โดย ดลลดา ชื่นจันทร์
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รามากันต์อายุแค่เพียง 6 ขวบ เมื่อ ยูได พี่ชายของเขาจากหมู่บ้านไปอเมริกา ช่วงวัยเด็กจนวัยหนุ่มของเขาจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตในอเมริกาจากจดหมายที่พี่ชายของเขาเขียนส่งกลับมาตลอดหลายปี
“เรามีผู้เชี่ยวชาญเกือบทุกแขนงที่นี่ บางคนก็รู้วิธีซ่อมสิ่งของ เครื่องปั้นดินเผา การเลือกตั้ง หรือหนังของอมิตาภ พัจจัน สำหรับผมสิ่งเดียวที่ผมรู้มากที่สุด คือสถานที่ที่ผมไม่เคยเห็น”
เป็นคำกล่าวของรามากันต์ในการนิยามความสามารถของตัวเอง
รามากันต์ได้เรียนอ่านเขียนเพราะจดหมายของพี่ชาย แผนที่สหรัฐอเมริกาถูกวาดและสอนในห้องเรียนนี้ ช่วงเวลาหลายสิบปีดำเนินไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ห่อหุ้มเรื่องราวสดใสเปี่ยมหวังจากอีกฟากโลก อเมริกาคือสิ่งที่รามากันต์รู้จักดีที่สุด และรู้จักมาทั้งชีวิตของเขา
ทว่าความสวยงามทั้งหมดก็เริ่มถูกทำลายลง เมื่อเรื่องราวได้เฉลยในช่วงที่รามากันต์ล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม หลังจากพ่อของเขาเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต ลุงของเขาผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้เปิดเผยความจริงว่าจดหมายที่ถูกส่งมาตลอดสิบกว่าปี คือ จดหมายที่ลุงและพ่อของเขาทำขึ้นเพื่อให้แม่สบายใจ ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ความเป็นอยุ่สุขสบาย และเรื่องราวทั้งหมดถูกประกอบขึ้นจากข้อมูลในนิตยสารที่พ่อและลุงช่วยกันเขียนขึ้นมา ส่วนยูไดตัวจริงนั้นไม่มีใครรู้ว่าเป็นตายร้ายดีอยู่ที่ไหน รามากันต์ซึ่งรู้ดีว่าพี่ชายของเขาคือความภูมิใจและสิ่งชุบชูจิตใจของแม่ เขาตัดสินใจสานต่อการเขียนจดหมายลวงโลกนั้นต่อไปพร้อมกับการเดินทางเข้าเมืองใหญ่ตามเส้นทางของพี่ชายเพื่อหาเบาะแสการหายตัวไปของยูได ชีวิตในเมืองทำให้รามากันต์ต้องดิ้นรน โดยเฉพาะเป้าหมายคือการไปอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากต้องใช้เงินมหาศาล ยังต้องอาศัยอำนาจผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นซึ่งเป็นนายหน้าอพยพแรงงานผิดกฎหมาย รามากันต์จึงเข้าไปพัวพันกับการหาเงินแบบไม่สุจริต
ในท้ายที่สุดภาพยนตร์ก็ได้เฉลยปมที่ค้างคาของเรื่อง คือ การหายตัวไปของยูได แม้จะเป็นแรงผลักดันรุนแรงที่ทำให้รามากันต์ตัดสินใจเด็ดขาดว่าต้องไปอเมริกาให้ได้ แต่ก็ทำลายความเชื่อและความฝันทั้งหมดของรามากันต์ด้วย ที่นำไปสู่ตอนจบของเรื่องที่ผู้ชมจะได้เห็นวิธีการที่เขาสานฝันของหมู่บ้านด้วยวิธีการและสภาพที่อเนจอนาถด้อยค่าขนาดไหนภาพยนตร์เรื่อง Umrika ได้สะท้อนให้เห็นคุณค่าของอเมริกาแดนแห่งความหวังและเสรีภาพที่ถูกสร้างไว้ผ่านสายตาชาวบ้านในดินแดนห่างไกลความเจริญ ภาพของความเป็นอเมริกัน ความฝันของแรงงานอพยพจากทั่วโลก กลับเป็นเรื่องลวงหลอกลอยลม
ค่านิยมแบบอเมริกันและอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมและเป็นที่ใฝ่ฝันแพร่ขยายไปทั่วโลก ดึงดูดคนมีฝันจากทุกหนทุกแห่งเข้าสู่ประเทศที่ร่ำรวยและเปี่ยมด้วยโอกาสนี้ ทว่าสิ่งทั้งมวลกลับลวงหลอกอย่างเย็นยา ไม่เพียงแต่จดหมายของยูไดเท่านั้นที่เป็นเรื่องราวยกเมฆจับต้องไม่ได้ แต่ความสวยงามของประเทศที่เจริญหรูหราในสายตาพวกเขาก็ไม่ใช่สิ่งที่เอื้อมถึงได้จริง
แม้แต่เพียงแค่จะหาทางเหยียบย่างเข้าแผ่นดินแห่งความหวังนั้นก็แทบจะไร้หวังอยู่แต่ต้นแล้ว ไม่นับถึงความเป็นจริงของชีวิตแรงงานอพยพในอเมริกาที่ไม่ได้สดใสเต็มไปด้วยเรื่องราวสนุกสนานและความสะดวกสบายเหมือนดังที่พ่อและลุงของรามากันต์สร้างไว้ในจดหมาย การเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเศร้ามากมายเกินจะจินตนาการถึง
แม้ภาพยนตร์ไม่ได้กล่าวล่วงไปถึงสิ่งที่จะเกิดต่อไปกับรามากันต์ แต่ด้วยฉากท้ายของตัวละครตัวนี้กลับเปิดปล่อยให้สมองผู้ชมได้ทำงานและคิดถึงความเป็นไปได้เลวร้ายหลากหลายที่อาจจะเกิดขึ้น แม้สิ่งที่เห็นจะเป็นความหวัง เป็นผลจากความพยายามทุ่มเทและยินยอมพร้อมใจอย่างเต็มเปี่ยมของตัวละครก็ตาม
Umrika ภาพยนตร์ที่เริ่มด้วยความความอบอุ่นสนุกสนานก่อนจะปิดจบด้วยบทสรุปที่ปวดใจเขียนบทและกำกับโดยพราชานต์ แนร์ (Prashant Nair) นำแสดงโดย สุรัจ ชาร์มา (Suraj Sharma)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)