
โดย นงค์ลักษณ์ บัทเลอร์
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Real & Imagined Women: Gender, Culture and Postcolonialism
by Rajeswari Sunder Rajan
(ฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ปี 1993)

สำหรับหนังสือเล่มนี้มุ่งวิเคราะห์ประเพณีการบูชายัญผู้หญิง ชื่อ พิธีสตี (Sati) พิธีกรรมเผาผู้หญิงหม้ายให้ตายตามสามีของอินเดีย ทฤษฎีความรู้แบบตะวันตกนิยามผู้หญิงในอินเดียว่าเป็น “ผู้หญิงโลกที่สาม” จากมุมมองตามทฤษฎีแบบหลังอาณานิคม ทำให้เกิดความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม ดังนั้น ในเล่ม จึงเห็นทั้งอาณานิคมภายในคือ สังคม วัฒนธรรม การเมือง วรรณะแบบอินเดีย และอาณานิคมจากภายนอก คือจักรวรรดินิยมอังกฤษที่เข้าไปกำกับตัดสินผู้หญิง
กรณีของพิธีกรรมสตีจึงถูกวิเคราะห์ซ้อนทับเข้าไปอีกหลายต่อ ผ่านการสร้างจินตนาการว่าการเป็นผู้หญิงต้องเป็นแบบไหน นอกจากนี้ในเล่มยังพูดถึงการตัดสินผู้หญิงโลกที่สามผ่านแนวคิดของการเป็นคนป่า ไร้อารยะ การตกเป็นเหยื่อ และผู้ถูกกระทำ
อ่านไปจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมทฤษฎีแบบพื้นถิ่น (Indigenous theory) ถึงต้องใช้กับผู้หญิงโลกที่สาม ซึ่งในหนังสือเล่มนี้คนเขียนได้วิเคราะห์แบบปลายเปิดเอาไว้ เพื่อให้คนอ่านสามารถเข้าไปตั้งคำถามกับนิยาม คำจำกัดความ เพื่อโต้แย้งกับทฤษฎีและความรู้แบบตะวันตกได้ หลายทฤษฎีเป็นสูตรสำเร็จที่ตัวละครจากโลกที่สามตลอด เราจึงตกอยู่ในสถานภาพของ “เหยื่อ” (victimhood) กันผ่านอำนาจนำของชุดความรู้ตะวันตก
ในหนังสือพูดถึงพวกทฤษฎีหลักได้อย่างน่าอ่าน ที่ชอบมากในบทแรกเกี่ยวกับ “สตี” คือ การพูดถึงความเจ็บปวด (pain) ที่เกิดกับผู้หญิงในอินเดียว่าเกิดขึ้นก่อนยุคอาณานิคม และ “pain” นำไปสู่การเลือกหรือถูกกำกับการใช้ชีวิตของผู้หญิงในสังคม มุมมองตะวันตกมองว่าความเจ็บปวดเป็นภาวะของโลกที่สาม คือคำว่า “pain” คำเดียว ผู้เขียนอธิบายว่าเป็นภาษารูปแบบหนึ่งที่นำไปสู่การเห็นอกเห็นใจ และคำนี้ยังใช้อธิบายนัยยะของความแตกต่าง
ภาษาของความเจ็บปวดนำไปสู่อะไรบ้าง ได้แก่ ความน่าเวทนา ความโกรธ ความเข้าอกเข้าใจ การจัดกลุ่ม/แบ่งประเภท การกำหนดรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรม การต่อต้าน ดังนั้น เมื่อคนๆ หนึ่งเมื่อเจ็บปวดจะแสดงออก และมีปฏิกิริยาต่อความเจ็บปวดของตัวเองไปพร้อมๆ กัน มีประโยคหลายประโยคที่อธิบายเอาไว้ให้ครุ่นคิด เช่น in the external world…pain is not ‘of’ or ‘for’ anything-it is itself alone (p.23)
นอกจากนี้ ผู้เขียนมีกรณีศึกษาเกี่ยวกับ “สตี” และแนวคิดสตรีนิยมยุคหลังอาณานิคมของอินเดียผ่านสื่อทางวัฒนธรรม อาทิ หนังสือ งานเขียน งานวรรณกรรม เช่น นวนิยายเรื่องยอดนิยม ภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ทมิฬคลาสสิกเรื่อง Silapaddikaram ละคร ข่าว บทความ โฆษณา ฯลฯ ซึ่งบริบทของยุคหลังอาณานิคมต่างมีส่วนเข้าไปกำกับผู้หญิงว่า อะไรคือความเป็นจริง (real) หรือ จินตภาพ (imagined)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)