![](https://southasiainsight.com/wp-content/uploads/2021/10/cover-book_Tara-1024x430.png)
โดย นงค์ลักษณ์ บัทเลอร์
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Tara Books เป็นสำนักพิมพ์อิสระ อยู่ในเมืองเชนไนของอินเดีย ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1994 โดย Gita Wolf และ V Geetha แรกเริ่มมุ่งพิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก ต่อมาระยะหลังทำหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ควบคู่ไปด้วยแต่ยังคงเอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์เอาไว้ นั่นคือกระบวนการผลิตหนังสือของสำนักพิมพ์เป็นงานหัตถศิลป์ ใช้การพิมพ์ซิลล์สกรีนด้วยมือ การพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ การเข้าเล่มด้วยมือ กระดาษสำหรับพิมพ์เป็นกระดาษแฮนด์เมดที่คนในท้องถิ่นเป็นผู้ผลิต การออกแบบหนังสือตั้งแต่ปก รูปเล่ม ภาพประกอบ เนื้อหา บ่งบอกถึงความหมาย ตัวตนสำนักพิมพ์ การนำเสนอความหลากหลายในบริบทต่าง ๆ ของอินเดียทั้งนามธรรมและรูปธรรม
ความหลากหลายของอินเดียที่ Tara Books นำเสนอ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เนื้อหา แต่หนังสือทุกเล่มทุกปกที่นำออกวางจำหน่ายให้คนได้อ่าน ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและเครื่องมือที่สะท้อนถึงระบบนิเวศของขั้นตอนการผลิต การทำหนังสือของสำนักพิมพ์เป็นการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนด้วยอีกทางหนึ่ง นั่นหมายความว่า หนังสือหนึ่งเล่มได้สร้างงานให้กับคน ชุมชน นั่นเพราะว่าหนังสือของ Tara Books หลายเล่มนำเสนอเนื้อหาที่ยึดโยงกับชุมชน ชนเผ่า ชนพื้นเมือง วิถีชีวิตของผู้คน ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะของชนพื้นเมือง เรื่องราวของช่างฝีมือในท้องถิ่นได้ถูกนำเสนอผ่านศิลปะแบบกระแสนิยม ทำให้หนังสือเข้าไปนั่งครองใจคนอ่าน เช่นเรื่อง A Potter’s Tale กับ A Potter’s Wheel Poster ที่นำเสนอเรื่องของช่างปั้นดินเผา
นอกจากนี้ การออกแบบ การวาดภาพประกอบ ยังเปิดโอกาสให้กับศิลปินมากหน้าหลายตาได้สร้างสรรค์ผลงาน ไม่เฉพาะแต่ชาวอินเดีย ยังมีชาวต่างชาติร่วมด้วย และมีการนำเสนอเรื่องราวในหนังสือที่นอกเหนือจากเรื่องของอินเดีย
![](https://southasiainsight.com/wp-content/uploads/2021/10/1_cG_m-ckSWN75e41WHRIOVA-1024x369.png)
Rathna Ramanathan นักออกแบบหนังสือของ Tara Books เล่าถึงการทำงานกับสำนักพิมพ์มาร่วม ๆ 20 ปีโดยเริ่มรับงานอิสระกับที่นี่ตั้งแต่ปี 1996 เธอกล่าวว่าสำนักพิมพ์มีนวัตกรรมในการทำหนังสือ กล้าที่จะท้าทาย ทุกอย่างเป็นไปได้เมื่อลงมือทำ การทำหนังสือนำไปสู่การออกแบบและการผลิตหนังสืออย่างยั่งยืน เช่นหนังสือเรื่อง The Very Hungry Lion (จำหน่ายหมดแล้ว) ใช้ระบบพิมพ์แบบซิลล์สกรีน กระดาษที่ใช้เป็นกระดาษแฮนด์เมดที่ทำในท้องถิ่น
กระบวนการผลิตหนังสือของที่นี่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสำนักพิมพ์ นักเขียน นักออกแบบ นักวาด และบุคคลทั่วไป เพื่อให้นำไปสู่การเข้าใจถึงภูมิปัญญา-จิตวิญญาณแห่งการเป็น “ช่างฝีมือหนังสือ” เธอยกตัวอย่างให้ฟัง ว่าช่วงก่อตั้งจนถึงต้นปี 2017 สำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือประมาณ 27,000 เล่มต่อปี เป็นงานทำมือระบบซิลล์สกรีน สามารถทำหนังสือได้วันละ 90 เล่ม แต่ละเล่มก็ต้องทำซิลล์สกรีนอย่างต่ำก็ 75 ครั้ง ด้วยขั้นตอนการทำมือเหล่านี้สำนักพิมพ์ได้สร้างงานให้กับคนในหมู่บ้านตามชุมชนต่าง ๆ ในเชนไน
Gina Wolf หนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ กล่าวถึงการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ว่าเชื่อมโยงกับสังคมอินเดียในด้านที่ “เราเป็นสังคมชนชั้นและวรรณะ แต่เด็ก ๆ ควรได้รู้ว่าคนใช้แรงงานก็เป็นคนเช่นเดียวกับพวกเขา และคู่ควรได้รับความเคารพ ซึ่งต้องเป็นการให้ความเคารพที่ออกมาจากใจ เราพบว่าชาวญี่ปุ่นให้ความเคารพต่อช่างฝีมืออย่างมาก การทำหนังสือของเราออกมาสักเล่ม ปฏิกิริยาที่เด็กมีต่อหนังสือของพวกเราจึงสำคัญมาก และหนังสือเป็นเล่มไม่มีวันตาย”
![](https://southasiainsight.com/wp-content/uploads/2021/10/tarabooks-ktJH-621x414@LiveMint.jpeg)
หนังสือของ Tara Books มีหลายหมวด อาทิ หนังสือทำมือ หนังสือภาพสำหรับเด็ก หนังสือศิลปะและงานฝีมือ หนังสือศิลปะและการออกแบบ หนังสือศิลปะท้องถิ่น/ชนพื้นเมือง นิยายภาพ หนังสือท่องเที่ยว และหนังสือคลาสสิก เป็นต้น
จากกระบวนการทำหนังสือของ Tara Books สะท้อนว่าสำนักพิมพ์มีบทบาทและมีส่วนร่วมกับผู้คน ชุมชน ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม การเรียนรู้ร่วมกัน ความยั่งยืนของระบบนิเวศในการผลิตหนังสือออกมาหนึ่งปกจาก “ช่างฝีมือหนังสือ” ก่อนจะส่งต่อไปยังผู้อ่าน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)