โดย สุดารัตน์ อินสระคง
นักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชาวซิกข์: ตัวตน และความเชื่อ
‘ย่านพาหุรัด’ แห่งนี้ แต่เดิมเป็น ‘ชุมชนชาวญวน’ ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 จวบจนในรัชกาลที่ 5 เพราะเกิดเหตุเพลิงไหม้ ชาวญวนจึงได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น ต่อมา พื้นที่ดังกล่าวถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในภายหลัง ส่งผลให้ชาวซิกข์ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากปัญจาบเข้ามาจับจองพื้นที่ค้าขายผ้า รวมทั้งสินค้านำเข้าจากอินเดีย จนพื้นที่แห่งนี้กลายมาเป็นย่านการค้าที่มีชื่อเสียงในนาม ‘พาหุรัด’ จนปัจจุบัน
ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานในพาหุรัดส่วนใหญ่เป็น ชาวซิกข์ คือ ผู้นับถือศาสนาซิกข์ โดยการรวมหลักคำสอนของศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลาม จึงเกิดเป็นศาสนาใหม่ในเวลาที่เรียกว่า ‘ซิกข์’ ในเวลาต่อมา ชาวซิกข์นั้นมีถิ่นกำเนิดจากเมืองปัญจาบในประเทศอินเดียและปากีสถาน ซึ่งชาวซิกซ์กลุ่มแรกเข้ามาประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5
ปัจจุบันมีชาวซิกข์ในประเทศไทยมากกว่า 70,000 คน ถึงแม้ว่าประชากรศาสนาซิกข์ในกรุงเทพฯ นั้นมีจำนวนน้อยกว่าประชากรศาสนาอื่นๆ แต่นั่นมิได้ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นซิกข์หายไปแม้แต่น้อย เห็นได้จากอาคารสถาปัตยกรรมแบบซิกข์าวมีลักษณะใหญ่โต ตกแต่งด้วยสีทองและมีโดมทองอันใหญ่บนยอดตึก
เมื่อทอดน่องเดินเข้าไป ดิฉันจึงรู้ว่า วัดซิกข์แห่งนี้มีชื่อทางการว่า ‘คุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภา’ วัดซิกข์แห่งแรกในชุมชนพาหุรัด เมื่อสอบถามพ่อค้าแม่ขายบริเวณดังกล่าวจึงรู้ว่า บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาและเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
วัดซิกข์แห่งนี้มีทั้งหมด 6 ชั้น ชั้นแรกสำหรับพบปะ รวมถึงการเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ฝั่งซ้ายและขวาจะมีห้องต่ำกว่าพื้นเล็กน้อย สำหรับเป็นจุดรับบริการฝากรองเท้าแก่ผู้มาปฏิบัติศาสนกิจและผู้เยี่ยมเยือน แยกฝั่งชายหญิงอย่างเป็นระเบียบ เมื่อฝากรองเท้าเสร็จแล้ว ก็จะได้รับเหรียญกลมๆ มีหมายเลขระบุ และผู้ใช้บริการจะนำเหรียญมารับรองเท้าคืนเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ การเข้าไปเยี่ยมชมวัดซิกข์ ทุกคนจำเป็นต้องคลุมศีรษะด้วยผ้าสีเหลืองที่ทางวัดจัดเตรียมให้เพื่อให้เกียรติศาสนสถาน
คุณปาวาล ซิงห์ ผู้เป็นไกด์ชาวซิกข์ โพกศรีษะด้วยผ้าสีน้ำเงิน ไว้หนวดเครา เดินเข้ามาทักทายพวกเราที่ยืนกันอยู่อย่างเป็นกันเอง จากนั้นได้พาชมวัด นำพวกเราขึ้นไปชั้น 2 ซึ่งเป็นห้องเลี้ยงอาหาร หรือ ‘โรงทาน’ เปิดให้กับชาวซิกข์และคนภายนอกเข้ามารับประทานอาหาร โดยเน้นหลักอิ่มท้องและอิ่มธรรม นั่นเป็นครั้งแรกของดิฉันที่ได้ทานอาหารอินเดีย อาหารมื้อนี้เป็นอาหารมังสวิรัติ เน้นแป้งและธัญพีชเป็นหลัก เนื่องจากชาวซิกข์ไม่รับประทานเนื้อวัว รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยวิธีทรมาน ซึ่งการไม่รับประทานเนื้อวัวนั้นได้รับอิทธิพลมาจากชาวฮินดู เนื่องจากวัวเป็นพาหะนะของพระศิวะ วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพของทั้งชาวซิกข์และชาวฮินดู
อาหารมีหลากหลายเมนู เช่น แกงถั่วดาล แกงกะทิ และหมี่ผัดชมพู เป็นต้น แม้ว่าจะเน้นอาหารอินเดีย แต่ยังมีการผสมผสานกับอาหารไทยอย่างแกงเขียวหวาน พวกเราไปนำอาหารไปนั่งกินบริเวณที่มีเสื่อปูยาวเป็นแถวจัดเรียงต้อนรับผู้มาเยือน โดยการนั่งเป็นแถวยาวสะท้อนถึงความเท่าเทียม ไม่มีชนชั้นในคุรุทวารา ซึ่งบริการแก่ศาสนกิจชนและแขกที่มาเยือนโดยไม่แบ่งแยก
เมื่อสดับรับฟังบทสวดระยะหนึ่ง คุณวรยุทธ์นำพวกเราขึ้นไปชั้น 5 ซึ่งเป็นห้องปฏิสันถารของพระคัมภีร์ โดยมีลักษณะคล้ายเตียงนอนทั้งหมด 6 เตียง ปูผ้าอย่างสวยงามและมีพระคัมภีร์อยู่ด้านใน ด้านบนวางพวงมาลัยดอกดาวเรือง ทุกเตียงมีที่ปัดไว้เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีมิให้มาใกล้พระคัมภีร์ เนื่องจากชาวซิกข์เชื่อว่าพระคัมภีร์ คือ พระเจ้าหรือตัวแทนของพระเจ้า พระคัมภีร์จึงต้องถูกดูแลรักษาเป็นอย่างดี
ห้องปฏิสันถารของพระคัมภีร์
ส่วนบริเวณชั้น 6 ของอาคารประกอบด้วยห้องสวดอธิฐานจำนวน 5 ห้อง โดยมีคุรุจากรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย สวดอธิษฐานในทุกๆ วัน และห้องที่ 6 เป็นห้องประทับของพระมหาคัมภีร์ในเวลากลางคืน ศาสนิกชนสามารถเข้าไปศึกษาหรืออันเชิญพระคัมภีร์ไปยังห้องอื่นๆ
การดำรงอัตลักษณ์ซิกข์ในความเป็นไทย
เมื่อเดินไปตามตรอกซอยเล็กๆ ในตลาดย่านพาหุรัด ความรู้สึกในขณะนั้นเหมือนดิฉันพลัดหลงไปประเทศอินเดีย ผ่านร้านขายผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด ลวดลายแปลกตา ซึ่งหลายท่านอาจคุ้นเคยหรือเคยเห็นผ่านตามาบ้างในละครอินเดีย ผ่านร้านขายธัญพืชกองใหญ่กับคนขายที่มีลักษณะใบหน้าคมเข้มและไว้หนวดเครา หรือที่คนไทยชอบพูดติดปากกันเรียกว่า ‘บังขายถั่ว’
ถัดไปอีกเล็กน้อย ดิฉันเดินผ่านร้านขายรูปปั้นสักการะ อุปกรณ์บูชารูปเคารพ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งดิฉันจะเห็นผู้ชายโพกผ้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวซิกข์ ผู้หญิงมีผ้าคลุมศรีษะ ชาวซิกข์แทบทั้งหมดจมูกโด่ง ตากลมโต หน้าตาคมเข้ม ส่วนผู้ชายมีรูปร่างสูงใหญ่ ถึงแม้ว่าชาวซิกข์มีหน้าตาดุ นั่นเป็นเพียงภายนอก แต่ความเป็นจริงแล้ว ชาวซิกข์เป็นคนมีจิตใจดี มีน้ำใจ บ้างก็ตลกขบขัน และมักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่เสมอ
พาหุรัดติดกับคลองโอ่งอ่างมีร้านอาหารอินเดียเรียงราย ช่วงเวลากลางคืนเป็นถนนคนเดินที่น่าสนใจ ผู้คนพลุกพล่าน ในวันนั้น ดิฉันได้ชมนิทรรศการรำลึกถึงพระศาสดาองค์แรก มีการจัดแสดงผลงานของเด็กๆ ที่เข้ามาทำกิจกรรมในช่วงโควิด-19 โดยมีความเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ความเป็นซิกข์
สัญลักษณ์ของชาวซิกข์
คุณวรยุทธ์ชี้ไปยังรูป 5 รูปและอธิบายว่า ชาวซิกข์ต้องผ่านพิธีรับน้ำอมฤตและได้รับสัญลักษณ์ 5 ประการ ดังนี้
กังฆะ หรือ หวีไม้ ใช้สำหรับหวีผมและเคราให้ดูเรียบร้อยสง่างาม ห้ามปล่อยให้หนวดเครารุงรัง
การ่า หรือ กำไลมือ ใช้เป็นเครื่องเตือนใจให้ละเว้นจากบาป และเป็นสัญลักษณ์แห่งความอดทนและเข้มแข็ง
เกศา หรือ ผม เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้ ชาวซิกข์จะไม่ตัดผมหรือโกนหนวดเคราตลอดชีวิต ผู้ชายจะเก็บผมภายในผ้าโพกศีรษะ ส่วนผู้หญิงก็จะมีผ้าคลุมศรีษะ
กีรปาน หรือ ดาบสั้น ใช้ป้องกันตนเองจากผู้ที่รังแก
กังแชรา หรือ กางเกงในขาสั้น ใส่เพื่อความสันทัดและกระฉับกระเฉง
ทั้งหมดนี้คือ 5 สิ่งสำคัญที่ไกด์กิตติมศักดิ์ชาวซิกข์เล่าให้เราฟัง
อัตลักษณ์ด้านวิถีชีวิต
กิจวัตรของชาวซิกข์ คือ ตื่นตั้งแต่รุ่งสาง อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย หลังจากนั้นทำการสวดมนต์ภาวนา รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า หากเป็นวันสำคัญทางศาสนา ชาวซิกข์จะไปคุรุทวาราเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ และทำเซวา (การบริการอย่างปราศจากความเห็นแก่ตัว) ในวันธรรมดากิจวัตรของชาวซิกข์ต้องอ่านคัมภีร์และสวดมนต์ภาวนาในช่วงเช้า และช่วงเย็นชาวซิกข์เข้าร่วม ‘สังกัต’ (การชุมนุม) ในที่ปฏิบัติศาสนกิจและอ่านพระคัมภีร์
เวลาเพียงหนึ่งวันที่ดิฉันศึกษาซิกข์ ผู้คนและวิถีชีวิต สัมผัสได้ถึงความนอบน้อมและความมีน้ำใจของศาสนิกชนชาวซิกข์มอบให้แก่ผู้เยี่ยมเยือน ผู้ที่คอยรับฝากรองเท้าของผู้มาปฏิบัติศาสนกิจหรือผู้เข้าชมอยู่บริเวณชั้น 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำเซวา การเก็บรองเท้าเป็นการลงมือปฏิบัติตามคำสอนของผู้เป็นเจ้า ซึ่งช่วยขัดเกลาจิตใจให้มีความนอบน้อมและขจัดความทนงตน การทำหน้าที่ไม่จำกัดชนชั้นหรือสถานภาพ เนื่องจากชาวซิกข์เชื่อว่าความเย่อหยิ่งหรือความทนงตนเป็นบาปที่ร้ายแรง จึงไม่แปลกใจที่ชาวซิกข์เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน และเนื่องจากศาสนากับกิจวัตรมีความสอดคล้องกัน ชาวซิกข์จึงมีความตรงต่อเวลาและมีระเบียบวินัยในการใช้ชีวิตตื่นตั้งแต่รุ่งสางจนถึงช่วงค่ำ นอกจากนี้ชาวซิกข์เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมอยู่เสมอ โดยศาสนวินัยชาวซิกข์ที่มีรายได้จะต้องแบ่งรายได้สิบเปอร์เซ็นให้แก่สังคม และการทำโรงทานเป็นการยึดหลักการแบ่งปันของชาวซิกข์ นอกจากจะอิ่มธรรมแล้วยังอิ่มท้องอีกด้วย
ปัจจุบันชาวซิกข์มีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์บางประการเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมไทยมากยิ่งขึ้น หนึ่งในการปรับเปลี่ยนคือการมีชื่อภาษาไทย ในกรณีของ ‘ปาวาล’ หรือ ‘วรยุทธ’ ผู้เป็นไกด์ในการชมคุรุทวาราในครั้งนี้ สะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนเพื่อปฏิสัมพันธ์และเข้ากับกับสังคมภายนอก แต่ยังคงไว้ซึ่งชื่อในภาษา ‘ปัญจาบี’ (Punjabi) ที่เป็นเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ของตน นอกจากนี้ยังช่วยให้การสื่อสารง่ายขึ้นเมื่ออยู่ในสังคมใหญ่ แต่ไม่ได้มีการปกปิดตัวตนเมื่ออยู่ในสังคม นอกจากนี้คุณวรยุทธยังคงใช้ภาษาปัญจาบีในการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ศึกษาพระมหาคัมภีร์และสืบทอดมารุ่นสู่รุ่น
บางครั้งเราใช้ชีวิตโดยไม่ได้ออกไปชื่นชมความสวยงามของความเชื่อและชาติพันธุ์ที่หลากหลายในสังคมเรา จนอาจหลงลืมไป อีกทั้ง กลุ่มความเชื่อและชาติพันธุ์ที่ว่ายังคงดำรงอยู่อย่างน่าอัศจรรย์ใจ โดยพวกเขาสามารถดำรงอัตลักษณ์ของชาวซิกข์ไว้อย่างโดดเด่นภายใต้หลักธรรมคำสอนอันงดงาม
‘ย่านพาหุรัด’ แห่งนี้สามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นภารตะกลางกรุงเทพได้อย่างสละสลวยและไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการโฆษณาเอิกเกริก พาหุรัดจึงดึงดูดผู้คนเข้าไปเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย ในปัจจุบันเมื่อเดินผ่านถนนเส้นพาหุรัดจะพบว่า มีพ่อค้าแม่ขายเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแค่สินค้าอินเดียเท่านั้น แต่ยังมีร้านขายชุดไทยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีห้างดิโอลด์สยามพลาซ่า ซึ่งเป็นแหล่งรวมผ้าไทยและชุดไทยสำเร็จรูป ย่านพาหุรัดจึงสามารถผสมผสานความเป็นไทย-อินเดียได้อย่างลงตัว
อ่านเพิ่มเติม
อภิรัฐ คำวัง. (2554). ชาวซิกข์ในสยามและล้านนาว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การตั้งชุมชน ศาสนา และการค้า. สถาบันวิจัยและวัฒนธรรมเอเชีย: มหาวิทยาลัยมหิดล.
อภิรัฐ คำวัง. (2553). รองเท้าในวิถีซิกข์ : ปรัชญาจากปัญจาบสู่เจ้าพระยา. วารสารอักษรศาสตร์: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศุภกิจ พิทักษ์บ้านโจด. (2562). Little India สีสันภารตะ ณ พาหุรัด. becommon. 21 พฤศจิกายน 2566. จาก https://becommon.co/culture/little-india/
BBKMENU. (2565). สัมผัสสีสัน Real Life ย่านพาหุรัด “Little India” แห่งกรุงเทพฯ ที่คุณจะต้องหลงรัก. 21 พฤศจิกายน 2566. จาก https://www.bkkmenu.com/eat/stories/real-life-little-india-sq6.html
ชยพล ทองสวัสดิ์. (2566). ‘ศรัทธาและความเท่าเทียม’ เยือน ‘คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา’ (วัดซิกข์) ศาสนสถานชาวซิกข์แห่งแรกของไทย. themomentum. 27 พฤศจิกายน 2566. จาก https://themomentum.co/feature-siri-guru-singh-sabha/