BIMSTEC
The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation
WHAT
ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อยู่ในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ณ กรุงเทพ ประเทศไทย จากการรวมตัวของกลุ่มประเทศอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าที่สำคัญ และเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อแรกเริ่มมีสมาชิกเพียง 4 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ต่อมาภายหลังประเทศพม่า เนปาลและภูฎาน (เข้าร่วมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546) ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือนี้ ทำให้ในปัจจุบันมีสมาชิกรวม 7 ประเทศ อันได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล และภูฏาน
objective
BIMSTEC มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้ความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์ในระดับอนุภูมิภาค ทั้งในด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี และความช่วยเหลือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกในด้านต่างๆ บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการส่งเสริมกันและกัน ผ่านเวทีหารือและเจรจาเพื่อขจัดอุปสรรคของความร่วมมือต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายมองตะวันออก (Look East) ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ กับนโยบายมองตะวันตก (Look West) ของประเทศไทย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาคให้ดีขึ้น ผ่านการขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในระดับเวทีโลก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เช่น การสื่อสารและการคมนาคม รวมทั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่มีสังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน
วัตถุประสงค์หลัก
1. เพื่อสร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ การท่อเที่ยว การเกษตรกรรม พลังงาน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคม
2. เพื่อพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในร่วมกันในระดับอนุภูมิภาค บนพื้นฐานของความเสมอภาคและความเป็นหุ้นส่วน
3. เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องที่มีประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
4. เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปแบบของการฝึกอบรม และการค้นคว้าวิจัย
5. เพื่อร่วมกันพัฒนาและสนับสนุนแผนพัฒนาระดับชาติของประเทศสมาชิก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากรในระดับอนุภูมิภาค รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการสื่อสาร
6. เพื่อรักษาผลประโยชน์และความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับองค์กรระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีจุดมุ่งหมายที่เดียวกัน
7. เพื่อสร้างความร่วมมือในโครงการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในระดับอนุภูมิภาคในกลุ่มประเทศ BIST-EC จากการประสานความร่วมมือระหว่างกัน
ความร่วมมือภายใต้องค์กรความร่วมมือ BIMTEC
การรวมตัวของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคที่เชื่อมระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่าเป็นสะพานสำคัญที่จะนำไปสู่สำหรับความร่วมมือภายในภูมิภาคระหว่าง SAARC และสมาชิกอาเซียน (ASEAN) เนื่องจาก กลุ่มประเทศสมาชิก BIMSTEC มีประชากรประมาณ 1,500 ล้านคนซึ่งคิดเป็นประมาณ 22% ของประชากรโลกที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 2.7 ล้านล้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยได้สูงถึง 6.5%
BIMSTEC มีโครงสร้างการทำงานร่วมกันในหลายระดับตั้งแต่ ระดับความร่วมมือสาขาหลัก (Sector) ระดับความร่วมมือสาขาย่อย (Sub-Sector) และระดับโครงการ (Project) โดยการทำงานร่วมกับ
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ โดยแบ่งความความร่วมมือออกเป็น 14 สาขา
1. สาขาการค้าและการลงทุน (Trade & Investment)
2. สาขาการคมนาคมและการสื่อสาร (Transport & Communication)
3. สาขาพลังงาน (Energy)
4. สาขาเทคโนโลยี (Technology)
5. สาขาการท่องเที่ยว (Tourism)
6. สาขาประมง (Fisheries)
7. สาขาเกษตรกรรม (Agriculture)
8. สาขาวัฒนธรรม (Cultural Cooperation)
9. สาขาสาธารณสุข (Public Health)
10. สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ (Environment & Disaster Management)
11. สาขาการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (Counter-Terrorism & Transnational Crime)
12. สาขาการลดความยากจน (Poverty Alleviation)
13. สาขาปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน (People-to-People Contact)
14. สาขาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
โครงสร้างการทำงานขององค์กรความร่วมมือ BIMTEC
การประชุม BIMSTEC เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก 3 ระดับ คือ
1. การประชุมสุดยอดผู้นำ (BIMSTEC Summit)
การประชุมสุดยอดผู้นำ เป็นการประชุมในระดับผู้นำรัฐบาล ในระดับนโยบายเพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดกรอบความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
2. การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Meeting)
2.1 การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ (Ministerial Meeting: MM)
เป็นการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจด้านนโยบายและให้คำแนะนำก่อนการประชุมประชุมผู้นำ เพื่อให้สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมมองเห็นภาพรวมที่สอดคล้องกัน ผู้เข้าร่วม คือ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิก
2.2 การประชุมรัฐมนตรีการค้า/เศรษฐกิจ (Trade/Economic Ministerial Meeting: TEMM)
เป็นการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงาน เฉพาะด้านการค้าการลงทุน และนโยบายเขตการค้าเสรี ผู้เข้าร่วม คือ รัฐมนตรีด้านการค้า/เศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังมีการประชุมระดับรัฐมนตรีย่อยๆ เฉพาะประเด็น เช่น การประชุมโต๊ะกลมและเชิงปฏิบัติการระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว BIMSTEC (Roundtable and Workshop for BIMSTEC Tourism Ministers) การประชุมรัฐมนตรีพลังงาน BIMSTEC (BIMSTEC Energy Ministers’ Conference) การประชุมรัฐมนตรีด้านการลดความยากจน และการประชุมรัฐมนตรีด้านความร่วมมือทางวัฒนธรรม
3. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting)
3.1 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการค้าและเศรษฐกิจ (Senior Trade/Economic Official Meeting: STEOM)
เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเจรจาเรื่องการค้าการลงทุน และเขตการค้าเสรี BIMS – TEC (FTA) เพื่อเสนอต่อการประชุมรัฐมนตรีการค้า/เศรษฐกิจ (Trade/Economic Ministerial Meeting: TEMM)
3.2 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านต่างประเทศ (Senior Official Meeting: SOM)
เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเจรจาและติตตามความเคลื่อนไหวประเด็นหรือวาระที่อยู่นอกเหนือจากการค้าการลงทุน เพื่อเสนอต่อการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ (Ministerial Meeting: MM)
3.3 การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ (Expert Group Meeting)
เป็นการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญของสาขาต่างๆ เพื่อเพื่อติดตามการทำงานและรายงานผลที่อยู่ในความรับผิดชอบต่อคณะทำงานตามแต่ละสาขาความร่วมมือ เพื่อเสนอต่อการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
3.4 การประชุม Business Forum และ Economic Forum
เป็นการประชุมด้านการค้าการลงทุนที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถแบ่งการประชุมออกเป็น 2 ประเภท คือ Economic Forum งานประชุมที่จัดให้เอกชนร่วมหารือกับภาครัฐ และ Business Forum งานประชุมที่จัดให้ภาคเอกชนหารือระหว่างกัน
BIMSTEC และความสัมพันธ์กับไทย
ภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC นี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยในฐานะสมาชิกะได้รับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก BIMSTEC ที่เป็นสะพานสำคัญในการเชื่อมโยงทรัพยากรประเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ทำให้เกิดร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทรัพยากรระหว่างกัน ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียใต้ จากกลุ่มประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,500 ล้านคน มีอัตราการเจริญเติบโตสูง เป็นแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรที่สำคัญ รวมทั้งมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศไทย
ด้านการค้าและการลงทุน
ที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ร่วมลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC FTA (BIMSTEC Free Trade Area) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า BIMSTEC ครั้งที่ 4 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยกรอบความร่วมมือจะครอบคลุมกรอบการเจรจา 3 สาขาหลัก ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน และมีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้า BIMSTEC (BIMSTEC Trade Negotiating Committee: BIMSTEC TNC) เพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ปัจจุบันมีศรีลังกาทำหน้าที่เป็นประธานถาวร BIMSTEC TNC และตั้งสำนักเลขาธิการที่ประเทศบังกลาเทศ
กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC FTA (BIMSTEC Free Trade Area) ทำให้เกิดการส่งเสริมการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนในประเทศสมาชิก เพื่อสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม และสามารถดึงดูดนักธุรกิจ จากภายนอกให้เข้ามาทำการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้มากขึ้น ปัจจุบันภายใต้ความตกลง BIMSTEC FTA มีร่างความตกลงทั้งหมดจำนวน 7 ฉบับ แต่ยังไม่มีความตกลงใดที่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากอินเดียได้ขอแก้ไขบางประเด็นในความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่ 1) พิธีสารแก้ไขกรอบความตกลงการค้าเสรี BIMSTEC 2) ความตกลงการค้าสินค้า 3) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านศุลกากร 4) ความตกลงว่าด้วยกระบวนการและกลไกระงับข้อพิพาท
สินค้าสำคัญที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม BIMSTEC ได้แก่ เมล็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนตร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องจักร ส่วนธุรกิจที่มีศักยภาพแล้วโอกาสในการเติบโตสูง คือ ธุรกิจภาคการบริการและการท่องเที่ยว ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว โรงแรม/ที่พัก ร้านอาหาร ก่อสร้าง สุขภาพ ด้านการศึกษา และการขนส่ง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกลุ่ม BIMSTEC ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่และโลหะอื่นๆ
ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร
จากความตกลงการค้าสินค้าใน BIMSTEC (Agreement on Trade in Goods) BIMSTEC FTA เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขยายเส้นทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นการดำเนินการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน เช่น การเชื่อมถนนจากไทยไปพม่าเพื่อเข้าสู่บังกลาเทศและอินเดีย หรือการพัฒนาท่าเรือระนองของไทยสู่ทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอลจะเป็นกลไกซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งเพื่อส่งเสริมการค้าในอนุภาคนี้ และสามารถเชื่อมโยงไปภูมิภาคอื่นๆ ได้
จากการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 12 ณ นครเนปิดอร์ ประเทศพม่า อินเดียและ ADB ได้ดำเนินโครงการศึกษาระบบสาธารณูปโภค (BIMSTEC Transport Infrastructure and Logistics Study-BILTS) ที่ประชุมมีมติรับรองผลการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงระหว่างกันในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ทั้งทางบก (ทางถนนและรถไฟ) ทางน้ำ และทางอากาศ ประเทศไทยมีประตูการค้าสู่กลุ่ม BIMSTEC ที่สำคัญได้แก่ ท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือหลักบริเวณภาคใต้ตอนบนด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกและเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม BIMSTEC ประเทศในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา
ด้านพลังงาน
จากความเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในการประชุมรัฐมนตรีพลังงาน BIMSTEC ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในเรื่องการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC เพื่อสร้างองค์กรในการประสานงานสำหรับการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในภูมิภาคให้มากขึ้น ต่อมาในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2554 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ขึ้น
ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือการเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลพลังงานในภูมิภาค และสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพลังงานของไทยให้ก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายในกิจการด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายแล้วร่วมมือระหว่างประเทศที่มีศักยภาพด้านพลังงาน ทำให้ภูมิภาค BIMSTEC มีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น
ด้านวิชาการ
ในการประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 นั้น ได้จัดตั้งเครือข่ายคลังสมองด้านนโยบายของบิมสเทค (BNPTT: BIMSTEC Network of Policy Think Tanks) ขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายการประสานงานด้านวิชาการ ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ
ด้านสาธารณสุข
ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ประเทศไทยอยู่ในฐานะประเทศนำ (Lead Country) และมุ่งเน้นที่จะพัฒนาด้านการแพทย์ดั้งเดิม (Traditional Medicine) จากการการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ที่ประชุมมีมติให้ก่อตั้งหน่วยงานที่จะเป็นศูนย์ประสานงานระดับชาติด้านการแพทย์ดั้งเดิม คือ BIMSTEC Network of Centers of Traditional Medicine ประเทศไทยได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าวโดยการก่อตั้ง “ศูนย์ประสานงานแห่งชาติด้านการแพทย์ดั้งเดิมในกลุ่มประเทศ BIMSTEC” โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
References
– สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ความริเริ่มอ่าวเบงกอลว่าด้วยความหลากหลายสาขาวิชาการและเศรษฐกิจ. http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program1-4-2.jsp?t_ser=15181&gcode=15182&Txt_condition=
– About BIMSTEC. https://bimstec.org/
– ปิติ ศรีแสงนาม. 2561. สามเหลี่ยมแห่งการพัฒนาในอ่าวเบงกอล. ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/daily/detail/9610000054282#:~:text=และนอกจากประเด็นทางด้าน,การค้าและการขนส่ง
– ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างระเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค : ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC). http://www.mfa.go.th/business/th/cooperation/245/42516–ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลาย.html
– กองการต่างประเทศ. 2553. ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ
– (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation). http://www.bihmoph.net/userfiles/file/BIMSTEC.pdf
– สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2552. ร่างบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC. http://dl.parliament.go.th/handle/lirt/76105
– กองกิจการระหว่างประเทศ. 2556. ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC สาขาการคมนาคมและการสื่อสาร. http://oldweb.md.go.th/IMO/paper/asian_bimstec.pdf
– กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. Fact Book ความตกลงการค้าเสรีบีมสเทค. 2552
– สำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ. 2553.
– สำนักเอเชีย แอฟริกา และยุโรปตะวันออก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. Overviews BIMSTEC. 2561
Photo credit :
– Thailand by Evan Krause-on Unsplash scaled
– Patan Durbar Square Lalitpur Nepal Photo by binaya photography on Unsplash
– Taj-Mahal Photo by Fahrul Azmi on Unsplash
– Myanmar Photo by roman raizen on Unsplash
– Sri Lanka Photo by Anton Lecock on Unsplash
– Cox’s Bazar Photo by Aditya Das on Unsplash
– Tiger’s Nest, Taktsang Trail, Bhutan Photo by Aaron Santelices on Unsplash
– New Delhi, Delhi, India Photo by Olga Andreyanova on Unsplash
– Jaipur, India Photo by Annie Spratt on Unsplash