โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อย่างที่กล่าวไปแล้วในบทความ “The Kite Runner” รู้จักอัฟกานิสถานผ่านโลกของวรรณกรรม (ตอน 1) สัปดาห์ที่แล้ว The Kite Runner ถือเป็นวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลต่อหัวใจของผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ทั้งแฝงเร้นด้วยเรื่องเล่าและอารมณ์ที่หลากหลาย จากปลายปากกาของคอลิด ฮุซัยนี ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงและจินตนาการที่ฉายให้เห็นภาพสังคมและวัฒนธรรมอัฟกานิสถาน ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจและรับรู้รายละเอียดบางช่วงตอนไปพร้อมกัน
สังคมและวัฒนธรรมอัฟกานิสถานผ่านแว่นของ The Kite Runner
The Kite Runner ฉายให้เห็นถึงวัฒนธรรรม ความสวยงามของสังคมและผู้คนทั้งการกิน การอยู่ การใช้ชีวิต รวมถึงนิสัยและสันดานดิบของชาวอัฟกานิสถาน ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวบางช่วงเพื่อให้เห็นภาพของสังคมอัฟกานิสถานชัดเจนขึ้นดังนี้
1. การแข่งว่าว (Kite running)
ประเพณีการแข่งว่าวนั้นจะพบมากในอิหร่าน บราซิล ชิลี และอัฟกานิสถาน ซึ่ง “คาบูล” ถือเป็นพื้นที่นิยมมากที่สุด สำหรับที่มาของวัฒนธรรมการเล่นว่าวในอัฟกานิสถานนั้นไม่มีการระบุอย่างชัดเจน แต่บางคนบอกว่า “การแข่งว่าวนั้นในอัฟกานิสถานนั้นได้รับอิทธิพลมาจากจีนและอินเดียเมื่อ 900 ปีที่ผ่านมา” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ด้วยยอดขายวันละ 200-500 ตัว ในช่วงฤดูหนาวผู้ประกอบการบางท่านสามารถขายว่าวได้ 100,000-300,000 ตัว นอกจากนี้ ยังหนุนเสริมให้ “Female Kite maker group” กลุ่มสตรีขายว่าวอได้สัปดาห์ละ 2,000 ตัว
การแข่งว่าวถือเป็นการละเล่นยอดนิยมของชาวอัฟกานิสถาน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถานไม่มีสนามหญ้าสีเขียว ไม่มีฟุตบอล ไม่มีเบสบอล ไม่มีบาสเก็ตบอล การแข่งว่าวในคาบูลนั้นจะเริ่มต้นในช่วงฤดูหนาว โดยจะแข่งกันในทุกวันศุกร์ ได้รับความนิยมทั้งหมู่บุรุษและสตรี โดยเฉพาะหลังยุคตอลิบาน 1.0 เด็กนักเรียน ชุมชน ชาวบ้าน แรงงาน ครู บุคลากรทางการแพทย์ จนกระทั่งบุคลากรประจำกระทรวงของอัฟกานิสถานนั้นชื่นชอบในกีฬาชนิดดังกล่าว
ในยุคตอลิบานปีค.ศ. 1996 นั้นมีกฎ “ห้ามเล่นว่าว” เนื่องจากมีอันตรายทั้งร่างกายและชีวิต ซึ่งเชือกที่นำมาเล่นว่าวนั้นมีความคมและสามารถบาดมือของผู้เล่นได้ โดยส่วนมากจะได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่นิยมนำสายป่านมาทากาวและใช้แก้วบดละเอียดมาติดแล้วตากแดดจนแห้งเพื่อให้มีความคมจนสามารถเชือดและเฉือนว่าวของคู่ต่อสู้ได้ อีกทั้งการเล่นว่าวคือ “การปลูกฝังวิธีคิดและอารมณ์ความรุนแรง” เพื่อเน้นการทำลายผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว เพราะจะต้องตัดสายป่านของคู่ต่อสู้ให้ขาดเพื่อตัวเองจะได้ชัยชนะ อีกทั้ง หลังจากตัดว่าวของคู่ต่อสู้ขาดก็จะต้องวิ่งเก็บว่าว ซึ่งส่วนมากจะไม่ดูเส้นทาง ส่งผลให้ถูกรถชน ซึ่งมีบางกรณีได้รับบาดเจ็บ พิการ รวมทั้งเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ ตอลิบานจึงสั่งห้ามเล่นว่าวหลังจากเข้าปกครองอัฟกานิสถานในปีค.ศ. 1996 เป็นต้นมา เพราะตอลิบานมองว่า การเล่นว่าว (Kite Running) คือ การต่อสู้ด้วยว่าว (Kite fighting) จนนำไปสู่ ว่าวแห่งความมรณะ (Kite Killing) ในที่สุด
2. ผู้คนอัฟกานิสถาน
ในวรรณกรรมชิ้นนี้สื่อให้เห็นภาพรวมของผู้คนชาวอัฟกานิสถาน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ ผู้ไม่ค่อยแยแสกับหลักคำสอนอิสลาม ซึ่งบางคนนิยมตะวันตก ใช้ชีวิตแบบสากลด้วยการดื่มเหล้าเป็นชีวิตจิตใจ การดื่มเหล้าในสังคมอัฟกานิสถานนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครอยากดื่มก็ดื่มได้ แต่จะดื่มในที่ลับตาซึ่งถือเป็นการให้เกียรติ ไม่ท้าทายต่อหลักศาสนา ร้านขายเหล้าในอัฟกานิสถานมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคาบูล ซึ่งโดยทั่วไปเหล้าก็จะถูกห่อด้วยกระดาษเพื่อป้องกันจากสายตาผู้อื่น ร้านเหล้าในคาบูลจึงไม่ต่างจาก “ร้านขายยาวิเศษ” ตามที่ระบุใน The Kite Runner
สำหรับชาวอัฟกานิสถานอีกกลุ่มคือ ผู้ที่ปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติละหมาดและทำทุกอย่างตามหลักคำสอน พวกเขาถูกวิจารณ์จากกลุ่มแรกอย่างน่าอดสู ผ่านคำพูดของบาบาที่ว่า “มันทุกคนนั่นแหละ อยากจะเยี่ยวใส่เคราแม่งด้วยซ้ำ ไอ้ลิงใจแคบพวกนี้… มันไม่ทำอะไรนอกจากวัน ๆ เอาแต่ไล่นิ้วระเลียดไปบนลูกประคำ แล้วก็ท่องคำที่เขียนขึ้นมาโดยที่มันก็ไม่เข้าใจ ได้บรรลัยกันหมด หากอัฟกานิสถานตกอยู่ในมือของพวกนี้… หากพระเจ้ามีตัวตนอยู่จริงแล้วละก็ ท่านคงมีธุระสำคัญอื่น ๆ ที่จะต้องไปดูแลแก้ไขมากกว่ามานั่งสนใจกับการดื่มเหล้าหรือกินเนื้อหมู… ยิ่งพูดถึงบาป ยิ่งอยากดื่ม” นี่คือ มุมมองภาพรวมของชาวอัฟกานิสถานที่ไม่ค่อยแยแสกับหลักศาสนาที่ถูกฉายใน The Kite Runner
3. การเหยียดชาติพันธุ์
The Kite Runner ทำหน้าสอดแทรกแนวคิดสำคัญในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างผ่านคำพูดของอามีรที่ว่า “ผมปัชตุน เขาฮาซารา ผมคือซุนนี และเขาคือชีอะห์ ไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนความจริงข้อนี้ได้ แต่เราทั้งสองหัดคลานมาด้วยกัน มันไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีชาติพันธุ์ ไม่มีวรรณะ หรือศาสนาใดมาเปลี่ยนความจริงได้เช่นเดียวกัน”
ในสังคมอัฟกันผู้มีเชื้อสายปัชตุน (Pashtun) นั้นถือว่ามีเกียรติในฐานะชนชั้นปกครอง ส่วนชาวฮาซารา (Hazara) ผู้มีเชื้อสายมองโกลมักจะถูกเหยียด เพราะพวกเขาอยู่ในชนบท ไม่ค่อยได้รับการศึกษา รวมทั้งไม่มีอำนาจในทางการเมือง ชาวฮาซาราจะใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ๆ ของอัฟกานิสถานเพื่อขายแรงงาน พวกเขาจึงถูกเรียกว่า “พวกกินหนู” “จมูกบี้” หรือ “ลา” ปัจจัยสำคัญที่ชาวฮาซาราถูกหยามเกียรติเนื่องจากพวกเขาเป็นชีอะห์ ซึ่งถูกมองราวกับว่า เป็นผู้มีโรคติดต่อร้ายแรง จนชาวปัชตุนเรียกชาวฮาซาราบางคน เช่น อาลี พ่อของฮัสสานว่า “บาบาลู” หรือ “ผีปอบ” ในความจริง ก่อนช่วงปีคริสต์ศักราชที่ 16 ชาวฮาซาราส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมซุนนี
ชาวปัชตุนกดขี่ฮาซารามาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นโครงสร้างและความเชื่อของสังคมอัฟกานิสถาน แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การรับมือการกดขี่ดังกล่าวนั้นคือภาพตัวแทนของชาวฮาซารานั่นก็คือ ความจงรักภักดีและเชื่อฟังอย่างสุดหัวใจ จึงเป็นที่มาของประโยคสำคัญที่ฮัสสานพูดกับอามีรว่า “สำหรับคุณ มากกว่านี้อีกพันครั้งก็ยังไหว” อย่างไรก็ตาม อามีรกลับสำนึกในผิดบาปที่ตัวเองได้ก่อขึ้นและปล่อยให้ฮัสสานถูกกระทำชำเรา เขาจึงไถ่บาปด้วยการดูแลซอหรับ ลูกชายของฮัสสาน แล้วอามีรก็พูดกับซอหรับว่า “สำหรับเธอ กว่านี้อีกพันเท่าก็ยังไหว”
4. วัฒนธรรมการกิน
สำหรับการกินของชาวอัฟกานิสถานนั้น ไม่ต่างไปจากชาวเอเชียใต้ทั่วไป ซึ่งนิยมทานไข่ต้มในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากไข่ต้มทำให้ร่างกายอบอุ่น ส่วนอาหารยอดนิยมคือ นาน (โรตีชนิดหนึ่ง) สังคมอัฟกานิสถานจึงคล้ายคลึงกับสังคมเอเชียใต้โดยทั่วไปที่นิยมรับประทานไก่สดจากกรงขัง เชือดสด ชำแหละสด ซึ่งลูกค้าสามารถชี้ไก่ตัวเป็นๆ ได้จะว่าเอาไก่ตัวไหน ชิ้นขนาดไหน ราคามากน้อยเท่าไหร่ กระนั้น พวกเขาไม่นิยมทานเครื่องในหรือตีนไก่ ฯลฯ
ชาวเอเชียใต้ส่วนใหญ่จะเน้นการพักผ่อนเป็นครอบครัวในช่วงสุดสัปดาห์และนิยมดื่มชาคลายเครียด ซึ่งชาอัฟกานิสถานก็มีหลายแบบ เช่น เกาะวะฮฺ ชาดำ ชานม และอื่นๆ ชามักจะถูกเสิร์ฟพร้อมกับอัลมอนด์ ขนมปังปิ้ง คิร (ฟิเรเน) ซาโมซา พาโครา และอื่นๆ
5. สงครามและความรุนแรง
หลังกองทัพโซราวีเข้ายึดผู้คนเริ่มอพยพออกจากบ้านเกิดและลี้ภัยไปประเทศโลกที่สามเพื่อความปลอดภัย ระหว่างทางมีด่านตรวจมากมาย ใน The Kite Runner พูดถึงด่านของทหารรัสเซีย นายทหารบางคนอยากมีเพศสัมพันธ์กับสตรีนางหนึ่ง โดยการเรียกรถให้หยุดและขอเวลา 30 นาทีเพื่อใช้ผู้หญิงเป็นค่าภาษี ซึ่งสตรีดังกล่าวมีลูกน้อยในตักและสามีนั่งอยู่ข้างๆ ทุกคนได้แต่เงียบ เนื่องจากกระบอกปืนอย่างไรก็ตาม บาบาได้กล่าวให้นายทหารรำลึกถึงบาป แต่นายทหารกลับสวนว่า
“นี่เป็นสงคราม สงครามไม่จำเป็นต้องละอายต่อบาป”
ในช่วงของการอพยพนั้น ไม่มีใครสามารถไว้ใจใครได้ อามีนและบาบาจะต้องออกจากบ้านในสภาพที่บอกใครไม่ได้เลย แม้แต่คนรับใช้ พวกเขายอมทิ้งคฤหาสน์หลังใหญ่แล้วเดินออกจากบ้านด้วยกระเป๋าลากเพียงใบเดียว อีกทั้งต้องหลบซ่อนและนอนในห้องใต้ดินกับหนู พวกเขาอพยพด้วยการหย่อนตัวลงไปในรถบรรทุกแทงค์น้ำมัน บ้างก็เสียชีวิต บ้างก็เลิกเดินทาง บ้างก็ถึงเป้าหมาย เวลานี้ถือเป็นห้วงยามที่หดหู่และสะเทือนใจที่สุด พวกเขาไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการเป็นพนักงานปั๊มน้ำมันแลกกับค่าครองชีพขั้นต่ำ ไร้สวัสดิการ ในอเมริกาชาวอัฟกานิสถานบางส่วนเลือกขายของมือสองประทังชีวิต ซึ่งเป็นอีกฉากชีวิตที่น่าหดหู่สิ้นดี
6. วัฒนธรรมอันป่าเถื่อน
หนึ่งในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่แบบอัฟกานิสถานนั้น บางคนนิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งเห็นได้จากตัวละครที่ชื่อว่า “อัสเซฟ” และสหายอีก 2 คน ซึ่งอัสเซฟมี “สนับมือ” เป็นอาวุธประจำกาย ความป่าเถือนของอัสเซฟฉายออกมาให้เห็นด้วยการจับฮัสสานข่มขืน อย่างไรก็ตาม ผลกรรมที่ก่อไว้ปรากฏทันตา หนึ่งในสหายของอัสเซฟถูกจับข่มขืนในรูปแบบเดียวกันจนตายอย่างอนาจ นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอันโหดเหี้ยมของทหารที่ต้องการนอนกับสตรีเป็นค่าผ่านทางขณะในตักของเธอมีลูกน้อยและสามีนั่งอยู่ข้าง ๆ
ในความขัดแย้งของเป็นปัชตุนและฮาซารา มีความรู้สึกเหยียดชาติพันธุ์ลึกๆ แฝงอยู่ นั่นก็คือ การที่ชาวปัชตุนไม่อยากให้ฮาซาราเท่าเทียมตนเอง ส่งผลให้อามีรแอบดูฮัสสานถูกจับข่มขืนโดยไม่เข้าช่วยเหลือ ในขณะที่สาเหตุสำคัญของการถูกล่วงละเมิด เพราะฮัสสานไม่ยอมมอบว่าวที่อามีรแข่งชนะให้กับพวกเขา อีกทั้ง ความรู้สึกผิดดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยความผิดครั้งต่อมา นั่นก็คือ “การโยนความผิดให้กับฮัสสานฐานะขโมย” เพื่อปกปิดความผิดครั้งแรกและไล่เขาออกจากบ้าน
The Kite Runner และบทวิพากษ์งานต่าง ๆ นานา
แม้ The Kite Runner จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจวัฒนธรรมและสังคมอัฟกานิสถานมากขึ้น แต่ก็มีนักวิพากษ์หลายคนฉุนเฉียวกับข้อเขียนดังกล่าว โดยเฉพาะความรุนแรงและการทำร้ายเด็กในสังคมอัฟกานิสถาน จนสมาคมสื่อบางสำนักต้องการแบน The Kite Runner เนื่องจากนำเสนอ “ความวิปริตผิดมนุษย์” ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะเป็นการกระชำเรา การละเมิดทางเพศ การประพฤติ “แบบบัจจาบาซี” (Bacha bazi) ที่นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศของชายสูงวัยต่อเด็กชาย
บัจจาบาซี (Bacha bazi) ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญอย่างหนึ่งในการเกิดขึ้นของกองกำลังตอลิบาน เนื่องจากสิ่งดังกล่าวถือเป็นสิ่งผิดศีลธรรมขั้นร้ายแรงในสังคมอัฟกานิสถาน ในปีค.ศ. 1996 ตอลิบานสั่งแบน “บัจจาบาซี” เพื่อป้องกันการละเมิดทางเพศและการกระชำเราเด็กซึ่งต่อมาอัฟกานิสถานก็พยายามกำจัดแนวคิดดังกล่าว และระบุว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม The Kite Runner นำเสนอว่า ตอลิบานจับเด็กชายไปเข้าระบบบัจจาบาซี (Bacha bazi) แต่ในความเป็นจริงตอลิบานต่อต้านบัจจาบาซี อย่างถึงที่สุด เพราะเป็นการทำร้ายและละเมิดทางเพศเด็ก รวมทั้งหลักคำสอนศาสนา จนกระทั่งลงโทษผู้ประพฤติดังกล่าวด้วยการประหารชีวิตเพราะผิดหลักมนุษยธรรม ยิ่งไปกว่านั้น The Kite Runner ได้นำเสนอภาพของตอลิบานผ่านพฤติกรรมก้าวร้าวของอัสเซฟ ผู้ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ซึ่งทำให้ภาพความเป็นจริงของตอลิบานนั้น “พร่ามัวและบิดเบี้ยว” จนทำให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจอุดมการณ์และแนวทางปฏิบัติที่แท้จริงของตอลิบานได้
แม้ The Kite Runner จะถูกปรุงแต่งไปบ้างจากมายาคติและจริตของผู้เขียน แต่ในฐานะงานวรรณกรรม The Kite Runner สามารถนำเสนอความหลากหลายของสังคมอัฟกานิสถานได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม ความเชื่อ ผู้คน สังคม อาหาร วัฒนธรรม ประเพณี การเมือง รวมทั้งสงครามและการอพยพในปีค.ศ. 1979 อีกทั้งยังแฝงแนวคิดดีๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ปรัชญา คำสอนในการดำเนินชีวิต ซึ่งบาบาเคยสอนอามีรว่า “มีเพียงบาปชนิดเดียวนั่นก็คือ การขโมย เวลาเราฆ่าใคร เราขโมยชีวิตของเขา เมื่อเราพูดโกหก เรากำลังขโมยสิทธิการรับรู้ความจริงไปจากคนๆ หนึ่ง เมื่อเราโกง เราก็ขโมยสิทธิของความยุติธรรม” นอกจากนี้ ลุงรอฮีม ข่านได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ชีวิตก็ไม่ต่างจากรถไฟ รีบขึ้นให้ทัน”
นี่คือ ส่วนหนึ่งที่ The Kite Runner ได้นำเสนอ สำหรับส่วนที่เหลือ ผู้อ่านคงต้องดื่มด่ำและใช้วิจารณญาณด้วยตัวเอง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
– Anis Kurilah. (2009). Social and Moral Responsibility in Khaled Hosseini’s the Kite Runner: Sociological Approach. Surakarta: The Research paper of Bachelor degree of Education in English Department, Muhammadiyah University of Surakarta.
– Khaled Hosseini. (2003). The Kite Runner. London: Bloomsbury Publishing.
– Khoirotun Nisa. (2014). Ethnic Conflicts in Khaled Huseini’s the Kite Runner. Malang: Thesis degree of Sarjana Sastra, faculty of humanity and culture, the state Islamic university Maulana Malik Ibrahim of Malang
– Ludwig W. Adamec. (2003). Historical Dictionary of Afghanistan. Lanham: The Scarecrow Press.
– วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ. (2551). พิมพ์ครั้งที่ 2. เด็กเก็บว่าว. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สรัสวดี
Photo credit :
– https://www.showsinlondon.co.uk/news/the-kite-runner-is-coming-to-the-west-ends-wyndhams-theatre/
– https://screen-queens.com/2015/09/24/throwback-review-the-kite-runner-on-afghanistan-taliban-rule-and-friendship/