โดย นางสาวนิสรีนนา ดุหลำยะแม
นิสิตสหกิจศึกษาประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
“ปากีสถานบรรลุข้อตกลง TTP หยุดยิงเป็นเวลา 1 เดือน” [1]
การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญต่อเสถียรภาพของปากีสถานนับตั้งแต่ประกาศเอกราชในปีค.ศ. 1947 เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ปากีสถานประสบกับปัญหาในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหากลุ่มก่อการร้ายที่เป็นอุปสรรค การก่อเหตุความรุนแรงและการก่อจลาจลคอยขัดขวางไม่ให้ประเทศเกิดการพัฒนา สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ภายหลังตาลีบันยึดอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้การก่อเหตุความรุนแรงในปากีสถานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิมราน ข่าน ประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม TTP เป็นเวลาหนึ่งเดือน ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ไปถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัฐบาลปากีสถานจะปล่อยตัวสมาชิก TTP ที่ถูกจับกุม
เตห์รีค-อี-ตาลีบัน (Tehreek-i-Taliban Pakistan: TTP) เป็นกลุ่มติดอาวุธสุดโต่งที่แยกตัวออกมาจาก กลุ่มตาลีบันของปากีสถานและถือเป็นองค์กรร่มที่ใหญ่ที่สุดในปากีสถานซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อรัฐบาล TTP ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2007 จากการรวมตัวกันของแนวร่วมกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ภายใต้แกนนำของไบตุลเลาะห์ เมห์ซูด จากกลุ่มเมห์ซูดที่มีบทบาทและกุมอำนาจสูงสุดขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อล้มล้างรัฐบาลระบอบสาธารณรัฐสู่รัฐอิสลามอย่างเต็มรูปแบบผ่านการบังคับใช้ชารีอะห์หรือกฎหมายอิสลามที่มีฐานมาจากคัมภีร์อัลกุรอ่านและซุนนะห์ต่อระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม และสร้างกองกำลังเพื่อให้ความช่วยเหลือตาลีบันอัฟกานิสถานต่อต้านสหรัฐ
การจับมือกันในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่สันติภาพและความมั่นคงของชาติทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กระนั้น รัฐบาลยังคงต้องการให้ฝ่าย TTP ปลดอาวุธและกลับมาอยู่ภายใต้กฎหมาย ฝ่ายรัฐบาลปากีสถานรวมถึงกลุ่ม TTP ทำการจัดตั้งคณะกรรมการในการเจรจาสันติภาพ โดยมีอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบันเป็นตัวกลางในการเจรจา การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลและกลุ่ม TTP ครั้งนี้เป็นเหมือนใบเบิกทางที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของปากีสถานในอนาคต แม้ว่าสันติภาพในปากีสถานจะต้องใช้เวลาและดำเนินการในหลายกระบวนการ แต่การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงถือเป็นก้าวแรกที่จะนำมาซึ่งการสร้างสันติภาพและความสงบสุขเหนือดินแดนปากีสถาน [3]
ภายใต้รัฐบาลของอินราน ข่าน ปากีสถานกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สภาวะอัตราเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นในวิกฤติโควิด – 19 ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจปากีสถานติดลบ ร้อยละ 0.4 ราคาสินค้าและอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากการผันผวนราคาของตลาดโลก และการขาดนโยบายในมิติการเกษตรและอุตสาหกรรมของรัฐบาล ทรัพยากรไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า ผนวกกับสถานการณ์ความไม่สงบเรื้อรังได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนทั้งในและนอก และเพื่อขับเคลื่อนให้ปากีสถานเดินต่อไป รัฐบาลอาจจำเป็นต้องใช้มาตการรัดเข็มขัดเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นซึ่งสวนทางกับรายได้และกำลังซื้อของผู้คน สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจนนำมาซึ่งการเดินขบวนประท้วงในหลายพื้นที่ในปากีสถาน [4]
เราจะเห็นได้ชัดว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปากีสถานเผชิญหน้ากับภายคุกคามจากภายในและภายนอกที่เป็นปัญหาสั่งสมของสังคมปากีสถาน ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง การก่อการร้าย รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่มีการเดินประท้วงไล่รัฐบาลในหมู่ประชาชนและฝ่ายค้าน อีกทั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาตอกย้ำถึงความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหาร จัดการ และแก้ไขปัญหา แต่การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลและกลุ่ม TTP นั้นถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของปากีสถาน หากข้อตกลงหยุดยิงสามารถขยายระยะเวลาและดำเนินต่อไป แนวโน้มปากีสถานในอนาคตสามารถอธิบายได้ใน 2 มิติ ดังนี้
1. มิติความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนสามารถยุติการก่อเหตุของกลุ่ม TTP และเป็นช่วง “ทดเวลาบาดเจ็บ” ของรัฐบาลปากีสถานกับปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และ covid – 19 รัฐบาลสามารถสร้างไว้วางใจต่อกลุ่มติดอาวุธผ่านการปฏิบัติตามข้อตกลงและข้อเรียกร้องในขณะนั้นไปจนถึงการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนรวมถึงนักลงทุนในการที่จะพลิกสถานการณ์ปากีสถานให้ดีขึ้น ทั้งความมั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่สามารถเดินขนานไปกับการสร้างสันติภาพ
อีกนัยหนึ่ง การที่รัฐบาลตาลีบันของอัฟกานิสถานเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางในกระบวนการสันติภาพนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงถึงความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กล่าวคือ หากเรามองย้อนกลับไป การกลับมามีอำนาจของตาลีบันเหนืออัฟกานิสถานนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกเท่าที่ควร หลายประเทศได้มีการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับตาลีบันด้วยภาพจำในอดีตที่ชี้ให้เห็นถึงภาพกลุ่มก่อการร้ายและหัวรุนแรงสุดโต่ง ปากีสถานเองก็ได้รับผลประโยชน์จากความสำเร็จของอัฟกานิสถานภายใต้ตาลีบัน โดยเฉพาะทางการค้า ในทางกลับกัน หากตาลีบันล้มเหลว ปากีสถานที่มีดินแดนติดกันเปรียบเสมือนด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับผลกระทบที่จะตามมา อาทิ กลุ่มผู้อพยพที่อาจนำมาซึ่งปัญหาทางสังคมตลอดจนความมั่นคงของรัฐ และในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด อาจนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานของกลุ่มติดอาวุธ
2. มิติการสร้างสันติภาพและสันติวิธี
ข้อตกลงหยุดยิงที่เกิดขึ้นแสดงถึงการยอมถอยคนละก้าวของทั้งสอง ตระหนักถึงความเสียหายและสูญเสียที่เกิดขึ้น การเจรจาสันติภาพสามารถดำเนินการต่อไป ปากีสถานอาจเดินทางสู่สันติภาพ แม้ความต้องการบางประการหรือกระบวนการบางขั้นตอนไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกัน เช่น ความต้องการที่จะเปลี่ยนปากีสถานสู่รัฐอิสลามของกลุ่ม TTP ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล ในเมื่อบรรยากาศและเวทีการเมืองถูกเปิด การหันสู่เส้นทางการเมืองจะเป็นตัวเลือกหนึ่งในการมีบทบาทกำหนดทิศทางปากีสถาน ผ่านการจัดตั้งพรรคการเมืองหรือการลงเลือกตั้ง และเป็นการต่อสู้อย่างสันติ การมุ่งสู่กระบวนการสันติภาพหรือสันติวิธีต้องใช้เวลาและดำรงอยู่บนพื้นฐานความจริงใจ ความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม TTP ได้ออกมาประกาศยุติข้อตกลงหยุดยิงเนื่องจากรัฐบาลปากีสถานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและละเมิดข้อตกลง รัฐบาลไม่ปล่อยตัวสมาชิกที่ถูกจับกุม อีกทั้งทำการโจมตีและจับกุมสมาชิก TTP ในหลายพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าการเจรจายุติลงตั้งแต่ข้อเรียกร้องของกลุ่ม TTP ในการใช้กฏหมายอิสลามถูกเสนอขึ้นมา ภายหลังออกประกาศยุติข้อตกลง TTP ได้ดำเนินการก่อเหตุอีกครั้ง โดยมุ่งโจมตีไปที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก เช่น การก่อเหตุในแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควาติดต่อกัน 3 ครั้งภายในเวลา 2 วัน [6] และคาดว่ามีแนวโน้มก่อเหตุเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสภาพการณ์รัฐบาลปากีสถานชุดปัจจุบัน ดังนั้น เสถียรภาพทางการเมืองปากีสถานในอนาคตจึงไม่อาจคาดการณ์ได้ และจำเป็นต้องติดตามต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
[1] ผู้จัดการออนไลน์. (2564). ปากีสถานบรรลุข้อตกลง TTP หยุดยิงเป็นเวลา 1 เดือน. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2564 จาก https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000111196
[2] Standford. (2561). Tehrik-i-Taliban Pakistan. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564 จาก https://cisac.fsi.stanford.edu/mappingmilitants/profiles/tehrik-i-taliban-pakistan
[3] Aljazeera. (2564). Pakistan government, banned TTP group reach ceasefire agreement. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2564 จาก https://www.aljazeera.com/news/2021/11/8/pakistan-government-banned-group- ttp-reach-ceasefire-agreement
[4] Uzair Younus. (2564). Pakistan’s Shifting Political and Economic Winds. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564 จาก
https://www.usip.org/publications/2021/10/pakistansshifting-political-and- economic-winds
[5] @TRTWorldNow. (2564). Can Pakistan PM Imran Khan convince the Tehreek-i- Taliban Pakistan to lay down arms? Here is what Khan had to say in an exclusive interview to TRT World’s Ali Mustafa in Islamabad. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2564 จาก https://twitter.com/TRTWorldNow/status/1443889043087974402?ref_src=twsrc%5 Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1443889043087974402%7Ctwgr %5E%7Ctwcon%5Es1_&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.dawn.com%2Fnews%2F1 649520 (รูปภาพ)
[6] Omer Farooq Khan. (2564). TTP chief asks his fighters to resume attacks. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2564 จาก https://timesofindia.indiatimes.com/world/pakistan/ttp-chief- asks-his-fighters-to-resume-attacks/articleshow/88214601.cms