อนาคตกีฬาการต่อสู้ภายใต้การนำของตาลีบัน

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย

ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การขึ้นแท่นรับเหรียญรางวัลของนักกีฬาเทควันโดชาย โรฮุลลอฮ์ นิกปาย (Rohullah Nikpai) ในปีค.ศ. 2008 ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับประชาชนในอัฟกานิสถานเป็นอย่างมาก เพราะนั่นคือเหรียญรางวัลเหรียญแรกของชาตินับตั้งแต่มีการเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปีค.ศ. 1936 ความสำเร็จของ

นิกปายแฝงด้วยความหวังแห่งสันติภาพที่อยากให้คนทั่วโลกได้รู้จักประเทศของเขาจากความสามารถในการต่อสู้ทางการกีฬา ไม่ใช่สงคราม
นิกปายได้แรงบันดาลใจในการฝึกศิลปะการต่อสู้จากการดูภาพยนตร์แนวแอคชั่น
แต่เส้นทางการฝึกฝนของเขานั้นไม่ได้สนุกชวนฝันแบบในสื่อที่รับชม เด็กชายที่เติบโตในกรุงคาบูล (Kabul) ต้องอพยพหนีสงครามกลางเมืองไปอาศัยอยู่ที่แคมป์ผู้ลี้ภัยในอิหร่าน จนกระทั่งได้มีโอกาสเดินทางกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้งในปีค.ศ. 2004 เมื่อรัฐบาลประกาศสนับสนุนทุนและสถานที่ฝึกซ้อมเพื่อการแข่งโอลิมปิก นิกปายกลายเป็นฮีโร่ของคนในชาติ สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาฝึกฝนกีฬาการต่อสู้ทั้งเพื่อการแข่งขันและการมีสุขภาพที่แข็งแรง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เทควันโดเท่านั้นที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นทั้งชายหญิง ศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่นก็มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เช่น คาราเต้ ยูโด วูซู มวย โดยเฉพาะการต่อสู้แบบผสม หรือ MMA (Mixed Martial Art) ที่สร้างนักกีฬาอาชีพอย่าง วะฮิดูลละห์ นาซันด์ (Wahidullah Nazhand) และ ซากี ราซูลี (Zaki Rasuli)

อย่างไรก็ตามอนาคตที่รุ่งโรจน์ของผู้ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้เหล่านี้ดูเหมือนจะกลายเป็นลมเปลี่ยนทิศ เมื่อกลุ่มตาลีบันได้เริ่มขึ้นสู่อำนาจในการปกครองประเทศช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นาซันด์ และ ราซูลี ผู้โด่งดังในแวดวง MMA ระดับโลก ภายใต้ฉายา “เดอะ สโตน อีทเทอร์” (The Stone Eater) และ “สแครปเปอร์” (Scrapper) ต่างแสดงความกังวลต่อการขึ้นสู่อำนาจของตาลีบันว่าอาจทำให้อนาคตของนักกีฬาด้านการต่อสู้ต้องดับวูบลง

การประกาศกร้าวของรัฐบาลตาลีบันที่จะดำเนินการบริหารประเทศโดยยึดหลักกฎหมายชะรีอะห์เต็มรูปแบบ ทำให้เหล่านักกีฬาเกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะการบังคับใช้และการตีความกฎหมายตามหลักอิสลามอย่างสุดโต่งของกลุ่มผู้นำอาจเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะแก่แวดวงศิลปะการต่อสู้ในอัฟกานิสถานอย่างมีนัยสำคัญ

แนวคิดสุดโต่งทางศาสนาทำให้การมีรอยสักและท่อนบนเปลือยเปล่าของนักสู้ MMA ตามแบบฉบับตะวันตกที่ผู้คนคุ้นเคยกลายเป็นอาชญากรรมสำหรับกลุ่มตาลิบัน นักกีฬาเหล่านี้กำลังตกเป็นเป้าหมายต่อไปของกลุ่มติดอาวุธ การถ่ายทอดรายการกีฬาการต่อสู้ที่เคยเป็นที่นิยมทางโทรทัศน์ก็ถูกระงับไป แม้แต่การออกกำลังกายด้วยการใส่ขาสั้นของผู้ชายทั่วๆ ไปก็ทำให้โรงยิมต้องปิดตัวลงได้ ดังนั้นจึงไม่อาจจินตนาการได้เลยว่าผู้หญิงจะสามารถเข้าโรงยิมเพียงเพื่อออกกำลังกายได้อย่างไร

แม้กระทรวงกีฬาและการศึกษาภายใต้รัฐบาลใหม่จะให้คำมั่นว่า “รัฐบาลจะให้สนับสนุนให้เด็กหนุ่มอัฟกันเล่นกีฬาเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศโดยการให้งบประมาณ” แต่นักกีฬาต่อสู้อาชีพมองว่าภายใต้รัฐบาลตาลีบันอนาคตการเดินทางไปแข่งขันยังต่างประเทศดูมีความหวังน้อยมาก เพราะแม้แต่โรงยิมและสถานฝึกสอนต่างถูกสั่งให้ปิดบริการ นักกีฬาต้องฝึกซ้อมกันอย่างหลบซ่อนในพื้นที่ส่วนตัว ส่งผลให้เกิดความเครียด หมดแรงจูงใจในการฝึกซ้อม ขาดผู้สนับสนุนซึ่งส่งผลต่อรายได้ในอาชีพ


ที่สำคัญจุดยืนของรัฐบาลที่จะสนับสนุน “เด็กผู้ชาย” ทางด้านการกีฬา ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “ผู้หญิงจะยังมีโอกาสในการกีฬาต่อสู้อีกหรือไม่?”

กลุ่มผู้หญิงสมาชิกยิวยิตซูคลับในกรุงคาบูล ท่ามกลางกระแสการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงของกลุ่มตาลีบัน ที่มาภาพ: Tamana Sarway
กลุ่มผู้หญิงสมาชิกยิวยิตซูคลับในกรุงคาบูล ท่ามกลางกระแสการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงของกลุ่มตาลีบัน ที่มาภาพ: Tamana Sarway

มาร์เซย์ ฮามิดี (Marzeih Hamidi) นักกีฬาเทควันโดหญิงที่มุ่งหวังว่าจะได้ลงแข่งในกีฬาโอลิมปิกปีค.ศ. 2024 เพื่อสร้างเหรียญรางวัลเหรียญที่ 3 ให้กับประเทศต่อจากนิกปายที่เคยทำไว้ในปีค.ศ. 2008 และ 2012 แต่ดูเหมือนว่าความฝันของเธอพังทลายลงเพียงชั่วข้ามคืนเมื่อกลุ่มตาลีบันประกาศยึดอำนาจ หญิงสาวบางคนต้องฝังชุดกีฬาเพื่อป้องกันการถูกตรวจค้นของตาลีบัน กีฬาการต่อสู้ที่มีผู้ชายเป็นโค้ชรวมถึงการยืดเหยียดออกท่าทางเตะต่อยเป็นสิ่งต้องห้ามของตาลีบัน การฝึกฝนความเชี่ยวชาญของนักกีฬาหญิงอาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยในชีวิต สีมา อาซิมิ (Sima Azimi) เลือกตั้งกลุ่มฝึกฝนวูซูกับเด็กผู้หญิงโดยใช้ที่บนเขาสูงท่ามกลางหิมะเพื่อหลีกหนีจากการถูกควบคุม มารียัม (Maryam) นักกีฬาเทควันโดกล่าวว่าตัวเธอเองต้องฝึกฝนกีฬาการต่อสู่อย่างลับๆถึง 8 ปี จนประสบความสำเร็จได้เหรียญรางวัลมากมาย เธอได้ยื่นคำขอให้สมาพันธ์คาราเต้แห่งอัฟกานิสถานอนุญาตให้ดำเนินการฝึกสอนเด็กผู้หญิงที่บ้าน หรือแม้แต่สวมฮิญาบทั้งตัว ซึ่งทางสมาพันธ์ได้ให้คำตอบว่า “แม้แต่ผู้ชายยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฝึก ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้หญิงจะได้รับอนุญาต”

การแก้ปัญหาจากภัยคุกคามที่ผ่านมาของนักกีฬาจึงมีเพียงการลี้ภัยไปยังต่างประเทศ เช่น มีนา อาซาดี (Meena Asadi) แชมป์คาราเต้หญิงชาวอัฟกันที่ตัดสินใจลี้ภัยไปยังปากีสถานและอินโดนีเซียเพื่อรักษาเส้นทางในอาชีพของตน ปัจจุบันอาซาดีได้ตั้งสโมสรคาราเต้ซึ่งมีสมาชิกส่วนหนึ่งเป็นเด็กหญิงผู้ลี้ภัยจากอิหร่าน อัฟกานิสถาน และปากีสถาน ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นที่ผ่านมาอาซาดีถือเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนในการส่งเสริมทีมนักกีฬา Refugee Olympic Team อีกด้วย

การลี้ภัยไปยังประเทศอื่นทำให้นักกีฬาสานต่อเส้นทางนักกีฬาอาชีพได้ตามหวัง แม้หลายคนจะพอใจกับเส้นทางแห่งความสำเร็จแต่คาดว่าพวกเขาก็ยังมีปมลึกๆ ภายใน ที่ไม่สามารถขึ้นประกาศชัยชนะในฐานะตัวแทนของพี่น้องชาวอัฟกันได้

เสียงสะท้อนของผู้หญิงด้านการกีฬาต่างเป็นไปในทิศทางเดียว คือ ความสิ้นหวัง เพราะแค่สิทธิสตรีในการทำงานและการศึกษาอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็ยังถูกปิดกั้นภายใต้การปกครองของรัฐบาลตาลีบัน การฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ไม่ว่าจะเพื่อการแข่งขัน หรือเป็นทักษะป้องกันตัว ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ทางในประเทศอีกต่อไปตราบใดที่กิจกรรมการกีฬาไม่ได้อยู่ในบริบทที่ผู้หญิงพึงกระทำในทัศนะของผู้นำที่มีทั้งอำนาจทั้งทางการเมืองและกองกำลังติดอาวุธ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

References

– Joya, Z. (2021, September 23). ‘We buried our sportswear’: Afghan women fear fight is over for martial arts. The Guardian. https://www.theguardian.com/global-development/2021/sep/23/we-buried-our-sportswear-afghan-women-fear-fight-is-over-for-martial-arts-taliban

– Refugees, U. N. H. C. for. (n.d.). In Indonesia, a female refugee karate champion and trainer is inspiring others. UNHCR. Retrieved December 10, 2021, from https://www.unhcr.org/asia/news/stories/2021/8/61090d4b4/in-indonesia-a-female-refugee-karate-champion-and-trainer-is-inspiring.html

– The Afghan girls with silver swords. (2017, February 6). BBC News. https://www.bbc.com/news/in-pictures-38880353 

– The Taliban rule and its impact on the MMA fighters of Afghanistan—MMA INDIA. (n.d.). Retrieved December 10, 2021, from https://www.mmaindia.com/taliban-impact-on-mma-fighters-of-afghanistan/

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *