AJEEB DAASTAANS: ชู้รัก ของเล่น ไม่ตั้งใจจูบ รักไร้เสียง

โดย นงค์ลักษณ์ บัทเลอร์

นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่อง AJEEP DAASTAANS ประกอบด้วยหนังสั้น 4 เรื่อง ได้แก่ Majnu (Lover), Khilauna (Toy), Geeli Pucchi (Sloppy Kisses) และ Ankahi (Unspoken) โดยผู้กำกับชาวอินเดียมือรางวัลสี่คน คือ นีรัช เกวัน (Neeraj Ghaywan) คาโยเซ อิรานี (Kayoze Irani) ชาแชงก์ ไขตัน (Shashank Khaitan) และ ราช เมห์ต้า (Raj Mehta)
หนังสั้นแต่ละเรื่องนำเสนอประเด็นจากบริบทสังคมร่วมสมัยของอินเดีย เช่น การคลุมถุงชน การคุกคามทางเพศ ความรักของคนเพศเดียวกัน การนอกใจ การสื่อสารและสัมพันธภาพภายในครอบครัว อันยึดโยงอยู่กับความแตกต่างด้านสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และเพศที่ล้วนนำไปสู่การกดขี่ เอารัดเอาเปรียบอีกฝ่ายทั้งในด้านกายและจิตใจ

Majnu (Lover)

หนังสั้นเรื่องแรกจากจำนวนสี่เรื่อง นำเสนอประเด็นเรื่องการคลุมถุงชนของชายหญิงคู่หนึ่งเพื่อผลประโยชน์เกื้อหนุนด้านธุรกิจและอำนาจของสองครอบครัว ในวันส่งตัวเข้าหอ เจ้าบ่าวแจ้งกับเจ้าสาวว่าตนมีคนรักอยู่แล้ว การแต่งงานจึงเป็นเพียงในนามและไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางพฤตินัยกับเจ้าสาว

สิ่งที่ฝ่ายหญิงถูกร้องขอ คือ ให้รักษาหน้าตาของครอบครัวฝ่ายชายก็เพียงพอ การแต่งงานไม่ได้นำไปสู่การเป็นผัวการเป็นเมีย การเป็นพ่อและการเป็นแม่ ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับพ่อของฝ่ายชายที่ไม่ได้มีโอกาสได้มีหลานสืบสกุลจนวันสุดท้ายของชีวิต ส่วนฝ่ายหญิงเริ่มคบหาและมีความสัมพันธ์กับชายอื่น และผู้ชายทุกคนที่เธอชวนมาเล่นชู้ต่างต้องพบเจอกับจุดสิ้นสุดของชีวิตด้วยน้ำมือสามีของเธอทั้งสิ้น

แต่แล้ววันหนึ่งชายหนุ่มชื่อ “ราช” ได้ก้าวเข้ามาอยู่ระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งคู่ พ่อของราชเป็นคนรับใช้ของครอบครัวของฝ่ายชายตั้งแต่เขายังเด็ก เมื่อสำเร็จการศึกษาพ่อจึงขอร้องให้กลับมาช่วยธุรกิจของเจ้านายผู้มีพระคุณ

ในหนังเรื่องนี้ยังได้พูดถึง ประเด็นการเป็นทาสกับการปลดแอกตัวเองจากการถูกกดขี่ ผ่านการโน้มน้าวของพ่อราชที่ฝ่ายลูกชายไม่อยากทำงานให้กับครอบครัวนี้ โดยให้เหตุผลว่านี่คือการจองจำและไม่ยอมปลดแอกตัวเองจากการเป็นทาสเป็นบ่าวรับใช้ ขณะที่ราชเองถูกเจ้านายเกลี้ยกล่อมว่าไม่ควรไปทำงานให้กับอังกฤษเพราะอินเดียต้องปลดแอกตนเอง ไม่ได้เป็นทาสหรือเป็นอาณานิคมของคนอังกฤษอีกต่อไปแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นทาสแบบอาณานิคมกับทาสแบบหลังอาณานิคมที่ระบบชนชั้นวรรณะในอินเดียยังจองจำผู้คนเอาไว้

ท้ายที่สุด ราชตัดสินใจทำงานให้กับครอบครัวของเจ้านาย และพาตัวเองเข้าไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับภรรยาของอีกฝ่าย แต่แล้ววันหนึ่งเจ้านายได้เล่าถึงอดีตคนรักที่หายสาบสูญไปจากชีวิต เมื่อพ่อของเจ้านายจับได้ว่าลูกชายของตระกูลมีความรักและคบหากับเพศเดียวกัน เขาสารภาพว่ามีใจและชอบพอราชแบบคนรัก ราชไม่ปฏิเสธความรู้สึกอีกฝ่าย ขณะเดียวกัน ภรรยาของเจ้านายก็วางแผนชวนราชหนีไปสร้างครอบครัวและชีวิตใหม่ด้วยกัน ความรักมักนำไปสู่ความไว้วางใจไม่ว่าจะในฐานะคนรักหรือชู้รัก เมื่อทุกคนตายใจ เมื่อเมียเจ้านายก็รัก เจ้านายก็มีใจให้ เขาจึงตัดสินใจปล่อยคลิปฉาวระหว่างเล่นรักกับนายหญิง โกงเงินเจ้านาย ปล่อยให้คนทั้งคู่จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน เขาบอกกับเจ้านายว่า นี่คือราคาที่ต้องจ่ายของการกดขี่ทั้งจากระบบชนชั้นวรรณะและความคาดหวังของสังคมและครอบครัวในอุดมคติ

Khilauna (Toy)

นำเสนอความรัก ความผูกพัน การเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและการเอาตัวรอดของผู้หญิงต่างวัยสองคน “มีนัล” พี่สาววัยสาวกับน้องสาววัยไม่ถึงสิบขวบที่เป็นภาพตัวแทนของคนชายขอบในสังคมผ่านเรื่องราวของพี่สาวที่ต้องคอยลักลอบต่อไฟจากเสาไฟฟ้า เพื่อให้น้องสาวได้ดูโทรทัศน์ซึ่งเป็นตัวแทนของโลกแห่งจินตนาการ ความฝัน สีสันของชีวิต ในขณะที่ ไฟฟ้าที่ถูกลักลอบใช้ยังเป็นตัวแทนของความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการพัฒนาเมืองและเป็นตัวแทนของความสว่างไสวแห่งชีวิต ขณะที่ชายหนุ่มที่สนใจพี่สาวผู้มีอาชีพรับรีดเสื้อผ้ายังใช้เตาถ่าน พี่สาวกับน้องสาวต่างได้รับบททดสอบในการใช้ชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านพบคือวัคซีนชีวิต สายตาของน้องสาวที่ลอบมอง เฝ้าสังเกต และรับรู้ความเป็นไปของพี่สาวในเรื่องต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์ทางเพศแบบไม่ผูกมัดกับชายหนุ่มนักรีดผ้า การใช้เพศวิถีของพี่สาวเพื่อความอยู่รอด การเห็นพี่สาวถูกคุกคามทางเพศ ถูกล่วงเกินจากเจ้านายผู้ชายที่พี่สาวไปทำงานเป็นแม่บ้านเพื่อแลกกับการได้สิทธิ์ต่อไฟฟ้าเข้าบ้านให้น้องสาวได้ดูโทรทัศน์

พี่สาวกับน้องสาวคุยกันถึงสองครอบครัวที่ไปทำงานบ้านให้ ผู้หญิงคนหนึ่งอยากมีลูกแต่กี่ปีต่อกี่ปีก็ยังไม่มีสักที ส่วนนายจ้างอีกคนท้องและกำลังจะมีลูก พี่สาวจึงตัดสินใจไปทำงานให้กับครอบครัวที่อีกคนท้องใกล้คลอดเพื่อแลกกับการมีไฟฟ้าใช้ เพราะสามีของคุณนายอีกคนทำงานที่การไฟฟ้า สองพี่น้องรู้ว่านายหญิงทั้งสองคนต่างต้องการจะเป็นแม่ เพราะการมีลูกเป็นอำนาจต่อรองหนึ่งกับสามีและหน้าตาทางสังคม ทำให้ผู้หญิงพบบทบาทใหม่ของตัวเองคือการเป็นแม่

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของคนชายขอบซึ่งวันๆ ต้องปากกัดตีนถีบกลับมองว่า “ลูก” ที่ผู้หญิงสองคนต้องการเป็นแค่เพียงเครื่องมือและของเล่น สำหรับสร้างอำนาจให้กับความเป็นพ่อและเป็นแม่เท่านั้น

Geeli Pucchi (Sloppy Kisses)

นำเสนอความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นวรรณะที่มีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งและหน้าที่การงาน ตำแหน่งบางตำแหน่งถูกเลือกหรือกันที่ไว้สำหรับคนวรรณะใดวรรณะหนึ่งโดยเฉพาะ แม้อีกคนจะทำงานเก่ง มีความสามารถ มากประสบการณ์ แต่การจะก้าวข้ามวรรณะที่ติดตัวมาแต่กำเนิดไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในการทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย และสำหรับหลายคนโอกาสอาจจะแทบเป็นศูนย์ ประเด็นเรื่องวรรณะถูกเล่าไปพร้อมกับเพศสถานะของ “ภารตี” สาวโรงงานซึ่งเป็นหญิงรักหญิง และถูกหญิงวรรณะสูงกว่าในที่ทำงานหลอกใช้ทำงานแทนด้วยการแสร้งมาเป็นมิตรและทำเป็นรักเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งต้องการใช้ที่พักของภารตีเป็นที่พบกับชู้รักเท่านั้น

ความสัมพันธ์ที่หลอกลวงสะท้อนให้เห็นถึงการถูกเอาเปรียบด้านกายและใจผ่านลำดับชั้นทางสังคม ถึงแม้จะเป็นเพศเดียวกันแต่อำนาจในมือไม่เท่ากัน หนังยังสะท้อนให้เห็นว่าเพศสถานะของภารตีได้เปรียบในเรื่องการทำงาน เพราะเธอไม่จำเป็นต้องลาคลอดระหว่างทำงาน ทำให้บริษัทที่จ้างงานไม่ต้องเสียผลประโยชน์ ไม่ขาดแคลนคนทำงาน จึงส่งผลให้ผู้หญิงอีกคนที่มาหลอกลวงว่ารักใคร่ชอบพอภารตี ถูกปลดออกจากตำแหน่งในที่สุดเพราะทำงานได้ไม่เต็มที่และต้องลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูแลลูก ซึ่งทำให้ผู้หญิงอีกคนต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ของการเป็นเมียและเป็นแม่ออกมาทำงานนอกบ้านไม่ได้อีกต่อไป

Ankahi (Unspoken)

นำเสนอประเด็นการสื่อสารและสัมพันธภาพของคนในครอบครัว เมื่อครอบครัวหนึ่งแม้จะสามารถพูดคุยกันได้ แต่แท้จริงแล้วแทบไม่มีเวลาและไม่ให้เวลามากพอ สำหรับสื่อสารต่อกัน ทั้งความต้องการของอีกฝ่าย ความคับข้องใจ รวมทั้ง การทำความเข้าใจกันและกันไม่ได้ถูกใส่ใจมากพอ สะท้อนผ่านภาพที่อีกคนกำลังจะพูด อีกฝ่ายกลับวุ่นวายอยู่กับภาระของตัวเอง การสื่อสารของพวกเขาจึงเป็นการสื่อสารในรูปแบบการทะเลาะเบาะแว้งของคนในครอบครัวเสียมากกว่า จนเมื่อวันหนึ่งฝ่ายหญิงซึ่งมีทักษะการสื่อสารภาษามือได้พบกับช่างภาพซึ่งเป็นใบ้ในงานนิทรรศการภาพถ่าย สองคนสื่อสารกันมากขึ้นผ่านภาษามือ ทำให้ภาษากายกับภาษาใจของคนทั้งคู่เข้ากันอย่างราบรื่น ตรงกันข้ามกับสามีที่พูดได้ของเธอ แต่แทบไม่พูดคุยกัน
เมื่อภาษามือของคนสองคนสื่อสารกันได้ตรงใจมากกว่า คนที่พูดไม่ได้ทั้งสองคนต่างพรั่งพรูอารมณ์ความรู้สึกออกมาจนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง สิ่งที่ฝ่ายหญิงไม่เคยพูดบอกอีกฝ่ายด้วยภาษามือคือ เธอมีครอบครัว สามี และลูกสาวอยู่ที่บ้าน ซึ่งด้วยเงื่อนไขดังกล่าวจึงทำให้ “ความรัก” ของทั้งคู่กลายเป็นรักไร้เสียง

หนังสั้นทั้ง 4 เรื่องมีสีสันในการเล่าเรื่อง ภาษาหนัง สัญญะที่ซ่อนระหว่างเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของชายรักชาย หญิงรักหญิง ที่เผยให้เห็นลำดับชั้นทางสังคม ความเป็นปิตาธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เล่าผ่านไฟฟ้า ความรักไร้เสียงที่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้พูดออกไป และไม่มีวันได้ยิน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo credit :

– https://www.cinestaan.com/reviews/ajeeb-daastaans-45500

– https://americankahani.com/uncategorized/ajeeb-daastaans-on-netflix-an-anthology-of-4-films-about-interpersonal-relationships-is-a-must-see/

– https://www.hindustantimes.com/entertainment/bollywood/nushrratt-bharuccha-on-ajeeb-daastaans-i-started-observing-my-own-house-help-she-was-a-great-reference-point-for-me-101618397782563.html

– https://theredsparrow.in/film-reviews/ajeeb-daastaans-netflix-four-stories-with-a-twist/

– https://www.bollywoodhungama.com/news/features/karan-johar-unveils-teaser-of-netflix-anthology-ajeeb-daastaans-which-is-set-to-premiere-on-april-16/

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *