อนาคตของอัฟกานิสถานหลังจากอเมริกาถอนทหาร

โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน

นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเทศอัฟกานิสถานอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน แต่สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับกลุ่มติดอาวุธในอัฟกานิสถานที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี กำลังจะยุติลง โดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินใจยุติสงครามในอัฟกานิสถานและสั่งถอนกองกำลังสหรัฐอเมริกาภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 นี้ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่เคยกำหนดไว้ในวันที่ 11 กันยายน 2564 ทำให้นักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างประเทศมองว่าปัจจัยในการตัดสินใจครั้งนี้มีหลายสาเหตุ ดังนี้

1) สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการทำลายล้างกลุ่มอัลกออิดะห์และแกนนำทั้งหมด รวมถึงการสังหารนายอุสมะ บิน ลาเดน

2) สหรัฐอเมริกาสูญเสียงบประมาณและกองกำลังทหารเป็นจำนวนมากแล้ว

3) สหรัฐอเมริกาเชื่อมั่นว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานสามารถจัดการปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศได้

4) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในสหรัฐอเมริกาทำให้รัฐบาลต้องทบทวนการแก้ไขปัญหาภายในประเทศเป็นสำคัญ

5) การเปลี่ยนผ่านของสงครามเย็นระลอกใหม่กำลังจะปะทุขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ นายโจ ไบเดนได้เน้นย้ำว่ากองกำลังสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการกวาดล้างกลุ่มอัลกอิดะห์ทำให้กลุ่มก่อการร้ายอ่อนกำลังลงไปมาก และแม้ว่าจะเกิดกลุ่มก่อการร้ายหน้าใหม่ของสงครามในอัฟกานิสถานอย่าง กลุ่มตาลีบัน แต่สหรัฐอเมริกายังเชื่อมั่นว่ากองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานจะสามารถจัดการกับความขัดแย้งภายในประเทศได้ด้วยตนเอง โดยที่สหรัฐอเมริกายังคงยืนยันที่จะให้การสนับสนุนทั้งในด้านสิทธิมนุษยธรรม ด้านการฟื้นฟูประเทศ ตลอดจนยังคงวางกำลังรักษาความมั่นคงบริเวณโดยรอบสถานทูตสหรัฐอเมริกาและสนามบินกรุงคาบูลต่อไป

จุดเริ่มต้นของการทำสงครามในอัฟกานิสถาน มีผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือเหตุการณ์ 9/11 ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้นโยบายการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย โดยอ้างว่ากลุ่มอัลกออิดะห์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังจากเหตุการก่อวินาศกรรมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประกาศสงครามต่อกลุ่มอัลกกออิดะห์และกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ได้มีการส่งกองกำลังทหารสหรัฐอเมริกาเข้าไล่ล่าแกนนำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์อย่างอุซามะห์ บิน ลาดิน ที่มีฐานที่มั่นในอัฟกานิสถาน นับแต่นั้นมากองทัพสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาปฏิบัติการทางทหารกับกลุ่มติดอาวุธในประเทศอัฟกานิสถานตั้งแต่ปีค.ศ. 2001 จนประเทศอัฟกานิสถานต้องตกอยู่ในสภาวะสงครามมาโดยตลอด เกิดความสูญเสียทั้งทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรธรรมชาติ จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศล้มเหลวที่ไร้อำนาจอธิปไตยในที่สุด

ตลอดระยะเวลาของการสู่รบมีประชาชนชาวอัฟกานิสถานเสียชีวิตไปหลายแสนคน แต่มีจำนวนทหารสหรัฐเสียชีวิตประมาณ 2,500 นายเท่านั้น รวมทั้งงบประมาณทางทหารถูกใช้ในปฏิบัติการกว่าสองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์จะสิ้นศักยภาพในการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา และการสู้รบระหว่างสหรัฐอเมริกากับกลุ่มอัลกออิดะห์ดูเหมือนจะจบลง แต่ในทางกลับกัน กลุ่มที่ต่อต้านประเทศมหาอำนาจในการยึดครองอัฟกานิสถานอย่างกลุ่มตาลีบันกลับได้รับความนิยมและมีพัฒนาการยุทธวิธีในการต่อสู้มากยิ่งขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มของกลุ่มตาลีบันมีกองกำลังติดอาวุธที่มีศักยภาพมากพอที่จะต่อกรกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน และทหารสหรัฐอเมริกาได้อย่างต่อเนื่อง

การตัดสินใจถอนทหารในครั้งนี้ มีการคาดการณ์จากกลุ่มนักวิชาการอย่างน้อย 2 รูปแบบ

แบบที่ 1 สถานการณ์อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานและกลุ่มตาลีบัน

แบบที่ 2 หากว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานกับกลุ่มตาลีบันสำเร็จ จะส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานบนแนวทางประชาธิปไตย

แท้จริงแล้ว แนวทางการถอนกำลังทหารของสหรัฐอเมริกามีมาตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่มีการเลื่อนนโยบานการถอนกำลังทหารอยู่หลายต่อหลายครั้ง เหตุผลหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งภายในอัฟกานิสถานที่ยังคงปะทุอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเข้มแข็งของกลุ่มตาลีบัน ซึ่งก่อตัวมาจากกลุ่มนักเรียนในสถาบันมัดดารอซะห์ มีความเป็นเอกภาพและมีอุดมการณ์ทางศาสนาในการต่อต้านมหาอำนาจที่เข้มข้นจนกลายเป็นกลุ่มติดอาวุธที่สามารถช่วงชิงเขตแดนอัฟกานิสถานได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณชายขอบของประเทศทั้งฝั่งที่ติดกับอิหร่านและติดกับปากีสถาน จากการรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ กล่าวว่ากองกำลังตาลีบันมีกองกำลังทหารอยู่เพียงประมาณ 80,000 นายเท่านั้น ในขณะที่มุมมองของ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ได้ให้ชี้ให้เห็นว่าแม้จำนวนกลุ่มนักรบตาลีบันจะมีน้อยกว่ากองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานกว่ามาก แต่มีความเป็นปึกแผ่นและมีอุดมการณ์ทางศาสนา ทำให้สามารถยืดหยัดต่อสู่กับกองกำลังของทหารสหรัฐมาอย่างยาวนาน
Picture1
อีกนัยยะหนึ่งอาจมองว่ากองกำลังตาลีบันได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจต่างขั้วอย่างรัสเซียและจีน จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานอาจเข้าไปอยู่ในบริบทของสงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจ (proxy war) ดังนั้น หากจะประเมินอนาคตของอัฟกานิสถานจึงมีแนวโน้มว่าความขัดแย้งจะยังคงดำเนินต่อไป อิสรภาพของอัฟกานิสถานยังไม่ใช่อิสรภาพที่มาจากประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนในประเทศอัฟกานิสถานยังคงต้องเผชิญกับความสับสน และผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจแต่ละฝ่ายที่ห้ำหั่นกันด้วยอาวุธมากกว่าการเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ

แต่ละฝ่ายยังคงแสวงหาแนวร่วมจากประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นเมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า “อนาคตของอัฟกานิสถานขึ้นอยู่กับประชาชนชาวอัฟกานิสถาน” จึงเป็นเรื่องยากที่จะเห็นอัฟกานิสถานกลับมาอยู่ในสภาพปกติสุข

บทสรุปของการทำสงครามที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถานกว่า 20 ปีมิได้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น แต่กลับเห็นประเทศที่บอบช้ำมากกว่าเดิม ประชาชนที่ตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรง ความหวาดกลัว และความแตกแยกที่ยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ ในสายตาของนานาประเทศ อัฟกานิสถานยังคงเป็นสรภูมิรบของคนต่างชาติพันธุ์ ต่างความคิด และต่างอุดมการณ์ในการปกครองประเทศ

กลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน

นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2001 แนวคิดการต่อต้านสหรัฐเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในอัฟกานิสถาน และการใช้อุดมการณ์ทางศาสนาชี้นำถูกมองว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรง ในขณะที่การโจมตีของสหรัฐอเมริกากลับทำลายล้างประเทศอัฟกานิสถานได้มากเป็นทวีคูณ แม้ว่าในช่วงแรกๆ ของการทำสงครามจะทำให้สมาชิกกลุ่มตาลีบันกระจัดกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่างปากีสถานที่มีคนชาติพันธุ์ปัชตุน (ปาทาน) คอยให้การช่วยเหลือ แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้วกลุ่มคนเหล่านี้ก็ย้อนกลับมาสนับสนุนกลุ่มนักรบตาลีบันเพื่อต่อสู้กับทหารสหรัฐอเมริกา การเติบโตของเยาวชนท่ามกลางภาวะสงครามทำให้กลุ่มเยาวชนบางกลุ่มหันมาเข้าร่วมกลุ่มตาลีบันที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงและสมาชิกทุกคนก็พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ

พัฒนาการของกลุ่มตาลีบันมีประสบการณ์ในการสู้รบและมียุทธศาสตร์เพื่อปิดล้อมเส้นทางหลักของประเทศที่เชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ ทำให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลต้องพึ่งพาการช่วยเหลือทางอากาศจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น นับได้ว่าตลอดระยะเวลาของการต่อสู้กลุ่มตาลีบันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการปิดล้อม และยึดครองเมืองชนบทไปชนถึงเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า กลุ่มนักรบตาลีบันยังมีเครือข่ายในต่างประเทศกว่า 20 กลุ่มที่คอยสนับสนุนปฏิบัติการในอัฟกานิสถานอยู่ด้วย อาทิ ปากีสถานตาลีบัน รัชชาอีจาวี่ (Lashkar-e Jhangvi) รัชชาอีตัยบ่า (Lashkar-e Taiba) กองทัพแห่งโมฮัมเหม็ด (Jaish-e-Mohammed) และกลุ่มติดอาวุธเอเชียกลาง (Central Asian militant groups) เป็นต้น

แม้ว่ากลลวงของกลุ่มตาลีบันที่เคยยืนยันว่าจะไม่ให้กลุ่มใดๆ รวมถึงกลุ่มอัลกออิดะห์มาใช้ผืนแผ่นดินอัฟกานิสถานเป็นดินแดนในการต่อต้านทหารสหรัฐ กลับไม่ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาวิตกกังวลใดๆ เลย เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเข้าใจดีว่าเครือข่ายกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มตาลีบันมีความใกล้ชิดและเกื้อหนุนกันอยู่แล้ว แต่ทั้งสองมีเป้าหมายแตกต่างกัน ดังนั้น การมุ่งเป้าทำลายล้างกลุ่มอัลกออิดะห์ก็เท่ากับว่าสร้างความอ่อนแอให้กับกลุ่มตาลีบันด้วย

ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นว่าการฝึกฝนกองกำลังทหารของรัฐบาลอัฟกานิสถานมาอย่างต่อเนื่องทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเชื่อมั่นว่าฝ่ายรัฐบาลอัฟกานิสถานภายใต้การนำของประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานี จะสามารถคุมอำนาจการปกครองภายในประเทศได้

ที่สำคัญกลุ่มตาลีบันยังมุ่งเน้นในการใช้กรอบกฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) ในการปกครองประเทศจนทำให้ฝ่ายตรงข้ามมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมทั้ง สิทธิสตรี สิทธิการเข้าถึงการศึกษา และความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิง ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในชุมชนเมืองและผู้ที่นิยมความสมัยใหม่ก้าวทันโลก ด้วยเหตุนี้ การแบ่งอำนาจการปกครองในช่วงเริ่มต้นหลังจากการถอนกองกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายหยิบยกมาเป็นประเด็น

สอดคล้องกับแนวคิดของเวทีแห่งการเจรจาสันติภาพทั้งในประเทศกาตาร์และอิหร่านว่า “สงครามไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาในอัฟกานิสถาน” ดังนั้น หากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตาลีบันไม่มีเงื่อนไขที่ซ่อนเร้นและไม่มีกลุ่มมหาอำนาจแทรกแซงก็อาจเป็นไปได้ว่าทิศทางอนาคตของอัฟกานิสถานจะอยู่บนพื้นฐานของการตัดสินใจของพลเมืองอย่างแท้จริง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

References

– https://www.aljazeera.com/news/2021/7/8/mission-accomplished-us-speeds-afghanistan-withdrawal

– https://www.rferl.org/a/taliban-government-islamic-state-who-controls-what-in-afghanistan-/30644646.html

– https://www.facebook.com/watch/live/?v=1466460923698978&ref=watch_permalink

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *