Casa Fernando Pessoa: แล้วเปอซัวของคุณเป็นอย่างไร

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต

ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และ

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สารภาพเลยว่า เราไม่รู้จักเปอซัวมาก่อนเลย ไม่เคยผ่านตาหนังสือของเขา แต่เดินในลิสบอน 2 วันแรก เห็นร้านค้าที่ขายของที่ระลึกทุกร้านต้องมีหนังสือของคุณคนนี้วางขายอยู่ หลากหลายปกด้วย ก็แอบสนใจอยู่นิด ๆ และมาเจอว่าบ้านของเขากลายเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว เลยปักหมุดไว้ว่าต้องไปให้ได้ พอเช็คเว็บไซต์เจอข้อมูลว่าจะมีนำชมบรรยายเป็นภาษาอังกฤษแค่วันที่ 3 กรกฎาคมวันเดียวเท่านั้นในเดือนนี้ เราเลยรีบเคลียร์คิว เพื่อไปที่ Casa Fernando Pessoa
ด้านหน้าของ Casa Fernando Passoa
อาคารบ้าน Fernando Pessoa อยู่ชานเมืองลิสบอนแต่เดินทางสะดวกด้วยรถเมล์และรถราง ปัจจุบันนี้เป็นอาคาร 5 ชั้น รวมชั้นใต้ติน ชั้นล่างเป็นจุดต้อนรับ ขายบัตรและร้านหนังสือ/ขายของที่ระลึก เมื่อเราซื้อบัตรแล้วเราจะต้องขึ้นไปเริ่มต้นเส้นทางเดินชมที่ชั้น 3 และมาจบที่ชั้น 1 ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ที่คุณ เฟอร์นาโด เปอซัว อาศัยเป็นบ้านหลังสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิต ราคาค่าเข้าชมคือ 5 ยูโร แต่ถ้าเป็นรอบที่มีไกด์นำชมแบบเรา ก็จะเป็น 6 ยูโร (แต่บอกเลยว่าคุ้มค่ามาก ๆ) นิทรรศการใช้พื้นที่จัดแสดง 3 ชั้นของอาคาร แบ่งเป็น 3 บท (Chapter) เหมือนการเขียนหนังสือ เราไปรู้จักคุณเปอซัวกันทีละบทเลยค่ะ
บทที่ 1 – เข้าใจที่มาตัวละครสมมติ (Os heterônimos) จากประสบการณ์วัยเยาว์
เริ่มต้นบทแรกของนิทรรศการด้วยประวัติชีวิตช่วงแรกของเปอซัว ที่เขาสูญเสียพ่อและพี่ชายจากโรคภัย และเขาไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากแม่เกี่ยวกับเรื่องความตาย ทำให้เขาเริ่มสร้างเพื่อนในจินตนาการ ให้พ่อและพี่อยู่ในจินตนาการเขียนจดหมายถึงเขา (ซึ่งเขาเขียนถึงตัวเองนั่นแหล่ะ) ต่อมาเขาย้ายไปอยู่แอฟริกาใต้กับแม่ ที่แต่งงานใหม่ ในช่วงนั้น (อายุ 8-17 ปี) ทำให้เขาเห็นได้ว่า ภาษาอังกฤษคือภาษาที่สำคัญที่จะทำให้เขาโด่งดัง เรื่องราวเหล่านี้ปูทางให้เห็นถึงเหตุที่เขาเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ และการสร้างตัวตนสมมติในงานเขียนที่เขาเรียกว่า heteronyms (heterônimos ไม่ใช่นามปากกา) คือตัวละครในจินตนาการของผู้เขียนที่จะทำให้ผู้เขียนสามารถเขียนได้หลากหลายสไตล์ ตัวละครนี้เสมือนมีตัวตนจริง ๆ สิ่งที่จัดแสดงก็จะเป็นสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาในวัยเยาว์ จัดอยู่ในตู้พร้อมคำอธิบาย และมีคำอธิบายด้วยอักษรเบลล์อีกด้วย
กลางโถงของชั้น 3 นี้มีภาพวาดของเปอซัวที่วาดโดย Almada (Jose de Almada Negreiros) เพื่อนของเปอซัวที่วาดรูปประกอบให้กับนิตยสาร Orpheu ซึ่งเป็นนิตยสารที่เปอซัวและเพื่อน ๆ ที่เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ร่วมกันทำขึ้นในปี 1950 เพราะช่วงเวลานั้น โปรตุเกสไม่ค่อยเปิดรับศิลปินหรือนักเขียนรุ่นใหม่ ๆ พวกเขาจึงต้องหาช่องทางนำเสนอผลงานกันเอง คุณไกด์นำชมเล่าว่า นิตยสารถูกวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบหนักมาก จนคนทั่วไปสงสัยว่านิตยสารมันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ ก็เลยซื้อนิตยสารมาอ่าน ทำให้นิตยสารขายดีขึ้นมา…ภาพที่อยู่ในโถงกลางนี้จึงเป็นภาพของเปอซัวกับนิตยสาร Orpheu ฉบับที่ 2 ที่ขายดีขึ้นมา… จุดนี้มีการจัดทำภาพนูนให้กับผู้พิการทางสายตาได้สัมผัส เพื่อให้เข้าใจถึงภาพที่จัดแสดงอีกด้วย
ห้องกระจกปิดท้ายบทที่ 1 ด้วยคำถาม “Quantos sou? – How many am I?”
รู้จักตัวละครสมมติ (Os heterônimos) ของเปอซัว
ถัดจากภาพวาดในชั้นที่ 3 ก็เป็นส่วนที่จัดแสดงให้เห็นถึงประวัติของตัวละครในจินตนาการทั้ง 4 คน คือ Alberto Caeiro, Álvaro de Campos, Ricardo Reis และ Bernardo Soares โดย 3 คนแรกนั้น เปอซัวได้สร้างตัวละครไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา บุคลิก ราศีที่เกิด มีประวัติเป็นของตัวเอง รวมไปถึงมีดวงเกิดตามหลักโหราศาสตร์ (เปอซัวสนใจเรื่องโหราศาสตร์มาก ไกด์นำชมเล่าว่า ถ้าเขาได้รับเชิญหรือชวนให้ออกไปไหนหรือเจอใคร แล้วเขาไม่อยากไป เขาก็จะเอาเรื่องดวงมาอ้าง ว่าวันนี้เราสองคนไม่เหมาะจะพบกัน…) และตัวละครทั้ง 3 คนนี้เกิดห่างกัน 9 เดือน!!! เพราะเขามองว่าทั้ง 3 คนนี้ มีแม่คนเดียวกัน ไกด์ที่นำชมอธิบายเพิ่มเติม ถึงการตีความตัวละคร 3 คนนี้ว่า อาจจะหมายถึงพี่น้องของเขาที่ตายไป 3 คน ที่ผ่านมาคนทั่วไปไม่รู้เลยว่านักเขียน 3 คนนี้ เป็นผลงานของเปอซัว เพราะบางทีนักเขียน 3 คนนี้ก็วิพากษ์วิจารณ์งานของกันและกัน
หนึ่งในตัวอย่างการสร้างตัวละครสมมติ ชื่อ Álvaro de Campos ของเปอซัว
หนึ่งในตัวอย่างการสร้างตัวละครสมมติ ชื่อ Álvaro de Campos ของเปอซัว
ส่วน Bernardo Soares เป็นตัวละครที่เขาสร้างขึ้น เพราะเขาจะรวมงานเขียนที่เป็นเหมือนบันทึกรายวัน (แต่เขาไม่ได้ลงวันที่ใด ๆ ไว้ ดังนั้นการจัดเรียงก็อาจจะสลับไปมา) งานเขียนแบบนี้ เขามองว่าตัวละครทั้ง 3 คนนั้นไม่น่าจะใช่ผู้เขียนที่เหมาะสม เขาเลยสร้าง Bernardo Soares ขึ้นมา โดยมีความเป็น Semi-Pessoa เป็นตัวละครที่ซับซ้อนสุดแต่ก็สะท้อนเปอซัวมากที่สุด ชื่อของทั้ง 2 คนนี้ ก็ใกล้เคียงกันและมีจำนวนตัวอักษรเท่ากันพอดี และหนังสือเล่มนั้น ก็คือ The Book of Disquiet (หนึ่งในหนังสือเล่มดังของเขา)
เรื่องตัวละครในจินตนาการนี้ ไกด์นำชมเสริมว่ายังไม่แน่ชัดว่าเป็นการจินตนาการของเปอซัว หรือเป็นการยืมชื่อ/ประวัติของคนใกล้ตัวมาใช้ เพราะมีบางชื่อที่ก็มีตัวตนจริง ๆ … จุดนี้มีการจัดเตรียมที่นั่งพร้อมกับหูฟังเพื่อฟังคำอธิบายเกี่ยวกับตัวละครในจินตนาการของเปอซัวแทนการอ่านอีกด้วย …เรื่องความมีหลายตัวตนของเปอซัว ก็นำไปสู่ห้องกระจก พร้อมกับคำถามว่า “How many am I?” เป็นกิมมิค (Gimmick) ของการจัดแสดงให้ผู้ชมได้มองเห็นภาพสะท้อนของตัวเองที่ไม่มีที่สิ้นสุด
บทที่ 2 – ความรักของเปอซัวกับหนังสือใน Biblioteca Particular (Private Library)
เมื่อเราเดินลงมาที่ชั้น 2 ก็จะพบกับการจัดแสดงในบทที่ว่าด้วยห้องสมุดส่วนตัว คุณเปอซัวสะสมหนังสือไว้ถึง 1,300 เล่ม เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าจะเขียนหนังสือได้ดี จะต้องอ่านให้มากเสียก่อน และเขาก็อ่านหนังสือทุกศาสตร์ เวลาอ่านก็มักจะเขียนบันทึกหรือบางทีก็เขียนงานที่แต่งขึ้นในหนังสือเล่มนั้นเลย ดังนั้นหนังสือในห้องสมุดนี้ ก็จะเป็นเสมือนบันทึกส่วนตัวของเปอซัวด้วย ตอนนี้ทางหน่วยงานที่ดูแลบ้านหลังนี้ ได้สแกนหนังสือทุกเล่มให้เป็นดิจิทัลและเผยแพร่บนเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สนใจสามารถดาว์นโหลดมาอ่านกันได้
ตัวอย่างหนังสือที่เปอซัวเขียนบันทึกจากการอ่าน
เรื่องความชอบและการให้ความสำคัญกับหนังสือนี้ สะท้อนชัดถึงการใช้เงินของเขา เกร็ดที่เกี่ยวกับหนังสือมีเพิ่มเติมจากไกด์ที่นำชมว่า เปอซัวสามารถเขียนหนังสือได้มากมาย เพราะแม่ของเขาสนับสนุนโดยส่งเงินเดือนมาให้ใช้ เขาจะทำงานก็ต่อเมื่อเขาอยากได้หนังสือหรือเสื้อผ้า หรือบางทีเอาเงินที่แม่ให้มาไปซื้อหนังสือและเสื้อผ้า (เป็นคนชอบแต่งตัวดี ๆ) จนทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ถูกไล่ออกจากบ้านเช่า ดังนั้นบ้านที่เขาเคยอยู่ในลิสบอนจึงมีมากมายทั่วเมือง….
ถัดไปด้านขวาของโซนแสดงห้องสมุดส่วนตัว ก็เป็นห้องอ่านหนังสือ ที่เป็นโซนให้ผู้เข้าชมได้นั่งพักเพื่ออ่านหนังสือของเปอซัวที่แปลเป็นภาษาต่าง ๆ หนังสือบนโต๊ะนี้จะเปลี่ยนเวียนทุกสัปดาห์ เท่าที่พยายามหาข้อมูล ยังไม่พบว่าหนังสือของเปอซัวได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ส่วนด้านซ้ายของโซนห้องสมุดจัดเป็นนิทรรศการชั่วคราวที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนและเพื่อนร่วมงานระหว่างเปอซัวและอัลมาดา (คนที่วาดรูปเปอซัวที่อยู่บนชั้น 3) สองคนนี้ถือว่าเป็นคนสำคัญในวงการวรรณกรรมและศิลปะของโปรตุเกส…เปอซัวเป็นแกนนำด้านวรรณกรรมสมัยใหม่ ส่วนอัลมาดาก็เป็นแกนนำด้านภาพ/การออกแบบสมัยใหม่ สิ่งที่จัดแสดงก็มีทั้งหนังสือที่แนะนำให้อ่านหรือให้ยืม ผลงานที่ทำร่วมกัน เป็นต้น
โซนสำหรับอ่านหนังสือ ด้านขวาของห้องสมุด
นิทรรศการชั่วคราว แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเปอซัวและอัลมาดา
การใช้เส้นขาวกั้นแสดงเลย์เอาท์ของห้องต่าง ๆ ในบทที่ 3 Apartamento
บทที่ 3 – เรื่องส่วนตัวของเปอซัวในอพาร์ตเมนต์หลังสุดท้าย (Apartamento)
การจัดแสดงปิดจบที่ชั้น 1 ซึ่งเป็นบทที่ 3 และบทสุดท้ายของชีวิตเปอซัว …ชั้นนี้เป็นอพาร์ตเมนต์ที่เขาอาศัยอยู่จริง (ต้องเข้าใจว่าครอบครัวของเปอซัวไม่ได้เป็นเจ้าของทั้งตึก ตึกหลังนี้สมัยก่อนอยู่กันหลายครอบครัว แบ่งเป็นครอบครัวละชั้น) แม่ของเปอซัว (ซึ่งเป็นหม้ายอีกครั้ง) ซื้ออพาร์ตเมนต์นี้หลังจากย้ายกลับมาอยู่ที่ลิสบอนพร้อมกับน้องสาวของเขาคนหนึ่ง ทำให้เขาไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน แต่พอแม่เสียชีวิต ก็ยกบ้านให้น้องสาว เพราะไม่ไว้ใจเปอซัวว่าจะดูแลบ้านได้ เปอซัวก็ยังได้อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ห้องนี้กับน้องสาวและครอบครัวของเธอ
บางส่วนของผลงานของเปอซัวที่จัดแสดงใน Apartamento
การจัดแสดงมีการใช้เส้นขาวปิดที่พื้นเพื่อกั้นแสดงให้เห็นเลย์เอาท์ของห้องต่าง ๆ ในอพาร์ตเมนต์นี้ สิ่งของที่จัดแสดง ก็เป็นของใช้ส่วนตัวของเปอซัว และยังจำลองให้เห็นห้องนอนของเปอซัวที่มีขนาดเล็กมาก คือแค่วางเตียงเดี่ยวได้ 1 เตียงและหีบไม้ที่เขาใช้เก็บงานเขียนต่าง ๆ ที่ไม่ได้ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ ซึ่งมีมากกว่า 30,000 ชิ้น (ช่วงที่เขามีชีวิต เขาตีพิมพ์ผลงานน้อยมาก ๆ) เขาบอกว่าเขาต้องการพื้นที่สำหรับทำงานมากกว่าพื้นที่สำหรับนอน ดังนั้นเขาจึงมีห้องทำงานในอพาร์ตเมนต์นี้แยกออกมา
ถัดจากโซนที่เป็นห้องนอน ก็เป็นห้องที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานของเปอซัว ด้วยการตั้งตู้ลิ้นชักสูงไว้ ประดับด้วยกระดาษที่เขียนกลอนด้วยลายมือ แล้วก็มีเสียงประกอบสร้างบรรยากาศในห้อง ช่วยให้ผู้ชมจินตนาการได้ว่า เขากำลังทำงานอยู่ เปอซัวทำงานเขียนด้วยการเดินและยืน คือเขาจะเดินไปเดินมาเพื่อคิดงาน ถ้าคิดได้ ก็จะมายืนเขียนที่ตู้ลิ้นชักนี้ … ที่เสาในห้องนี้ มีคำพูดของเปอซัวที่อวดว่า วันที่ 8 มีนาคม 1914 เขาเขียนกลอนได้ถึง 30 บท ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องที่เขาแต่งขึ้น เพราะเขาเขียนได้แค่ 1 บทเท่านั้น

“I know not what tomorrow will bring.”

จากห้องที่กระดาษเต็มไปด้วยข้อความงานเขียนของเปอซัว ก็สู่ห้องกระดาษว่างเปล่า ซึ่งห้องนี้คือห้องทำงานเดิมของเปอซัว เรื่องเล่าจากไกด์นำชมในห้องนี้ก็คือ วันนั้นเพื่อนของเขามาที่บ้าน เขาเดินเข้ามาที่ห้องทำงานเพื่อหยิบของให้เพื่อน แล้วเขาก็ล้มลง เพื่อนรีบพาเขาไปที่โรงพยาบาล (เพราะน้องสาวและครอบครัวไปพักตากอากาศ) พอไปถึงโรงพยายาล เขารู้ว่าเขาต้องอยู่พักรักษา จึงขอให้เพื่อนกลับมาเอาของที่บ้าน 3 สิ่ง นั่นคือ กระดาษเปล่า แว่นตา (และอีกอย่างฟังไม่ทัน แหะๆ) พอเขาออกจากห้องตรวจ เขาก็เขียนประโยคหนึ่งที่กลายเป็นประโยคสุดท้ายในชีวิตของเขา นั่นคือ “I know not what tomorrow will bring.” และเขาก็เสียชีวิตในวันต่อมา
ประโยคสุดท้ายในชีวิตของเปอซัว “I know not what tomorrow will bring.”
ไกด์นำชมอธิบายเสริมว่า คำว่า “Tomorrow” สามารถตีความได้ 2 นัยยะ โดยนัยยะแรกหมายถึงอนาคต เขาไม่รู้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงไหมเพราะเขาต้องการเป็นที่จดจำว่าเป็นนักเขียนคนสำคัญ และเขากลัวถูกลืม ส่วนนัยยะที่สองก็คือวันพรุ่งนี้
สำหรับเรื่องผลงานของเปอซัว ไกด์เล่าว่า ผลงานต้นฉบับของเขา (ที่ซ่อนอยู่ในหีบไม้) อยู่ที่ห้องสมุดแห่งชาติโปรตุเกส ต้องใช้เวลาในการคัดแยกเอกสารและทำความเข้าใจต้นฉบับ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลงานของเขาใช้เวลายาวนานในการตีพิมพ์แต่ละชิ้นงาน ตอนนี้มีเพียงแค่ 5% ที่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ และยังมีบางส่วนที่ครอบครัวของเขาเก็บเอาไว้ด้วย
การจัดแสดงใน Apartamento
ขนาดห้องนอนของเปอซัวที่พอแค่วางเตียงนอนและหีบไม้เท่านั้น
พิพิธภัณฑ์กับการเล่าเรื่อง
วิธีการเล่าเรื่องของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำได้กระชับและน่าติดตาม ไกด์นำชมก็เล่าเรื่องได้ครบโดยไม่ต้องเดินอ่านเอง แถมยังได้เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรื่องเล่านอกป้ายคำอธิบายเพิ่มเติม การตั้งชื่อโซนจัดแสดงมีความเป็นนักกวีหรือนักเขียนมาก ๆ เช่น “Countless lives inhabit us” เพื่อเล่าถึงวัยเด็กของเปอซัวที่เริ่มสร้างเพื่อนในจินตนาการ, “I read and abandon myself” ที่เป็นโซนห้องอ่านหนังสือ หรือ “To write is to objectify dreams” ที่จัดแสดงผลงานบางส่วนของเปอซัวในฐานะกวีหรือนักเขียนในนิตยสารต่าง ๆ เป็นต้น
การจัดแสดงที่พร้อมให้ผู้พิการทางสายตา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเตรียมพร้อมสำหรับผู้พิการทางสายตาด้วยการมีอักษรเบลล์ตามจุดจัดแสดงเพื่อให้ข้อมูล รวมไปถึงการปูพื้นด้วยวัสดุผิวต่างสัมผัสสำหรับนำทาง (Tactile flooring) และยังมีการนำชมแบบ Audio Descriptive ในทุกเดือนอีกด้วย
การออกแบบเรื่องเล่าเกี่ยวกับเปอซัว ไม่ได้จบลงที่ตัวนิทรรศการหรือการจัดแสดง แต่ไกด์นำชมปิดท้ายก่อนแยกย้ายได้น่าคิดว่า ทางพิพิธภัณฑ์ไม่อยากให้ทุกคนเชื่อในเรื่องที่ทางเราเล่าหรือนำเสนอ แต่อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจเปอซัวอย่างพินิจพิเคราะห์ เพราะไม่มีเรื่องเล่าของเปอซัวเพียงแบบเดียว ชีวิตของเปอซัวมีความซับซ้อน ดังนั้นพิพิธภัณฑ์เชื่อว่าเราแต่ละคนก็มีเปอซัวในแบบของตนเอง
การเดินชมนิทรรศการนี้ก็คงเหมือนกับการอ่านหนังสือ ที่ผู้อ่านสามารถตีความได้ตามประสบการณ์และความรู้สึกของตนเอง การสร้างเรื่องเล่าและการจัดแสดงแบ่งเป็นบท ๆ ตามแบบหนังสือ เกาะติดมาจนถึงห้องสุดท้ายและประโยคทิ้งท้ายของไกด์นำชมอย่างชัดเจน
… ส่วนเปอซัวของเรานั่นหรือ…ไม่รู้สิ ยังไม่กล้าตอบ คงต้องเริ่มอ่านงานของเขาสักเล่ม เพื่อจะได้รู้จักเปอซัวมากกว่านี้…
