SAARC

SAARC

The South Asian Association for Regional Cooperation

WHAT

องค์กรความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียใต้ (The South Asian Association for Regional Cooperation หรือ SAARC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 1985 โดยมีการลงนามร่วมกัน ณ กรุงธากา ประเทศ‎‎บังกลาเทศ 

ปัจจุบันมีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา โดยมีประเทศผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เมียนมาร์ อิหร่านและ มอริเชียส 

ปัจจุบันมีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล

objective

SAARC มีความมุ่งมั่นให้เกิดการสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิ ความร่วมมือทางด้านเกษตร การพัฒนาชนบท ศิลปะและวัฒนธรรม การเปิดเสรีทางการค้า ภาพยนตร์ การขนส่งและการเดินทาง การติดต่อระหว่างภาคเอกชนกันเอกชน การศึกษาและวรรณกรรม การบรรเทาความยากจน การสื่อสารและโทรคมนาคม อุตุนิยมวิทยา การป้องกันการค้ายาเสพติด การพัฒนาเยาวชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การกีฬา การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม โดยการตัดสินใจในทุกระดับภายในองค์กรจะมีขึ้นได้โดยหลักเอกฉันท์ (unanimity) ให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจร่วมกันอย่างเท่าเทียม 

วัตถุประสงค์กฎบัตร 8 ประการ

1. เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพและปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชนในเอเชียใต้

2. เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภูมิภาค

3. เพื่อส่งเสริมและสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิก

4. เพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันระหว่างสมาชิก สร้างความเข้าใจและร่วมแก้ไขปัญหาของกันและกัน

5. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และด้านสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

6. เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับประเทศกำลังพัฒนา

7. เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศ อันเป็นผลประโยชน์ร่วมของสมาชิก

8. เพื่อร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ และองค์การระดับภูมิภาคอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน

ความร่วมมือภายใต้องค์กรความร่วมมือ SAARC

ในปีค.ศ. 2006 SAARC ได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียใต้ (South Asian Free Trade Area หรือ SAFTA) โดยประเทศสมาชิก SAFTA จำแนกประเภทของสมาชิกออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ ประเทศกำลังพัฒนา อันได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อันได้แก่ เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน และมัลดีฟส์

ตามกรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีเอเชียใต้ (SAFTA) นั้นประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาต้องเริ่มต้นลดภาษีในอัตราร้อยละ 20 ในระหว่างปีค.ศ. 2006/2007 จากนั้นต้องทยอยลดภาษีให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆ จนกลายเป็น 0% ภายในปีค.ศ. 2012 และสำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดสามารถยืดเวลาการลดภาษีจนเป็น 0% ได้ไปอีก 3 ปี

ในกรอบความร่วมมือนี้อินเดียพยายามแสดงออกถึงความเป็นผู้นำกลุ่ม อาทิ การประกาศลดอัตราภาษีศุลกากรเพียงฝ่ายเดียวของอินเดียตั้งแต่ในปีค.ศ. 2008 และจัดเก็บภาษีที่อัตรา 0% สำหรับสินค้าที่มาจากประเทศกลุ่มสมาชิกที่ด้อยพัฒนาที่สุด เป็นต้น

นอกจากนี้ SAARC ยังมีการลงนามข้อตกลงด้านพลังงานและการคมนาคม ที่ โดยมีแผนการเชื่อมเครือข่ายเชื่อมต่อด้านพลังงาน เชื่อมต่อถนนและรางรถไฟ เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชียใต้ให้กลายเป็นศูนย์กลางหรือ เป็น Hub ด้านการขนส่ง คมนาคม และโลจิสติกส์ในแถบภูมิภาคนี้ รวมทั้งมีแนวคิดที่จะขยายโครงการเรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในมหาสมุทรอินเดียให้ครอบคลุมไปยังบังกลาเทศ มัลดีฟส์และและปากีสถาน ความคืบหน้าของข้อตกลงนี้ได้มีการจัดทำข้อตกลงการค้าขายด้านพลังงานแบบทวิภาคีระหว่างอินเดียกับประเทศต่างๆ ได้แก่ เนปาล ภูฎาน และบังกลาเทศ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้ประเมินว่าเอเชียใต้ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1.7 ถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในการสร้างเครือข่ายเชื่อมต่อพลังงาน (power grid) การสร้างถนน และการผลิตน้ำ เพื่อสนองความต้องการพื้นฐานของประชากรในภูมิภาค ดังนั้นหากภูมิภาคเอเชียใต้ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจังก็จำเป็นต้องมีการลงทุนในแต่ละโครงการอย่างมหาศาล ทำให้ประเทศสมาชิก SAARC จําเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนถึง 630 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สําหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้ความร่วมมือด้านพลังงานภายใน SAARC จึงเป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกจะต้องร่วมมือกันเพื่อนําไปสู่ผลประโยชน์และความเจริญทางเศรษฐกิจร่วมกัน

SAARC มีการประชุมสุดยอดประจำปี และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ ปีละ 2 ครั้ง โดยประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ เรียงตามลำดับตัวอักษร และการประชุมวาระพิเศษจะมีขึ้นได้ตามความตกลงระหว่างสมาชิกแต่ละวาระ ปัจจุบันการจัดประชุมแล้วทั้งสิ้น 19 ครั้ง โดยการประชุมครั้งที่ 19 ประเทศเนปาลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแทนปากีสถาน ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกยกเลิก สืบเนื่องมาจากอินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน อัฟกานิสถาน ศรีลังกา และมัลดีฟส์ ประกาศคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุม จากกรณีความไม่พอใจที่ปากีสถานแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน และมีส่วนสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายให้เข้าไปเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขัดกับเป้าหมายของ SAARC ที่ต้องการแก้ไขและปราบปรามปัญหาการก่อการร้ายให้เป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกัน

ดังนั้น การส่งเสริมความแข็งแกร่งของ SAARC มีความสําคัญอย่างมากต่อบทบาทในเศรษฐกิจโลกของเอเชียใต้ในอนาคต ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีประชากรมากถึง 1,700 ล้านคน คิดเป็น 21% ของประชากรโลก และมีมูลค่า GDP สูงถึง 9.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเหตุให้ SAARC จึงต้องมุ่งเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงที่มีคุณภาพและการมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ทั้งทางรถไฟ ถนน อากาศ ทะเล แม่น้ำ และดิจิทัล รวมทั้งต้องคํานึงถึงการเคลื่อนย้ายของประชากร ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนในภูมิภาคเป็นกลไกสําคัญ ที่จะนํามาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและศักยภาพใหม่ๆ ของเอเชียใต้ต่อไป

ปัญหาและอุปสรรคองค์กรความร่วมมือ SAARC

SAARC แต่เดิมนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงทางการเมือง โดยมุ่งจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งตั้งแต่ยุคอาณานิคม ทั้งความขัดแย้งในด้านวัฒนธรรมและศาสนา ทำให้กลุ่มประเทศสมาชิก SAARC จึงมีแนวคิดสร้างองค์กรความร่วมมือเพื่อสร้างความไว้ใจและผสานความร่วมมือระว่างกัน ทว่าปัญหาความขัดแย้งก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการแก้ไขพัฒนา แม้จะมีกรอบความร่วมมือในด้านอื่น โดยเฉพาะความขัดแย้งที่ร้าวลึกระหว่างอินเดียและปากีสถาน ในฐานะคู่ขัดแย้งที่เป็น 2 ชาติใหญ่ที่ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีการปะทะกันในพื้นที่ริมชายแดนแคชเมียร์อยู่เนืองๆ ทำให้องค์กร SAARC ก็ถูกวิพากย์ว่าล้มเหลวและอ่อนแอมาตลอด

ในการประชุมสุดยอดผู้นำต่อละครั้งได้มีการหยิบยกปัญหาขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา จึงทำให้การประชุมหลายครั้งไม่มีความคืบหน้า แม้มีการลงนามความร่วมมือกันแล้วในประเด็นต่างๆ ก็ตาม แต่ในเชิงปฏิบัติหลายโครงการกลับพบว่าไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก เช่น แม้ในการประชุมเมื่อปีค.ศ. 2014 นเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียและ นาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานจะยอมจับมือกัน แต่ในทางปฏิบัติเพื่อการเจรจาแบบทวิภาคี โมดีกลับไม่ยอมเจรจากับชารีฟ ทั้งที่มีการเจรจากับผู้นำชาติอื่นๆ จนครบ

อินเดียนั้นแสดงตนเป็นเสมือนพี่ใหญ่ของภูมิภาคเอเชียใต้ สำหรับปากีสานซึ่งมีข้อขัดแย้งกับอินเดียอยู่เนืองๆ ก็อาจมองว่าการเข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการใดก็ตามที่อินเดียเป็นผู้นำจะถือเป็นการยอมรับความเป็นเสาหลักของอินเดียต่อภูมิภาคก็เป็นได้ แม้จะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างอินเดียและปากีสถาน สำหรับอินเดียกับชาติสมาชิก SAARC อื่นก็พร้อมจะสร้างความร่วมมือกันต่อไปโดยไม่สนใจปากีสถาน เห็นได้จากในปีค.ศ. 2017 โครงการอวกาศของอินเดียได้ปล่อยดาวเทียม South Asia satellite หรือ ดางเทียมแห่งเอเชียใต้ โดยมีผู้นำ 6 ประเทศเข้าร่วมพิธีการปล่อยยานผ่านระบบ video conference ประกอบด้วย ชีค ฮาซีนา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ อัชราฟ ฆานี (Ashraf Ghani) ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ไมตรีปาละ สิริเสนะ (Maithripala Sirisena) ประธานาธิบดีศรีลังกา อับดุลลา ยามีน อับดุล เกยูม (Abdulla Yameen Abdul Gayoom) ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ เชอริ่ง ต๊อบเกย์ (Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีภูฏาน และ พุสปา คามัล ดาฮัล ประจันดา (Pushpa Kamal Dahal) นายกรัฐมนตรีเนปาล เว้นแต่ผู้นำปากีสถานเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้เข้าร่วม สะท้อนว่าอินเดียและชาติสมาชิกพร้อมดำเนินโครงการพหุภาคีต่อไป โดยที่ไม่สนใจปากีสถาน หรือที่ถูกเรียกอย่างลำลองว่า“SAARC ลบหนึ่ง” รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการดำเนินความร่วมมือภายใต้ชื่อ SAARC

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่าในยุครัฐบาลของนายโมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดียมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจกับกลุ่มความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) มากกว่า ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกของกลุ่ม SAARC เพียงแต่ไม่มีปากีสถาน และมีไทยกับเมียร์ม่าร่วมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยเชื่อว่าอินเดียมีความต้องการขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียแปซิฟิกมากขึ้น เพราะไม่อยากสูญเสียสถานะมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ให้กับจีนที่กำลังเข้ามาขยายอิทธิพลให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น ด้วยเหตุนี้สำหรับอินเดียกลุ่มความร่วมมือ SAARC จึงดูมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ ตามไปด้วย

ความล้มเหลวของ SAARC ไม่ได้มีสาเหตุเพียงแค่ความไม่ลงรอยกันของชาติสมาชิกเท่านั้น แต่ความไม่สมดุลในเรื่องอำนาจและศักยภาพของแต่ละประเทศก็เป็นส่วนสำคัญ โดยได้มีการวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของ SAARC ไว้ดังนี้

1. มีความไม่สมดุลกันระหว่างอินเดียและประเทศสมาชิกอื่นๆ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ ความแข็งแกร่งทางการทหารและอิทธิพลในเวทีโลก ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมองอินเดียเป็น “พี่ใหญ่” และอาจสร้างความไม่ไว้วางใจในบางกรณี เนื่องจากประเทศข้างเคียงอาจมีความกังวลว่าอินเดียจะใช้ SAARC เป็นเครื่องมือในการควบคุมและมีอิทธิพลเหนือเพื่อนบ้าน ประเทศต่างๆ จึงลังเลในการจะปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ภายใต้ SAARC

2. ยังไม่มีข้อตกลงสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทหรือการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกที่ชัดเจนที่ชัดเจน

3. จากความล้มเหลวของการร่วมมือแบบพหุภาคีของ SAARC ทำให้ประเทศสมาชิกสนใจการร่วมมือแบบทวิภาคีมากกว่าเนื่องจากมีความง่ายดายในการทำข้อตกลงกัน การสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีทำให้ความต้องการพึ่งพา SAARC ลดน้อยลงและส่งผลในแง่ลบต่อความเป็นองค์กร

4. SAARC ประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร และประเทศสมาชิกลังเลที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วม

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็พบว่าได้มีความพยายามในการสานสัมพันธ์และเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือภายใต้ ชื่อ SAARC เห็นได้จากการประชุมสุดยอด SAARC ครั้งที่ 20 ที่มีแผนจะจัดขึ้นที่ปากีสถาน ในปีค.ศ. 2020 (เลื่อนมาจากปีค.ศ. 2019 เนื่องจากเกิดข้อพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน) ซึ่งวาระการระชุมที่สำคัญ คือ ปัญหาด้านความมั่นคงและการส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาค เป้าหมายหนึ่งของการประชุม คือ จะพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงระหว่างอินเดียกับปากีสถาน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การประชุมยังต้องเลื่อนออกไปก่อน

ทว่าสถานการณ์โควิดก็ไม่ได้มาขัดขวางความพยายามในการสร้างความร่วมมือในกลุ่มแต่อย่างใด เมื่อในวันที่ 16 มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ส่งคำเชิญไปยังประเทศสมาชิกกลุ่ม SAARC เพื่อใหผู้นำทั้ง 8 ประเทศมาร่วมประชุมกันผ่านระบบ VDO Conference เพื่อหาทางรับมืออกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งการประชุมครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ผู้นำในกลุ่ม SAARC ได้มาพบกันครบประเทศสมาชิก ได้แก่ ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน อัชราฟ ฆานี (Ashraf Ghani), นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา (Sheikh Hasina), นายกรัฐมนตรีภูฏาน โลเท เชอร์ริง (Lotay Tshering), ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ อิบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลีห์ (Ibrahim Mohamed Solih), นายกรัฐมนตรีเนปาล คัดห์กา ปราสาด ชาร์มา โอลิ (Khadga Prasad Sharma Oli) และประธานาธิบดีศรีลังกา โคฐาภยะ ราชปักษะ (Gotabaya Rajapaksa) ซึ่งก็ขาดแต่ผู้นำของปากีสถานเท่านั้น รวมทั้ง ซาฟาร์ มีร์ซา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี อิมรอน ข่าน เนื่องจากปัญหาระดับโลกที่ไม่แบ่งแยกพื้นที่หรือประเทศ เช่น ภัยโรคระบาดในขณะนี้อาจกลายเป็นตัวเร่งหรือปัจจัยสนับสนุนการรื้อฟื้นขององค์กรความร่วมมือ SAARC ก็เป็นได้

ความคืบหน้าจากการประชุมครั้งล่าสุด อินเดียได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน COVID-19 Emergency Fund โดยให้แต่ละประเทศร่วมสมทบทุนตามความสมัครใจ มีการเสนอให้จัดตั้งคณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในลักษณะ Rapid Response Team ร่วมกัน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที มีการจัดตั้งเว็บไซต์ www.covid19-sdmc.org ขึ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับทุกประเทศเอเชียใต้ และล่าสุดมีการประชุมทางไกลของทีมแพทย์อาวุโสของกลุ่มเอเชียใต้ในวันที่ 26 มีนาคม 2020 เพื่อวางแผนการสกัดดั้นการแพร่ระบาด รวมทั้งมีการเพิ่มเงินลงในกองทุน COVID-19 Emergency Fund จากชาติสมาชิก ทำให้ปัจจุบันเงินกองทุนเพิ่มเป็น 18.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น แม้ยังไม่เห็นความร่วมมืออย่างเต็มที่จากปากีสถาน ความร่วมมือในครั้งนี้ก็เป็นที่น่าจับตาดูต่อไปว่าจะสามารถฟื้นคืนหรือกระตุ้นความสัมพันธ์ของชาติสมาชิกทั้ง 8 ประเทศได้

SAARC และความสัมพันธ์กับไทย

การเกิดขึ้นขององค์กร SAARC ไม่เพียงแต่มีขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือภายในประเทศเอเชียใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจในการจรจาต่อรองกับภูมิภาคอื่นๆ ในเวทีโลก สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีการติดต่อหรือสร้างความร่วมมือกับ SAARC โดยตรง แต่ระหว่าง SAARC และ ASEAN ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่มีความสัมพันธ์ต่อกันอันดีและได้มีการลงนามความร่วมมือต่างๆ กันหลายฉบับ

ASEAN และ SAARC ได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1998 โดยการพบปะของทั้งสองฝ่ายเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมสมัชชาของสหประชาชาติ ที่เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปีค.ศ. 2002 โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าควรแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติระหว่างกันในประเด็นเกี่ยวกับการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ปัญหาความยากจน การท่องเที่ยว และมีแนวคิดที่จะสร้างข้อตกลง FTA ระหว่างกัน ตามมาด้วย ปีค.ศ. 2004 ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการที่สำนักเลขาธิการอาเซียน โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงสร้างแผนความร่วมมือ ASEAN-SAARC Secretariats’ Work Plan (2004-2005) ซึ่งครอบคลุม 18 กิจกรรมใน 9 พื้นที่ ถัดมาในปีค.ศ. 2005 ทั้งสองฝ่ายได้มีการทบทวนแผนปฏิบัติการและได้ปรับปรุงข้อตกลงให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องความร่วมมือด้ายภัยพิบัติและเทคโนโลยี ICT ด้วย

ปีค.ศ. 2007 มีการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันและติดตามผลความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมทั้งแผน ASEAN-SAARC Secretariats’ Work Plan (2004-2005) อันได้แก่ ด้านการค้าการลงทุน ด้านพลังงาน สาธารณสุข เกษตรกรรม การท่องเที่ยว ยาเสพติด อาชญากรข้ามชาติและปัญหาความยากจน

ในการประชุมครั้งล่าสุดปีค.ศ. 2013 นางเอลิเซีย เดอลา โรซา บาล่า (Alicia dela Rosa Bala) รองเลขาธิการอาเซียน ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรม พร้อมคณะทำงาน ได้เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับคณะผู้แทนจากสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ หรือ SAARC ที่นำโดย นายอาเหม็ด ซาลีม (Ahmed Saleem) เลขาธิการสมาคม ได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ SAARC จะเข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาคของอาเซียน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังอาเซียนก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมในปีค.ศ. 2015 ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมพูดคุยถึงความคืบหน้าในแผนความร่วมมือ ASEAN-SAARC Secretariats’ Partnership Work Plan (2008-2009) ซึ่งมุ่งพัฒนาความร่วมมือด้าน การค้าการลงทุน พลังงาน การจัดการภัยพิบัติ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้ามนุษย์ รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบันขององค์กรทั้งสอง ทั้งนี้แม้จะเคยมีการประชุมกันมาหลายครั้งแต่พัฒนาการความร่วมมือ หรือกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมก็ยังไม่ปรากฎชัดเจนนักระหว่าง ASEAN และ SAARC

DID YOU KNOW?

SAARC มีองค์กรแยกย่อยที่จัดการเฉพาะด้านอยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของ SAARC อาทิ

SAARC Arbitration Council (SARCO)
SAARC Development Fund (SDF)
South Asian University (SAU)
South Asian Regional Standards Organization (SARSO)
SAARC Agricultural Centre (SAC)
SAARC Meteorological Research Centre (SMRC)
SAARC Forestry Centre (SFC)
SAARC Development Fund (SDF)
SAARC Documentation Centre (SDC)
SAARC Disaster Management Centre (SDMC)
SAARC Coastal Zone Management Centre (SCZMC)
SAARC Information Centre (SIC)
SAARC Tuberculosis and HIV/AIDS Centre (STAC)
SAARC Human Resources Development Centre (SHRDC)
SAARC Energy Centre (SEC)
SAARC Cultural Centre (SCC)

SAARC ได้มีการกำหนดเป้าหมายในระยะยาวร่วมกัน (Designated SAARC Decade) เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานขององค์กร ได้แก่

1) SAARC Decade of the Girl Child ช่วงปีค.ศ. 1991-2000

2) SAARC Decade of the Rights of the Child ช่วงปีค.ศ. 2001-2010

3) SAARC Decade of Poverty Alleviation ช่วงปีค.ศ. 2006-2015

4) SAARC Decade of Intra-regional Connectivity ช่วงปีค.ศ. 2010-2020

References

– ASEAN Secretariat News.2013. ASEAN and SAARC Secretariats Enhance Relation.https://asean.org/asean-and-saarc-secretariats-enhance-relation/

– Association of southeast of southeast Asian Nations.2017. Overview of ASEAN-SAARC Cooperation. https://asean.org/wp-content/uploads/2012/05/DONEOverview-ASEAN-SAARC-as-of-Oct-2017-fn.pdf

– Bhattacharjee, J. (2018). SAARC vs BIMSTEC: The search for the ideal platform for regional cooperation. Observer Issue Brief, 226, 1-12.

– SAARC.http://saarc-sec.org/areas_of_cooperation

– ปิติ ศรีแสงนาม. 2563. โควิด-19 กับความหวังสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของเอเชียใต้. The standard. https://thestandard.co/coronavirus-and-hope-for-curing-relations-of-south-asia/

– สำนักข่าวกรองแห่งชาติ.2562.สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้.http://almanac.nia.go.th/page/32

– ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก.2562. เมื่ออินเดียไม่อยากเป็นเพียงมหาอำนาจของเอเชียใต้. The101.World.https://www.the101.world/india-dominant-power-beyond-south-asia/

– สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ.2561.จับตาทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของ SAARC – สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้.globthailand.https://globthailand.com/nepal_0001/

– ปัทมน ปัญจวีณิน.2560.อินเดียยิงดาวเทียมสำหรับภูมิภาคเอเชียใต้ขึ้นสู่อวกาศ.Royal Thai Embassy New Delhi, Republic of India.http://newdelhi.thaiembassy.org/th/2017/05/article_south_asia_satellite/

– บวร โทศรีแก้ว.2557.อ่อนแอเพราะไร้สามัคคี.ไทยรัฐ ออนไลน์.https://www.thairath.co.th/content/466529

– อาเซียนกระชับสัมพันธ์สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้(SAARC).2556.Asean watch.http://aseanwatch.org/2013/03/06/อาเซียนกระชับสัมพันธ์ส/

– ชวลิต ชวลิตพงศ์พันธุ์ (2543) บทบาทของสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือในภูมิภาคภายหลังสงครามเย็น (1990-1998)ศึกษาความร่วมมือของประเทศสมาชิก.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Photo credit :

– hindukush, afghanistan, mazar-e-sharif

– Yamuna Ghat, New Delhi, India Photo by Aditya Saxena on Unsplash

– People Photo by SYED MUIZUR on Unsplash

– Kathmandu, Nepal Photo by Vickey Goh on Unsplash