โดย ดลลดา ชื่นจันทร์
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อพูดถึง ‘ความเป็นแม่’ คำนี้มีเฉดเหลื่อมกันอยู่ระหว่างภาระหน้าที่ที่ถูกคาดหวัง และการกระทำตามสัญชาตญาณ ไม่อาจนิยามได้อย่างเจาะจงว่าเป็นคำที่ติดตัวผู้หญิงทุกคนที่ให้กำเนิดบุตร หรือต้องผ่านเกณฑ์วัดอะไรถึงจะได้ชื่อว่า เป็นแม่คน
ภาพยนตร์เรื่อง ตรีภังค์ (Tribhanga) บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิง 3 คน 3 วัย ที่มีทางเลือกชีวิตต่างกัน และล้วนไม่สมบูรณ์พร้อมได้ทุกด้าน เกิดเป็นความแหว่งวิ่นที่ทำให้ตัวละครบางตัวในเรื่องเรียกได้ว่า เป็นแม่ที่ไม่สมบูรณ์แบบ
ภาพยนตร์ได้พยายามนำเสนอแง่มุมความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่าง ผิดพลาด และท้ายที่สุดก็ต้องเรียนรู้ เข้าใจกันและกันจนเกิดเป็นความงามของความเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ แม้ตัวตนของตัวละครที่ถูกขับเน้นอย่างตั้งใจเพื่อสื่อสารแก่นเรื่อง แต่ภาพยนตร์กลับสร้างคำถามขึ้นในใจผู้เขียนว่า ตัวละครที่ถูกแปะป้ายว่า “ไม่สมบูรณ์แบบ” นั้นเกิดขึ้นจากตัวตนของพวกเธอเอง หรือเกิดจากกรอบของสังคมที่บิดเบี้ยวกันแน่
มาตรฐานความเป็นแม่
เช่นนี้แล้ว สิ่งใดคือความปกติ คุณสมบัติอะไรถึงจะเรียกได้ว่า เป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ
แต่เดิมแล้วความเป็นแม่ถือเป็นอัตลักษณ์และคุณค่าสูงสุดของผู้หญิงอินเดีย จนทำให้อัตลักษณ์ความเป็นแม่นั้นบดบังอัตลักษณ์อื่นๆ ของผู้หญิงไปจนหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงอินเดียจึงได้รับการเลี้ยงดูและฝึกฝนให้เธอเป็นแม่ในอุดมคติตั้งแต่เด็ก [1] สิ่งนี้เป็นขนบเดิมในวัฒนธรรมอินเดีย แม้ว่าในยุคสมัยปัจจุบัน ผู้หญิงอินเดียสามารถทำงานนอกบ้านได้มากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจที่การหาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียวของผู้ชายไม่เพียงพอต่อปากท้อง [2] หรือเพราะการพัฒนาของแนวคิดสิทธิสตรีที่พยายามเพิ่มพื้นที่ และที่ทางของผู้หญิงในสังคมสมัยใหม่ให้มีมากขึ้น ทำให้ในอินเดียเกิดคุณแม่ที่เป็นเวิร์กกิ้ง วูแมน (Working Woman) อยู่ไม่น้อย แต่ความเป็นแม่ในสังคมที่ทันสมัยของอินเดียนี้ กลับมีมาตรฐานของความสมบูรณ์แบบที่ไม่แตกต่างจากเดิม ซ้ำยังเพิ่มเติมไปจากขนบเดิม
กล่าวคือ การเป็นแม่สมัยใหม่ของผู้หญิงอินดียนั้นต้องมีความสามารถในการจัดการที่หลากหลาย ทั้งความรับผิดชอบภายในครัวเรือนยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ดูแลบ้าน ผู้สูงอายุและเด็ก โดยเฉพาะความรับผิดชอบที่มีต่อลูกเป็นความสำคัญร้อยละร้อยที่เธอต้องทุ่มเท เพราะบุคลิกภาพและพัฒนาการของเด็กขึ้นอยู่กับการดูแลของผู้เป็นแม่ พร้อมกันนั้นพวกเธอยังต้องทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงหลายคนมีอาชีพที่มั่นคงและหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า ทำให้พวกเธอต้องสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและหน้าที่ความเป็นแม่ และเมีย ที่บ้าน ในทางกลับกันขณะที่ผู้ชายอินเดียบางส่วน แม้จะได้รับการช่วยเหลือทางด้านรายได้จากภรรยาก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะหันกลับมาช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการงานบ้าน [3] แต่อย่างใด
ดังนั้น การเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบของชาวอินเดียที่ จึงหมายถึงความสามารถในจัดการและสร้างความสมดุลกับทุกๆ ด้านในชีวิตจึงถูกยกยออย่างเลิศเลอว่าเป็นสุดยอดคุณแม่ [4] ทั้งนี้ ความเป็นสุดยอดคุณแม่กลับไม่ใช่ทางเลือก แต่กลายเป็นเกณฑ์บังคับที่ทำให้ผู้หญิง หรือแม่ที่ดีต้องเดินไปในทางเดียวกัน สังคมจึงไม่ได้กำลังสร้างหญิงทันสมัยที่มีทางเลือกชีวิตมากมาย แต่กำลังบีบให้ทุกคนเป็นองค์พระแม่ที่มีหลายกรผู้สามารถกำกอบภาระหน้าที่มากมายไว้ในคนๆ เดียว
การ “มีเวลาให้ตัวเอง” แทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ [5] มองในแง่หนึ่งความเป็นแม่แบบสมัยใหม่ของอินเดีย อาจไม่ใช่การเปิดกว้างหรือพัฒนาการของสิทธิสตรี แต่มันอาจเป็นเพียงการปล่อยให้ผู้หญิงยังคงแบกแอกของค่านิยมเก่าควบคู่ไปกับการหารายได้เข้าบ้าน และไม่มีพื้นที่หรือการปลอบประโลมใดให้กับผู้หญิงที่ตกขบวน
นายาน คือผู้หญิงคนนั้น เธอคือผู้ที่ทุ่มเทชีวิตให้กับ “ความฝัน” ของตัวเองโดยการเป็นนักเขียนและตกขบวนความเป็นแม่ เมื่อเธอไม่มีพลังมากพอที่จะเหลียวหันมาดูแลลูกน้อยของเธอ อานู ผู้เป็นทั้งแม่ที่ทุ่มเทและเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จ แต่เธอก็ไม่อาจอยู่ในกรอบขนมเดิม และมีครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมให้แก่ มาช่า ได้ แม้แต่ มาช่าซึ่งเลือกเข้าหาชีวิตปกติในครอบครัวปกติ เธอคือคนที่เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบตามขนบเดิมมากที่สุด แต่ตัวเธอเองก็กลับไม่สามารถตอบตัวเองได้เหมือนกันว่า หากลูกคนแรกที่เธอกำลังจะคลอดออกมาไม่ใช่ผู้ชายแล้วเธอจะทำอย่างไรต่อไป ในเมื่อหลักประกันของการเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบและการมีชีวิตที่ปกติของเธอ คือ เธอต้องมีหลานชายคนแรกให้แก่ครอบครัวสามี
ความสับสนที่ซ้อนทับกันระหว่างความหมายของชีวิต “ปกติ” กับชีวิตภายใต้ฐานคิดแบบ “ปิตาธิปไตย” ที่เหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่เดียวกันสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ มันจึงไม่แปลกเลยที่แม่ที่สมบูรณ์แบบ หรือแม่ที่ปกติ ไม่ว่าจะใต้แนวคิดแบบเก่าหรือแบบสมัยใหม่นั้นก็ยังอยู่ใต้มาตรฐานตามแนวคิดเดิม ตัวละครหรือผู้หญิงคนไหนที่ไม่สามารถทาบทับสนิทรอยได้กับค่านิยมแบบปิตาธิปไตยที่ครอบอยู่ก็จะกลายเป็นคน “ไม่ปกติ” ไปเสียแบบนั้น
อำนาจและทางเลือก
หากภาพยนตร์พยายามจะสื่อสารว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้พวกเธอเหล่านี้จะมีความบกพร่องแต่ทุกอย่างก็เป็นเจตจำนงเสรีที่พวกเธอเลือกเอง ไม่ว่าจะการเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ การเป็นนักเต้นโอเดสซี และการเป็นแม่บ้านธรรมดา ทางเลือกเหล่านี้เป็นสิทธิและเป็นอำนาจในชีวิตของพวกเธอที่จะเลือกดำเนินไปในทิศทางนั้น