Prior this trip, I haven’t aware of writer named Fernando Pessoa or come across with his works. During the first few days in Lisbon, I noticed that, most of souvenir shops sold his works with different and artistic covers. Once I found out about the museum – Casa Fernando Pessoa, I scheduled to book English-guided tour which available only once a month.
The museum is situated at Pessoa’s last apartment. The narrative of the exhibition is well crafted into 3 chapters across 3 out of 5 floors of this building. The first chapter of the exhibition, Os heterônimos, is on the top floor. It provides background of his youth, paving the path to understand the creation of his heteronyms. This chapter ends at the infinity mirror room with the striking question, “How many am I?”
The second chapter, Biblioteca Particular, on the 2nd floor exhibits his private library in the center of the floor. His passion with reading reflects in 1,300 books in his own collection as he believed that, to write a good book, one must read extensively. Next to the library, on the right, it’s the reading zone for visitors to enjoy Passoa’s works from various languages. And the left-hand side is the temporary exhibition showing the relationship and friendship between Passoa and Almada (Jose de Almada Negreiros).
The exhibition ends at the 1st floor where Passoa was actually lived with his mother, sister and her family. This floor, Apartamento, allows us to experience Passoa’s life and work with his personal objects. His tidy bedroom with the reproduced wood cabinet – the one that kept his 30,000 pieces of writing – was presented. The next room covers with papers with Passoa’s handwriting. This room allows us to imagine how Passoa worked with ambient sound in the room. The exhibition route comes to the end at his very office – decorating with blank papers and his final words, “I know not what tomorrow will bring.”
The narration of this museum is very impressive. Further, it provides braille signage, tactile flooring, audio equipment at the exhibition floors. Also, they provide monthly guided tour with Portuguese sign language with deaf mediator and audio descriptive. This is a well-designed museum for all indeed.
At the end of the tour, our guide left us with thought-provoking remark. According to him, the museum doesn’t want us to believe what we were told about Passoa through this exhibition. The museum however wants everyone to critically understand Passoa as there is no definite story about Passoa. The museum believes that everyone has their own version of Passoa. This is very true as people can interpret writer’s works according to their own feelings and experience. For myself, I can’t tell you know about my Passoa as I need to know him more through his work. But, what is your Passoa like?

บทความนี้เป็นประสบการณ์จากการเดินทางในฐานะนักวิจัยแลกเปลี่ยน ภายใต้โครงการ Marie Curie Research and Innovation Staff Exchange scheme within the H2020 Programme (LABOUR Project)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *