โดย พาตีเมาะ แนปีแน
นิสิตสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลกได้ประกาศความสำเร็จในการผลิตวัคซีนเพื่อต้านการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันวัคซีนเป็นสิ่งล้ำค่าและเป็นที่ต้องการของรัฐบาลในชาติต่างๆอย่างมาก จึงไม่แปลกหากประเทศไหนสามารถผลิตวัคซีนย่อมเนื้อหอมและเป็นที่ต้องการของชาติอื่นๆ
ประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนจะมีอำนาจในการเบิกทางไปสู่การสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ผ่านรูปแบบข้อตกลงการซื้อขาย หรือการแจกฟรีผ่านนโยบายระหว่างประเทศที่มีนัยยะอื่นๆ อาทิเช่น การแจกวัคซีนของอินเดียต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และประเทศอื่นๆ การแจกวัคซีนของจีนต่อประเทศพันธมิตร การเจรจาซื้อ-ขายวัคซีนของรัสเซีย ที่ให้ความสำคัญกับประเทศยุโรปตะวันออก เป็นต้น ทั้งนี้เห็นได้ว่าการทูตวัคซีนกลับกลายเป็นเครื่องมือต่อรองในเกมการเมืองโลกปัจจุบัน
ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ระยะบรรเทาของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ความพยายามของอินเดียในการใช้ความได้เปรียบทางเทคนิคในการผลิตวัคซีนขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการทูต จะเห็นได้ว่าอินเดียผลักดันตัวเองขับเคลื่อนในการเข้าไปมีส่วนร่วมแบบทวิภาคีกับเพื่อนบ้านจำนวนมากรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในโลกที่กำลังพัฒนา[1] บทความนี้จะทำความเข้าใจโลกของการเมืองว่าด้วยเรื่องวัคซีนหรือการทูตวัคซีนในเอเชียใต้ รวมถึงเกมการทูตวัคซีนของอินเดีย จีน และรัสเซียในภูมิภาคอื่นๆ
การเมืองวัคซีน
ฉากแรก ชาตินิยมวัคซีน (Vaccine Nationalism) ชาตินิยมวัคซีนนั้นเป็นการให้ความสำคัญเพียงชาติตน เป็นการกีดกันการส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ เพื่อให้คนในประเทศตัวเองได้รับวัคซีนก่อน จะเห็นได้จากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐที่เล่นเกมการเมืองเอียงไปทางชาตินิยมวัคซีน
ฉากที่สอง วัคซีนเป็นสมบัติของโลก เป็นที่มาของโครงการ COVAX ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) และองค์กรพันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) เป็นการสร้างความร่วมมือในระดับโลก COVAX การรวบรวมกำลังซื้อและอำนาจการต่อรองจากประเทศที่เข้าร่วม ก่อนที่จะนำวัคซีนมาทยอยจัดสรรแก่ประเทศที่เข้าร่วมอย่างเท่าเทียม จะเห็นได้ว่าหลายประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนเองก็เข้าร่วมกับโครงการนี้ด้วย
ฉากที่สาม รูปแบบการผสมผสาน ชาติมหาอำนาจเจ้าของวัคซีนมีอำนาจต่อรองเหนือชาติอื่น โดยใช้การเจรจาซื้อขายวัคซีนของบริษัทที่ชาติตัวเองสนับสนุน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ชาติมหาอำนาจเจ้าของวัคซีนเหล่านี้ได้เข้าเป็นสมาชิกโครงการ COVAX และยังมีการเสนอให้นำวัคซีนเข้าร่วมโครงการเพื่อแจกจ่ายประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบการผสมผสานในอีกทางหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ COVAX แต่ในอีกนัยยะหนึ่งคือกลับมีการต่อรองการซื้อขายระหว่างประเทศ[2] จะเห็นได้ว่าฉากนี้เป็นที่นิยมของประเทศมหาอำนาจในการเล่นเกมทางวัคซีนการทูตอย่างอินเดีย จีน และรัสเซีย
อินเดียกับบทบาทสำคัญในการผลิตวัคซีนโควิด-19
บทบาทของอินเดียในฐานะ“ ร้านขายยาของโลก” โดยมีการผลิตยาสามัญทั่วโลก สามารถผลิตวัคซีนได้หลายชนิดและมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ เพื่อใช้ภายในประเทศและสามารถจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้ อินเดียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดในโลก จัดหาวัคซีน DPT, BCG และโรคหัดทั่วโลกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ อินเดียผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ในชื่อ Covishield รวมถึง Covaxin สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) ที่ร่วมมือกับบริษัท AstraZeneca ของอังกฤษ โดยทำสัญญาที่จะผลิตวัคซีนโควิด-19 ของ Oxford/AstraZeneca และ Novavax อย่างละ 1 พันล้านโดสเพื่อขายให้ประเทศที่รายได้ต่ำ ปานกลาง และระดับล่างในราคาโดสละ 3-6 USD[3]
ความต้องการวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น การจัดหาวัคซีนในเชิงพาณิชย์จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจยาของอินเดียในปัจจุบันและในระยะยาว ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญในการผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุด วัคซีนของอินเดียที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าและมีต้นทุนต่ำและง่ายต่อการจัดเก็บและขนส่ง จึงทำให้หลายประเทศได้ทำข้อตกลงในการจัดซื้อจัดจ้าง อีกทั้งอินเดียยังเป็นประเทศแนวหน้าในการจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำอีกด้วย สำหรับการบริจาคในครั้งนี้ ถึงเป็นการรักษาดุลอำนาจของตัวเองในภูมิภาคเอเชียใต้จากการแทรกแซงการทูตวัคซีนของจีน
อินเดียกับการทูตวัคซีน
การใช้วัคซีนทางการทูตของอินเดียผ่านโครงการที่มีชื่อว่า ‘Vaccine Maitri’ (วัคซีนไมตรี) หรือ ‘Vaccine friendship’ เป็นการแจกจ่ายให้กับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งเนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ ศรีลังกา อัฟกานิสถาน และมัลดีฟส์ ยกเว้นปากีสถาน[4] เนื่องจากความขัดแย้งที่ยังคงดำรงอยู่ ในการดำเนินการทูตวัคซีนของอินเดียไม่เพียงแค่บริจาคให้กับประเทศในเอเชียใต้ อินเดียยังมีการเจรจาซื้อ – ขายวัคซีนกับอีกหลายประเทศทั่วโลก อินเดียยังได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนเชิงพาณิชย์ให้กับหลายประเทศ เช่นซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ บราซิล และโมร็อกโก เป็นต้น แต่ในการบริจาคครั้งนี้ก็ถูกเชื่อว่าเป็นใบเบิกทางเข้าไปสร้างอิทธิพลและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างๆ กับประเทศเหล่านั้น โครงการวัคซีนไมตรีของอินเดียจะช่วยบรรเทา “ความไม่เท่าเทียมกันของวัคซีน” ในโลกได้ระดับหนึ่งด้วยการทำให้วัคซีนโควิด-19 สามารถเข้าถึงประเทศกำลังพัฒนาและยากจนได้มากขึ้น
ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน โครงการนี้จึงเป็นที่ยอมรับและได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์และการขยายอำนาจทางการทูตในเวทีโลกในอนาคต อินเดียอาจเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกยอมรับในฐานะผู้นำวัคซีนโควิด-19 อย่างกรณีที่เป็นประเด็นคือ เมียนมาร์ ซึ่งมีพรมแดนที่ติดทั้งอินเดียและจีน ในขณะที่จีนสัญญาว่าจะส่งวัคซีนให้ประมาณ 300,000 โดส แต่ก็ยังไม่ได้ส่งมอบอะไรเลย กลับกันอินเดียส่งมอบวัคซีน 1.5 ล้านโดสให้กับเมียนมาร์อย่างรวดเร็ว[5] วัคซีนการทูตของอินเดียเป็นการสร้างความปรารถนาดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียใต้ซึ่งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรม “พี่ใหญ่” ที่สำคัญ Vaccine Maitri จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านอิทธิพลของจีนในเอเชียใต้ แอฟริกาและที่อื่นๆ[6]
ความเหลื่อมล้ำของชาตินิยมวัคซีนสู่การทูตวัคซีน
ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้มีตั้งแต่อดีต อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่กว่าวัคซีนจะถึงประเทศ กำลังพัฒนา ประเทศที่ร่ำรวยต่างได้รับไปก่อนแล้ว ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศที่มีอำนาจและมีกำลังซื้อวัคซีนก็ย่อมอยากให้ประเทศตัวเองเข้าถึงวัคซีนได้เร็วกว่าชาติอื่นเพื่อให้ประเทศเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว จึงเป็นที่มาของฐานผลิตวัคซีนที่ส่วนใหญ่อยู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ กลุ่มประเทศ บราซิล อินเดีย รัสเซีย จีน เพื่อกันไมให้เกิดวัคซีนชาตินิยมเกิดขึ้น ยิ่งการระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ ทั่วทุกมุมโลกต่างได้รับผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจงานบริการและการท่องเที่ยวต่างหยุดชะงัก ฉะนั้นการดำเนินนโยบายชาตินิยมวัคซีนจึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนักในสถานการณ์เช่นนี้ แม้ประเทศใดจะฉีดวัคซีนหรือสามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ก่อน หากโควิด 19 ยังระบาดอยู่ทั่วทุกภูมิภาคก็ยากที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวได้[7]
ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บางประเทศที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ต่างหันมาดำเนินนโยบายการทูตวัคซีน โดยรับบทเป็น “ผู้ให้ใจบุญ” อย่างอินเดีย จีน และรัสเซีย
บทสรุป
อินเดีย ความสัมพันธ์ที่มีความตึงเครียดมาตลอดระหว่างอินเดีย – จีน เนื่องจากเรื่องดินแดนที่ยืดเยื้อมานาน อีกทั้งในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งอินเดียและจีน ต่างสามารถครอบครองฐานการผลิตวัคซีน การรักษาดุลอำนาจของอินเดียในเอเชียใต้ และความต้องการของจีนในการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ จึงก่อให้เกิดการปะทะกันทางการทูตวัคซีนในภูมิภาคนี้อย่างที่เห็นได้ชัด ถึงกระนั้นวัคซีนของอินเดียได้รับความนิยมในภูมิภาคนี้มากกว่าวัคซีนของจีน
จีน การดำเนินเกมการทูตวัคซีนที่เข้มข้นในหลายประเทศ ภายใต้วัคซีนที่จีนสามารถผลิตได้ อย่าง Sinovac และ Sinopharm จีนได้บริจาควัคซีนให้กับประเทศพันธมิตร และประเทศที่อยู่ในโครงการเส้นทางสายไหม รวมทั้งกลุ่มประเทศที่จีนได้เข้าไปร่วมลงทุน เพื่อเข้าไปมีบทบาทและสานสัมพันธ์ อีกทั้งการทูตวัคซีนของจีนไม่เพียงแค่การบริจาค แต่ยังมีการตกลงให้บางประเทศเป็นฐานผลิตวัคซีนและทดสอบวัคซีนอีกด้วย ทั้งนี้การทูตวัคซีนของจีนอาจเป็นการกู้ภาพลักษณ์เชิงลบในการเป็นต้นตอของการระบาดโควิด-19 อีกด้วย อย่างไรก็ตามจีนสามารถรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลง จึงทำให้จีนมีบทบาทในฐานะพี่ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือนานาประเทศผ่านการทูตวัคซีน หรือการเข้าร่วมโครงการ COVAX จีนจึงสามารถสร้างบารมีในเวทีโลกแข่งกับมหาอำนาจทางภูมิภาคตะวันตก
รัสเซีย รัสเซียเป็นอีกชาติหนึ่งที่เข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีการทูตวัคซีนตีคู่มากับจีน รัสเซียประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีน โดยให้ชื่อว่า Sputnik-V รัสเซียได้เจรจาซื้อ-ขายวัคซีนสำเร็จแล้วกับหลายชาติ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาจากหลากหลายภูมิภาคของโลก โดยให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษกับประเทศยุโรปตะวันออก แน่นอนประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับร้อยละ ยิ่งร้อยละสูงเท่าไหร่แสดงว่าสามารถป้องกันโรคโควิดได้เท่านั้น ซึ่งมีวัคซีนอยู่สามชนิดที่มีประสิทธิภาพเกินร้อยละ 90% คือ BioNTech Pfizer, Modernac และ Sputnik-V ส่วนของ Sinopharm จากประเทศจีนอยูที่ 86% และของOxford/ Astrazeneca โดยรวมคือ 70%[8] จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพของรัสเซียมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าจีนและอินเดีย ข้อได้เปรียบในเกมการทูตทั้งสามประเทศนี้ต่างก็มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีน ราคาในการเข้าถึงวัคซีนของประเทศอื่นๆ แม้แต่การดำเนินเกมการทูตต่อประเทศอื่นๆ ทั้งสามชาติข้างต้นต่างก็มีช่องโหวที่ต้องแก้ไขและปรับปรุงกันต่อไป แม้แต่อินเดียที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการทูตวัคซีน ผ่านโครงการวัคซีนไมตรี กระนั้นประชาชนในอินเดียเองไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศมากขึ้น รัฐบาลอินเดียได้ออกมาตรการในการระงับการส่งออกวัคซีนชั่วคราว มาตรการนี้จึงส่งผลกระทบต่อหลายประเทศที่พึ่งพาการผลิตวัคซีนจากอินเดียเป็นอย่างมาก
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
[1] Anand Vardhan. India has got its vaccine diplomacy right. 21 january 2021. https://www.newslaundry.com/2021/01/25/india-has-got-its-vaccine-diplomacy-right (28 march 2021 ที่เข้าถึง).
[2] วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา. เจาะสนามเกมการเมืองโลก เมื่อวัคซีนกลายเป็นอาวุธการทูต. 26 มกราคม 2564. https://www.the101.world/world-politics-vaccine-diplomacy/ (18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เข้าถึง).
[3] รวงผึ้ง สุทเธนทร. “วัคซีนโควิด-19: เลือกชนิดใดดี.” si.mahidol.ac.th, 29 มกราคม 2564: 3.
[4] วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา. ผ่าสมรภูมิการเมืองโลก 6 ภูมิภาค ในยุคการทูตวัคซีนเบ่งบาน. 29 มกราคม 2564. https://www.the101.world/vaccine-diplomacy-six-regions/ (8 มีนาคม 2564 ที่เข้าถึง).
[5] Archana Chaudhary, and Kari Soo Lindberg Iain Marlow. India Beats China at Its Own Game in Vaccine Diplomacy Fight. 25 february 2021. https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-25/india-beats-china-at-its-own-game-in-vaccine-diplomacy-battle (29 march 2021 ที่เข้าถึง).
[6] Sudha Ramachandran. India’s Vaccine Diplomacy: A Potent Card? 26 january 2021. https://thediplomat.com/2021/01/indias-vaccine-diplomacy-a-potent-card/ (30 march 2021 ที่เข้าถึง).
[7] รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. ศึกวัคซีนชาตินิยม: เมื่อประเทศร่ำรวยสั่งซื้อจนไม่เหลือเผื่อประเทศยากจน. 26 มกราคม 2564. https://themomentum.co/economiccrunch-vaccine-war/ (20 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เข้าถึง).
[8] วัคซีนโควิด-19: เลือกชนิดใดดี, อ้างแล้ว.