
โดย สโรชา ปริงทอง
นิสิตสหกิจศึกษาประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
บทนำ
ตั้งแต่ค.ศ. 1958 เป็นต้นมา สังคมปัชตุน (Pashtuns) แห่งปากีสถานมีนักเขียนวรรณกรรมทางด้านสิทธิสตรีหลายคน หนึ่งในนั้นคือไซตูน บาโน (Zaitoon Bano: ค.ศ. 1938-2021) เธอถูกรู้จักในนามสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งวงการวรรณกรรมภาษาปัชโต (Khatun-e-Awal Pashto) ที่ถูกยกย่องในนามผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรี
ไซตูน บาโน เกิดและเติบโตในเมืองเปชวาร์ (Peshawar) ของปากีสถาน เธอจบการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมจนกระทั่งปริญญาตรีจากเมืองเปชวาร์ และสำเร็จปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอิสลามียะฮ์ (Islamia College University) ทางด้านวรรณคดีภาษาปัชโตและอูรดู (Urdu) บาโนเริ่มเขียนหนังสือในค.ศ. 1958 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นและบทกวี อีกทั้งเธอยังทำงานในสถานีโทรทัศน์และวิทยุของปากีสถาน
บาโนนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางสังคม โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว สิทธิสตรี บทบาทของสตรีในสังคมปัชตุน เธอต้องการให้สตรีหลุดพ้นจากการถูกกดขี่ทุกรูปแบบ ต่อมาบานูได้รับรางวัลระดับชาติหลายรางวัลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางความคิดครั้งดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรางวัลสภาศิลปะอาบาซิน รางวัลอดีตประธานาธิบดีฟารุค เลการี (Farooq Leghari) ในค.ศ. 1994 และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การจากไปของบาโนในวันที่ 14 กันยายน 2021 มิได้ทำให้แสงแห่งวรรณกรรมมอดดับลง ในทางกลับกันผลงานของเธอยังคงเป็นกระบอกเสียงแห่งจิตวิญญาณเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสตรีผ่านวรรณกรรมภาษาปัชตุนและอูรดูจนกระทั่งปัจจุบัน
สังคมปัชตุนในปากีสถาน
ชาวปัชตุน (Pashtuns) หรือที่เรียกกันว่า “ปาทาน” (Pathans) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในอัฟกานิสถานและปากีสถาน มีวิถีชีวิตตามหลักปัชตุนวาลี (Pashtunwali) โครงสร้างครอบครัวของชาวปัชตุนมีผู้อาวุโสเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้คนรุ่นหลัง เชื้อสายถือเป็นสิ่งสำคัญและมีผลต่อการเลือกชีวิตคู่ ชาวปัชตุนถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มชนเผ่าสี่กลุ่มได้แก่ ซัรบานี (Sarbani) บิตตานี (Bhittani) กุรกุสต์ (Ghurghust) และ การ์ลานี (Karlani) (Abubakar Siddique, 2014)
ในปากีสถานกลุ่มชาติพันธุ์ปัชตุน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ส่วนใหญ่จะตั้งรกรากอยู่ที่เมืองชื่อ “ไคเบอร์ปัคตูนควา” (Khyber Pakhtunkha) ของปากีสถาน ซึ่งก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อ “พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ” (North West Frontier Province) วัฒนธรรมดั้งเดิมของปัชตุนนั้น บุรุษจะมีอิทธิพลต่อสตรีในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเลือกคู่ครอง การมีบุตร อย่างไรก็ตาม บางครั้งการมีบุตรนั้นอาจส่งผลต่อสุขภาพของสตรี กระนั้น สตรีก็ยากจะปฏิเสธ
อิทธิพลของสังคมปากีสถานมีบทบาทต่อสตรีทั้งวิถีชีวิตในชุมชนและสาธารณะ การศึกษาและการทำงานของสตรีนั้นต่างถูกกำหนดให้สอดคล้องกับค่านิยมทางวัฒนธรรมของชนเผ่า ค่านิยมดังกล่าวที่ถือเป็นรูปแบบของสังคมปิตาธิปไตย (patriarchy) หรือ “สังคมชายเป็นใหญ่” ที่มีลำดับชั้นและจัดสรรหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างชายและหญิง อย่างไรก็ตามการปฏิบัติดังกล่าวนั้นมีผลจากการตีความศาสนาที่เชื่อมร้อยกับหลักปัชตุนวาลี ส่งผลให้เกิดความเข้มงวดและมีความขัดแย้งกับค่านิยมในสังคมสมัยใหม่ จากการศึกษาแนวคิดและแบบแผนจากศาสนา วัฒนธรรม และการเมืองของสังคมปากีสถานพบว่า หลักปัชตุนวาลีนั้นมีอิทธิพลต่อทัศนคติของบุรุษ บางครั้งหลักคำสอนก็ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการกดขี่ ส่งผลให้สตรีชาวปากีสถานกลายเป็นเหยื่อของแนวคิดดังกล่าว
สิทธิสตรีในงานเขียนของบาโน
ไซตูน บาโนได้ใช้งานวรรณกรรมเป็นสื่อในประเด็นการศึกษาและความเข้าใจสังคมปากีสถาน โดยเฉพาะเรื่องราวของสตรีในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตนเอง จะเห็นได้ว่า อัตราการได้รับการศึกษาของสตรีปากีสถานในเวลานั้นต่ำมาก สังเกตได้จากดัชนีการศึกษาความเท่าเทียมทางเพศของปากีสถาน (GEEI) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดในเอเชียใต้ (Aamir Jamal, Women’s education, 2014) อีกทั้งสตรีในชนบทได้รับการศึกษาและการพัฒนาน้อยกว่าสตรีในเขตเมือง นี่คือผลพวงของวัฒนธรรมและระบบสังคมที่ถูกจัดวางโดย “ระบบชายเป็นใหญ่”
บาโนเขียน “ฮินดารา” (Hindara) หรือ “กระจกเงา” (Mirror) ถือเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกขณะศึกษาในระดับมัธยมศึกษา “ฮินดารา” แสดงให้เห็นถึงการกดขี่สตรีในสังคมปากีสถาน นอกจากนี้ยังมี “ซันซีรูนน่า”Zanzeroonna (The chains) ถือเป็นงานเขียนอีกชิ้นที่เน้นย้ำถึงความจําเป็นของการศึกษาสำหรับสตรี ส่วนเรื่อง “ชาเล็มชี” (Chalemchi) หรือ “อ่างล้างหน้า” นั้นบาโนได้เผยให้เห็นธาตุแท้ของบุรุษที่ใช้ประโยชน์จากสตรี งานเขียนของบาโนได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยเปิดอัลลามะ อิกบาล (Allama Iqbal Open University) และหลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเปชวาร์ (University of Peshawar)
ในค.ศ. 1986 ผลงานของเธอที่ถูกแปลเป็นภาษาเยอรมันและได้รับการแปลอีก 7 ภาษา บาโนเป็นนักเขียนหญิงปัชตุนที่ได้รับการชื่นชมอย่างมากในอินเดีย อีกทั้งงานเขียนของเธอได้สร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อผู้อ่าน ส่งผลให้สตรีจำนวนมากกล้าแสดงความคิดเห็นผ่านงานเสวนาและกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ บาโนได้รับการยกย่องจากเพื่อนนักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมอย่าง ศาตราจารย์อบาซีน ยูซัฟซัย (Abaseen Yousafzai) ประธานของสถาบันการศึกษาปัชโตแห่งมหาวิทยาลัยเปชวาร์ ซึ่งยูซัฟซัย ได้กล่าวว่า
“แม้บาโนจะเสียชีวิต แต่ตัวละครของเธอยังไม่ตาย ตัวอักษรของเธอคอยหลอกหลอนผู้กระทำผิดต่อสิทธิสตรี”
ศาสตราจารย์ซัลมา ชาฮีน (Salma Shaheen) นักเขียนและอดีตผู้อํานวยการของสถาบันการศึกษาปัชโตได้กล่าวว่า
“บาโนได้กำจัดพุ่มไม้ที่มีหนามแหลมคมออกจากเส้นทางและอุปสรรคต่อนักเขียนสตรี อีกทั้งกระตุ้นให้พวกเธอเปิดเผยความอยุติธรรมที่ได้ประสบกับสตรีภายใต้บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม”
ด้วยเหตุนี้บาโนจึงเป็นตัวแทนทางความคิดของสตรีปัชตุน คงไม่ผิดมากนักหากจะเรียกเธอว่า “ภาพสะท้อนในกระจกเงา” บาโนได้สะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิสตรีที่ถูกจำกัดในสังคมชายเป็นใหญ่ เธอพยายามค้นหาเหตุผลและปกป้องสิทธิของสตรีปัชตุนเพื่อให้ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคม อีกทั้งสร้างพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างอิสระเสรี
อัมญิด อาลี คาดิม (Amjid Ali Khadim) หนึ่งในนักเขียนคนสำคัญได้กล่าวว่า
“บาโนเริ่มต้นการขับเคลื่อนงานของเธอในช่วงที่ศิลปะและวรรณกรรมถือเป็นอาชญากรรมสำหรับผู้หญิง”
จะเห็นได้ว่า ในช่วงนั้นสตรีถือเป็นเป้าสำคัญในสังคมปากีสถาน บาโนจึงต้องใช้นามปากกาที่แตกต่างกันเพื่อพรางตัวตน เนื่องจากข้อจำกัดทางสังคม อย่างไรก็ตาม บาโนก็ไม่เคยถอยห่างจากหลักการและอุดมการณ์ที่ตนเองยึดมั่นแม้แต่น้อย
บทสรุป
ไซตูน บาโน คือหนึ่งในนักเขียนที่เปล่งเสียงเพื่อสิทธิสตรีของสังคมปัชตุน เธอได้ปูทางและสร้างแรงบันดาลใจสำหรับอนาคตของนักเขียนสตรีคนอื่น ๆ ทั้งเป็นแรงกระเพื่อมให้พวกเธอกล้าที่จะใช้ปากกาต่อสู้เพื่อสิทธิตนเองสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันปากีสถานเปิดกว้างในเรื่องของสิทธิตรีมากขึ้น องค์กรต่าง ๆ ก็ตระหนักเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้รัฐบาลยังผลักดันนโยบายเพื่อปกป้องสตรี ถึงแม้ว่าสิทธิสตรียังมีความคลุมเครืออีกในหลาย ๆ ด้าน แต่รัฐบาลและองค์กรขับเคลื่อนทางสังคมยังคงมุ่งมั่นเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การขับเคลื่อนจึงดังกล่าวกลายเป็นภาพสะท้อนมาจนกระทั่งปัจจุบัน
เห็นได้ว่า พื้นที่ของสตรีในสังคมปากีสถานนั้นมีมากขึ้น ทั้งผ่านการพูด การเขียน และต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ประเด็นสิทธิสตรีถูกพูดอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีองค์กรขับเคลื่อนเพื่อสตรีเกิดขึ้นอย่างมากมาย อีกทั้งมีการผลักดันไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนาน
ความสำเร็จจากการเคลื่อนไหวครั้งดังกล่าวนั้นเกิดจากความร่วมมือของสตรี เพราะสิทธิสตรีนั้นมิใช่แค่เพียงปัญหาของชาวปัชตุนหรือปากีสถานเท่านั้น แต่มันคือปัญหาของสตรีทุกคนที่อยู่ท่ามกลางการถูกกดขี่
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
Aamir Jamal. (2014). “Men’s Perception of Women’s Role and Girls’ Education among Pashtun Tribes of Pakistan: A Qualitative Delphi Study.” Cultural and Pedagogical Inquiry. 6(2):17-34 เข้าถึงเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2021 จาก https://journals.library.ualberta.ca/cpi/index.php/cpi/article/download/24084/17891
Farooq Yuosaf. (2019). “Pakistan’s “Tribal” Pashtuns, Their “Violent” Representation, and the Pashtun Tahafuz Movement”. SAGE Open.1: 1-10 เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2021จาก https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/2158244019829546
Jennifer Fhilipp. (2021). Examining Women’s right in Pakistan. March 22, 2021. เข้าถึงเมื่อ 11พฤศจิกายน 2021 จาก https://borgenproject.org/tag/womens-rights-in-pakistan/
Kate Fitz Gibbon. (2021). Pashtunwali: Pashtun Traditional Tribal Law in Afghanistan. August 28, 2021. เข้าถึงเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2021 จาก https://culturalpropertynews.org/pashtunwali-pashtun-traditional-tribal-law-in-afghanistan/
Muhammad Hussian Hunarmal. (2021). A spirited voice. November 2, 2021. เข้าถึงเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2021 จาก https://www.thenews.com.pk/tns/detail/906559-a-spirited-voice
Naseebullah Seemab and Imran Naeem. (2010). Contribution of Zaitoon Bano for raising voiceof a Pashtoon Women. January-June, 2010. เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2021 จาก http://web.uob.edu.pk/uob/journals/takatoo/data/2010/Jan-June/English/19-24.pdf
Sher Alam Shinwari. (2021). In memoriam : The first lady of Pashto literature. October 17, 2021.เข้าถึงเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2021 จาก https://www.dawn.com/news/1652161/in-memoriam-the-first-lady-of-pashto-literature