
โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เหตุผลที่สำคัญอีกประการ คือ ความเข้มแข็งของผู้นำซึ่งไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ที่จะทำให้พลเมืองในอัฟกานิสถานบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ อดีตประธานาธิบดีนายอัชราฟ กานี ที่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะต่อสู้กับตอลิบานจึงหันหลังหนีออกนอกประเทศ เดินทางอย่างเงียบ ๆ ไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สร้างความไม่พอใจต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นอย่างมาก ซึ่งได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “อเมริกาไม่ควรที่จะต่อสู้ในสงครามอัฟกานิสถานอีก แม้แต่ทหารอัฟกานิสถานเองยังไม่ต่อสู้กับตอลิบานเพื่อชาวอัฟกานิสถานเลย”
1) มิติการปกครองประเทศตามหลักศาสนาอิสลาม
กลุ่มตอลิบาน 2.0 ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะปกครองประเทศอย่างสันติสุข ไม่มีการล้างแค้นใคร พร้อมนิรโทษกรรมให้กับทุกกลุ่ม พร้อมเพิ่มบทบาทให้กับสตรีในการเข้าร่วมกับจัดตั้งรัฐบาล ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยออกมาทำงานตามปกติภายใต้กรอบของกฎหมายชารีอะห์ ในประเด็นเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า สิทธิเสรีภาพที่แท้จริงตามธรรมเนียมปฏิบัติของตอลิบานจะอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายชารีอะห์ ตอลิบานจึงใช้หลักการทางศาสนานำการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งถือว่ามีจุดมุ่งหมายตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาสังคมตามหลักการของศาสนาอิสลาม
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความท้าท้ายจึงมีเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ เนื่องจากอัตลักษณ์ของตอลิบาน บวกกับกระแสการเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophpbia) ทำให้เกิดข้อกังวลว่าการใช้หลักการทางศาสนานำทุกสิ่งนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติของอัฟกานิสถานได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของนานาชาติ ที่ยังเชื่อว่าการปกครองตามแนวทางของกลุ่มตอลิบานจะนำมาสู่การลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ และปัญหาของการอยู่รวมกันภายใต้ความหลากหลายทางความเชื่อ ความหลากหลายทางปฏิบัติ และความหลากหลายวัฒนธรรมอื่น ๆ
ดังนั้น การนำรูปแบบแนวความคิดของอิสลามสมัยใหม่ (Islamic modernism) ซึ่งเป็นลักษณะแนวคิดที่ปรองดองระหว่างความศรัทธาของอิสลามกับความสมัยใหม่ เช่น การยอมรับในประชาธิปไตย สิทธิพลเมือง ความมีเหตุมีผล ความเสมอภาค และความก้าวหน้า อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับตอลิบานในสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่
2) มิติการฟื้นฟูประเทศและการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
บริบทของอัฟกานิสถาน ในสภาวะที่กำลังจะฟื้นฟูประเทศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยต้องสร้างภาพลักษณ์ของตอลิบานในรูปแบบใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนน้อม ลดการถืออาวุธปืนในที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น เมื่อประกาศว่าสงครามยุติลงแล้ว ก็ต้องยุติความรุนแรงให้ได้ และหันเข้าสู่กระบวนการวางแผนฟื้นฟูประเทศ ด้วยการวางรากฐานใหม่ โดยการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้นำของแต่ละชนเผ่า หรือผู้นำในแต่ละท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ในขณะเดียวกัน จำเป็นต้องเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับนานาประเทศทั่วโลกต่อแผนการพัฒนาฟื้นฟูประเทศทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง (3-5 ปี) และระยะยาว (20 ปี)
3) มิติผู้นำในการต่อต้านกลุ่มลัทธิสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้าย
ตอลิบานต้องแสดงบทบาทนำในการต่อต้านกลุ่มลัทธิสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้ายที่อาจใช้โอกาสในช่วงระหว่างการช่วงชิงอำนาจก่อตัวขึ้นมาในรูปแบบอื่น ๆ เพราะดินแดนอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวด้านความมั่นคงเป็นฐานที่มั่นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว รวมถึงตัดวงจรเครือข่ายที่อาจถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย IS ด้วย นอกจากนี้ เมื่อการใช้บริบทของศาสนานำการเมืองแล้ว ที่สำคัญตอลิบานจะต้องแสดงให้เห็นว่าจะไม่มีกลุ่มก้อนใดที่จะใช้ข้อบิดเบือนทางศาสนานำไปสู่การใช้ความรุนแรงขึ้นมาอีกได้
4) มิติการสร้างทรัพยากรบุคคลภายในประเทศ
กลุ่มตอลิบานส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากนักเรียนศาสนา และมีองค์ความรู้ทางโลกค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะในด้านวิทยาการสมัยใหม่ ความรู้ทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ ทางวิศวกรรมศาสตร์ ทางเทคโนโลยี รวมถึงทักษะทางภาษา ความท้าทายของตอลิบานจึงจำเป็นจะต้องสร้างคน สร้างทรัพยากรบุคคลภายในประเทศ ให้พร้อมสำหรับการฟื้นฟูประเทศให้ก้าวทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของนักเรียนศาสนาที่ถืออาวุธมาเป็นถือตำรา สร้างอาวุธทางปัญญาสู่การพัฒนาประเทศ
5) มิติการสร้างความสัมพันธ์กับนานาชาติ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ตอลิบานจำเป็นต้องเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาลุงทุนพัฒนาในอัฟกานิสถาน ความท้าทายของตอลิบานคือการต้องแสดงให้นานาประเทศเห็นก่อนว่าประเทศมีความมั่นคงและพร้อมสำหรับการเปิดบ้านให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนทรัพยากรธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพและเป็นความต้องการของตลาดโลก อาทิ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ พลอยไพลินน้ำเงิน มรกต แร่ทองคำ ลาพิส ทองแดง เหมืองเหล็ก โดยอาจทำในรูปแบบการสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดรายได้กับประเทศและลดปัญหาความยากจน รวมทั้ง ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม การส่งเสริมการท่องเที่ยวหลังจากเข้าสู่สถานการณ์ปกติก็น่าจะสามารถดึงเงินเข้าประเทศได้ไม่น้อย
อนาคตของตอลิบาน 2.0 อาจยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนและคาดการณ์ยาก แต่ข้อบทสรุปเบื้องต้น คือ ตอลิบาน 2.0 ต้องคำนึงถึงบริบทของอัฟกานิสถานในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าจะใช้กฎหมายชารีอะห์ แต่ก็ต้องใช้แบบทางสายกลาง มีเหตุมีผล สร้างให้เกิดการยอมรับจากคนหมู่มาก ตอลิบานต้องมีจุดยืน แต่ในขณะเดียวกันต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มิเช่นนั้น ก็จะเห็นภาพคนหนีออกจากประเทศไปเรื่อย ๆ (เพื่อไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า) และถ้ากฎหมายชารีอะห์ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความสุดโต่งก็จะทำให้อัฟกานิสถานกลับมาสู่ความอ่อนแอและถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจอื่น ๆ ได้อีก
ดังนั้น ความท้าทายของตอลิบาน คือ การสร้างความสมดุลระหว่างแนวความคิดอนุรักษ์นิยมและอิสลามสมัยใหม่ (ยอมรับและเคารพวัฒนธรรมอื่น ๆ) ควบคู่การเสริมสร้างอาวุธทางปัญญาจะนำมาสู่การเปลี่ยนผ่านทางสังคมในอัฟกานิสถานได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)