต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์การก่อการร้ายมาหลายครั้ง เช่น ใน ค.ศ. 2003 เกิดเหตุวางระเบิดบริเวณนอกโรงแรมทัชมาฮาล ทำให้มีคนเสียชีวิต 50 คน ต่อมาใน ค.ศ. 2006 เกิดเหตุวางระเบิดสถานีรถไฟ 7 แห่ง ทำให้มีคนเสียชีวิตอีก 180 คน แต่เหตุการณ์ใน ค.ศ. 2008 เป็นมีความรุนแรงมากที่สุด และถือได้ว่าเป็นการเกิดขึ้นของการก่อการร้ายสากลระลอกใหม่ [5]
จากการก่อการร้ายในครั้งนี้ นักวิชาการหลายคนรวมถึงรัฐบาลได้ออกมาพูดถึงสาเหตุแรงจูงใจไว้หลากหลายประเด็น มีประเด็นสำคัญอยู่หนึ่งประเด็น คือ การทำลายเสถียรภาพทางความมั่นคงและต่อต้านกลุ่มแนวร่วมองค์กรสหรัฐฯ ชาวยิว และชาวฮินดู โดยกลุ่ม Lashkar-e-Taiba (Let) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวถูกมองว่า เป็นกองกำลังติดอาวุธขององค์กรศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ในปากีสถานที่มีเป้าหมายในการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่อินเดียออกจากเขตแคชเมียร์ และจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นทั่วอินเดีย [6] ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอินเดียมองว่า กลุ่มดังกล่าวได้ย้ายฐานที่มั่นจากเขตแคชเมียร์ของปากีสถานเข้าไปอยู่ในเขตเดียวกับ กลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) ของอุซามะฮ์ บิน ลาดินและอับดุลลาห์ อัซซัม [7] เพื่อหวังทำลายกระบวนการสันติภาพระหว่างอินเดียและปากีสถาน และสร้างความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศนี้
ส่วนเป้าหมายการโจมตีของกลุ่มคือ ศูนย์กลางทางศาสนาของชาวยิว ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของนครมุมไบ อย่างไรก็ตาม ผู้นำปากีสถานก็ออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้น เช่นเดียวกัน รัฐบาลอินเดียไม่ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่ม Lashkar-e-Taiba (Let) เพียงอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงถึงกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงอื่นๆ ในอินเดียอีกด้วย ซึ่งหลังเหตุการณ์สงบลง กลุ่ม Deccan Mujahideen ที่เป็นกลุ่มก่อการร้ายใหม่ โดยอาจมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับกลุ่ม Indian Mujahideen ที่เคยก่อการร้ายในอินเดียอยู่หลายครั้ง ก็ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น [8]

เหตุการณ์ก่อการร้าย : ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียและปากีสถาน

ในช่วงต้น ค.ศ. 2008 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นมากมายในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นในกรุงนิวเดลี บังกาลอร์ ชัยปุระ และอื่นๆ [9] ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมในอินเดียเหล่านี้ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอินเดีย ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากกลุ่มก่อการร้ายในเขตแคชเมียร์ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการที่จะปลุกระดมคนมุสลิมในอินเดียกว่า 150 ล้านคนให้ต่อสู้กับชาวฮินดู [10] ด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเริ่มเลวร้ายลงกว่าเดิม อินเดียกล่าวหาว่า ปากีสถานมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต้องหยุดชะงักลง อีกทั้งยังทำให้มีการปะทะกันตามแนวชายแดน ซึ่งสร้างความหวาดกลัวและหวาดระแวงให้แก่ชาวฮินดูเป็นอย่างมาก
ต่อมา นายกรัฐมนตรี มานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้น ได้มีมาตราการเพิ่มการรักษาความปลอดภัย พร้อมปฏิรูปกลไกการต่อต้านการก่อการร้ายภายในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในอินเดีย [11] รวมทั้ง เริ่มปรับโครงสร้างหน่วยงานด้านความมั่นคง มีการจัดตั้งหน่วยรักษาความมั่นคงแห่งชาติใน 4 เมืองใหญ่ ได้แก่ มุมไบ กัลกัตตา เจนไน และไฮเดอราบัด เพื่อก่อตั้งหน่วยสอบสวนกลางแห่งชาติขึ้น โดยร่วมมือกับ Special Intervention Unit ประจำรัฐ [12] หน่วยงานทั้งหมดนี้จะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตอบโต้เหตุการณ์การก่อการร้ายได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที รวมทั้งยังมีการสร้างระบบการประสานงานด้านการสื่อสาร ให้เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐในแต่ละแห่งอีกด้วย
หลังการก่อการร้ายไม่นาน อินเดียและปากีสถานก็ได้เริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีของอินเดียและปากีสถาน ในการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ [13] เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2009 โดยที่นายกรัฐมนตรีของปากีสถานประกาศว่า ไม่เข้าข้างฝ่ายใดทั้งสิ้น ส่วนรัฐบาลอินเดียก็ตระหนักได้ว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยลำพังนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดอีกต่อไป อินเดียจึงใช้มาตรการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายกับประเทศอื่นๆ อย่างจริงจังทั้งในลักษณะของความร่วมมือในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติควบคู่กันไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

References

[1], [5], [6], [8], [9], [10] ประภัสสร์ เทพชาตรี (2008). มุมไบ : การก่อการร้ายระลอกใหม่. drprapat.com. 

เข้าถึงเมื่อ (15 ธันวาคม 2563). จาก http://www.drprapat.com/มุมไบ : การก่อการร้ายระลอกใหม่

[2] MGR Online. ย้อนรอย 60 ชั่วโมงก่อการร้าย มุมไบ (2008). เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563. จาก https://mgronline.com/around/detail/9510000141772

[4] BBC News. อินเดีย-ปากีสถาน: สรุปสถานการณ์ความขัดแย้งล่าสุดระหว่าง 2 ชาติ (2019). 

เข้าถึงเมื่อ 10 มกราคม 2564. จาก https://www.bbc.com/thai/international-47394100

[7] The Editors of Encyclopaedia Britannica (2019). Al-QaedaIslamic militant organization. Britannica. 

เข้าถึงเมื่อ 20 ธันวาคม 2563. จาก https://www.britannica.com/topic/al-Qaeda

[3], [11], [12], [13] อภิวัฒน์ วัฒนพงษ์. “การก่อการร้ายในอินเดียหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11.

” วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่8. ฉบับที่ 3 (กันยายน – ธันวาคม 2558).

– IMDB. Hotel Mumbai (2019). เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563. จาก https://www.imdb.com/title/tt5461944/

– Wikipedia. (2020). Lashkar-e-Taiba. เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563. จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Lashkar-e-Taiba

– ธนกร วงษ์ปัญญา. (2019). มุมชีวิตในมุมไบ เมืองแห่งความหลากหลายที่ไม่เคยหลับใหล. Thestandard. 

เข้าถึงเมื่อ 10 มกราคม 2564. จาก https://thestandard.co/mumbai-india/

Photo credit :

Hotel Mumbai (2018) Poster in http://www.impawards.com/intl/australia/2018/hotel_mumbai_ver6.html

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *