Stories by Rabindranath Tagore : การศึกษา ติดปีกปัญญาให้ผู้หญิง

โดย นงค์ลักษณ์ บัทเลอร์

นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานเขียนประเภทเรื่องสั้นของรพินทรนาถ ฐากูร นักเขียนชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อค.ศ. 1913 เรื่องสั้นจำนวน 20 เรื่อง ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์เมื่อค.ศ. 2015 จำนวน 26 ตอน โดยการสร้างสรรค์ของ Anurag Basu ซึ่งมีความสนใจในงานเขียนของรพินทรนาถ

เรื่องสั้นของรพินทรนาถแม้จะเขียนเมื่อ 150 ปีก่อน แต่ยังคงสามารถเชื่อมผู้คนด้วยเรื่องเล่าผ่านมุมมองเชิงสังคม การเมือง วัฒนธรรม ชีวิต ฯลฯ ด้วยความคิดก่อนกาลหรือความล้ำสมัยของนักเขียนยังคงร่วมยุคร่วมสมัยมาโดยตลอด ยังคงมีการหยิบยกผลงานมาวิเคราะห์ ตีความ งานวรรณกรรมจึงเป็นภาพสะท้อนสังคมอินเดียได้อีกทางหนึ่ง

บริบทของเวลา เหตุการณ์ สถานที่ในเรื่องสั้นทั้ง 20 เรื่อง เป็นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ได้แก่ Chokher Bali, 1903 (A Grain of Sand); Atithi, 1895 (The Guest); Maanbhanjan, 1895 (Fury Appeased); Detective, 1898; Kabuliwala, 1892; Shasti, 1893 (Punishment); Nastanirh, 1901 (The Broken Nest); Khokababur Pratyabartan, 1891 (The Return of Khokababu); Samapti, 1893 (The Conclusion); Chhuti, 1892 (The Homecoming); Tyaag, 1892 (The Renunciation); Sampatti Samarpan, 1891 (The Trust Property); Dui Bon, 1933 (Two Sisters); Strir Patra, 1914 (Wife’s letter); Aparichita, 1916 (The Unknown Woman); Kankal, 1892 (The Skeleton); Musalmaner Golpo, 1941 (The Story of a Muslim Woman); Shesh Rokkha, 1926-1929 (Saved at Last); Monihara, 1989 (The Lost Jewels); Daliya, 1892 (Dalia)

Stories by Rabindranath Tagore ปรากฏประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนสุดท้าย แม้นักเขียนจะเน้นบทบาทของผู้หญิงทั้งในบ้านและนอกบ้าน อารมณ์ ความรัก ความปรารถนา ควบคู่ไปกับอภิสิทธิ์ของผู้ชาย สังคมปิตาธิปไตย แต่วรรณะก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม พื้นหลังของเรื่องเล่ายังมีคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาการตกเป็นอาณานิคม มีเหตุการณ์การชุมนุมเพื่อเรียกร้องการปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมปรากฏให้เห็นในซีรีส์หลายตอน ตัวอย่างการปลดแอกกับเจ้าอาณานิคม เช่น การเผาเสื้อผ้าแบบตะวันตก การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์กับเจ้าอาณานิคม กระบวนการต่อต้านขัดขืนดังกล่าวดำเนินไปพร้อมกับการปลดแอกให้กับผู้หญิงในเรื่องสั้น

นอกจากนี้ พื้นหลังของเรื่องเล่ายังสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนผ่านของชนบท การเติบโตของระบบอุตสาหกรรม และเมืองใหญ่อย่าง กัลกัตตา กำลังมุ่งสู่ความเป็นสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการปะทะกันของความคิดเก่า/ใหม่ ขณะเดียวกันแนวคิดอนุรักษนิยมแบบอินเดียก็ยังเหนียวแน่น โดยเฉพาะในเรื่อง ‘วรรณะ’ ที่มีส่วนเข้าไปกำหนดบทบาท โอกาส ชะตาชีวิตของผู้หญิงได้เช่นเดียวกัน รวมถึง การคลุมถุงชนแบบอินเดีย ที่ทำให้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต่างถูกกดทับทางความรู้สึก แม้จะมีความพยายามขบถต่อจารีตประเพณีที่สืบทอดมายาวนานนี้ก็ตาม เรื่องราวดังกล่าว ปรากฏเป็นการเคลื่อนไหวทางความคิดที่ส่งต่อไปยังผู้อ่านและผู้ชม เล่าเรื่องแบบไม่ปลุกระดม แต่กลับเต็มไปด้วยเหตุและผลมารองรับ เพื่อให้เลือกตัดสินใจหรือเปรียบเทียบวิเคราะห์ วิพากษ์อย่างอิสระ

การศึกษา: ติดปีกปัญญาให้กับผู้หญิง

ในประวัติศาสตร์ผ่านมา การศึกษานับเป็นสิทธิพื้นฐานอีกหนึ่งอย่างที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายและหญิง ผู้ชายมักได้อภิสิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากถูกประกอบสร้างจากสังคมในฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงไม่ต้องได้รับการศึกษา สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความชอบธรรมที่สังคมประกอบสร้างไว้ให้ แต่งานเขียนของรพินทรนาถกลับมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้หญิง เพื่อชี้ให้เห็นว่าเมื่อผู้หญิงเข้าถึงการศึกษา แม้เพียงอ่านออกเขียนได้ก็ช่วยให้พวกเธอไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของความไม่รู้

ตัวละครหญิงหม้ายในเรื่อง Chokher Bali ที่ถูกสังคมตีตราว่าเป็นกาลกิณี ทำให้เธอหมดโอกาสทางสังคม แต่การรู้หนังสือของเธอได้มอบโอกาสให้กับเธอ โดยไม่ต้องคอยแต่จะต้องพึ่งพาฝ่ายชาย และยังเล่าเรื่องผ่านผู้หญิงอีกคนที่ไม่รู้หนังสือซึ่งเป็นภรรยาของชายที่หลงรักเธอหัวปักหัวปำ

หรือแม้แต่ในวรรณะแพศย์ กลุ่มชนชั้นนำทางสังคม ส่วนใหญ่ตัวละครในเรื่องเล่าจะอยู่ในวรรณะนี้ แนวคิดเกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษาทั้งผู้ชายและผู้หญิง ถูกปลูกฝังส่งต่อกันมาว่าเมื่อมาใช้ชีวิตร่วมกัน เธอต้องพึ่งพาผู้ชาย แม้มีว่าการศึกษาก็ตาม ดังนั้น การศึกษาจึงไม่ได้ติดปีกให้เธอโบยบินอย่างอิสระ เพราะผู้หญิงต้องรับบทบาทของการเป็นเมีย เป็นแม่ภายในบ้าน อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการศึกษาไม่ได้เป็นคำตอบสำเร็จรูปในการลดความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงเสมอไป แต่ถึงอย่างไร ผู้หญิงก็ควรจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาเช่นเดียวกับชาย

การคลุมถุงชน

ประเพณีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนของอินเดียที่ปรากฏหลายตอนในซีรีส์ นำเสนอภาพความรู้สึกของฝ่ายชายซึ่งมีการศึกษา รับรู้วิทยาการที่ทันสมัย และแนวคิดสมัยใหม่ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับอิสระในการเลือกคู่ครอง แม้จะไม่กล้าขบถต่อคำสั่งของพ่อและแม่ ล้วนก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนใจที่ต้องยึดจารีตดั้งเดิม สะท้อนให้เห็นว่า สังคมปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่บางครั้งกัดเซาะความรู้สึกคนที่เป็นเจ้าของมันอยู่

การต่อต้านการถูกคลุมถุงชนที่ปรากฏในเรื่อง Athiti เรื่องเล่าถึงฝ่ายชายซึ่งเป็นเด็กเร่ร่อนหนีการถูกคลุมถุงชนจากครอบครัวอุปการะ ที่ต้องการให้เขาแต่งงานกับลูกสาวของครอบครัวตัวเอง ส่วนเรื่อง Dhai Aakhar Prem Ka เล่าถึงนักเขียนชายผู้สนใจวรรณกรรม ต้องเผชิญหน้ากับจารีตในการถูกคลุมถุงชน จึงขัดขืนไม่ยอมแต่งงานกับผู้หญิงที่พ่อ-แม่เลือกไว้ให้ เพราะต้องการที่จะเลือกคู่ชีวิตเป็นผู้หญิงที่เขารู้สึกด้วยเท่านั้น เพื่อนๆ จึงช่วยกันวางแผนการให้เขาไม่ต้องถูกคลุมถุง การเล่าเรื่องสนุกชวนหัวแต่ก็แฝงการวิพากษ์ไว้อย่างแยบยล และเรื่อง Tyaag เล่าถึงพ่อสื่อที่ไม่ให้ความสนใจต่อระบบวรรณะที่ต่างกัน แม้จะรับรู้ว่าฝ่ายเจ้าสาวมีวรรณะต่ำกว่าฝ่ายเจ้าบ่าว ทำให้ต้องช่วยปกปิดวรรณะอันแท้จริงของฝ่ายหญิงที่ถูกคนจากวรรณะสูงกว่าขอมาอุปการะ จนนำไปสู่ความขุ่นเคืองใจ ความรักที่เกิดขึ้นของบ่าวสาวจึงกลายเป็น รักไม่สนิทใจ จากความรู้สึกของฝ่ายชายที่ได้ภรรยาจากวรรณะต่ำกว่า การกระทำของพ่อสื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าความรักก้าวพ้นจากการเป็นวรรณะ ขณะที่เรื่อง Punishment ได้พูดถึงชีวิตแต่งงานกับการตกเป็นทรัพย์สินของฝ่ายสามี จนนำไปสู่โศกนาฏกรรม

ความรักเล่นไม่ซื่อ

การนอกใจจนเผลอรับอีกคนมาไว้ข้างใจของผู้หญิงถูกถ่ายทอดออกมาให้รู้สึกเป็นเรื่องปกติ ผ่านวิธีการเล่าเรื่อง การถ่ายทอดภาษาหนังกับภาษาวรรณกรรม โดยที่ความรู้สึกของมนุษย์ปุถุชนจึงไม่ถูกตัดสินถูก-ผิด ทั้งการยับยั้งชั่งใจ ความมีสติ ความเหมาะสม เหตุที่นำไปสู่การกระทำเช่นนั้น ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องมีการลงมือลงไม้ ไม่เกิดความรุนแรงในครอบครัวเชิงกายภาพ แต่เจ็บช้ำภายในใจ

ในเรื่อง Two Sisters สะท้อนให้เห็นถึงรอยบาดหมางในความสัมพันธ์ระหว่างพี่เขยกับน้องเมียที่เกินเลย ต่างคนจึงพบทางสามแพร่งของตัวเอง จนคลี่คลายไปสู่ทางออก สำหรับในเรื่อง Two Sisters มีประเด็นความเป็นสมัยใหม่ของสังคมอินเดียในกัลกัตต้า ทั้งการเล่นเทนนิสในกลุ่มชนชั้นคหบดี นักธุรกิจ ปรากฏให้เห็นการเปลี่ยนผ่านและการเข้ามาของวัฒนธรรมชีวิตแบบตะวันตก ส่วนอีกเรื่องที่พูดถึงประเด็นนอกใจของผู้หญิง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพี่สะใภ้กับน้องผัวในเรื่อง Broken Nest เมื่อถึงที่สุดต่างฝ่ายต่างไปตามทางของตัวเอง

“การนอกใจ” ที่ถูกสื่อสารผ่านเรื่องสั้นของรพินทรนาถ บางครั้งทำให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจ และเข้าข้างฝ่ายชายที่ถูกนอกใจ ทั้งสองเรื่องไม่มีบทลงโทษในเชิงสังคมวัฒนธรรมแบบถอนรากถอนโคน เป็นปัญหาในครอบครัวที่ต่างคนต่างหาทางออกร่วมกัน การที่ฝ่ายชายได้รับอภิสิทธิ์ในสังคมชายเป็นใหญ่ การนอกใจของผู้ชายที่สังคมอนุโลม อนุญาติ ให้ทำได้ตามอำเภอใจจึงเป็นเรื่องปกติ คุ้นชิน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ภาษาหนังและภาษาวรรณกรรมปล่อยให้ผู้หญิงเป็นคนทำแบบนั้นบ้างก็ทำให้เห็นว่าในที่สุดแล้ว การเป็นผู้ชายที่ไม่ถูกรักหรือถูกนอกใจ เป็นบทลงโทษที่สาหัสสากรรจ์สำหรับฝ่ายชาย

ชายอัฟกานิสถานผู้ขายผลไม้

เรื่อง Kabuliwala นำเสนอการอบรมเลี้ยงดูเด็กหญิงวัยกำลังน่ารักของครอบครัวมีการศึกษาครอบครัวหนึ่ง วันหนึ่งเด็กน้อยได้พบกับชายขายผลไม้จากอัฟกานิสถาน ทั้งคู่เป็นเพื่อนเล่นต่างวัยต่างเชื้อชาติและศาสนา เด็กหญิงทำให้ชายอพยพระลึกถึงลูกสาวของตัวเอง ซึ่งตัวละครชายขายผลไม้จากคาบูลเป็นตัวแทนการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจากที่ต่างๆ มาทำมาหากินในอินเดีย คนนอกที่ได้รับการต้อนรับจากเด็กหญิงที่เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ซึ่งพร้อมเปิดประตูต้อนรับอีกฝ่าย การก้าวข้ามความแตกต่างของพรมแดนรัฐชาติ

Stories by Rabindranath Tagore นำเสนอประเด็นผู้หญิง การก้าวข้ามจารีต ขนบที่สังคมกำหนด สอดแทรกมิติสังคม การเมือง วัฒนธรรมของอินเดียให้ผู้ชมได้ศึกษา รวมทั้งกลวิธีในการเล่า การถ่ายทำที่ประณีต ละเมียดละไม และการตีความเรื่องราวที่ถูกนำเสนอเป็นซีรีส์ในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรม ความคิด

เมื่อชมซีรีส์จบลง คงมีหลายคนอยากสวมใส่ส่าหรีซึ่งเป็นวัฒนธรรมอาภรณ์ของอินเดีย แม้เรื่องสั้นเหล่านั้นจะถูกเขียนมากว่า 150 ปี แต่ประเด็นอันเป็นหัวใจหลักของเรื่องยังคงอยู่ร่วมสมัยกับสังคมอินเดียอย่างแนบแน่นมาจนถึงปัจจุบัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo credit :

– https://www.imdb.com/title/tt4853764/mediaviewer/rm3532173569/

– https://baligatesofheaven.blogspot.com/2017/12/chokher-bali-netflix-songs.html

– http://www.filmsufi.com/2018/02/kabuliwala-stories-by-rabindranath_4.html

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *