
โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1. มาตรการการกระตุ้นเศษฐกิจและการเงินให้เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดของตนเอง
แต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ต้องมีมาตรการการกระตุ้นเศษฐกิจและการเงินให้เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดของตนเอง เพื่อเยี่ยวยาความสูญเสียที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มประชาชนตั้งแต่กลุ่มรากหญ้า กลุ่มรายได้ปานกลาง ไปจนกระทั่งรายได้สูง ดังนั้น มาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญยิ่ง ทำให้ทุกประเทศต้องมีนโยบายออกมารองรับให้เกิดความเชื่อมั่นต่อประชาชนทุกกลุ่ม ตัวอย่างเช่น อินเดียประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้งบประมาณร้อยละ 2 ของ GDP ในขณะที่บังกลาเทศใช้งบประมาณร้อยละ 3.3 ของ GDP และปากีสถานใช้งบประมาณร้อยละ 1.6 ของ GDP เพื่อพยุงเศรษฐกิจจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโควิด 19
อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่แต่ละประเทศประกาศไว้นั้น ยังถือว่าน้อยมากหากเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่น กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ใช้เม็ดเงินกว่าร้อยละ 10 ของ GDP ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่จึงมองว่า รัฐบาลควรพิจารณางบประมาณเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่งบประมาณส่วนอื่นๆ อาจมาจากรายได้หมุนเวียนภายในประเทศที่รัฐต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้สามารถพึ่งพาตนเองมากขึ้นหรือแม้กระทั้งการเพิ่มอัตราภาษีต่างๆ
นอกจากนี้ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ยังคงต้องพึ่งพาและหวังการช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ส่งผลร้ายแรงกับประเทศที่พัฒนา ปอกรกับข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะวิถีการสร้างสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับภูมิภาคนิยมจึงเป็นประเด็นสำคัญ ที่สามารถพัฒนาความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งภายในภูมิภาคได้ด้วยตนเอง
ในขณะที่สถาบันทางการเงินระหว่างประเทศอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับพยุงเศรษฐกิจเบื้องต้น การผลักดันกองทุนของสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation) หรือ SAARC เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมีความสำคัญยิ่ง ในทางกลับกัน ทางออกสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค คือ การสร้างความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยใช้เวทีของ SAARC แต่ต้องละทิ้งประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาค และหันมาร่วมมือในประเด็นด้านความร่วมมือทางสาธารณสุข ตลอดจนประเด็นการแลกเปลี่ยนแนวความคิดการพึ่งพาเศรษฐกิจตนเองระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเอเชียใต้
2. มาตราการการพัฒนาด้านสาธารณสุขและจัดสรรงบประมาณทางการแพทย์
บทเรียนสำคัญเกี่ยวกับปัญหาด้านสาธารณสุข คือ ที่ผ่านมาแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางการแพทย์เท่าที่ควร กล่าวคือ หลายประเทศจัดสรรงบประมาณทางการแพทย์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยรวมแล้วภูมิภาคเอเชียใต้ใช้งบประมาณทางการแพทย์เฉลี่ยเพียงแค่ร้อยละ 0.9 เท่านั้น โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และบังกลาเทศ ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีค่อยข้างจำกัด ทำให้ไม่เพียงพอต่อการรับมือของผู้ป่วยที่มีอัตราของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงเวชภัณฑ์ ยารักษาโรคหรือแม้กระทั้งการเตรียมพร้อมของเตียงผู้ป่วย ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อวิกฤติทางด้านสาธารณสุขของภูมิภาค เนื่องมาจากบุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด
ดังนั้น แต่ละประเทศควรให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณทางการแพทย์ให้มากกว่าเดิม และต้องเพิ่มทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ บุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียใต้ส่วนใหญ่ไปทำงานในต่างประเทศมากกว่า เนื่องจากได้รับเงินเดือนสูงกว่าในประเทศของตน ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงต้องพิจารณางบประมาณสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเหมาะสมเพื่อดึงดูดบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานภายในประเทศได้มากขึ้น
3. มาตราการการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย
แนวทางการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจต้องคำถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังเติบโต เช่น ผู้มีรายได้น้อยไปจนถึงผู้มีรายได้ปานกลาง ผู้เป็นกลุ่มก้อนของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้น เมื่อกลุ่มก้อนของประชากรในกลุ่มนี้ต้องประสบกับปัญหา เช่น การตกงาน อันเนื่องมาจากการปิดตัวลงของห้างร้าน บริษัท และโรงงานต่างๆ จนทำให้ขาดรายได้ และมีรายรับประจำวันลดน้อยลง นอกจากนี้ ผลกระทบจากโควิด 19 ยังนำมาซึ่งสภาวะความขาดแคลนทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอัฟกานิสถานและเนปาล เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านภูมิประเทศ หากการขนส่งอาหารปิดตัวลงหรือการปิดพรหมแดนระหว่างประเทศ ทั้งสองประเทศอาจต้องเผชิญกับความมั่นคงทางอาหาร
ด้วยเหตุนี้ นัยสำคัญต่อแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก และควรมุ่งไปที่การผลักดันเศรษฐกิจฐานราก จากกลุ่มคนยากจนและกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากสู่ระดับบน ทั้งนี้ การปฏิรูปดังกล่าวเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาเท่านั้น ในแต่ละประเทศยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านอื่นๆ รวมถึงความมั่นคงทางอาหารด้วย ดังนั้น รัฐต้องผลักดันและสร้างบรรยากาศสำหรับการลงทุน โดยเริ่มจากการลงทุนขนาดเล็กของประชากรในกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้ธุรกิจแบบดิจิตอลและออนไลน์มาเป็นตัวจุดประกายความน่าสนใจต่อการพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้า
4. มาตรการการจัดการล็อกดาวน์ (lockdowns)
สถานการณ์ล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมจำกัดการเดินทางและกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ยังคงมีความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ ทำให้การบริหารของรัฐท่ามกลางข้อจำกัดจึงเป็นเรื่องท้าทายยิ่ง โดยเฉพาะ กระแสของประชาชนที่ต้องการให้รัฐผ่อนคลายล็อกดาวน์ลง อันเนื่องมาจากปัญหาปากท้องและรายได้ที่ขาดหายไป อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐในการประกาศล็อกดาวน์ และเว้นระยะห่างทางสังคมถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะกระทบต่อประชาชนจำนวนมากก็ตาม
ในภูมิภาคเอเชียใต้ การควบคุมจำกัดการเดินทางและกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะถือได้ว่าอยู่ในสภาวะที่จัดการได้ยาก เนื่องจากมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มาตรการต่างๆ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า แท้ที่จริงแล้วประชาชนกลัวการติดเชื้อโควิด 19 หรือกลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐกันแน่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อมาตรการเท่าที่ควร ทำให้เกิดภาพการจัดการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจและกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งด่าน การตี และการควบคุมฝูงชนที่ฝ่าฝืน ในขณะเดียวกันบางพื้นที่กลับมีจำนวนเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลน้อยมาก ส่งผลให้เกิดการข้อบังคับและข้อปฏิบัติต่างๆ ดังนั้น เมื่อรัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ รัฐจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านการจัดการเรื่องอาหารที่จำเป็นสำหรับประชาชนในพื้นที่ และการควบคุมราคาสินค้าให้เหมาะสม เพื่อมิให้เกิดกรณีการฉวยโอกาสของพ่อค้าแม่ค้าที่ขึ้นราคาสินค้าตามอำเภอใจ จนทำให้ผลกระทบตกอยู่กับประชาชนเพียงฝ่ายเดียว และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นการวางแผนผ่อนปรนในแต่ละช่วงจึงควรต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและมีความรอบครอบ เพื่อไม่ให้เกิดการแผ่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ระลอกใหม่ขึ้นอีก
5. มาตรการกองทุนฉุกเฉินของ SAARC
กองทุนฉุกเฉินของ SAARC หรือ สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ทั้ง 8 ประเทศ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนมาตรการการป้องกันการระบากของเชื้อโควิด 19 ในภูมิภาคมีความเป็นไปได้มากขึ้น หากกลุ่มประเทศสมาชิกให้ความร่วมมือต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ยังรวมไปถึง การขนส่งสินค้าและอาหารที่จำเป็นผ่านไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ได้มีการจัดประชุมกับผู้นำประเทศร่วมกันไปแล้วเมื่อ 15 มีนาคม 2563 และในที่ประชุมได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินและแผนการจัดการเรื่องโควิด 19 ในระดับภูมิภาค
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
– Ganeshan Wignaraja, Selim Raihan, Puspa Sharma, Vaqar Ahmed, Prabir De, (2020) View: Proposals to drive the recovery in South Asia. Online available at https://economictimes.indiatimes.com/news/international/world-news/view-proposals-to-drive-the-recovery-in-south- asia/articleshow/75375780.cms?utm_source=contentofinterest&utm_medium=text&utm_campaign=cppst (accessed on 31/05/2020)
– https://www.worldometers.info/coronavirus/?utm_campaign=homeAdvegas1?%22%20%5Cl%20%22countries#countries