
โดย จตุพร สุวรรณสุขุม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 14 มีนาคม 2562
https://xstremarea.home.blog/2019/03/14/fake-news-in-india/
ข่าวปลอมกับรัฐบาลอินเดีย?
ข่าวปลอมมาจากอะไร?
ปัจจัยที่สำคัญที่มีผู้ผลิตเนื้อหาข่าวปลอมออกมาเป็นจำนวนมากเนื่องจากความต้องการค่าโฆษณาจากผู้สนับสนุน โดยรัฐบาลได้เรียกร้องให้หยุดให้การสนับสนุนแก่บรรดาเว็บไซต์ที่ผลิตเนื้อหาที่ไร้จรรยาบรรณและขาดความรับผิดชอบต่อบรรดาข่าวปลอมเหล่านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานของรัฐเอง ที่ยังคงเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับสำนักข่าวเหล่านี้ และในบางครั้งเห็นได้ชัดว่ามีความพยายามสร้างข่าวปลอมให้เป็นความจริงเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง
ตัวอย่างเช่น ภาพการจลาจลใน Basirhat ที่มีรูปรถโดนเผาที่ถูก Nupur Sharma โฆษกจากพรรค BJP ส่งออกเป็นข้อความส่วนหนึ่งของการเรียกร้องให้ #SaveBengal และใช้ในใบปลิวสำหรับการประท้วง ซึ่งต่อมาภาพดังกล่าวปรากฎว่ามาจากการจลาจลของรัฐ Gujarat ในปี 2002 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ Narendra Modi ในขณะนั้น นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คลิปวิดิโอที่ถูกตัดต่อเพื่อหวังผลทางการเมืองอื่นๆ และอีกสารพัดวิถีทางที่จะยั่วยุ ปลุกปั้นให้เกิดความแตกแยกในสังคม

ข่าวปลอม vs. Social Media
จากช่องทางทั้งหมดที่เผยแพร่ข่าวปลอม Jain ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม Social Media Hoax Slayer ทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นเท็จผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรู้สึกว่าผู้กระทำผิดที่ใหญ่ที่สุด คือ แอปพลิเคชันการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันที WhatsApp ที่ทำให้ข่าวปลอมๆ ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายและส่งผลกระทบต่อคนอย่างมาก
Jain อธิบายว่า ประชาชนทั่วไปเป็นคนธรรมดาที่สามารถเข้าถึงข้อมูล แต่ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับอย่างเป็นทางการจากสื่ออื่นๆอย่าง Facebook Twitter หรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ หน่วยงานเฝ้าระวังด้านสื่ออื่นๆ ในอินเดีย เช่น The Hoot, Alt News และ Newslaundry ซึ่งคอยติดตามข่าวของสื่อกระแสหลักที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ข่าวต่างๆ และเปิดเผยแรงจูงใจในการเสนอข่าวของพวกเขา
การพาดหัวข่าวล่อเป้าก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย เนื่องจากการพาดหัวข่าวที่รุนแรงมีผลในการกระตุ้นให้เกิดการส่งต่อ และเมื่อผู้ส่งต่อจำนวนมากขึ้นก็จะช่วยสร้างรายได้จากการโฆษณาให้กับเจ้าของเว็บไซต์ โดยเหยื่อคือกลุ่มคนที่ชอบส่งรูปภาพหรือข้อความทักทายในกลุ่มสนทนาเป็นหลัก ความน่าเชื่อถือจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรับรองแหล่งข่าวเหล่านี้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่
จากเหตุผลทั้งหมดทำให้เกิดการรวมตัวของสื่อบางกลุ่มเพื่อต้อต้านข้อมูลเท็จในสังคมออนไลน์ ตัวอย่างเช่น พอร์ทัลข่าวที่เรียกว่า Quint ได้เริ่มต้นส่วนที่เรียกว่า Webqoof ซึ่งเป็นการตัดข่าวปลอมออก ซึ่งต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะรูปภาพ การใช้เครื่องมือค้นหารูปภาพแบบย้อนกลับเช่น TinEye หรือการให้บริการของ Google ที่ช่วยค้นหาภาพย้อนกลับ ช่วยให้ผู้ค้นหาสามารถค้นหาภาพที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ได้ ทำให้สามารถเปรียบเทียบภาพและพบการเปลี่ยนแปลงได้
การจัดการข่าวปลอมของรัฐบาลอินเดีย
จากปัญหาทั้งหมดรัฐบาลอินเดียจึงมีแนวคิดที่จะตรวจสอบการเสนอข่าวของสื่อ จากดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกในเดือนพฤษภาคมปี 2017 อินเดียครองอันดับ 136 จาก 180 ประเทศ ต่ำกว่าประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรงอย่างปาเลสไตน์ ที่เป็นเช่นนี้มีสาเหตุมาจากลัทธิชาตินิยมที่เพิ่มขึ้นภายใต้รัฐบาลพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ ที่พยายามผลักดันแคมเปญรณรงค์ความคิดเห็นต่างในอินเตอร์เน็ต ให้เป็นเหมือนผู้ร้ายออนไลน์
จากการรณรงค์ดังกล่าวทำให้อินเดียกำลังถูกจับจ้องเป็นอย่างมากเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันไม่ให้ผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รายงานจาก Human Rights Watch ระบุว่าประเทศอินเดียกำลังปิดอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคต่างๆ กว่า 20 ครั้งในช่วง 5 เดือนแรกของปื 2017 สาเหตุมาจากการเผยแพร่ภาพการเสียชีวิตจากการจลาจลซึ่งเกิดขึ้นในรัฐที่มีการประท้วงอย่างรุนแรง รัฐบาลอินเดียไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสัญญาณ แต่ในอดีตยังมีข้อโต้แย้งว่าการจำกัดการเข้าถึงบางครั้งก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้ข่าวลือสื่อสังคมออนไลน์เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้น เหมือนกับที่มีการปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ต 33 ครั้งในระยะเวลา 5 ปีที่แคว้นแคชเมียร์ Meenakshi Ganguly ผู้อำนวยการฝ่าย Human Rights Watch ของ South Asia กล่าวว่า “การขาดความโปร่งใสและความล้มเหลวในการอธิบายถึงการปิดระบบเหล่านี้ มีเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือเพื่อปราบปรามการรายงานและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง”
การสำรวจเสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปี 2016 จากประเทศทั้งหมด 65 ประเทศ โดย Freedom House ของสหรัฐอเมริกาได้ให้คะแนนแก่อินเดีย 41 คะแนน ขณะที่จีนมีคะแนน 88 คะแนน ในรายงานของ Brookings Institution แม้ว่าเมื่อปีที่แล้วอินเดียได้ติดอันดับแรกของประเทศที่มีจำนวนการหยุดทำงานของสัญญาณอินเทอร์เน็ตสูงสุดในการสำรวจทั้งหมด 19 ประเทศแทนที่อิรัก (รวมทั้งซาอุดิอาระเบียปากีสถานซีเรียและเกาหลีเหนือ)
One thought on “สูตรสำเร็จข่าวปลอมในอินเดีย (ตอนที่ 1)”