โดย สุดารัตน์ อินสระคง นักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การออกเดินทางในครั้งนี้เริ่มต้นจากความสงสัยและอยากจะเรียนรู้วิถีแห่งซิกข์ เพราะก่อนหน้านี้เคยได้ยิน ‘ย่านพาหุรัด’ มาบ้างแล้ว แน่นอน หลายคนคงได้ยินชื่อนี้ และจะเห็นภาพ ‘แขกขายผ้า’ สำหรับดิฉันพาหุรัดในภาพจินตนาการจึงเป็น ‘ย่านของคนอินเดีย’ เท่านั้น เพราะไม่เคยรู้จักมักคุ้นเท่าไรนัก เมื่อเริ่มศึกษาจึงพบว่า พาหุรัดนั้นไม่ใช่เป็นเพียงย่านคนอินเดียที่มาจับจ่ายใช้สอย ตั้งรกราก แต่ยังเป็นอาณาบริเวณใจกลางกรุงเทพมหานครที่คงไว้ซึ่งความเชื่อ ตัวตน และอัตลักษณ์ของชาวซิกข์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พร้อมออกไปเดินละเมียดละไมทอดน่องในชุมชนซิกซ์เพื่อซึบซับและสัมผัสให้ถึงถิ่น ชาวซิกข์: ตัวตน และความเชื่อ ‘ย่านพาหุรัด’ แห่งนี้ แต่เดิมเป็น ‘ชุมชนชาวญวน’ ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 จวบจนในรัชกาลที่ 5 เพราะเกิดเหตุเพลิงไหม้ ชาวญวนจึงได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น ต่อมา พื้นที่ดังกล่าวถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในภายหลัง ส่งผลให้ชาวซิกข์ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากปัญจาบเข้ามาจับจองพื้นที่ค้าขายผ้า รวมทั้งสินค้านำเข้าจากอินเดีย จนพื้นที่แห่งนี้กลายมาเป็นย่านการค้าที่มีชื่อเสียงในนาม ‘พาหุรัด’ จนปัจจุบันผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานในพาหุรัดส่วนใหญ่เป็น ชาวซิกข์ […]