อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่าน และขบวนการอหิงสาอิสลาม

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คณะนิเทศศาสตร์ และ สถาบันเอเชียศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ข้าพเจ้าเชื่ออย่างยิ่งว่า อิสลามนั้นประกอบด้วย อามัล ยากีน และ โมฮาบัต”[1]

ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่าน (ชาตะ 6 กุมภาพันธุ์ ค.ศ. 1890 - มรณะ 20 มกราคม ค.ศ. 1988)
ท่ามกลางสักขีพยานกว่าสองแสนคนทั้งสองฝากฝั่งของเส้นแบ่งพรมแดน และแดดหนาวของวันที่ 22 มกราคม ปีค.ศ. 1988 ขบวนผู้ไว้อาลัยจำนวนหลายพันคนเดินทางจากเมืองเปศวาร์ในปากีสถานมาตามเส้นทางการค้าโบราณทางช่องเขาไคเบอร์สู่เมืองญาลาลาบาดทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน เพื่อนำร่างของฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่าน ผู้นำขบวนการเรียกร้องเอกราชและพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวปัชตุนตามแนวทางอหิงสามายังสถานที่พักกายสุดท้ายตามประสงค์ของตัวผู้วายชนม์ พิธีฝังศพของท่านอับดุล ฆอฟฟัร ฃ่าน (عبدالغفار خان) ผู้ที่ได้ชื่อว่า “คานทีแห่งจังหวัดพรมแดน” และ “ราชาแห่งฃ่าน หรือ บาดชาห์ฃ่าน” นั้นอาจถือได้ว่าเป็นการสื่อสารเชิงนาฏกรรม (Performative Act) ที่แสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของดินแดนแห่งชาวปัชตุน หรือ “ปัชตุนนิสถาน” ที่ถูกตัดขาดจากกันด้วยเส้นแบ่งพรมแดนของมหาอำนาจ และเป็นสัญลักษณ์แห่งการหยั่งรากของขบวนการอหิงสาในดินแดนแห่งสงครามและความขัดแย้งแห่งนี้

ด้วยอุดมการณ์แห่งอหิงสา

ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านได้รับการขนานนามว่า “คานธีแห่งจังหวัดพรมแดน” จากความสนิทสนมรักใคร่และแนวทางของการต่อสู้ด้วยอหิงสาที่ท่านมีร่วมกับมหาตมาคานธี โดยทั่วไปแล้วเมื่อนึกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของอินเดีย พวกเราโดยส่วนใหญ่ก็จะมองข้ามบุรุษร่างใหญ่ที่มักจะยืนเคียงข้างท่านมหาตมาผู้นี้ มิตรภาพระหว่างมหาบุรุษทั้งสองนั้นเป็นตัวอย่างของความรักและมิตรภาพที่ก้าวข้ามความแตกต่างในทุกมิติ ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านเป็นชายร่างใหญ่และพูดจาเสียงดังโผงผาง ในขณะที่ท่านมหาตมาเป็นชายร่างเล็กที่ขี้อายและมีน้ำเสียงนิ่มนวล รวมถึงการที่ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านเป็นมุสลิมปาทานและด้านมหาตมาเองก็เป็นฮินดูที่เคร่งครัด แต่สิ่งที่โยงใยบุรุษทั้งสองไว้ด้วยกันก็คือความรักในสัจจะและอุดมการณ์ที่จะสร้างสังคมอันสันติและยุติธรรมที่พวกเขามีร่วมกัน
ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่าน และ มหาตมาคานธี

ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่าน และ มหาตมาคานธี

แม้จะเกิดมาในครอบครัวชนชั้นสูงของชาวปัชตุนในเมืองเปศวาร์ ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านก็มีสำนึกเกี่ยวกับความยุติธรรมและความเท่าเทียมมาแต่เยาว์วัย เขาคบค้าสมาคมกับกลุ่มคนที่ถือกันว่าเป็นชนชั้นต่ำอย่างเปิดเผยและไม่ถือตัว อีกทั้งพยายามบอกกล่าวคนอื่นๆ ให้ปฏิบัติต่อผู้คนอย่างเท่าเทียมแม้จะต่างศาสนาหรือต่างชั้นวรรณะ ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านใฝ่ฝันถึงการช่วยยกระดับทางสังคมและเศรษฐกิจให้เพื่อนร่วมเชื้อชาติชาวปัชตุนที่ถูกกดขี่ข่มเหง อีกทั้งยังถูกทำให้เชื่อในข้อจำกัดของตนผ่านการปกครองแบบอาณานิคมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มุฆัลจนกระทั่งมาถึงสมัยของอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเขาต้องการที่จะปลดเปลื้องชาวปัชตุนออกจากพันธนาการของศาสนาอิสลามตามการตีความของมุลเลาะห์ท้องถิ่น ที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นเจ้าที่ดินและขุนศึก ด้วยเหตุนี้เองที่เขาจึงได้ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาในมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลีครห์ (Aligarh Muslim University)

ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาจากอลีครห์ ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านก็กลับไปเปิดโรงเรียนที่เปิดสอนทั้งสายศาสนาและสายสามัญให้แก่ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายในแถบบ้านเกิด โดยเชื่อว่าการรู้หนังสือทั้งทางโลกและทางธรรมจะสามารถช่วยยกระดับทางสังคมและทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวปัชตุนและมุสลิมได้ แนวทางการศึกษาของฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านประสบความสำเร็จอย่างมากและได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากนักปฏิรูปสังคมมุสลิมทั่วอาณานิคมอินเดียของอังกฤษ เชื่อกันว่าในระหว่างปีค.ศ. 1915 ถึง ค.ศ. 1918 เขาได้เดินทางไปช่วยก่อตั้งโรงเรียนในกว่าห้าร้อยหมู่บ้านในเขตจังหวัดพรมแดนตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบัน – จังหวัดไคเบอร์ปัคตูนควา) อันเป็นที่มาของการที่เขาได้รับขนานนามจากผู้คนในแถบนั้นว่า บาดชาห์ฃ่าน หรือ ราชาแห่งฃ่าน

จุดเด่นประการหนึ่งของการศึกษาตามแนวทางของบาดชาห์ฃ่านนั้นคือให้ความสำคัญกับการยกสถานภาพของผู้หญิง นอกเหนือจากการจัดการศึกษาให้กับสตรีชาวปัชตุนแล้ว เขาก็ยังสนับสนุนให้ผู้ชายชาวปัชตุนปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างเท่าเทียม ตามประเพณีปฏิบัตินั้นผู้หญิงปัชตุนถือว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง พวกเธอจะมีหน้าที่หาอาหารและคอยดูแลปรนนิบัติจนกว่าผู้ชายจะรับประทานอาหารเสร็จ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่มีอาหารเหลือถึงพวกเธอ บาดชาห์ฃ่านจึงเริ่มต้นปฏิรูปวัตรปฏิบัติในครัวเรือนของตัวเขาเองให้เป็นแบบอย่าง โดยให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในบ้านนั่งลงรับประทานอาหารพร้อมกัน

ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่าน และ อินทิรา คานธีสมัยยังเป็นเด็ก

ผู้รับใช้แห่งพระเป็นเจ้า

ในปี ค.ศ. 1928 บาดชาห์ฃ่านและมหาตมาคานทีได้มีโอกาสพบหน้ากันเป็นครั้งแรก บุรุษทั้งสองรู้สึกชอบพอกันและกันขึ้นมาในทันที จากนั้นเป็นต้นมาบาดชาห์ฃ่านก็ได้กลายมาเป็นผู้ช่วยข้างกายคนสำคัญของมหาตมา และก็ยังเป็นผู้ที่นำแนวคิดอหิงสาและสัตยาเคราะห์ไปเผยแพร่ในหมู่มุสลิม

ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านกล่าวย้ำอยู่เสมอว่า อหิงสานั้นคือแนวทางของอิสลามตามที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์และยังเป็นอาวุธสำคัญที่นบีใช้ใน “ญีฮาด” หรือ สงครามศักดิ์สิทธิ์เมื่อครั้งพิชิตนครมักกะฮฺ

จากการที่ได้พบปะกับมหาตมา อุดมการณ์เพื่อปฏิรูปสังคมของบาดชาห์ฃ่านจึงได้ขยายกว้างไปไกลกว่าชุมชนปัชตุนของตนเอง ในการที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปัชตุนได้นั้นจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปสังคมในอนุทวีปทั้งระบบ ด้วยการปลดแอกอนุทวีปออกจากอำนาจของเจ้าอาณานิคม และสร้างชาติอินเดียอันเป็นเอกราชและไม่แบ่งแยกบนพื้นฐานของแนวคิดฆราวาสนิยม ขบวนการฆุไดฆิดมัตการ์ (خداۍ خدمتګار ) หรือ ผู้รับใช้แห่งพระเป็นเจ้า จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อนำแนวคิดอหิงสาและสัตยาเคราะห์ของมหาตมาคานทีไปใช้เพื่อการเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของอังกฤษในจังหวัดพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ

ขบวนการฆุไดฆิดมัตการ์นั้นมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ขบวนการเสื้อแดง” ที่มาจากสีของเสื้อที่สมาชิกสวมใส่ มีเรื่องเล่าว่า แต่เดิมนั้นนักปฏิรูปสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการก็สวมเสื้อสีขาวตามแบบขบวนการสัตยาเคราะห์ทั่วอินเดีย แต่ด้วยสภาพดินฝุ่นที่แห้งแล้งของช่องเขาไคเบอร์ก็ทำให้เสื้อสีขาวต้องสกปรกในเวลาไม่นาน สมาชิกจำนวนหนึ่งจึงนำเสื้อไปย้อมให้เป็นสีอิฐซึ่งก็ได้กลายมาเป็นเครื่องแบบของกลุ่มในที่สุด การทำงานของขบวนการฆุไดฆิดมัตการ์เน้นไปในเรื่องการศึกษา การสร้างความเท่าเทียม และ การเผยแพร่แนวคิดการไม่ใช้ความรุนแรงในบริบทของศาสนาอิสลาม นอกจากนี้แล้วอุดมการณ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกลุ่มก็คือการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชนฮินดูและชุมชนมุสลิม

“นบีมุฮัมหมัดกำเนิดขึ้นมาในโลกเพื่อสั่งสอนเราว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมนั้นคือบุคคลที่ไม่ประทุษร้ายผู้อื่นแม้ในทางวาจาหรือการกระทำ แต่จะทำงานเพื่อประโยชน์สุขของสรรพชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าคือความรักต่อเพื่อนมนุษย์ของพวกเรา”

แม้จะยึดมั่นในหลักธรรมของอิสลาม แต่ขบวนการฆุไดฆิดมัตการ์ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้อุดมการณ์ทางศาสนาในการสร้างชาติและต่อต้านแนวคิดที่จะสถาปนาชาติปากีสถานแยกออกมาจากอินเดีย ด้วยเหตุนี้เองที่ขบวนการฆุไดฆิดมัตการ์จึงถูกกวาดล้างจากรัฐบาลเผด็จการของปากีสถานเรื่อยมาและถูกลบเลือนออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของชาติ

วิถีแห่งความรักและการให้อภัย

“ลาร์ ออว์ บาร์ ญาโอ อัฟกัน! – ไม่ว่าจะที่นี่หรือที่ฝั่งโน้น ข้าพเจ้าก็คือคนอัฟกัน!” ชื่อ “อัฟกัน” เป็นคำในภาษาเปอร์เซียที่ชาว “ปัชตุน” หรือ ชาว “ปาทาน” ใช้เรียกตนเองมาแต่โบราณจนกระทั่งเมื่อประเทศอัฟกานิสถานถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อเป็นรัฐกันชนระหว่างจักรรวรรดิ์รัสเซียและจักรวรรดิ์อังกฤษ และเมื่อเส้นแบ่งพรมแดนดือรันด์ (Durand Line) ได้ตัดผ่าครึ่งดินแดนของชาวอัฟกันออกเป็นสองส่วน ชาวอัฟกันที่อยู่กันคนละสองฝากฝั่งของเส้นแบ่งพรมแดนจึงได้กลายเป็นชาวอัฟกันและชาวปัชตุน ตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมาบรรดามหาอำนาจนับตั้งแต่สมัยจักรวรรดิ์มุฆัลผ่านยุคสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบันได้อาศัยประโยชน์จากอุปนิสัยหัวร้อนของชาวอัฟกัน/ปัชตุนในการสร้างความรู้สึกแบ่งแยกและอาฆาตมาดร้ายระหว่างเผ่าพันธุ์และสายเลือดเพื่อฉกฉวยโอกาสในการควบคุมพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ คำขวัญของขบวนการชาตินิยมปัชตุนนิสถานในข้างต้น สะท้อนถึงความพยายามของบาดชาห์ฃ่านที่จะนำชาวอัฟกัน/ปัชตุนให้ก้าวข้ามพรมแดนแห่งความแบ่งแยกและเกลียดชัง ละทิ้งความบาดหมางและอุปนิสัยกระหายอยากจะล้างแค้นที่มีมาแต่เดิม เพื่อน้อมรับวิถีแห่งความรักและการให้อภัย
ฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านไม่เพียงได้แต่เทศนาสั่งสอนวิถีแห่งความรักและการให้อภัยด้วยคำพูด แต่ทั้งชีวิตและวัตรปฏิบัติของท่านนั้นคือตัวอย่างของวิถีแห่งการต่อสู้ด้วยอหิงสา ครั้งแล้วครั้งเล่าที่การต่อสู้กับความอยุติธรรมและอำนาจของรัฐต้องทำให้ท่านถูกจองจำหรือไม่ก็ถูกเนรเทศจากแผ่นดินเกิด แต่ก็ไม่มีสักครั้งที่ท่านจะหันเหไปสู่ความเกลียดชังหรือการใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้

“ข้าพเจ้าจะมอบอาวุธที่แม้แต่ตำรวจและกองทัพก็มิอาจต่อกรด้วยได้ให้แก่พวกท่าน มันคืออาวุธของนบีที่พวกท่านไม่เคยจะได้ตระหนักถึง อาวุธที่ว่านั้นก็คือขันติธรรมและคุณธรรม ไม่มีอำนาจใดในโลกนี้ที่จะสามารถทัดทานทั้งสองสิ่งนี้ได้”

นี่คือโอวาทที่ “ราชาแห่งฃ่าน” “ความภูมิใจของชาวอัฟกัน” และ “คานธีแห่งจังหวัดพรมแดน” ได้มอบไว้ให้แต่บรรดาผู้ติดตามของท่าน สำหรับฃ่าน อับดุล ฆอฟฟัร ฃ่านแล้ว ปัชตุนนิสถานนั้นแตกต่างจากขบวนการชาตินิยมอื่นๆ ตรงที่อุดมการณ์ของปัชตุนนิสถานไม่ได้แต่เป็นการเชื่อมโยงชาวปัชตุนเผ่าพันธุ์และตระกูลต่างๆ เข้าด้วยการ แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงชาวอัฟกัน/ปัชตุนกับโลกภายนอก
บางทีอนาคตของดินแดนแห่งความขัดแย้งนี้ก็อาจจะอยู่ในปรัชญาความคิดและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในอดีตของดวงแก้วแห่งอนุทวีปท่านนี้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Footnotes :

[1] การทำงานเพื่อผู้อื่น, ศรัทธา และ ความรัก

References :

– Archiwal, Ahmadullah. (N.D.). The Frontier Gandhi, Abdul Ghafar Khan, Bacha Khan, as a Social Reformer. https://web.uri.edu/nonviolence/abdul-ghafar-khan-as-a-social-reformer/

– Khan, Abdul Ghaffar. (2021). The Frontier Gandhi: My Life and Struggle, Autobiography of Abdul Ghaffar Khan. Translated by Imtiaz Ahmad Sahibzada. New Delhi, Roli Books.

– Kurtz, Lester. (2009). The Khudai Khidmatgar Movement (1933-1937). New Hampshire: International Centre on Nonviolent Conflict. https://www.nonviolent-conflict.org/khudai-khidmatgar-servants-god-movement-badshah-khan-northwest-frontier-british-india-1933-1937/

– LeFeuvre, Georges. (2010). Afghanistan’s Future Lies in Its Past. Paris: Le Monde Diplomatique https://mondediplo.com/2010/10/04afghanistan#nb6

– Rauf, Abdul. (2006). Socio-Educational Reform Movements in N.W.F.P. – A Case Study of Anjuman-i-Islahul Afaghina in Pakistan Journal of History & Culture, Vol.XXVII/2. Islamabad: National Institute of Historical and Cultural Research. http://www.nihcr.edu.pk/Latest_English_Journal/Socio_educational_reforms_Abdul_Raur.pdf

– Taizi, Sher Zaman. (2002). Bacha Khan in Afghanistan. Aotearoa, NZ: Asian Reflection. https://asianreflection.com/khanafghanistan.html

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *