ถ้าแม่ฟังอยู่โปรดรู้ว่าหนูคิดถึง

โดย ธันย์ชนก รื่นถวิล

นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องราวของ ‘ณิชา’ เด็กหญิงวัยสิบสองขวบเจ้าของสมุดบันทึกที่ได้รับมาเป็นของขวัญวันเกิด เรื่องราวในสมุดบันทึกเขียนถึง แม่ สาวมุสลิมผู้จากไปแล้วของเธอ เล่าเรื่องราวชีวิต ความเป็นไปของครอบครัวที่มีพ่อที่เป็นชาวฮินดู ทั้งการพลัดพราก และตัวตนของตัวเธอระหว่างการเดินทางจากเมืองมีร์ปุรคัสไปยังเมืองโชธปุระ ในช่วงเวลาของการแบ่งแยกประเทศระหว่างปากีสถานและอินเดีย

บันทึกที่ไม่มีผู้อ่านและไม่อาจลงที่อยู่ของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน

เรื่องราวของณิชาไม่ใช้บันทึกการเดินทางที่สนุกสนานหรือพบอะไรน่าตื่นตาตื่นใจแต่อย่างใด แต่เป็นการออกเดินทางเพื่อให้ตนเองยังมีชีวิตรอดปลอดภัยต่างหาก เรื่องราวของเธอเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ.1947 อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ จากการเรียกร้องเอกราชอันยาวนาน ผ่านการตกลงของเหล่าผู้มีอำนาจในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ลอร์ดเมานต์แบตเทน มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ยวาหร์ลาล เนห์รู รวมทั้งมหาตมา คานธี เหตุการณ์หลังจากนั้นทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศ กลายเป็นประเทศปากีสถานและประเทศอินเดียผ่านเส้นเขตแดนที่ถูกขีดขึ้นใหม่นี้

พื้นที่และศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องเดียวกัน เส้นเขตแดนได้ทำให้เกิดความตึงเครียดและเหตุการณ์ความขัดแย้งหลายครั้งตามมา ผ่านเส้นทางการอพยพของผู้คนครั้งใหญ่ ทั้งกลุ่มชาวมุสลิมผู้อพยพเข้าสู่ปากีสถาน และกลุ่มชาวฮินดูและซิกข์ผู้กำลังอพยพเข้าสู่อินเดีย ผู้คนที่ต่างต้องละทิ้งตัวตนและบ้านของตนเองไปสู่ที่ทางใหม่ ผู้คนนับล้านต้องเดินทางข้ามพรมแดนเส้นนี้ เพื่อลงหลักปักฐานและแสวงหาชีวิตใหม่ บ้างมีชีวิตรอด บ้างก็ไม่

““ในบ้านเรา ไม่มีใครฉลองอิสรภาพ หนูต้องเก็บข้าวของ หนูต้องทิ้งหนังสือทั้งหมดไว้ พรมและโต๊ะแล้วก็ชั้นหนังสือของเรา รวมทั้งโต๊ะของพ่อกับทุกสิ่งทุกอย่างในครัวต้องทิ้งไว้ ยกเว้นหม้อและกระทะไม่กี่ใบ กับอาหารแห้ง หนูได้ยินพ่อบอกดาดี ว่ามีการจลาจลทุกคนทุกแห่ง แล้วถ้าเราไม่ย้ายไปเราอาจถูกฆ่าหรือถูกจับส่งไปอยู่ค่ายอพยพ”

บันทึกของณิชาจึงเต็มไปด้วยคำถามจากสายตาของเด็กหญิงวัยสิบสองขวบที่จู่ๆ โลกของเธอก็ล้มคว่ำล้มหงาย จากโลกที่เคยสงบปลอดภัย กลายเป็นพ่อผู้ต้องลาออกจากโรงพยาบาล เธอและน้องชายฝาแฝดเริ่มถูกทำร้ายระหว่างทางไปโรงเรียนด้วยเหตุผลว่า พวกเขาเป็นเด็กฮินดู สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความผิดข้อไหนของเธอหรือ? หากนั้นไม่ใช่ความผิดของเธอมันเป็นความผิดของใคร?

ความโกลาหลเหล่านี้บีบบังคับให้เธอต้องจากบ้านไป เพื่อรักษาชีวิตให้รอดไปจนถึงบ้านใหม่ ในบันทึกบอกเล่าถึงรายละเอียดความยากลำบากในการเดินทาง ความรู้สึกนึกคิดของตัวเธอ เรื่องราวของผู้คนที่เธอพบระหว่างทาง ผู้คนที่มุ่งหน้าไปสู่รถไฟสายเดียวกัน ด้วยความหวังเดียวว่ามันจะพาพวกเขาไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ณิชาเองก็หวังว่าฝันร้ายของเธอจะจบลงสักวันหนึ่ง

เรื่องของณิชาทำให้เราเห็นโลกที่แตกสลายของเด็กที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งกันเองของผู้ใหญ่ ความแหลกสลายส่วนบุคคลมักเป็นต้นทุนที่ถูกละเลยไปเสมอเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือการโต้เถียง เมื่อความโกรธหรือความถือดีเข้าครอบงำจิตใจ ชีวิตของผู้คนที่ถูกความขัดแย้งฉีกทึ้งทุกส่วนในออกจากกันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มักกลายเป็นเรื่องเล็กลงถนัดตา เมื่อเทียบเคียงกับหนทางสู่ชัยชนะของฝ่ายตนเองที่รออยู่ข้างหน้า
ในเมื่อชีวิตข้างหน้ามีแต่คำถามที่ไม่กล้าถามใคร และยังไม่อาจมองเหตุคำตอบได้เช่นนั้น เราจึงได้แต่ระบายความรู้สึกในใจออกไปให้คนไกลแสนไกลได้ยิน เหมือนที่ณิชาเขียนบันทึกเล่มนี้ถึงแม่ผู้ไกลแสนไกล และบันทึกนี้ก็เดินทางกลับมาถึงพวกเรา

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *