โดย ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 26 มีนาคม 2562
https://xstremarea.home.blog/2019/03/26/260319/
รอยบาดแผลแห่งอดีตหลังการแยกประเทศปี 1947
กระทั่งปี 2019 เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยัง “ลืมตาและขับเคลื่อน” เด่นชัดกว่าภาพ “รอยยิ้ม” ผ่านเส้นพรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน หากนับรวม ๆ ก็มากกว่า 70 ปีที่ภาพความรุนแรงดังกล่าวยังสะท้อนให้ใครหลายคน “กังวลและตื่นกลัว” เหมือนเดิม หนำซ้ำปมแห่งอดีตได้ลามเลียสังคมอนุทวีปและกระชากความสัมพันธ์อันดีของผู้คนได้อย่างน่าใจหาย บาดแผลในอดีตยังคงสะท้อนออกมาผ่านท่าที มุมมอง แง่คิด ทัศนะคติ ตลอดจนความเชื่อของผู้คนในรุ่นปัจจุบัน
บ่อยครั้งที่เราเสพข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องราวของความขัดแย้ง ความรุนแรง ระเบิดและการฆ่าฟันจากพื้นที่แห่งนี้ กระนั้น ในภาพความรุนแรงก็ยังมีรอยยิ้มและความพยายามในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่น่าเสียดายที่ “ภาพความรุนแรง” ทำงานเร็วกว่า “วิถีแห่งสันติ” ยิ่งไปกว่านั้น “หยดเลือดมีสีแดงเด่นชัดกว่ารอยยิ้ม” อย่างที่เราเห็นและรับรู้กัน
ความพยายามของภาคประชาสังคมในการสร้างความปรองดองนั้นถูกดำเนินมาโดยตลอด เพราะคนเหล่านี้ต่างรู้ดีว่า “เส้นพรมแดนที่มาแบ่ง” เป็นเพียง “เขตแดนแห่งความต่างและความเชื่อ” หลังเส้นพรมแดนเหล่านั้น คือ รากเหง้าและเครือญาติของกันและกัน ใต้รากเหง้าแห่งอนุทวีปอินเดี
ปลิดรอยร้าวด้วยรอยยิ้ม
ภาคประชาชนขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดสันติภาพระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งแน่นอน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำในนามของ “ภาครัฐ” หรือ “การทูตระหว่างประเทศ” ทว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในนาม “ภาคประชาสังคม” หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ “การทูตของภาคประชาชน” (Citizen Diplomacy)
การเมืองระหว่างประเทศมักมี “เส้นพรมแดนของผลประโยชน์แห่งชาติ” แฝงเร้นอยู่เสมอ ทว่า ภาคประชาสังคมไม่ได้มี “ผลประโยชน์” ดังกล่าวเป็นเดิมพัน แต่สิ่งหนึ่งที่ภาคประชาชนมีร่วมกันหลังการปะทะนั่นก็คือ “หยดเลือดริมพรมแดน” ซึ่งไม่ต่างจากคำให้การของประชาชนในละแวกใกล้เคียงที่ได้สะท้อนภาพให้เราเห็นผ่านเหตุการณ์ปะทะกันครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ผ่านผู้สื่อข่าวชาวปากีสถานของบีบีซีว่า “คุณเห็นได้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวบ้านและดูสิครับ ตรงนี้คือ ส่วนของกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงมา เมื่อไหร่ที่ความตึงเครียดสูงขึ้นระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ คือคนกลุ่มแรกที่ต้องทนทุกข์ทรมาน” [1]
มีการพยายามของภาคประชาชนหลายส่วนที่จะปลิด “รอยร้าวด้วยรอยยิ้ม” ภาคประชาสังคมจึงกลายเป็น “ตัวแสดงหลัก” ในการสร้างสันติภาพบนพื้นที่รอยต่อทางความเชื่อเพื่อก้าวข้ามเส้นพรมแดนความขัดแย้งเหล่านี้ ซึ่งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญพอจะสรุปได้ให้เห็นภาพดังต่อไปนี้
Routes 2 Roots (R2R)
องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในประเทศอินเดียภายใต้ชื่อ “Routes 2 Roots” ได้ก้าวออกมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพบนพื้นที่แห่งนี้ ด้วยการนำเสนอการติดต่อระหว่างกันของผู้คนชาวอินเดียและปากีสถานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางองค์กรได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา กิจกรรมเหล่านั้นได้แก่ การเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านภาพเขียน ศิลปะ ภาพยนตร์ บทเพลงและงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการ “แบ่งปันริมเขตแดนของอินเดีย-ปากีสถาน”
ผู้ก่อตั้ง R2R ชื่อ อมิตา กุปตา (Amita Gupta), ติฮา วาชารี (Tina Vachani) และราเกช กุปตา (Rakesh Gupta) ยังมีคำถามที่น่าสนใจและเห็นสมควรในการเปิดพื้นที่คุยระหว่างกันเช่น ประวัติศาสตร์ชาติ วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนประเด็นที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิด (misconception) ระหว่างสองประเทศนี้ เพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ของสองประเทศในอนาคต และที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ “กลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยน”ภายใต้ในนามโครงการ R2R นั่นเอง
R2R มีเป้าประสงค์อย่างหนึ่งนั่นก็คือ เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับความต่างของวัฒนธรรมอื่น และยังส่งเสริมต่อการสร้างองค์ความรู้แห่ง “การทนกันได้” ผ่านเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ภูมิศาสตร์ดินแดนและความหลากหลายในสังคมซึ่งแต่ละคนนั้นย่อมมีไม่เหมือนกัน
งานหลักของ R2R คือ “การสร้างสถานีองค์ความรู้” ของผู้ที่มีฐานทางความเชื่อและเส้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน R2R มีกิจกรรมครอบคลุมไปถึง การเขียน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเล่าประวัติศาสตร์ผ่านการสัมภาษณ์ ซึ่งโรงเรียนที่ส่งนักเรียนเข้าร่วมนั้นต้องมีอายุระหว่าง 10-14 ปี ในเขตพื้นที่ 6 เมืองดังที่กล่าวมาข้างต้น
จากจดหมายถึงสันติภาพ
R2R ได้เริ่มดำเนินโครงการที่ชื่อว่า “เพื่อนทางจดหมายข้ามพรมแดน” ในเดือนกันยายน 2010 ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจาก 2 ประเทศนี้ประมาณ 2,400 คนจาก 10 โรงเรียนในเดลลี (Delhi) มุมไบ (Mumbai) การาจี (Karachi) และลาโฮร์ (Lahore) หลังจากโครงการในปีแรกประสบความสำเร็จและกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โครงการดังกล่าวได้เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมขึ้นในปีถัดไปเป็น 3,500 คนจากเด็กประมาณ 17 โรงเรียนในเดลลี (Delhi) จันดิการ์ (Chandigarh) มุมไบ (Mumbai) การาจี (Karachi) ลาโฮร์ (Lahore) และราวัลพินดี (Rawalpindi) ซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นมีระยะเวลา 14 เดือน [2]
กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้เด็ก ๆ ทั้งสองประเทศกว่า 50,000 คนจากเมืองมุมไบ (Mumbai) เดลลี (Delhi) และเดห์ราดูน (Dehradun) ของอินเดียมีส่วนร่วมและได้กลายเป็น “เพื่อนทางจดหมาย” กับเด็กน้อยชาวปากีสถานจากเมืองลาโฮร์ (Lahore) การาจี (Karachi) และระวัลพินดี (Rawalpindi) / อิสลามาบัด (Islamabad) [3]ซึ่งเยาวชนเหล่านี้มีอายุระหว่าง 9-14 ปี จาก 37 โรงเรียนในพื้นที่ 7 จังหวัดของอินเดียและปากีสถาน กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นผ่าน “การเขียนจดหมาย” เช่น โปสการ์ด ภาพตัดปะ สื่อต่าง ๆ และการบันทึกวิดีโอ เพื่อนำเสนอเรื่อราวของสองประเทศก่อนเกิดการแบ่งแยกในปี 1947 [4]
จากภาพสะท้อนกิจกรรมดังกล่าว ตินา วาชานี (Tina Vachani) ผู้ก่อตั้งบอกให้ทราบเกี่ยวกับหมุดหมายสำคัญของโครงการ ซึ่งเธอระบุว่า “โครงการแลกเปลี่ยน” (Exchange for Change) ดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นกิจกรรมภาคบังคับ ทว่า เป็นหนึ่งในทางเลือกชนิดพิเศษที่ถัดจัดสรรมาเพื่อให้นักเรียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากตนเอง โดยเฉพาะเด็กในอินเดียและปากีสถาน กิจกรรมนี้มีคุณค่าสำหรับพวกเขาเป็นอย่างมาก ซึ่งพวกเขาจะเติบโตไปด้วยบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันภายใต้บริบทของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต พวกเขาคือผู้นำของประเทศรุ่นต่อไป เด็กน้อยในประเทศของเราจากสองประเทศนี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน” [5]
ในปี 2016 – 2017 เด็กนักเรียน 212 คนจากประเทศทั้งสองได้แลกเปลี่ยนจดหมายกันราว 1,000 ฉบับ ซึ่งข้อความในจดหมายที่เด็ก ๆ ได้เขียนถึงกันนั้นก็มีความกังวลและเป็นห่วงต่อสันติภาพระหว่าง 2 ประเทศนี้ ราเกช คุปตา (Rakesh Gupta) ผู้ก่อตั้งโครงการได้กล่าวไว้อย่างน่าสนในเกี่ยวกับการทำงานของตนภายใต้โครงการดังกล่าวว่า “เราต้องการลบความเกลียดชังออกจากจิตใจของเด็ก ๆ และสอนให้พวกเขารู้จักเคารพคนชาติอื่น แน่นอน หากเราเคารพในวัฒนธรรมของกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็จะไม่เป็นประเด็น” [6]
ในจดหมายที่ถูกส่งข้ามพรมแดนนั้น มีฉบับหนึ่งที่ได้ถูกนำเสนอผ่าน BBC News ซึ่งได้ถูกสื่อไปยังคนรอบข้างเกี่ยวกับคำพูดของเด็กปากีสถานถึงเด็กอินเดียมีใจความว่า “ฉันไม่มีความรู้มากพอเกี่ยวกับอินเดีย คุณจะบอกฉันได้ไหมเกี่ยวกับอินเดีย ใครคือนายกรัฐมนตรีของอินเดีย ดอกไม้ประจำชาติของฉันคือดอกมะลิ และกีฬาประจำชาติของฉันคือ ฮ็อกกี้”
นี่คือ ความสวยงามของเด็กที่พวกเขาถ่ายทอดระหว่างกันผ่านโครงการดังกล่าว กิจกรรมนี้ส่งผลให้เด็กอินเดียไปเที่ยวประเทศปากีสถานในปี 2013 โดยเฉพาะเส้นทางความร่วมมือเหล่านี้ได้เกิดขึ้นโดยภาคประชาสังคมของอินเดีย-ปากีสถาน ผ่านกิจกรรม “นักศึกษาแลกเปลี่ยน” ในปี 2013-2015 ซึ่งมีนักศึกษากว่า 5,000 คนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวเพื่อ “ส่งจดหมายข้ามแดน”
ติดอยู่ระหว่างพรมแดน
ในปีที่ 2017 มีนักเรียนบางส่วนที่เข้าร่วมโครงการต้องการสานต่อภารกิจและเดินทางเข้าสู่ประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากความรุนแรงและความปลอดภัยที่ผู้ปกครองหลายคนกังวลส่งผลให้ “กิจกรรมเพื่อทางจดหมายข้ามแดน” สิ้นสุดลงและโครงการดังกล่าวก็ได้ปิดตัวลงหลังจากนั้น
ราเกช คุปตะ ผู้ก่อตั้งโครงการได้กล่าวว่า “ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา เราพาเด็ก ๆ จากอินเดียไปปากีสถาน และพาเด็กชาวปากีสถานข้ามมาที่อินเดีย”คุปตะบอกและว่า ทุกครั้งเราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและผู้มีอำนาจ แต่ในปี 2017 กระทรวงการต่างประเทศขอให้พวกเราส่งเด็กชาวปากีสถานกลับกลางคัน นั่นทำให้กำหนดการเดินทางถูกยกเลิก” [7]
ความพยายามในการสร้างสันติภาพ ของ Routes 2 Roots นอกจากจะมีกิจกรรมเขียนจดหมายข้ามแดนแล้ว ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น
1. Virsa
กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิตอล ในการสร้างศิลปะสำหรับนักศึกษาอินเดียและส่วนอื่น ๆ ของโลก และสนับสนุนให้มีการจัดอบรมปฏิบัติการสื่อสิ่งพิมพ์ในแต่ละโรงเรียน ระหว่างโรงเรียน ระหว่างศาสนา ระหว่างประเทศ ผ่านผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวด้วย
2. Student Exchange Program
กิจกรรมนักศึกษาแลกเปลี่ยน เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญเพื่อเชื่อมต่อรอยร้าวพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมร้อยความสัมพันธุ์ระหว่างกันผ่าน “การเรียนรู้การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม” ของนักศึกษาอินเดียและปากีสถาน กิจกรรมนี้มุ่งเน้น การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมกันของนักศึกษาทั้งสองประเทศนี้ ตลอดจนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในแต่ละวันของตนเอง
3. Vedas
กิจกรรมวีดาส เป็นหนึ่งในองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดียสมัยก่อน ซึ่งประมาณ 5000 ปีก่อนคริสตศักราช เพื่อเข้าใจขนบธรรมเนียม ประเพณี อารยะธรรมและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องขององค์ความรู้วีดาสที่จะเชื่อมโยงไปสู่อารยะธรรมอินเดีย
4. Theatre
โรงภาพยนตร์เป็นสื่อกลางสำคัญที่คนแถบเอเชียใต้ใช้ในการสื่อสารระหว่างกันและภาพสะท้อนในการเลียนแบบ เพราะภาพยนตร์คือ ภาพสะท้อนสำคัญของสังคมโดยเฉพาะวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของผู้คน โรงภาพยนตร์สามารถสื่อสารผ่าน ละครเวที บทประพันธ์ ละครสะท้อนสังคมเพื่อปูทางไปสู่สันติภาพและความเป็นเอกภาพของสังคม
5. Exhibitions
งานแสดงนิทรรศการต่าง เป็นหนึ่งในการนำเสนอวิถีชีวิตของมนุษย์ เปิดโอกาสให้เกิดการนำเสนอแนวคิดระหว่างผู้คนต่อผู้คน การมีอิสรเสรีในการพูดคุยสื่อสารกัน หรืออาจรวมถึงงานแสดงภาพศิลปะและงานศิลปะเพื่อสะท้อนตัวตนของมนุษย์เรา
7. Live Concerts and Festivals
งานแสดงคอนเสิร์ตต่าง ๆ ก็เป็นอีหนึ่งในกิจกรรมที่คนแถบอนุทวีปหลงรักและปักใจ เพราะการแสดงดังกล่าวนั้นคือ พื้นที่อิสระของชาวอนุทวีป พวกเขาหลงรักในเสียงเพลงและการเต้นเป็นอย่างมาก ทาง Routes 2 Roots ได้จัดแสดงคอนเสิร์ตมากกว่า 100 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีเทศการวัฒนธรรมประเพณีถูกนำเสนอขึ้นผ่าน Routes 2 Roots อีกด้วย
กิจกรรมที่ไดรับความนิยมมากเป็นลำดับต้น ๆ ของอินเดียคือ การแสดง เช่น การประกวดร้องเพลง การประกวดเต้นรำ เป็นสิ่งที่ผู้คนแถบนี้หลงรักเป็นชีวิตจิตใจ ยังรวมไปถึงเทศกาลหนัง เทศกาลบทเพลง เทศการซูฟี เทศกาลเพลงป็อบและอื่น ๆ
R2R หวังให้เกิดสันติภาพและความเข้าใจระหว่างกันของผู้คนในประเทศแถบเอเชียใต้แห่งนี้ ภายใต้สโลแกนของกลุ่มที่ได้ก่อตั้งขึ้นนั่นก็คือ “จงภูมิใจในตัวคุณเอง คุณกำลังเปลี่ยนชีวิตของเด็กน้อย ผู้ที่จะโตขึ้นเป็นอนาคตของโลกใบนี้ ความตั้งใจของคุณเป็นสิ่งที่น่าเชยชมที่สุด อย่ายอมแพ้” [8] การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้ Routes 2 Roots กลายเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในฐานะ NGO ที่ทำงานทางด้านวัฒนธรรม “The Best Cultural NGO” ของประเทศอินเดีย
References
[1] https://www.bbc.com/thai/international-47435816 (Accessed 12 March 2019)
[2] https://www.internationalnewsandviews.com/routs-2-roots-in-collaboration-with-the-citizens-archive-of-pakistan-launched-exchange-for-change-2013-2015-in-karachi/ (Accessed 12 March 2019)
[3] https://www.bbc.com/thai/international-45191826 (Accessed 12 March 2019)
[4] https://interculturalinnovation.org/routes-2-roots/ (Accessed 12 March 2019)
[5] https://www.internationalnewsandviews.com/routs-2-roots-in-collaboration-with-the-citizens-archive-of-pakistan-launched-exchange-for-change-2013-2015-in-karachi/
[6] https://www.bbc.com/thai/international-45191826
[7] https://www.bbc.com/thai/international-45191826
[8] http://www.routes2roots.com/ (Accessed 12 March 2019)