Once Again : เพียงครั้งหนึ่ง

โดย ธันย์ชนก รื่นถวิล

นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพูดภาพยนตร์รักโรแมนติก หรือภาพยนตร์แนว “Coming of Age” บอกเล่าเรื่องการเปลี่ยนผ่านของช่วงชีวิต ส่วนมากชวนให้นึกถึงหนังรักวัยรุ่น ความรักของคนวัยหนุ่มสาวก่อนเสมอ ภาพและอารมณ์ของเรื่องจึงมักเต็มไปด้วยความหวัง ความสดใส ตามประสาวัยรุ่น แต่กระนั้น ยังมีช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญไม่แพ้กันเลย คือ การเปลี่ยนผ่านในวัยกลางคน (Middle Adulthood) ช่วงเวลาที่ชีวิตควรจะ “ลงตัว” และมั่นคงที่สุด

สังเกตได้ว่าในวงการภาพยนตร์ก็เริ่มมีภาพยนตร์แนว mid-life romance เกิดขึ้นจำนวนหนึ่งแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง The Lunchbox หรือ Our Souls at Night จากฝีมือผู้กำกับ Ritesh Batra ซึ่งภาพและอารมณ์ของเรื่องแม้จะไม่ได้หม่นเศร้า เน้นบอกเล่าการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงโลกภายในของตัวละครมากกว่าการปะทะจัดการกับโลกภายนอกหรือสังคม เหตุความสับสน ความต้องการ ความว่างเปล่า เป้าหมาย และคุณค่าของชีวิตของชีวิตที่เปลี่ยนไป

เพราะเป็นผู้ใหญ่จึงเจ็บปวด

ภาพยนตร์เรื่อง Once Again ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘ธารา’ หญิงม่ายเจ้าของกิจการร้านอาหารยอดนิยม กับ ‘อัมมาร์’ นักแสดงชายแนวหน้าของวงการผู้อยู่ระหว่างการหย่าร้างกับภรรยา ภายใต้บรรยากาศความวุ่นวายของเมืองที่ไม่เคยหลับไหลอย่าง นครมุมไบ ทั้งคู่พยายามสร้างความสัมพันธ์และมิตรภาพของตนเองอีกครั้ง ท่ามกลางการจับตามองของครอบครัวและสังคมรอบข้าง
วัยกลางคน เป็นช่วงเวลาที่ถูกมองว่าชีวิตอยู่ในจุดที่เพียบพร้อมแล้วทุกอย่าง เป็นช่วงเวลาที่ทุกอย่างควรจะลงตัว ค้นพบความสงบในชีวิต พูดง่ายๆ คือ เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตหยุดนิ่ง ไม่ต้องดิ้นรนอะไรแล้ว แท้จริงแล้ววัยผู้ใหญ่ก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน ช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้ากับการพลัดพราก ยอมรับว่ามีบางคนหล่นหายไปจากชีวิต รวมทั้ง ความเปลี่ยนแปลงนานัปการที่ถาโถมเข้ามา ประกอบกับภาระและเงื่อนไขในชีวิตที่มีความยุ่งยากซับซ้อนให้คำนึงถึงมากกว่า
Coming of Age ในวัยกลางคนจึงไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

เพียงครั้งหนึ่ง

เช่นเดียวกับความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ธารา และ อัมมาร์ จุดเริ่มต้นจากการคุยการผ่านโทรศัพท์ บอกเล่าเรื่องราวในแต่ละวันที่แต่ละคนพบเจอมา โดยที่คนทั้งคู่ไม่เคยพบเจอกัน เป็นความเอื้ออาทรที่ทั้งสองมีต่อกัน เหมือนเพื่อนที่รับฟังเรื่องราวที่ไม่อาจบอกเล่าให้ใครฟังได้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองที่ถูกถ่ายทอดในเรื่องนี้เต็มไปด้วยความเรียบง่าย ต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลกันให้ผ่านวันที่สับสน เหงาซึม เพื่อค้นพบความหมายในชีวิตอีกครั้งไปด้วยกัน

จนถึงวันที่ทั้งสองตัดสินใจที่จะพบกัน
การพบกันได้นำมาซึ่งความยุ่งยากมากมาย ภาพของคนทั้งคู่ที่ถูกแอบถ่ายขึ้นหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งของนครมุมไบในเช้าวันถัดมา ผู้คนแห่แหนมาที่ร้านของธาราด้วยความอยากรู้อยากเห็น

ในขณะที่บทบาทในชีวิตของธาราด้านหนึ่งเธอเป็นแม่ของลูกสองคน ที่หัวหมุนกับการจัดงานแต่งงานที่กำลังมาถึงของลูกชาย เมื่อข่าวออกไปเช่นนั้น ในวันแต่งงานของลูกชาย เธอจึงโดนแม่ของฝ่ายเจ้าสาวกระทบกระเทียบเข้าให้ว่า “สงสัยว่าครอบครัวนี้จะมีงานแต่งงานสองงานเสียแล้วมั้ง” ในฐานะที่เธอเป็นแม่ เรื่องของลูกชายควรเป็นสิ่งที่เธอให้ความสนใจมากกว่าเรื่องของตัวเอง เพียงเท่านี้เราก็เห็นแล้วว่า ธาราเองก็เต็มไปด้วยภาระหน้าที่มากมาย เธอเป็นแม่ของลูกสองคน เป็นเจ้าของร้านอาหารที่ต้องคอยดูแลกิจการตัวคนเดียว ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็ลืมไปว่า เธอก็ยังเป็นผู้หญิงคนหนึ่งเหมือนกัน

ในฐานะที่เธอเป็นแม่ สังคมคาดหวังว่า ความรัก ความโรแมนติกทั้งหลายไม่ใช่สิ่งที่เธอควรให้ความสนใจอีกแล้ว แต่คำถามที่สำคัญ คือ แล้วในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งเล่า เธอทำอะไรเพื่อตัวเองได้บ้าง

คนเราจะเลิกตกหลุมรักเมื่อไรกัน?

ไม่มีใครอายุมากจนเกินกว่าจะตกหลุมรักและหัวใจสลายได้อีกครั้งหรอก จริงไหม?

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo credit :

– https://www.thequint.com/entertainment/hot-on-web/netflix-once-again-review#read-more

– https://www.nationalheraldindia.com/entertainment/dont-insult-this-delicately-drawn-gem-by-comparing-it-with-lunchbox

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *