อหลยา : นางบาป

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คณะนิเทศศาสตร์ และ สถาบันเอเชียศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“อหลยา” เป็นชื่อของตัวละครตัวหนึ่งในเกร็ดเรื่องของรามยณะ ในรามเกียรติ์ฉบับของไทยนั้นรู้จักกันในชื่อ “นางกาลอัจนา” ตามตำนานเล่าว่า นางถือกำเนิดจากขี้เถ้าไฟบูชายัญของสัปตฤาษีทั้ง 7 โดยพระพรหมสร้างนางขึ้นมาเพื่อให้คอยปรนนิบัติรับใช้ เคาตมะมหาฤาษี ผู้ที่ได้การยกย่องว่าเป็นผู้ที่รู้กาลเวลาทั้งสาม อันได้แก่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต นางอหลยาในตำนานนั้นเป็นภาพตัวแทนของนางบาป สตรีผู้ประพฤติผิดในกามและอุดมคติของความเป็นสตรี แต่ในภาพยนตร์สั้นภาษาบังกลาเรื่อง Ahalya ที่ออกเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2015 สุชัย โฆษ (সুজয় ঘোষ) ผู้กำกับภาพยนตร์หนุ่มจากโกลกาตา ได้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อมุมมองที่สังคมอินเดียมีต่อนางอหลยาและผู้หญิงอินเดีย

มหากาพย์รามายณะได้บรรยายถึงนางอหลยาว่างามกว่าสตรีคนใดในหล้า เป็นที่หมายปองของบรรดามนุษย์และเทวดาทั้งหลาย แต่พระพรหมก็เลือกที่จะมอบนางให้กับเคาตมะมหาฤาษี นางอหลยาดูและปรนบัติเคาตมะมหาฤาษีอย่างสัตย์เรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อพระอินทร์ได้เดินทางผ่านมายังเหนือท้องฟ้าตรงที่เป็นที่ตั้งอาศรมของมหาฤาษีเคาตมะและนางอหลยา มีอะไรสักอย่างที่ดลใจพระอินทร์เหลือบมองมายังเบื้องล่างและได้เห็นนางอหลยาอาบน้ำอยู่ที่ลำธารใกล้อาศรม แม้พระอินทร์จะรู้ว่านางเป็นภรรยาของโคตมะนุนี แต่ด้วยจิตเสน่หาในตัวนาง พระอินทร์จึงเฝ้ารอวันที่มหาฤาษีเคาตมะเดินทางออกจากอาศรม แปลงองค์เป็นมหาฤาษีโคตมะเข้าไปเกี้ยวนางอหลยาและลักลอบสมสู่กับนาง
บางตำนานเล่าว่านางอหลยาเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์ต่อสามี โดยหารู้ไม่ว่าตนเองกำลังประกอบกิจสังวาสกับพระอินทร์ที่แปลงตัวมา แต่บางตำนานก็เล่าว่า นางอหลยานั้นมองเห็นร่างจริงของพระอินทร์ได้ในทันทีที่พบ แต่ด้วยคำหวานของพระอินทร์นางจึงเกิดเผลอใจยินยอมพลีกายร่วมเสพสังวาสด้วย ในตอนที่พระอินทร์กำลังจะกลับออกไปก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่เคาตมะมหาฤๅษีกลับมาถึงอาศรม ด้วยความโกรธมหาฤาษีจึงสาปนางอหลยาให้กลายก้อนหินและต้องบำเพ็ญตบะในสภาพนั้นภายในอาศรมนานนับพันปี จะพ้นคำสาปได้ต่อเมื่อพระวิษณุอวตารลงลงมาเป็นพระรามเสด็จมายังอาศรมและนางได้ถวายการต้อนรับตามธรรมเนียมก็จะพ้นคำสาป
จำเนียรกาลผ่านไปนานนับพันปี ฤาษีวิศวามิตรจึงพาพระรามและพระลักษมณ์ เสด็จมาเยือนอาศรมที่มาฤาษีเคาตมะและนางอหลยาเคยใช้ชีวิตร่วมกัน ครั้นพระบาทของพระรามและพระลักษมณ์สัมผัสก้อนหินที่อยู่ข้างในอาศรม หินก้อนนั้นก็กลับคืนร่างเป็นนางอหลยา นางอหลยาจึงนำน้ำมาสรงพระบาททั้งสององค์ ถวายการรับใช้ตามธรรมเนียมเป็นอย่างดีตาม จนท้ายที่สุดก็พ้นจากคำสาปกลับคืนเป็นภรรยาของมหาฤาษีเคาตมะตามเดิม
ภาพยนตร์ของสุชัย โฆษนำโครงเรื่องตำนานนางอหลยามาเล่าใหม่ผ่านมุมมองแบบสตรีนิยม อหลยาในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เป็นภรรยาที่เหนียมอายตามอุดมคติของผู้หญิงอินเดีย แต่เป็นผู้หญิงที่รู้ตัวและภาคภูมิใจในแรงดึงดูดทางเพศของเธอ ในตำนานของอินเดียทุกตำนาน ผู้หญิงอย่างเธอมักจะเป็นผู้ที่ถูกลงโทษ ในภาพยนตร์เรื่องนี้สุชัย โฆษพยายามที่จะเชิญชวนให้ผู้ชมมองเธอและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอในมุมใหม่
ภาพยนตร์ที่มีความยาวเพียงสิบสี่นาทีเรื่องนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และตัวละครสำคัญๆ จากภารตะนิยายที่ถูกนำมาเสนอในมิติของความเข้าใจใหม่ นอกเหนือจากการเล่าเรื่องที่มีลูกล่อลูกชน และเต็มไปด้วยความลึกลับแล้ว ความสนุกของการชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกประการหนึ่งก็คือการค้นหาสัญลักษณ์และตัวละครจากภารตะนิยายที่ซุกซ่อนอยู่

ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีของการทำงานด้วยมันสมองและความปรานีตของศิลปินชาวอินเดีย ทั้งบทภาพยนตร์ ภาพ เสียง รวมถึงการออกแบบได้ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างเข้มข้นจนทุกวินาทีในภาพยนตร์นั้นคือความสุขของผู้ชม ในด้านการแสดงนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังอัดแน่นไปด้วยนักแสดงฝีมือดีอย่าง สุมิตร ฉัตเตอร์จี นักแสดงคู่บุญของ สัตยชิต ราย ที่มารับบทเป็นเคาตมะ, ราธิกา อาปเฏ ที่มารับบทเป็นอหลยา และ โตตา ราย โชธุรี ที่มารับบทเป็นอินทรา

นอกเหนือจากที่จะได้เห็นมุมมองและการต่อสู้ของคนอินเดียรุ่นใหม่ต่อความคิดที่ฝังลึกมานานในสังคมอินเดีย แค่ดูการประชันฝีมือการแสดงของนักแสดงทั้งสามคนนี้ก็คุ้มแล้ว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

References

[1] Rout, N. (2016). Role of Women in Ancient India. Odisha Review, 43-48.

Photo credit :

– https://www.vulture.com/article/the-white-tiger-aravind-adiga-ramin-bahrani-interview.html

– https://www.vanityfair.com/hollywood/2021/01/the-white-tiger-brings-a-celebrated-novel-to-vivid-life

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *