โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 3 เมษายน 2562
https://xstremarea.home.blog/2019/04/03/bodhu-bala-sena/
Bodhu Bala Sena หรือBBS เป็นกลุ่มคนที่เป็นเสียงส่วนน้อยในสังคม แต่ก็พยายามจุดประกายความกลัวในสังคม ด้วยการแพร่กระจายข้อความที่ว่า มุสลิมเป็นผู้จุดประกายความกลัวและความรุนแรง [1] โดยกลุ่ม BBS นี้ เป็นผู้นำการชุมนุมในประเทศศรีลังกาอยู่หลายครั้งหลายครา
กลุ่ม BBS เป็นองค์กรชาตินิยมชาวพุทธสิงหล ก่อตั้งโดยพระสงฆ์ โดยมี Galagoda Aththe Gnanasara Thero เป็นเลขาธิการองค์กร โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่แยกมาจากพรรคการเมือง Jathika Hela Urumaya (JHU) นอกจากนี้ พระ Galagoda Aththe Gnanasara Thero เอง เคยเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตโคลัมโบ ในนามพรรค JHU อีกด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระสงฆ์ในศรีลังกา มีบทบาทอย่างมากในการแพร่กระจายแนวคิดพุทธสุดโต่ง
เป้าหมายของกลุ่ม BBS ก็คือต้องการรณรงค์เพื่อเรียกร้องหรือชักชวนให้ชาวสิงหลต่อต้านชาวมุสลิม เพราะเห็นว่า ชาวมุสลิมนั้นคุกคามอนาคตของความเชื่อมั่นของชุมชน (threatens the future of community trust) จริง ๆ แล้ว กลุ่ม BBS นี้ ต่อต้านทั้งศาสนาคริสต์และอิสลาม แต่ในระยะหลัง ๆ หันมาเน้นการต่อต้านผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก และที่สำคัญกลุ่ม BBS นี้ต้องการให้รัฐบาลและประเทศศรีลังกาปฏิบัติเป็นพิเศษต่อผู้นับถือศาสนาพุทธ รวมทั้งยังกล่าวหารัฐบาลว่ามีการเลือกปฏิบัติเป็นพิเศษต่อชาวมุสลิม
สิ่งที่กลุ่ม BBS ต้องการก็คือ ให้ประเทศศรีลังกาเป็นประเทศของชาวพุทธสิงหลไม่ใช่ประเทศที่มีหลายเชื้อชาติหรือหลายศาสนา
Galagoda Aththe Gnanasara Thero เลขาธิการกลุ่ม BBS เคยให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งโดยชาวพุทธสิงหล ดังนั้น จึงต้องคงไว้ในฐานะชาวพุทธสิงหล ประเทศศรีลังกาก็ควรจะป็นประเทศของชาวสิงหลและรัฐบาลชาวสิงหล ความเป็นประชาธิปไตยและการยอมรับความหลากหลาย (Pluralistic values) จะทำลายชนชาติสิงหล [2]
การใช้ความรุนแรงของ Galagoda Aththe Gnanasara Thero นี้ ทำให้พระรูปนี้ ถูกออกหมายจับ รวมถึงพิพากษาจำคุกมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ประเทศศรีลังกาไม่ค่อยจะตัดสินลงโทษพระสงฆ์ [3] อย่างไรก็ดี แนวคิดและการกระทำของกลุ่ม BBS ได้รับการประณาม และวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองที่มีชื่อเสียงจากทุกพรรคการเมือง ยกเว้นพรรค JHU ที่เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดชาตินิยม ที่ต้องการยกระดับศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติ รวมถึงต่อต้านการมอบอำนาจให้กับคนกลุ่มน้อยในทุกรูปแบบ [4]
นอกจากนี้พระสงฆ์ในประเทศศรีลังกาเอง เช่น Anunayake Bellanwila Wimalaratana Thero ให้สัมภาษณ์ว่า แนวคิดของกลุ่ม BBS ไม่ได้สะท้อนแนวคิดหรือแนวทางชุมชนสงฆ์ทั้งหมดในศรีลังกา [5] รวมถึงสภาท้องถิ่นยังผ่านร่างกฎหมายต่อต้านกลุ่มสุดโต่งต่าง ๆ และควบคุม/ตรวจสอบกลุ่ม BBS ในจุดยืนต่อต้านมุสลิม
พระ Anunayake Bellanwila Wimalaratana Thero ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาระหว่างศาสนาไว้ว่า คณะสงฆ์ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งในสังคม “เราจะไม่ใช้กำปั้น (หมัด) ในการแก้ปัญหา แต่เราใช้สมอง” [6]
References
[1] Rajapaksha, K. (n.d.). Rising Religious Extremism in Post-war Sri Lanka and Its Breeding Cyber-politics. เข้าถึงจาก http://www.Academia.edu (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561).
[2] Al. Maeena, T. A. (2013). Neo-fascism on the rise in Sri Lanka. เข้าถึงจาก https://gulfnews.com/opinion/op-eds/neo-fascism-on-the-rise-in-sri-lanka-1.1150052 (เข้าถึงเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562).
[3] BBC.Com (2018). Sri Lanka hardline monk Gnanasara jailed for intimidation. เข้าถึงจากhttps://www.bbc.com/news/world-asia-44479610 (เข้าถึงเมื่อ 26 มีนาคม 2562).
[4] Fowsar, M.A.M. (2014). Religious Symbolism and Politics in Sri Lanka: Muslim’s Grievances. Proceeding. First International Symposium – 2014, FIA, SEUSL (page 32-36).
[5],[6] DailyFT (2013). BBS does not represent entire Sangha. เข้าถึงจาก https://web.archive.org/web/20150924040229/http://www.ft.lk/2013/03/12/bbs-does-not-represent-entire-sangha/ เข้าถึงเมื่อ 23 มกราคม 2562.
Photo credit :
– โลโก้ BBS https://en.wikipedia.org/wiki/Bodu_Bala_Sena
– พระ Gnanasara ที่มา : https://www.bbc.com/news/world-asia-44479610