โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชาวอินเดียคนหนึ่งเคยบอกผมว่า “เวลาเดินทางในอินเดีย ทุก ๆ 20 กิโลเมตร รสชาติซาโมซาจะเปลี่ยนไป” จะจริงหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่คำพูดนี้ก็พรรณนาความหลากหลายของอินเดียได้อย่างมีสีสันยิ่ง
แม้อินเดียจะมีความหลากหลายเป็นพิเศษ แต่หากรับรู้โดยปราศจากความเข้าใจลึกซึ้ง อาจทำให้หลายคนเหมารวมว่าอินเดียตอนเหนือเท่ากับอินเดียทั้งหมด นี่ย่อมทำให้ชาวอินเดียใต้รู้สึกไม่พอใจ สำหรับคนทางใต้ของอินเดีย นี่เรียกว่าวิกฤติทางอัตลักษณ์เลยก็ว่าได้
หนังสือเล่มนี้ชื่อ “Coromandel: A Personal History of South India” เขียนโดย ชาร์ลส์ อัลเลน (Charles Allen) ช่วยทำให้เราเข้าใจว่าอินเดียตอนใต้นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะ และแตกต่างจากอินเดียตอนเหนือมาก
หนังสือเล่มนี้เริ่มด้วยยุคสมัยชนเผ่าล่าสัตว์เก็บของป่า ตามด้วยกำเนิดของเกษตรกรรม ไปสู่การพรรณนาเรื่องภาษา อธิบายปฏิสัมพันธ์ของผู้คนต่อศาสนาต่าง ๆ รวมถึง เชน พุทธ และฮินดู ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ อินเดียใต้มีเทพเจ้า เช่น อคัสตยะ (Agastya) และ ติรุวัลลุวาร์ (Thiruvalluvar) ซึ่งชาวอินเดียทางเหนือจำนวนมากไม่รู้จักเลยโดยสิ้นเชิง
ต่อมาไม่ช้าหนังสือก็พาเรามาสู่ยุคสมัยเจ้าปกครอง และราชวงศ์ต่าง ๆ ตามด้วยอาณานิคมอังกฤษ การก่อเกิดสังคมต่าง ๆ และยังมีบทที่ว่าด้วยศาสนาอิสลามในทางใต้ของอินเดียด้วย
แม้จะกล่าวได้ว่า การเรียบเรียงเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ทว่าหนังสือเล่มนี้ก็มีคุณลักษณะโดดเด่นอยู่ 2 ข้อ ข้อหนึ่งคือ การพูดถึงชาวยุโรปที่ได้ทำการศึกษาเรื่องอินเดียใต้ในศตวรรษที่ 19 (โดยเฉพาะเรื่องการถอดรหัสจารึกอันเป็นบันทึกอายุ 2000 ปีว่าด้วยเรื่องการบูชายัญตามหลักพระเวท ที่ประกอบโดยเจ้าตระกูลศาตวาหนะ และการค้าของชาวโรมันที่ผ่านเส้นทางนี้และอาจจะสนับสนุนเงินทุนสร้างจารึกในถ้ำ รวมทั้งการอุปถัมถ์การฟื้นฟูพุทธศาสนาทางตอนใต้ของเจ้าศาตวาหนะด้วย) มาจวบจนถึงการค้นพบสถานที่ทางพุทธศาสนาในอานธระ (Andhra) เช่นกณคนหัลลิ (Kanaganahalli) ซึ่งผู้เขียนมองว่าอีกไม่นานนักจะกลายเป็นสถานที่สำคัญเช่นเดียวกับอชันตา (Ajanta) หรือสาญจี (Sanchi)
อีกข้อที่โดดเด่นคือ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่รวมเป็นความรู้แฝงอยู่ตามบทต่าง ๆ ทั้งเล่ม ไม่ทราบว่าผู้เขียนเจตนาหรือไม่ แต่เมื่ออ่านไปก็อดขบคิดไม่ได้ว่า หากมีฐานทางอารยธรรมมายาวนานเช่นนี้ ชาตินิยมฮินดู (Hindu Nationalism) หรือชาตินิยมภาษาฮินดี (Hindi Nationalism) จะหยั่งอิทธิพลได้มากเพียงใด จะใช้พระรามอย่างเดียวคงไม่ใช่เรื่องง่าย
ประวัติของผู้เขียนก็น่าสนใจไม่น้อย ชื่อเต็มของเขาคือ ชาร์ลส์ โรบิน อัลเลน (Charles Robin Allen) เกิดในเมืองกานปูร์ (Kanpur) สาเหตุที่เกิดในอินเดียเพราะครอบครัวของเขาทำงานในอินเดีย รับราชการภายใต้รัฐบาลอังกฤษมา 6 รุ่น งานเขียนของเขามีมากมาย มีงานเชิงประวัติศาสตร์อินเดียรวมอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2017 สามปีก่อนอัลเลนจะถึงแก่กรรมในวัย 80 ปี
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
Photo credit :
– https://scroll.in/article/876362/can-the-history-of-south-india-be-told-in-a-single-book-no-but-this-one-tells-stories-that-matter