BHUTAN

SOUTH ASIA

Kingdom of Bhutan

Data & Information

GENERAL INFORMATION

ที่ตั้ง             ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย เป็นพื้นที่ปิดไม่มีทางออกทะเล มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีนและอินเดีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับเส้นทางการขนส่งผ่านภูเขาหิมาลัย

เมืองหลวง     กรุงทิมพู (Thimphu)

ภูมิอากาศ     ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นที่ราบมีภูมิอากาศแบบเขตร้อน ส่วนบริเวณหุบเขากลางประเทศมีอากาศร้อนและหนาวตามฤดูกาล และบริเวณเทือกเขาหิมาลัยมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี อาจมีพายุรุนแรงในช่วงหน้าหนาว และดินถล่มในช่วงฤดูฝน

ประชากร     ราว 774,800 คน

ภาษา           ภาษาซงข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการ ร้อยละ 24 ภาษาชาชอฟ (Sharchhopka) ร้อยละ 28 ภาษาโชซัม (Lhotshamkha) ร้อยละ 22 ภาษาอื่นๆ ร้อยละ 26 ในสถาบันการศึกษาและในการติดต่อธุรกิจใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง

ศาสนา        ศาสนาพุทธมหายาน นิกายกายุบปา (Kagyupa) เป็นศาสนาประจำชาติ ร้อยละ 75.3 ฮินดู (Indian- and Nepali-influenced Hinduism) ร้อยละ 21.1 และอื่นๆ ร้อยละ 2.6

เชื้อชาติ      ชาชอฟ (Sharchops) ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออก นาล็อบ (Ngalops) ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตก และ โชซัม (Lhotshams) ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้

GENERAL INFORMATION

สกุลเงิน                   เงินงุลตรัม (Ngultrum)

อัตราแลกเปลี่ยน     1 งุลตรัมประมาณ 0.53 บาท

การขอวีซ่า             การดำเนินการขอวีซ่านักท่องเที่ยวจะต้องชติดต่อผ่านทางบริษัทท่องเที่ยว ที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการภูฏานเท่านั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นในภูฏาน

วันสำคัญ                 วันชาติ 17 ธันวาคม (วันคล้ายวันสถาปนาสมเด็จพระราชาธิบดีองค์แรก)

ระบอบการเมือง     ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy)

พระมหากษัตริย์        สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (King Jigme Khesar Namgyel WANGCHUCK)

นายกรัฐมนตรี         นายเชอริ่ง ต็อบเกย์ (H.E. Lyonchhen Tshering Tobgay)

อุตสาหกรรมหลัก    ซีเมนต์ ไม้ ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เชื้อเพลิงประเภท แคลเซียมคาร์ไบด์ และ การท่องเที่ยว

สินค้านำเข้า             น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น เครื่องจักรและชิ้นส่วนรถยนต์ ข้าว และธัญพืช

สินค้าส่งออก           ไฟฟ้าพลังน้ำ เหล็ก ซีเมนต์ ยิปซั่ม อัญมณี ผลไม้และเครื่องเทศ

นำเข้าสินค้าจาก     อินเดีย บังกลาเทศ และญี่ปุ่น

ส่งออกสินค้าไป      อินเดีย บังกลาเทศ

GDP                          4.81 (2019)


HISTORY

ภูฏาน (Bhutan) หรือชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรภูฏาน (Kingdom of Bhutan) และมีชื่อในภาษาท้องถิ่นของประเทศว่า ดรุก ยุล (Druk Yul) แปลว่า “ดินแดนของมังกรสายฟ้า (Land of the Thunder Dragon)” เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ไม่ทางออกสู่ทะเล อาณาเขตติดต่อกับประเทศอินเดียกับจีน

การก่อตัวเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ของภูฏานในปัจจุบันนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจาก ยุคสมัยการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิตะวันตก ราวปี ค.ศ. 1865 (พ.ศ. 2408) อังกฤษได้มีชัยชนะเหนือภูฎานในสงครามภูฏาน (The Bhutan War, Duar War) ทำให้เกิดการลงนามสนธิสัญญา สนธิสัญญาซินจูลู (Treaty of Sinchulu) ส่งผลให้ภูฏานต้องยกดินแดนบางส่วนของตนให้เข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของบริติชราช (British Raj) แม้จะไม่ตกเป็นอาณานิคม แต่ก็อยู่ในสถานะรัฐกันชนระหว่างอังกฤษและทิเบต

จนกระทั่งราวปีค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ภูฏานภายใต้การปกครองของ สมเด็จพระราชาธิบดีอุกเยน วังชุก (Ugyen Wangchuck) เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์วังชุก (Wangchuck Dynasty) ได้มีการเจริญสัมพันธ์ทางไมตรีที่ดีกับอังกฤษ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดการการสถาปนาราชอาณาจักรภูฏาน จากการสนับสนุนของผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำประเทศอินเดีย ด้วยเล็งเห็นว่าภูฏานจะเป็นดินแดนเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างอังกฤษกับทิเบต นับแต่นั้นก็อยู่ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาโดยตลอด

จนกระทั่งเมื่ออังกฤษถอนตัวออกไป อินเดียได้เข้ามามีบทบาทต่อภูฏานแทน ราวปีพ.ศ. 2492 ภูฏานและอินเดียได้ทำสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างกันขึ้น เพื่อป้องกันการรุกรานดินแดนของจีนและทิเบต สนธิสัญญาฉบับบนี้ได้ทำให้อินเดียเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการให้คำปรึกษาและการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของภูฏาน รวมทั้งการอนุญาตให้กองทัพอินเดียจัดตั้งฐานทัพในภูฏาน จวบจนปีค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ภูฏานจึงจะได้รับการรับรองสิทธิความเป็นรัฐจากสหประชาชาติ ในรัชสมัยของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จี วังชุก (Jigme Dorji Wangchuck ) กษัตริย์พระองค์ที่ 3 ซึ่งได้มีการยกเลิกระบบศักดินาและระบบทาส ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏาน เป็นการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง โดยมีสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ทำหน้าที่ในการจัดการแทนองค์กษัตริย์ผ่าน ศาลสูง (Hight Court) สภาคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) และสภาที่ปรึกษาแห่งราชสำนัก (Royal Advisory Council) รวมทั้งมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาและจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของภูฏานจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปีค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก (Jigme Sinye Wangchuck) กษัตริย์พระองค์ที่ 4 ของภูฏานได้ทรงมีพระราโชบายเปลี่ยนแปลงระบอบการบริหารราชการแผ่นดิน ได้ริเริ่มนำแนวคิดปรัชญาการพัฒนา “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” มาใช้ในการบริหารประเทศ จวบจนปลายรัชสมัยได้มีการริเริ่มศึกษาและร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ถึงมีนาคม ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ของภูฏาน เพื่อจะเปลี่ยนผ่านประเทศจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข แม้ว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้ภูฏานยังคงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา

รัชสมัยปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (King Jigme Khesar Namgyel WANGCHUCK) กษัตริย์พระองค์ที่ 5 ของราชวงศ์วังชุกแห่งภูฏาน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกได้มีการลงสัตยาบันเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) นำมาซึ่งการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภูฏานในปีค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ปีค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) และครั้งล่าสุดในปีค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) รวมทั้งรัฐบาลภูฏานได้ดำเนินการยื่นเรื่องไปยังรัฐบาลอินเดียในการขอแก้ไขสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างสองประเทศ เพื่อดึงอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศกลับมาเป็นของตนเอง จนกระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพอินเดีย-ภูฏานฉบับใหม่ เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ปัจจุบันภูฏานเกิดการเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมือง เช่น การปฏิรูปที่ดิน การจัดตั้งมูลนิธิหลวง Kidu เพื่อทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งมุ่งพัฒนาประเทศและสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศ

CULTURE

ภูฏานประกอบได้ชนชาติใหญ่ 3 เชื้อชาติ ได้แก่ ชาวชาชอฟ (Sharchops) ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออก ชาวนาล็อบ (Ngalops) ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตก และ ชาวโชซัม (Lhotshams) ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีชนชาติอื่นๆ อีกหลายชนเผ่า มีภาษาแยกย่อยออกไปอีกราว 19 ภาษา

ชาวภูฏาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมหายาน นิกายกายุบปา (Kagyupa) ร้อยละ 75 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติชาชอฟ และนาล็อบ) ศาสนาฮินดู ร้อยละ 24 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติโชซัมทางภาคใต้ของประเทศ) ศาสนาฮินดู ร้อยละ 24 ศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.7 และศาสนาคริสต์ ร้อยละ 0.3

ชาวนาล็อบ (Ngalops)

ชาวนาล็อบ เป็นกลุ่มชนเชื้อสายชาวทิเบตที่เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในภูฏานตั้งแต่ต้นศตรววรษที่ 19 เป็นกลุ่มชนที่นำวัฒนธรรมและพุทธศาสนาในทิเบตเข้ามาด้วย ชนเชื้อสายนาล็อบเป็นผู้ปกครองประเทศและชนชั้นนำทางสังคม ชาวนาล็อบใช้ภาษาซงข่า ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติและมีรากฐานมากจากภาษาทิเบตโบราณในการสื่อสาร ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตก ภาคเหนือ รวมทั้งเมืองหลวงทิมพู

ชาวชาชอฟ (Sharchops)

ชาวชาชอฟ ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เชื้อสายทิเบตและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมก่อนที่จะเกิดการอพยพเข้ามาของกลุ่มเชื้อสายทิเบตที่ใช้ภาษาซงข่าจะเข้ามาตั้งรกราก แม้ว่าชาวชาชอฟจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูฏาน แต่ก็ได้ถูกหลอมรวมเข้ากับวัฒธรรมแบบทิเบต-ล็อบ ชาวชาชอฟส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตตะวันออกของภูฏาน ใช้ภาษาชาวชาชอฟ (Sharchop) หรือ ภาษาฮาชังลาในการสื่อสารเป็นหลัก

ชาวโชซัม (Lhotshams)

ชาวโชซัม ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเนปาล อพยพเข้ามาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 คาดการณ์ว่ามีจำนวนประมาณอย่างน้อย 1 ใน 3 ของประชากรภูฏานทั้งหมด อพยพมาจากเนปาลทางตะวันออก อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของภูฏาน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ใช้ภาษาเนปาลี หรือ อินโดอารยันในการสื่อสารเป็นหลัก ถือได้ว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากวัฒนธรรมของประเทศ
นอกจากนี้ในภูฏานยังมี ชนเผ่าภูฏานและชนเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่กระจัดกระจายทั่วประเทศ ตามหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล กลุ่มชนพื้นเมืองเหล่านี้จะใช้ภาษาท้องถิ่นของตนเอง ส่วนหนึ่งอพยาพมาจากรัฐอัสสัมหรือเบงกอลตะวันตกเนื่องจากถูกเกณฑ์เข้ามาเพื่อใช้แรงงานโดยอินเดีย เช่น Brokpa, Lepcha และ Doya tribes

FESTIVAL

เทศกาลเซชู (Tshechu)

เซชู (Tshechu) เป็นเทศกาลทางศาสนาที่สำคัญของชาติที่ถูกจัดขี้นอย่างยิ่ง่ใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของ คุรุ รินโปเช (Guru Rimpoche) หรือท่านคุรุปัทมะสัมภวะ (Guru Padmasambhava) คือบุคคลที่ชาวภูฏานยกย่องให้เป็น พระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 เทศกาลเซชูนี้จะมีลักษณะต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและสถานที่ ภายในการงานจะมีการแสดงระบำหน้ากากตามความเชื่อทางศาสนา ประวัติศาสตร์ ผสมผสานไปกับการละเล่น เต้นระบำของชาวพื้นเมือง แสดงโดยพราะและคนในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการภาวนา รับพรและล้างบาป เรื่องราวของการระบำมักเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับช่วงชีวิตต่างๆ ของท่านคุรุปัทมะสัมภวะ

เทศกาลระบำหน้ากาก ทิมพู เซชู (Thimphu Tshechu)

ทิมพู เซชู เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งของประเทศภูฏาน จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ณ ลานป้อมปราการตาชิโชซอง เมืองหลวงทิมพู ตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งในเทศกาลทิมพู เซชู คือ ตัวตลกอัทสารา (Atsaras) ตัวละครตัวนี้เป็นมากกว่าตัวตลกธรรมดา แต่เชื่อว่าเป็นเสมือนผู้ปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาทำลายงานเทศกาล

เทศกาลระบำหน้ากาก พาโร เซชู (Paro Tshechu)

เทศกาลสำคัญประจำเมืองพาโร จัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ นอกจากกิจกรรมการแสดงระบำหน้ากากแล้ว ในงานจะมีการพระพุทธรูปท่านคุรุรินโปเช และนำภาพวาดเรื่องราวในพระพุทธศาสนาบนผ้าทังกาผืนใหญ่ ออกมาแสดงต่อชาวเมืองพาโร ชาวเมืองเชื่อกันว่าการมีโอกาสได้เห็นและสวดมนตร์ต่อหน้าพระพุทธรูปท่านคุรุรินโปเชจะเป็นการชำระบาปได้

เทศกาลระบำหน้ากาก พูนาคา เซชู (Punakha Tshechu)

เทศกาลสำคัญของเมืองพูนาคา ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ มีการแสดงระบำหน้ากาก และการแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล เอาชนะข้าศึกทิเบตที่ยกกำลังมาบังคับให้ภูฏานมอบพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ที่เก็บรักษาอยู่ในพูนาคาซอง เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดี

เทศกาลฤดูร้อนเมืองฮา (Haa Summer Festival)

เทศกาลฤดูร้อนที่ถูกจัดขึ้นท่ามกลางหุบเขาฮา เพื่อเป็นเฉลิมฉลอง เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของภูฏานที่นำเสนอเอกลักษณ์ทางประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองภูฏานได้อย่างดี
FOOD
อาหารประจำชาติภูฏานจะเน้นที่เน้นที่รสชาติเผ็ดร้อน โดยมีรสชาติและกลิ่น “พริกชี้ฟ้า” เป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหาร ชาวภูฏานรับประทานข้าวหรือบะหมี่เป็นอาหารหลักประกอบกับเนื้อสัตว์และผัก เนื้อสัตว์ที่คนภูฏานนิยมรับประทานได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ และเนื้อจามรี ผักรับประทานตามการเพาะปลูกและสภาพอากาศของท้องถิ่นนั้น เช่น บักวีต ข้าวโพด ผักขม ฟักทอง หัวผักกาด หัวไชเท้า มะเขือเทศ หัวหอมและถั่วลันเตา เครื่องดื่มมักเป็นชาใส่นมหรือนํ้าตาล ในฤดูหนาวนิยมดื่มเหล้าหมักที่ผสมข้าว

Ema Datshi – (chilies and cheese)
Ema Datshi ชาวภูฏานนิยมกิน มีลักษณะคล้ายสตูว์ คล้ายแกงแดงที่ทำจากพริกเขียว เหลืองหรือแดง กับชีสนมวัวที่เรียกว่า Datshi หรือนมจามรี และหัวหอมกับมะเขือเทศ มีรสชาติเผ็ดร้อน เพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น

Jasha Maroo or Maru – (spicy chicken)
สตูว์ไก่พื้นเมืองของภูฏาน ปรุงรสด้วยพริก กระเทียม ขิง รับประทานคู่กับข้าวแดง

Momos – (Dumplings)
Momos เป็นก้อนแป้งต้มยัดไส้สไตล์ทิเบต ยัดไส้ที่เต็มไปด้วยเนื้อหมู เนื้อวัวหรือกะหล่ำปลีและชีส คล้ายเกี๊ยวทานกับซอสพริกที่เรียกกันว่า Ezay ชาวภูฏานนิยมรับประทานเป็นของว่าง

Shakam paa
Shakam paa เนื้อตากแห้ง ปรุงรสด้สยพริกแห้งกับหัวไชเท้าเป็นชิ้นบางๆ

Kewa datshi
Kewa datshi ทำขึ้นจากมันฝรั่งและชีส โดยหั่นมันฝรั่งเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วผัดด้วยชีสและเนย พร้อมพริกหรือมะเขือเทศ มีความคล้ายคลึงกับมันฝรั่งอบชีส

Red Rice
ข้าวแดง เป็นข้าวมีชื่อเสียงของภูฏาน ลักษณะคล้ายข้าวแต่มีรสชาติคล้ายถั่ว สัมผัสนุ่มและเหนียวเล็กน้อย เจริญเติบโตในพื้นที่สูงทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย

Tsheringma หรือ ชาเชอร์ริง
ชาเชอร์ริง เป็นชาสมุนไพรผลิตในประเทศภูฏาน มีส่วนผสมจากดอกคำฝอยและเปลือกอบเชย สามารถช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น ช่วยระบบย่อยอาหารและระบบประสาท

POLITICS

ระบบการเมืองการปกครองชองภูฏานเดิมเคยใช้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับเป็นปีที่ 100 ของการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงทำให้ระบบการปกครองของภูฏานมาเป็นแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และทำให้เกิดการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภูฏานในปีพ.ศ. 2550 ตามมาด้วยปีพ.ศ. 2551 และครั้งล่าสุดในปีพ.ศ. 2561

การปรับเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการจัดสรรอำนาจ โดยมีคณะองคมนตรีเป็นที่ปรึกษา และสภาแห่งชาติที่เรียกว่า ซงดู (Tsongdu) ทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย รวมทั้งมีระบบการจัดการการพัฒนาที่ยั่งยืนบนหลักปรัชญาการพัฒนา “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness (GNH)

พรรคการเมือง

พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย 

Druk Nyamrup Tshogpa (DNT) และ Bhutan Kuen-Nyam Party (BKP)

พรรคอนุรักษ์นิยม 

Druk Phuensum Tshogpa (DPT)

พรรคสังคมนิยมอนุรักษ์นิยม 

People’s Democratic Party (PDP)

การแบ่งเขตการปกครอง ภูฏานแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 เขตบริหาร (administrative zones – dzongdey) แต่ละเขตบริหารแบ่งย่อยลงไปอีกเป็น มณฑล (districts – dzongkhag) รวมทั้งหมด 20 มณฑล ได้แก่ กาซา (Gasa) จูคา (Chukha หรือ Chhukha) เซมกัง (Zhemgang หรือ Shemgang) ซัมเซ (Samtse หรือ Samchi) ซัมดรุง จงคาร์ (Samdrup Jongkhar) ซาร์ปัง (Sarpang) ชีรัง (Tsirang หรือ Chirang) ดากานา (Dagana) ตราชิกัง (Trashigang หรือ Tashigang) ตราชิยังสเต (Trashiyangste) ทิมพู (Thimphu) บุมธัง (Bhumthang) ปาโร(Paro) ปูนาคา(Punaka) เปมากัตเชล (Pemagatshel หรือ Pemagatsel) มองการ์(Mongar) ลุนเซ (Lhuntse หรือ Lhuntshi) วังดี โภดราง หรือวังดี ไพดรัง (Wangdue Phodrang หรือ Wangdi Phodrang) และฮา (Haa)

ฝ่ายบริหาร

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาล คือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณะรัฐมนตรี (Chairman of the Council of Ministers) โดยพระมหากษัตริย์มีสิทธิ์เป็นผู้เสนอชื่อคณะรัฐมนตรี (Lhengye Shungtsog) ผ่านไปให้รัฐสภาอนุมัติ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง วาระละ 5 ปี นอกจากนั้นยังมีสภาที่ปรึกษาแห่งราชสำนัก (Royal Advisory Council หรือ Lodoi Tsokde) สมาชิกสภาให้คำปรึกษาที่มาจากการเสนอชื่อของพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกัน สถานะทางอำนาจของราชวงศ์จะยังคงเข้มแข็งกว่าตัวรัฐบาล

ฝ่ายนิติบัญญติ

ภูฏานใช้ระบบ 2 สภา (Bicameral Parliament) ประกอบด้วย สภาแห่งชาติ (National Council) และสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) 

สภาแห่งชาติ (National Council) หน้าที่ผ่านกฎหมาย แต่งตั้งสมาชิกระดับสูงของคณะรัฐบาล และให้คำแนะนำข้อราชการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ สมาชิกไม่สังกัดพรรคการเมือง (Non-partisan National Council) จำนวน 25 ที่นั่ง โดย 20 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละ 20 เขตการปกครองเลือกตั้ง (Dzongkhags) และผู้เสนอถูกเสนอชื่อจากพระมหากษัตริย์อีก 5 ที่นั่ง วาระการดำรงตำแหน่ง วาระละ 4 ปี 

สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ทำหน้าที่เป็นเสมือนรัฐสภา สมาชิกจำนวน 47 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี

ฝ่ายตุลาการ

ระบบกฎหมายที่ถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ civil law ที่มีรากฐานมากจากคติความเชื่อแบบพุทธในการปกครอง และระบบศาลในการตัดสินคดีความ ศาลสูงสุด ได้แก่ ศาลฎีกา (Supreme Court of Appeal) พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษา เพื่อบังคับใช้กฏหมาย

ECONOMY

ภูฏานแม้ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีชื่อเสียงด้านปรัชญาการพัฒนา “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness (GNH) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็น แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ชื่อ “the 12th Five-Year Plan (FYP) of the Royal Government of Bhutan” ฉบับปัจจุบันครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561-2566 มัวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการนโยบายการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาการพัฒนา “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness (GNH) ตามพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกับการอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมประเพณี ที่ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทั้ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรม และธรรมรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาทำให้มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ ทำให้มีฐานเศรษฐกิจมาจากธุรกิจไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเป็นธุรกิจการส่งออกที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40 ของธุรกิจภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนและเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งเกษตรกรรม และทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นมีลักษณะเป็นหุบเขา รวมทั้งลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่กระจายตัวของประชากรทำให้ยากต่อการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม รัฐมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตะวันตกโดยให้รัฐเป็นเพียงผู้ควบคุมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ส่วนเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนคู่ค้าที่สำคัญ คือ อินเดียมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาของเศรษฐกิจของภูฏานทั้งด้านการเงินและแรงงาน รวมทั้งอัตราการนำเข้าสินค้าของภูฏานจากอินเดียอยู่ที่ราว 80% ต่อปี นอกจากนี้ในปีพ.ศ. 2557 ภูฏานได้มีการเจรจาทางการขายเพิ่มขึ้น โดยได้มีการลงนามในสนธิสัญญาการค้าเสรีวมกับบังกลาเทศ ควบคู่ไปกับ เดือนกรกฎาคม 2560 ได้ร่วมกันสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่สำหรับการส่งออกไฟฟ้าไปยังบังคลาเทศ ทำให้ธนาคารโลกได้คาดการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูฏานไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 7.4% จากการส่งออกไฟฟ้าพลังน้ำที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าบาโชชู (Bashochhu) ในปีพ.ศ. 2563 นี้

แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังถือได้ว่ามีเสถียรภาพ มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายเชิงโครงสร้าง ทั้งในด้านการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อันเนื่องมาจากการพัฒนาในภาคธุรกิจไฟฟ้าพลังน้ำ หนี้สาธารณะที่สูง ภาคเอกชนที่ยังด้อยพัฒนาและอัตราการว่างงานที่สูง ที่อยู่ระหว่างกาจัดการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงินและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ปัจจุบันไทยและภูฏานยังมีการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศไม่มากนัก ภูฏานก็มีศักยภาพที่นักธุรกิจไทยสามารถลงทุนได้ 2 สาขา ได้แก่ การก่อสร้าง และการท่องเที่ยว

รายได้หลักของประเทศ

รายได้หลักของประเทศอยู่ที่ธุรกิจการส่งออกไฟฟ้าพลังน้ำเป็นหลัก จากทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ในหุบเขา ทำให้มีสินค้าการเกษตรที่สำคัญ เช่น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ส้ม แอปเปิ้ล ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากนม นอกจากนี้ภูฏานยังมีสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ ยิปซั่ม อัญมณี ผลไม้และเครื่องเทศอีกด้วย 

แหล่งรายได้ที่สำคัญไม่แพ้กันของภูฏาน คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในปีพ.ศ. 2562 มีอัตรานักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 8% รัฐมุ่งเพิ่มศักยภาพการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะสร้างงานและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง แต่รัฐยังคงมีมาตราการในการควบคุมจำนวนและคุณภาพของนักท่องเที่ยว เน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่าจำนวนที่มาก เพราะรัฐต้องการที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของตนเองเอาไว้ จึงต้องระมัดระวังขยายตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว

ภูฏานยังคงมีความต้องการสร้างการลงทุนในภาคเอกชน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการบริการ การก่อสร้างและอุตสหกรรมเพิ่มเติม รวมทั้งสินค้าจำพวกสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนสินค้าอิเล็กทรอนิคส์


DIPLOMATIC RELATIONS BETWEEN THAILAND

ไทยและภูฏานได้มีการการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ภูฏานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient Economy) ทั้งสองประได้ร่วมมือกันพัฒนาในหลายด้าน ได้แก่ การสาธารณสุข การศึกษา การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการพัฒนาชนบท รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาการศึกษาดูงานในสถาบันต่างๆ ที่ผ่านมากรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Development Cooperation Agency: TICA) เป็นหน่วยงานหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงาน Royal Civil Service Commission (RCSC) ของภูฏาน

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำระดับสูงทั้งสองประเทศมีการพบปะรวมทั้งการเดินทางเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อปีพ.ศ. 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยเดินทางเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2561 ตามคำเชิญของนายเชอริ่ง ต็อบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งการยืนครั้งนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองราชอาณาจักรที่ผูกพันกัน

นอกจากนี้ไทยและภูฏานได้เข้าร่วมในองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระดับโลก ภูมิภาค และอนุภูมิภาค ตั้งแต่องค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN) กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) บิมสเทก หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectorial Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ตลอดจนกลุ่มความร่วมมือกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-align Movement : NAM)

References

– https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/bt.html

– https://www.bbc.com/news/world-south-asia-12480707

– https://www.worldbank.org/en/country/bhutan/overview

– https://minorityrights.org/country/bhutan/

– http://countrystudies.us/bhutan/19.htm

– http://www.mfa.go.th/sameaf/th/other/8513/92155–ราชอาณาจักรภูฏาน.html

– http://www.mfa.go.th/main/en/news3/6885/91884-The-Official-Visit-to-the-Kingdom-of-Bhutan-by-

the.html

– https://tradingeconomics.com/bhutan/gdp

– https://www.bhutan.travel/

– https://www.thansettakij.com/content/91174

– https://www.bhutancenter.com/

– https://www.neda.or.th/home/uploads%20-%20Copy/news/29201584337-Ln37Mx9t.pdf

– https://mythsandmountains.com/2015/01/6-must-taste-foods-of-bhutan/

– https://migrationology.com/bhutanese-food/

– https://www.worldatlas.com/articles/what-is-the-ethnic-composition-of-bhutan.html

– https://www.refworld.org/docid/49749d522d.html

– https://www.the101.world/when-bhutan-turn-left/

– https://sites.google.com/site/bhutan2541/kar-pkkhrxng

– https://migrationology.com/bhutanese-food/

– https://mythsandmountains.com/2015/01/6-must-taste-foods-of-bhutan/

Photo credit :

– Punakha, Bhutan Photo by Gaurav Bagdi on Unsplash

– Tiger’s Nest, Taktsang Trail, Bhutan Photo by Jaanam Haleem on Unsplash

– Thimphu, Bhutan Photo by Anjali Mehta on Unsplash

– Suspension bridge Photo by Jaanam Haleem on Unsplash

– Masked dance of Dochula Tsechu in Thimphu, Bhutan Photo by Pema Gyamtsho on Unsplash

– A group of male dancers get ready for a traditional item during Thimphu Tshechu.

 Photo by Pema Gyamtsho on Unsplash

– Young teenage monks at the Thujidrag Gompa in Thimphu, Bhutan.  Photo by Adli Wahid on Unsplash

– HAA SUMMER FESTIVAL by Bhutan Center 

on https://www.bhutancenter.com/haa-summer-festival/

– The Sharchops Ethnic Group by Go Bhutan Tours on 

https://www.gobhutantours.com/the-sharchops-ethnic-group-in-bhutan/

– The Ngalop Ethnic Group by Go Bhutan Tours 

on https://www.gobhutantours.com/the-ngalop-ethnic

-group-in-bhutan/

– A 55 year old Lhotshampa woman by Wear About 

on https://wearabout.wordpress.com/2014/03/05/lhotshampa-woman-street-style-bhutan/

– Ema Datshi by Heavenly Bhutan Travels on 

https://www.facebook.com/HeavenlyBhutan/photos/pcb.2330478720393511/233047624372709

2/?type=3&theater

– Jasha Maroo by World Quality Food 

on http://worldqualityfood.blogspot.com/2018/08/jasha-maroo-bhutan-food.html

– Kewa Datshi by BHUTAN TOURISM 

on https://tourismbhutan.wordpress.com/2016/07/13/kewa-datshi/

– Shakam Paa by A Guide to Bhutan 

on https://holidaysinbhutan.wordpress.com/2018/06/21/8-mut-taste-bhutanese-foods-when-in-bhutan/

– Bhutan red rice pilaf by INTERNATIONAL CUISINE 

on https://www.internationalcuisine.com/red-rice/

– momo dumplings Bhutan by Living + Nomads 

on https://livingnomads.com/2018/11/bhutan-travel-blog/momo-dumplings-bhutan/