โดย ดลลดา ชื่นจันทร์
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โลกได้รู้จักกับมิสยูนิเวิร์ส ประจำปี 2021 คือ Harnaaz Sandhu ตัวแทนจากประเทศอินเดียวัย 21 ปี เธอสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศด้วยการคว้าตำแหน่ง มิสยูนิเวิร์สในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 70 ปีขององค์กรมิสยูนิเวิร์ส อีกทั้งเธอยังได้คว้า “มง3” ให้แก่ อินเดีย โดยสาวจากอินเดียเคยชนะการประกวดในรายการนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ Sushmita Sen มิสยูนิเวิร์สปี 1994 และ Lara Dutta มิสยูนิเวิร์สปี 2000
อันที่จริงแล้ว ไม่เพียงแต่เวทีมิสยูนิเวิร์ส เท่านั้นที่หญิงงามจากอินเดียเคยชนะการประกวด แต่เวทีเก่าแก่ระดับนานาชาติอย่าง มิสเวิลด์ ก็เป็นอีกเวทีที่ผู้เข้าประกวดจากอินเดียถือเป็น “ตัวเต็ง” สำคัญ และเคยชนะการประกวดมาแล้วถึง 3 ครั้ง ความสำเร็จที่เริ่มต้นเมื่อหลายทศวรรษทำให้วงการนางงามได้รับความนิยม จนเกิดเป็นสถาบันฝึกสอนนางงามมากมายและเกิดเวทีการประกวดไปทั่วภูมิภาค สามารถกล่าวได้ว่า อินเดียเป็น “มหาอำนาจทางความงาม” อีกประเทศหนึ่งของโลก
ทว่าเมื่อมองอีกด้านหนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงและขึ้นชื่อเรื่องความเป็นปิตาธิปไตย การเป็นนางงามที่อวดโฉมเรือนร่างเพื่อแข่งขันกลับได้รับการยอมรับจากสังคมอินเดียในระดับที่ผู้ชนะจะได้รับ “เกียรติ”และ ความ “เคารพ” เทียบเท่านักกีฬาคริกเก็ตชาย
ดังนั้น การสวมมงกุฎของผู้หญิงอินเดียมีความเป็นชาตินิยมสูงพอๆ กับการเป็นนักกีฬาและเป็นทหารในผู้ชาย [1] เป็นภาพแทนที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรมแบบอินเดีย ซึ่งอันที่จริงแล้วด้วยการกระทบและประสานกันของหลายปัจจัย ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิดค่านิยมความมงามและความคิดเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในระดับชาติที่แตกต่างกันไป จนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการเป็นผู้แทนหญิงงามที่แสดงความเป็นอินเดีย
งามแบบอินเดีย
ผู้เข้าประกวดนางงามถือเป็นตัวแทนประเทศและต้องใช้ชื่อประเทศในการประกวด จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ตัวบุคคลจะถูกผูกโยงไปกับความเป็นชาติ และภาพแทนอัตลักษณ์ร่วมของชาตินั้นๆ จึงเป็นที่ถกเถียงกันมานานว่าหญิงงามอินเดียแท้แล้วจะต้องเป็นอย่างไร โดยแต่เดิมคุณสมบัติที่ดีงามของผู้หญิงอินเดีย คือ ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเป็นแม่ รู้จักดูแลเห็นอกเห็นใจ เป็นภรรยาและมารดาผู้เสียสละ ที่สำคัญ คือ ผู้หญิงถือเป็นผู้ส่งต่อวัฒนธรรมและค่านิยมไปสู่คนรุ่นต่อไป ลักษณะเหล่านี้ถูกยึดโยงเข้ากับความเป็นชาติเมื่ออินเดียพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ลักษณะใดที่สะท้อนถึงความเป็นตะวันตกจะไม่ได้รับการยอมรับ การรักษาประเพณีดั้งเดิม โดยเฉพาะบทบาทหลังบ้านของหญิงอินเดียจึงเป็นคุณสมบัติที่ถูกยกขึ้นมาเป็นศักดิ์ศรีของชาติ
แต่เมื่อรัฐอินเดียได้เริ่มมีการจัดประกวดความงาม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำเข้าจากชาติตะวันตกจึงเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย เมื่อพูดถึงความงามที่สะท้อนความเป็นชาติ กล่าวคือ ในฝ่ายอนุรักษ์นิยมกล่าวหาว่าการประกวดนางงามเป็นการทำลายความเป็นหญิงที่ดีในแบบอินเดีย ในขณะที่ฝ่ายที่สนันสนุนการประกวดมองว่านางงาม คือ แบบอย่างของความทันสมัยและความพร้อมเปิดรับการพัฒนาในระดับนานาชาติของอินเดีย เห็นได้ว่า 2 ฝ่ายนั้นอ้างงามเป็นชาติขึ้นมา ภายใต้บริบทสังคมที่เบียดขับกันทำให้ลักษณะของนางงามอินเดียผู้สะท้อนนิยามความเป็นชาติถูกปรับเปลี่ยนเรื่อยมา
การประกวดนางงามในอินเดียเริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 1952 ในช่วงแรกผู้ชนะเป็นตัวแทนในการนำเสนอสิ่งทอของอินเดียที่สื่อถึงความพอเพียงตามแนวคิดของคานธี นางงามจะใส่พื้นเมือง แต่งหน้าเขียนตาเข้มตามขนบ การประกวดดำเนินการโดยภาคเอกชนและภาคธุรกิจของอินเดีย ผู้เข้าประกวดมักถูกจำกัดวงไว้ในกลุ่มหญิงสาวชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มีพื้นฐานครอบครัวที่ดีและได้รับการศึกษา ทำให้แม้กิจกรรมนี้จะถูกกล่าวหาว่าขัดต่อศีลธรรมมอันดีดั้งเดิมของอินเดีย แต่ด้วยวรรณะของผู้ประกวดก็ทำให้สถานะของพวกเธอพิเศษกว่าผู้หญิงทั่วไปในอินเดีย การประกวดนางงามจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องแบบตะวันตก เป็นเรื่องสมัยใหม่ที่กลุ่มชนชั้นบนกระทำกัน จึงทำให้การประกวดนางงามยังคงดำเนินต่อไปได้แม้จะขัดกับวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของคนในประเทศ [2]
เมื่อเวลาผ่านไป ค่านิยมด้านความงามของนางงามก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยปัจจัยที่ผลักดันวงการนางงามอินเดียให้เติบโตอย่างจริงจังคือการมาถึงของโลกการค้าเสรี อินเดียถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเกี่ยวกับความงามมากมายขับเคี่ยวกับในตลาดนี้ ส่วนหนึ่งในการสร้างบรรทัดฐานด้านความงามเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์จากต่างชาติที่ไหลเข้ามา คือ การสร้างคุณลักษณะของความงามที่สอดคล้องกับขนบตะวันตก คือ การมีผิวขาว ทำผมและแต่งตัวในเสื้อผ้าแบบสาวตะวันตก ซึ่งกลายเป็นภาพจำที่อยู่ตามนิตยาสาร ป้ายโฆษณาและภาพยนตร์ โดยไม่ได้สอดคล้องกับประชากรหญิงส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็ขับเคลื่อนความใฝ่ฝันของหญิงธรรมดาหลายๆ คนให้เดินตามรอยและหันมาสนใจใช้ผลิตภัณฑ์ตามอย่าง
นอกจากนี้ คุณสมับัติของนางงามที่ดี กิริยาท่าทางการเดินของเธอต้องมีความมั่นใจ รู้จักมารยาทบนโต๊ะอาหาร แต่งตัวอย่างเหมาะสมและรู้ว่ากาลเทศะแบบตะวันตกเป็นอย่างไร พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่เหมาะสมและมีทักษะการสนทนาที่ดี
ส่วนทางด้านตัวตนของเธอ พวกเธอต้องรู้จักคุณค่าแบบเสรีนิยมและสตรีนิยมสมัยใหม่ เธอจะต้องมีความมั่นใจ เป็นภาพแทนของผู้หญิงที่มีอิสระ กล้าแสดงออก มีการศึกษาและมี “อาชีพ” การงานที่ดี เพื่อแสดงถึงความเป็นสากลในเวทีนานาชาติ
ขณะเดียวกัน พวกเธอยังต้องสะท้อนอัตลักษณ์และคุณค่าแบบหญิงอินเดีย คำกล่าวของนางงามอินเดียจึงมักเกี่ยวข้องกับความรู้สึกโอบอ้อมอารี ความเป็นแม่ ความเป็นผู้หญิง ความอนุรักษ์นิยม พวกเธอต้องสนใจในกิจกรรมการกุศล และต้องภาคภูมิใจและย้ำชัดถึงความเป็นอินเดีย เช่น มิสเวิลด์ปี 2000 เปรยว่า “ฉันสวยเพราะฉันเป็นชาวอินเดีย ฉันมีวัฒนธรรมในตัวของฉัน” เช่นกันกับ มิสยูนิเวิร์ส ปี 2000 ก็กล่าวเช่นกันว่าความสำเร็จของเธอมาจากวินัยและคุณธรรมในแบบวัฒนธรรมอินเดีย
ด้วยส่วนผสมที่ลงตัว วงการนางงามอินเดียจึงได้สร้างความตกตะลึงไปทั่วประเทศอินเดียและเริ่มกลายเป็นที่คลั่งไคล้อย่างจริงจังในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ด้วยตัวแทนจากอินเดียชนะการประกวดทั้งในเวทีมิสยูนิเวิร์ส และ มิสเวิลด์ในปี 1994 ถือเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีชาติไหนทำได้ และตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความงามอีกครั้งในปีค.ศ. 2000 ที่นางงามจากอินเดียได้ครองมงกฎทั้ง 2 เวทีอีกครั้ง ในช่วงยุคปี 2000 นี้มีความเท่าทันค่านิยมสมัยใหม่เพิ่มอีกประการ คือ หญิงงามอินเดียไม่จำเป็นต้องมีผิวขาวอีกแล้ว โดย Priyanka Chopra มิสเวิลด์ปีค.ศ. 2000 มีผิวสีน้ำตาล ซึ่ง Harnaaz Sandhu ผู้ชนะการประกวด มิสยูนิเวิร์ส ปีค.ศ. 2021 ก็ได้กล่าวว่า Chopra เป็นแรงบันดาลใจของเธอในเรื่องความมั่นใจในความงามของสีผิวตัวเอง [3]
ความสำเร็จที่หวนกลับมาอีกครั้งและแบบฉบับอันแข็งแกร่งที่ยังสัมฤทธิ์ผล
ดังที่กล่าวไป ด้วยปัจจัยทางด้านความเป็นเสรีนิยมสากลและคุณค่าตามขนบเดิมแบบอินเดีย เกิดการผสมผสานประนีประนอมจนกลายมาเป็นลักษณะเฉพาะของนางงามอินเดีย คือ มีความมั่นใจยึดคุณค่าตามหลักสากล แต่ก็ยังคงแสดงออกถึงความอ่อนหวาน อ่อนโยน นอบน้อม ซึ่ง Harnaaz Sandhu เป็นตัวแทนที่สมบูรณ์แบบในประการทั้งสอง เธอมักย้ำชัดเสมอถึงพลังของผู้หญิง ส่งเสริมสิทธิสตรี เธอแสดงออกและส่งเสริมความเชื่อมั่นในตัวเอง และในประเด็นสังคมที่ทันสมัยเธอยังขับเคลื่อนเรื่องภาวะอากาศแปรปรวนและภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ เธอยังมีภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จและมีความสามารถ โดยเธอเป็นทั้งนางแบบและนักแสดง มีความสนใจหลากหลายและเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท [4] มีความเป็นตะวันตกอย่างให้ได้ชัดในค่านิยมที่เธอยึดถือ ตัวตนที่เธอเป็น รวมถึงสิ่งที่เธอพูด
แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ยังสะท้อนค่านิยมของสตรีอินเดียให้เข้ากับค่านิยมของสตรีตะวันตก เห็นได้จากชุดประจำชาติ ที่มาด้วยแนวคิด woman as a protector [5] ความเป็นองค์ราณีที่ปกป้องคุ้มครอง โดยเธอสวมชุดตามแบบราชวงศ์ มีเครื่องประกอบเป็นร่มประดับด้วยกระจก กระจกนั้นตามความเชื่อตามแบบอิสลามมีไว้เพื่อติดบังดวงตาของปีศาจและสะท้อนสิ่งชั่วร้ายให้ออกไป เช่นเดียวกับในศาสนาฮินดูและศาสนาเชนมักมีการแขวนผ้าปักกระจก (shisha torans) เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายเช่นกัน ส่วนร่มก็เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้อง ร่มเงาและยังหมายถึงอำนาจและศักดิ์ศรี ในขณะที่สีชมพูของชุดสื่อถึงบทบาทของเพศหญิงที่ต้องเป็นคนดี รู้จักดูแลผู้อื่น และยังเป็นสีที่ใช้ในการรณรงค์ต่อสู้กับมะเร็งเต้านมอีกด้วย โดยองค์รวมชุดประจำชาติของเธอจึงสื่อสารถึงความเป็น “แม่” ได้อย่างชัดเจน
เธอยังได้แสดงตัวตนที่อ่อนหวานขี้เล่น บนเวทีประกวด ในขณะที่ผู้เข้าประกวดคนอื่นๆ ได้พูดคุยทักทายกับพิธีกรอย่างเป็นกันเองบนเวที Harnaaz Sandhu หญิงเก่งจากอินเดียได้ทำการร้อง “เหมียว” ขึ้นมา เนื่องจากพิธีกรขอให้เธอเลียนเสียงสัตว์ที่ชอบที่สุด เพราะรู้ว่าเธอสามารถเลียนเสียงสัตว์ได้ จึงสร้างเสียงหัวเราะและความเอ็นดูจากผู้ชมเป็นอย่างมาก ชื่นชมถึงความเข้าถึงง่ายและน่ารักของเธอและกลายเป็นไวรัลที่คนในโลกอินเตอร์เน็ตส่งต่อกัน
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นางงามจากอินเดียไม่ได้เข้าสู่รอบสุดท้ายของการประกวดมิสยูนิเวิร์ส กระทั่งเมื่อปีค.ศ. 2020 Adline Castelino ได้ตำแหน่งชนะเลิศอันดับ 3 และ Harnaaz Sandhu ได้ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส ในปีค.ศ. 2021 ผู้ที่ติดตามอยู่บ้างบางคนอาจมองว่าความสำเร็จของวงการนางงามอินเดียนั้นมาอย่างรวดเร็วเหลือเกินเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่วนเวียนอยู่ในรอบ 5-10 คนสุดท้ายมาหลายครั้งแล้ว
ทว่าอันที่จริงแก่นแกนที่เป็นจุดแข็งของนางงามอินเดียถูกสร้างและผลักดันมาอย่างยาวนาน และความนิยมในศาสตร์ด้านความงามของอินเดียก็เป็นที่แพร่หลายตั้งแต่ยุค 90 มาแล้ว ชัยชนะในปีนี้ของอินเดียทำให้เห็นว่า ความเท่าทันกระแสโลกและการแสดงออกถึงความเป็นขนบดั้งเดิมแทรกในตัวตนของนางงามยังเป็นสูตรหรือแบบฉบับที่ใช้ได้ผลแม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
– [1] Ahmed-Ghosh, H. (2003). Writing the nation on the beauty queen’s body: Implications for a” Hindu” nation. Meridians, 4(1), 205-227.
– [2] Besnier, N. (2011). Making Miss India Miss World: Constructing Gender, Power, and the Nation in Postliberalization India. Wagadu: a Journal of Transnational Women’s and Gender Studies, 9, 206.
– [3] https://www.nbcnews.com/news/asian-america/evolution-international-indian-beauty-queen-rcna8934?fbclid=IwAR1BUSZxZxd74ERn97NRzLLURpxKrHQpBfNgE7pPIkYOmD8H4CvbtI2DEGY
– [4] https://www.hindustantimes.com/lifestyle/fashion/who-is-harnaaz-sandhu-the-miss-universe-2021-from-india-101639366116269.html
– [5] https://beautypageants.indiatimes.com/miss-universe/harnaaz-sandhus-national-costume-at-miss-universe-2021-embodies-the-spirit-of-a-woman-as-the-protector/articleshow/88208710.cms
Photo credit :
Harnaaz Sandhu Miss Universe 2021 ภาพจาก nationalaccordnewspaper.com
Indrani Rehman Miss India 1952. ภาพจาก Wikipedia
Sushmita Sen Miss Universe 1994 ภาพจาก News Track
Priyanka Chopra Miss World 2000 ภาพจาก indianexpress.com
Miss Universe India 2021 national costume ภาพจาก 1news.my.id