แต่ทางเลือกที่ต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางความสัมพันธ์และบาดแผลทางจิตใจ เราสามารถเรียกมันว่าเป็นทางเลือกเสรีของพวกเธอได้จริงหรือ ในเมื่อตำแหน่งแห่งหนที่ให้พวกเธอไปไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ล้วนก็ต้องเจ็บปวดด้วยขนบสังคมที่ดักทางตีหัวหญิงผู้ตกขบวนเหล่านี้อยู่ในทุกทิศทาง
คำถามเหล่านี้กลับไม่พบว่าจำเป็นต้องไถ่ถามในตัวละครชาย ในแง่ของการเล่าเรื่องมันอาจเป็นความจำเป็นประการหนึ่งที่จำต้องให้ตัวละครแวดล้อมผู้มีหน้าที่หลากหลายเป็นตัวละครชาย เพราะจะช่วยขับเน้นตัวตนของตัวละครหญิง 3 รุ่นในเรื่องให้เด่นชัดมากขึ้น แต่ผลพวงอีกประการที่ตามมา คือ การที่ผู้ชมได้พบว่าตัวละครชายในเรื่องไม่ต้องแบกรับปัญหา ผู้ชายสามารถมีทางเลือกชีวิตได้หลากหลาย หรือเป็นผู้กอบกู้สติและความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงในเรื่องได้อย่างสบายๆ
วินายัก พ่อของอานูและโรบินโดร ผู้ซึ่งไม่เคยถูกกล่าวโทษในฐานเป็นพ่อที่บกพร่อง เพราะความรับผิดชอบในการดูแลลูก เป็นของนายานแต่เพียงผู้เดียว
มิลัน นักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังเขียนอัตชีวิประวัติของนายานผ่านการสัมภาษณ์ ทำให้เขาต้องเข้าหาทั้งอานูและมาช่าเพื่อฟังแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตนายาน และเขานั่นเองที่เป็นผู้ส่งสารความในใจของนายานที่มีต่อลูกสาว จนทำให้ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมานับสิบปีค่อยๆ คลี่คลายลงในช่วงท้ายของชีวิตนายาน
ไรน่า คนรักคนสุดท้ายของนายาน ศิลปินใจเย็นผู้นำพาให้อานูกลับมายอมคุยกับนายานอีกครั้ง เขาช่วยกอบกู้ความสัมพันธ์และจิตใจของ 3 แม่ลูกและหลาน รวมทั้ง ทำให้อานูรู้จักกับการเต้นโอเดสซี นำไปสู่การเริ่มมีเส้นทางความฝันเป็นของตนเอง
โรบินโดร ลูกชายอีกคนของนายานที่ต้องตกระกำลำบากแบบเดียวกับพี่สาว แต่เขาก็เติบโตมาได้ด้วยการเข้าหาธรรมะ และกลายเป็นคนที่แนะแนวทางจิตวิญญาณให้อานูผู้โกรธเกรี้ยว ให้รู้จักข่มสติอารมณ์ และเรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้เป็นแม่
ภาพยนต์ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวละครหญิงในเรื่องแหว่งวิ่นทั้งจิตใจและคุณสมบัติเท่านั้น แต่ยังสร้างให้ตัวละครชายในเรื่องเป็น ผู้ให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเรื่องทิศทางของตนเองไปพร้อมกับการเรียนรู้ การให้อภัยตนเองและให้อภัยผู้อื่น
เช่นนี้แล้วยิ่งสร้างคำถามที่ต้องย้ำถามลงไปอีกว่า แล้วตัวละครหญิงทั้ง 3 ของเรามีอำนาจอะไรในชีวิตตนเองอยู่บ้าง ในเมื่อท้ายที่สุดแล้วทั้งสิทธิเหนือชะตากรรมของตนเอง ทางเลือกของชีวิต และการเรียนรู้ความผิดพลาดของตัวละครยังต้องถูกตีกรอบ และจำต้องพึ่งพิงอิงแอบอยู่กับสิ่งอื่นที่พ้นเหนือออกไปจากพลังในกำมือของพวกเธอ
ผู้หญิงทั้ง 3 คนนี้กำลังโอบอุ้มและยอมรับความงามของชีวิตในแง่มุมแบบไหนอยู่กันแน่ และเป็นการให้อภัยกันและกันเกิดขึ้นจากมุมใด หากแท้จริงแล้วสิ่งทั้งปวงล้วนอยู่เหนือการควบคุมของพวกเธอ
ตรีภังค์
ท่า Tribhanga หรือ ตรีภังค์ เป็นท่าโพสในการเต้นโอเดสซี ถือว่าเป็นการจัดท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ และค่อนไปทางแปลก รวมทั้ง ยังเป็นท่าทางที่ถูกใช้ในงานศิลปะอินเดียอย่างแพร่หลายมานับพันปี ไม่ว่าจะเป็นงานจิตกรรม ปูนปั้น หรือ ประติมากรรม โดยมีลักษณะจัดวางที่เอียงจากส่วนเท้าถึงสะโพก เอียงจากสะโพกถึงไหล่ และเอียงจากส่วนไหล่ถึงศีรษะ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้วยเหตุนี้ในบริบทของภาพยนตร์ ตริภังค์จึงถูกนำมาให้ความหมายแก่ตัวตนของผู้หญิงทั้ง 3 คนผู้ซึ่งไม่สมบูรณ์พร้อม บิดเบี้ยว แปลก แต่ยังคงสวยงามและมีชีวิตชีวา[6]
แต่หากสิ่งทั้งมวลเป็นดังที่ได้กล่าวมา เราสามารถเรียกมันว่าเป็นข้อตำหนิและความไม่สมบูรณ์พร้อมซึ่งเกิดจากตัวพวกเธอได้จริงหรือ โลกจะปลอบประโลมพวกเธอด้วยการกล่าวว่า พวกเธอยังคงสวยงามแม้จะมีตำหนิและผุพังเช่นนั้นหรือ แง่มุมที่ว่าพวกเธอนั้นเป็นดั่งสิ่งมีชีวิตที่ “บกพร่อง” นั้นเป็นคำกล่าวอ้างที่มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด
หากอยากจะให้เยินยอหรือโอบกอดพวกเธอไว้ด้วยคำว่า “งดงาม” สำหรับตัวผู้เขียนเองก็คงจะมีแต่ “ความเป็นคน” เท่านั้นที่เป็นความสวยงามของพวกเธอที่อยากจะเอ่ยถึงขึ้นมา
ความงามของพวกเธอนั้นก่อเกิดขึ้นมาจากความเป็นธรรมดา ความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์หลากหลาย เพราะด้วยเหตุอะไรเราถึงจะเรียกความเป็นปุถุชนสามัญของพวกเธอว่าเป็นตำหนิได้ ในเมื่อความไม่ปกติถูกวัดค่าขึ้นมาจากมาตรฐานของสังคม มันจึงไม่มีความบิดเบี้ยวใดเลยที่เกิดจากตัวละครทั้ง 3 คน คงจะมีแต่เพียงสังคมเท่านั้นที่บิดเบี้ยวและนิยามพวกเธอไปแบบนั้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
[1] Sinha, C. (2007). Images of motherhood: The hindu code bill discourse. Economic and Political Weekly, 49-57.
[2] Aiswarya Ramasundaram.(2011, August).The working mother a winner all the way. thehindu.com ค้นจากhttps://www.thehindu.com/opinion/open-page/the-working-mother-a-winner-all-the-way/article2354405.ece
[3] Sucharita Maji.(2017, October). Motherhood and the work life balance. feminisminindia.com ค้นจาก https://feminisminindia.com/2017/10/17/motherhood-work-life/
[4] Kalpana Sharma.(2016,June).Why Indian working mothers make the best professionals. THE TIMES OF INDIA. ค้นจาก https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/relationships/parenting/why-indian-working-mothers-make-the-best-professionals/articleshow/52758033.cms
[5] Anshika Kumar.The Problems Working Mothers Face in Society. indianyouth.net ค้นจาก http://www.indianyouth.net/problems-working-mothers-face-society/
[6] IANS.(2021, January). We need to live on our own terms: Kajol.freepressjournal.in ค้นจาก https://www.freepressjournal.in/entertainment/bollywood/we-need-to-live-on-our-own-terms-kajol