โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายใต้วิสัยทัศน์ “การสร้างเมืองระดับโลก” (World Class City) ของบริษัทวิศวกรรมท่าเรือจีน (China Harbour Engineering Company, CHEC) ในประเทศศรีลังกากำลังได้รับความสนใจจากนักทุนต่างชาติ โดย นายอันพราซัน เอธิราชัน (Anbarasan Ethirajan) ผู้เชี่ยวชาญศรีลังกา ได้ยกประเด็นการก่อสร้างมหานครขนาดใหญ่แห่งใหม่ในบริเวณท่าเรือโคลัมโบ (Colombo Port City) นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ (an economic game changer) ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียใต้ ประเทศศรีลังกาจะกลายเป็นประตูสู่ศูนย์กลางทางการเงินใหม่ของโลก
การสร้างแลนด์มาร์คทางเศรษฐกิจใหม่แห่งนี้ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อดูดทรายจำนวนมหาศาลมาถมชายฝั่งทะเลเพื่อสร้างแผ่นดินแห่งใหม่ พร้อมกับนำหินขนาดใหญ่มากั้นคลื่นที่จะพัดเข้าสู่ชายฝั่ง การก่อสร้างในลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับการก่อสร้างเมืองเศรษฐกิจในกรุงดูไบ (Dubai) เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมของนักลงทุนระดับโลกไปแล้ว
นอกจากนี้ นายสาลิยา วิกรมสุริยะ (Saliya Wickramasuriya) ได้กล่าวว่า
“ดินแดนแห่งใหม่นี้จะทำให้โลกมีแผนที่ใหม่ ซึ่งจะผนวกกับเมืองเศรษฐกิจในศรีลังกาที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกสามารถแข่งขันกับดูไบหรือสิงคโปร์ได้”
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างในครั้งนี้แตกต่างจากการก่อสร้างในเมืองดูไบ กล่าวคือ ดูไบมีต้นทุนในการก่อสร้าง ในขณะที่ศรีลังกายังคงต้องพึ่งพาทุนจากบริษัทวิศวกรรมท่าเรือจีน โดยใช้งบประมาณถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทจะได้รับผลประโยชน์ร้อยละ 43 จากสัมปทานเช่า 99 ปี โดยมีกำหนดสิ้นสุดสัมปทานในปีพ.ศ. 2584 (19 ปี) โดยมีการแบ่งแผนผังออกเป็น 5 ส่วน คือ 1) ย่านการเงิน 2) ย่านที่พักอาศัยติดกับสวนสาธารณะ 3) ย่านที่พักอาศัยบนเกาะ 4) ท่าเทียบเรือ และ 5) เกาะสำหรับกลุ่มนักลงทุนจากนานาชาติ โดยเมืองทางเศรษฐกิจแห่งใหม่นี้จะสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้ทั้งหมดประมาณ 80,000 คน
ความสำเร็จของเมืองดูไบและสิงคโปร์เป็นแรงผลักดันให้ศรีลังกาพยายามการพลิกโฉมประเทศตนเองไปสู่ผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกแห่งใหม่สำหรับนักธุรกิจต่างชาติ แต่ด้วยความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้จากจำนวนเงินมหาศาลเช่นนี้ ทำให้ชาวศรีลังกาเกิดความกังวลในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับต่อข้อเสนอของจีนในการพัฒนา เนื่องจากจีนจะสามารถเชื่อมโยงผลประโยชน์จากเส้นทางการค้าทางทะเล และมีอำนาจเหนือศรีลังกาได้มากขึ้น จนกว่าศรีลังกาจะชำระหนี้หมดสิ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลศรีลังกายังยืนยันว่าการที่บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับการก่อสร้าง การธนาคาร การสร้างท่าเรือ หรือกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้นั้น ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลศรีลังกา และศรีลังกาก็ได้ผลประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีจากโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน
ประเด็นด้านการเมือง เมื่อมหินทา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) กลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2563 ทำให้การหวนคืนความสัมพันธ์กับจีนต่อการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปในทิศทางบวก ในขณะที่ยังมีข้อครหาว่าหลายๆ โครงการอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ยิ่งไปกว่านั้นท่าเรือฮัมบันโตต้า (Hambantota port) เป็นกรณีที่สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถพยุงการชำระหนี้สินได้ จนในท้ายที่สุดต้องยอมให้อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของจีนมาตั้งแต่พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุนี้ชาวศรีลังกาบางส่วนอาจยังไม่เชื่อมั่นต่อโครงการสร้างแลนมาร์คทางการเงินแห่งใหม่ในท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการลงทุนภายใต้การควบคุมของบริษัทจีนด้วยเช่นกัน
นาย เดชาล เดอ เมล (Deshal de Mel) ได้วิเคราะห์ว่าเมื่อรัฐบาลศรีลังกาประกาศให้มีการยกเว้นภาษีวันหยุด (tax holidays) เพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุนนั้นก็อาจทำให้รัฐขาดรายได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากจะเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มนายทุนในการใช้ช่องว่างทางกฎหมายหมุนเวียนเงิน และโอกาสในการฟอกเงินมากขึ้นอีกด้วย
มองต่างเลนส์ : จีนเป็นประเทศที่เข้าไปพัฒนาหรือเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในศรีลังกา?
จีนได้เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกอย่างเต็มตัว มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง อีกทั้งโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางยังมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับจีน ดังนั้น โอกาสของประเทศกำลังพัฒนาอย่างศรีลังกาจึงไม่สามารถปฏิเสธการช่วยเหลือทางการเงินจากจีน รัฐบาลศรีลังกายังเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทจีนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ความเหนี่ยวแน่นด้านความสัมพันธ์ระหว่างศรีลังกากับจีน สร้างความกังวลให้กับมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างอินเดีย เสมือนว่าสนามหลังบ้านของอินเดียที่กำลังถูกจีนขยายอิทธิพลในภูมิภาค ทำให้การแข่งขันในการช่วงชิงอำนาจในมหาสมุทรอินเดียเป็นไปด้วยความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น เมื่อการก่อสร้างเมืองแห่งการค้าทางทะเลแห่งใหม่นี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่ออินเดีย เนื่องจากนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติที่มีฐานอยู่ในอินเดียเดิมจะขยับขยายเข้ามาใช้พื้นที่ในศรีลังกามากยิ่งขึ้น
นาย รจิฐา เสนารัตน์ (Rajitha Senaratne) ฝ่านค้านของรัฐบาลโต้แย้งโครงการดังกล่าวว่า โครงการสร้างเมืองเศรษฐกิจแห่งใหม่นี้จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนเหมือนกับท่าเรือฮัมบันโตต้าอีกหรือไม่ ซึ่งแน่ชัดว่ารูปแบบการดำเนินการส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้ข้อตกลงกับรัฐบาลจีนและดูเหมือนว่าจีนกำลังยึดครองเมืองท่าเรือแห่งนี้ด้วย
กรณีตัวอย่าง ประเทศลาวที่ไม่สามารถชำระหนี้จากการลงทุนการก่อสร้างพื้นฐานเพื่อไม่ให้รัฐบาลล้มละลาย จึงต้องขายโครงข่ายพลังงานบางส่วนให้กับจีน เพื่อช่วยสนับสนุนเงินทุนในการสร้างทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างสองประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าจีนจะช่วยในการพัฒนาประเทศก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดกลับต้องยอมแลกผลประโยชน์บางส่วนเพื่อพยุงการพัฒนาในด้านอื่นๆ ด้วย
ในทางกลับกันนักวิชาการจีนอย่างนายเจ้า เบ่า (Zhou Bo) กลับมองต่างมุมว่า
“โครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีนไม่ใช่องค์กรการกุศล จีนต้องการผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นหมายความว่า ประเทศคู่สัญญายินยอมให้มีการลงทุน และได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร่วมกันด้วย”
ในข้อเท็จจริง จีนไม่มีเป้าหมายที่จะให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเข้าสู่กับดักหนี้
ดังนั้น โครงการต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีนมาจากการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลต้นทาง ซึ่งศรีลังกายืนยันว่าทุกๆ โครงการอยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจอธิปไตย แม้ว่าการดำเนินการและการกู้เงินจากจีนยังคงดำเนินต่อไป ศรีลังกากลับกำลังเผชิญกับสภาพทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่พ.ศ. 2563 ที่ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดน้อยลง อีกทั้งยังมีหนี้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและหนี้จีนอีก 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประสิทธิภาพทางการเงินของรัฐบาลในการชดใช้หนี้อาจเป็นปัญหาใหญ่ตามมา
แน่ชัดว่าปัจจุบันศรีลังกาอาจต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ฝ่ายเดียว ในขณะที่จีนอาจได้รับผลประโยชน์ทั้งในแง่ของการลงทุน การครอบครอง และการเข้ามีอำนาจในศรีลังกาและในภูมิภาคเอเชียใต้มากขึ้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
– Anbarasan Ethirajan, 2022, “Colombo Port City: A new Dubai or a Chinese enclave?” BBC News Colombo, published on 17 January 2022, online https://www.bbc.com/news/world-asia-59993386
– https://www.portcitycolombo.lk
– https://www.ft.lk/opinion/Port-City-Colombo-Commission-Act–Special-Economic-Zone/14-720049