โดย ธันย์ชนก รื่นถวิล
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นานเท่าไรแล้วที่ภาระหน้าที่การเป็นแม่ เมีย และลูกสาวที่ดีเป็นภาระหน้าที่ถูกโยนให้ผู้หญิง ราวกับบาปกำเนิดที่มีติดตัวมาอย่างใดอย่างนั้น หากแต่มันต่างไปที่บาปกำเนิดนั้นสามารถชำระล้างได้ด้วยพิธีกรรมทางศาสนาที่เรียกว่า ศีลจุ่ม แต่ภาระของการเป็นผู้หญิงนั้นไม่อาจปฎิเสธ ผลักทิ้ง ผัดผ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตภายใต้สังคมปิตาธิปไตยที่เต็มไปด้วยความคาดหวังที่มีต่อผู้หญิง ข้อกำหนดมากมายที่ผู้หญิงจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สิ่งที่พวกเธอทำได้มีแค่ก้มหน้าก้มตา สงบปากสงบคำเอาไว้เท่านั้น
ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร หากที่ทางและทิศทางในชีวิตถูกจำกัดให้เหลือเพียงเท่านี้ เราจำต้องเก็บถ้อยเก็บคำเหล่านั้นเอาไว้กับตัว การขัดขืนเป็นบาปที่ต้องได้รับการชำระ
ในหลายปีหลังมานี้ เราจะเห็นว่าเริ่มมีภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่เล่าถึงโลกดิสโทเปียที่จำลองภาพสาธารณะรัฐใหม่ขึ้นมาภายหลังการล่มสลายลงของโลก รัฐภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ โดยมีตัวละครหลักเป็นผู้หญิงผู้ถูกกดขี่จากระบบการปกครองแบบใหม่ ผ่านการสร้างตัวตนของผู้หญิงในแบบอุดมคติ อันได้แก่ การเป็นแม่ เมีย และลูกสาวที่ดี อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ ที่ถูกที่ควร พวกเธอเหล่านี้ถูกทำให้เงียบเสียงลง ตัวตนของเธอเกี่ยวพันกับสามีและลูก ไม่อาจเป็นสิ่งอื่น เช่นเรื่อง The Handmaid’s Tale ของช่อง HBO เรื่องราวภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐเผด็จการกิเลียต ที่ผู้หญิงถูกลดทอนตัวตนให้เป็นแค่เครื่องผลิตเด็กที่ไร้ชื่อในฐานะสาวรับใช้
ทางฝั่งอินเดียก็มีเรื่องราวดิสโทเปียในลักษณะเดียวกัน ชื่อ ไลลา (Leila) เรื่องราวเกิดขึ้นในสาธารณรัฐอารยะวัตตะ (Aryavarta) ในปี 2047 โดยการนำของท่านผู้นำชื่อ ดร. โจชิ ภายหลังการล่มสลายลงของโลกที่น้ำและอากาศที่สะอาดกลายเป็นความหรูหรา ภายใต้ระบอบการปกครองนี้ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในร่องในรอยจะถูกส่งไปที่ศูนย์สวัสดิภาพสตรี สถานอบรมกุลสตรีเพื่อสร้างผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อรับใช้ ในฐานะสิ่งที่เรียกว่า “เทพีแห่งเหย้าเรือ” ทำหน้าที่เป็นผู้เชิดชูวงศ์ตระกูล เช่นเดียวกับ ชาลินี หญิงสาวจากวรรณะสูงผู้มีตราบาปเดียวที่ต้องได้รับการชำระล้าง คือ การแต่งงานกับชายมุสลิม
เราจะถูกจ้องมองได้ไหม หากเราถูกทำให้ไร้ตัวตน?
ในเรื่อง สถานที่ที่เรียกว่า ศูนย์สวัสดิภาพสตรี มีลักษณะอาคารเป็นแบบมีโถงตรงกลาง พื้นที่ตรงกลางจึงเป็นทั้งพื้นที่ของการถูกจ้องมอง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ของการแสดงอำนาจไปด้วย ดังนั้น ทั้งความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวอาคารทั้งหมด ย่อมสร้างความรู้สึกให้ผู้อาศัยกลายเป็นทั้งผู้ถูกจ้องมองและจ้องมองผู้อื่นควบคู่กันไป โครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกเหมือนถูกจ้องมอง ซึ่งเป็นการจ้องมองโดยใครสักคนที่อาจจะไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงเลยก็ได้
ไม่มีแม้รูปเงาที่ปรากฏ แต่ก็สามารถสร้างความหวาดกลัว หวาดระแวงได้อย่างดี
ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงในนั้นก็ไม่ต่างกัน ภายใต้โครงสร้างแบบปิตาธิปไตยที่คุรุประจำศูนย์สวัสดิภาพสตรีที่เป็นผู้ชายที่ทำหน้าที่ขัดเกลาผู้หญิง ส่วนผู้คุมเป็นฮิจราผู้ที่ไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง แต่ฉกฉวยชิ้นส่วนจากชีวิตของพวกเธอ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ แทน ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ผู้หญิงยังต้องทำร้ายกันเองเพื่อให้ได้พิสูจน์ความดีงามที่การตัดสินขึ้นอยู่กับผู้ชายอีก นี่คือแบบจำลองของโครงสร้างปิตาธิปไตยที่ชัดเจนที่สุด
ภายใต้วัฒนธรรมที่ผู้ชายมองว่าผู้หญิงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวจากคำกล่าวอ้างประเภทว่า นั่นคือวัฒนธรรมของเรา วัฒนธรรมที่ทำให้ผู้หญิงถูกมองข้ามและไม่ได้มีตัวตน กล่าวคือ ภาวะทางสังคมย่อมส่งผลต่อการรับรู้ตัวตนของผู้หญิงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบวินัยและการลงโทษย่อมมีผลต่อการสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงทั้งสิ้น ซึ่งเกี่ยวพันกับการรับรู้ตัวตนของพวกเธอไปด้วย พื้นที่ อำนาจ และร่างกายจึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ และการรับรู้ตัวตนของตนเองเป็นสาระสำคัญหนึ่งของการมีชีวิตอยู่
สาระสำคัญและตัวตนในสังคมปิตาธิปไตย
หากการรับรู้ตัวตนของตนเองเป็นสาระสำคัญของการมีชีวิตอยู่ ผู้หญิงภายใต้สังคมปิตาธิปไตยจะเป็นอย่างไร
ชาลินี หญิงสาวจากวรรณะสูง ผู้มีความคิดก้าวหน้าในหลายแง่มุมทั้งวิถีชีวิตแบบตะวันตกที่เธอเลือก รวมทั้งการแต่งงานกับคนข้ามวรรณะ คนนอกศาสนานั่นก็ด้วย แต่แง่มุมหนึ่งที่ไม่ได้ต่างไปจากเดิมเลยคือ สารัตถะในชีวิตของเธอคือการเป็นแม่ของลูก
แม้ในโลกดิสโทเปีย ผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองได้จากภาระหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะในซีรีส์ฝั่งตะวันตกอย่าง The Handmaid’s Tale ที่ตัวละครอย่าง จูนก็ยังคงเฝ้าวนเวียนอยู่กับการตามหาลูกสาวของเธอที่ถูกรัฐพรากไปเช่นเดียวกัน
ตัวละครเหล่านี้ทำให้รู้ได้ว่า ชีวิตดูไร้ความหมายหากเธอไม่ได้เป็นแม่ของใครสักคนอีกแล้ว ชาลินี ไม่ได้มีความฝันอะไรไกลไปกว่าการได้พบลูกสาวของตัวเอง เธอไม่ได้มองการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กดขี่ตัวเองอยู่
เธอจะพอใจหากได้พบลูกสาวและลูกสาวยอมรับสถานภาพการเป็นแม่ของเธอ
ต่อให้เธอต้องอยู่ในสังคมที่ผู้หญิงที่เรียกร้องความยุติธรรมในการแบ่งทรัพย์สินของครองครัวเป็นคนผิด การแต่งงานข้ามชนชั้น วรรณะเธอก็ยังเป็นคนผิด ซ้ำร้ายการแต่งงานข้ามศาสนาเธอก็ยังเป็นคนผิดอยู่ดีนั่นแหละ
ภายใต้สังคมที่ผู้หญิงถูกพุ่งเป้าโจมตีจากทุกทิศทาง แล้วยังต้องมานั่งพิสูจน์ความบริสุทธิ์และลบล้างอดีตของตนเอง แต่หากได้ลูกสาวกลับมาสู่อ้อมกอดของเธออีกครั้งต่อให้ต้องอยู่ในสังคมที่เลวร้ายแบบนั้น เธอก็ทนได้ ขอแค่มีลูกอยู่ข้างกายทุกอย่างก็จะไม่เป็นอะไร ต่อให้ระบบชายเป็นใหญ่จะกระทำย่ำยีพวกเธอไว้อย่างสาหัสแค่ไหน เธอก็ยังคงมองไม่เห็นว่า สิ่งที่พวกเธอต้องต่อสู้ด้วยไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็นโครงจากสังคมแบบปิตาธิปไตย ผ่านสำนึกความคิดของการเป็นแม่และเมียที่ได้ฝังรากลึกไปในความคิดของผู้หญิงเหล่านี้ก่อนที่ตัวเธอจะเกิดเสียอีก
ดังนั้น มันจึงถูกต้องแล้วที่ โจชิ พูดใส่หน้า ชาลินี ในตอนท้ายว่า ไม่ว่ายังไงเธอก็ไม่มีวันล้มล้างสาธารณรัฐอารยะวัตตะไปได้หรอก
เพื่อไม่ให้เป็นการใจร้ายกับระบอบปิตาธิปไตยจนเกินไป ในแง่หนึ่งการเป็นแม่ เป็นเมีย หรือการเป็นลูกสาวก็เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับผู้ชายได้ในบางครั้ง ในเรื่องก็มีตัวละครผู้หญิงที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างแบบนี้เช่นเดียวกับ ซัปนา สาวรับใช้ของชาลินี ผู้ที่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นนายหญิง เพราะสามีผู้เป็นมือขวาคนสำคัญของโจชินั่นเอง โลกดิสโทเปียของใครบางคนอาจเป็นยูโทเปียของใครสักคนก็ได้
แต่สุดท้ายแล้วก็วนไปที่คำถามว่า ทำไมผู้ชายเฮงซวยบางคนถึงต้องได้ทุกอย่างที่ตัวเองต้องการจากการเสียสละเพียงเล็กน้อยในท้ายที่สุดอยู่ดี
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
Photo credit :
– https://www.netflix.com/title/80222951
– https://thewire.in/film/netflix-leila-review