โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เผยแพร่ครั้งแรกที่ MAPPING EXTREMISM IN SOUTH ASIA วันที่ 11 มีนาคม 2562
https://xstremarea.home.blog/2019/03/11/1103/
1.สภาพแวดล้อมของความรุนแรง
พื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำเนิดกลุ่มแนวคิดสุดโต่งหัวรุนแรง อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ สภาวะสงคราม ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเหล่านี้อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกปลูกฝังแนวคิดสุดโต่งที่เชื่อมโยงกับศาสนา การใช้ความรุนแรง ดังนั้นสภาพแวดล้อมจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการชักจูง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรม จนสามารถสร้างแนวร่วมมุมกลับต่อต้านรัฐ เป็นต้น
2.การปลูกฝังของผู้นำศาสนา
ผู้นำศาสนาถือเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างคุณธรรม จริยธรรม สร้างความเข้าใจและบรรยากาศแห่งความปรองดองต่อคนในพื้นที่ โดยใช้หลักการทางศาสนาที่ถูกต้องมายึดเหนี่ยวจิตใจผู้คน อย่างไรก็ตาม หากนัยของการเป็นผู้นำทางศาสนาถูกครอบงำในวิถีทางการเมือง มุ่งผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว บทบาทของผู้นำศาสนาก็อาจปรับเปลี่ยนไปตามวิถีทางการเมือง และอาจใช้แนวคิดสุดโต่งทางศาสนา เพื่อสร้างอุดมการณ์ทางการเมือง จนเป็นเหตุให้เกิดการเติบโตของกลุ่มก้อนที่นิยมความรุนแรงสุดโต่งตามมาได้ง่ายมากขึ้น
3.การบิดเบือนคำสอน
หนึ่งในสาเหตุหลักของความรุนแรงมุสลิมสุดโต่งเกิดจากการบิดเบือนคำสอนของศาสนาอิสลาม โดยการขับเคลื่อนผ่านบุคคลบางกลุ่มที่ปลูกฝังแนวความคิดและคำสอนในทางที่ผิด นำไปสู่พฤติกรรมและปฏิกิริยาในการใช้ความรุนแรง สร้างความความสูญเสียกับสังคมและผู้บริสุทธิ์ แม้ว่าศาสนาอิสลามจะต่อต้านการใช้ความรุนแรงในทุกมิติ และเป็นศาสนาแห่งความรักและสันติภาพก็ตาม [1] การบิดเบือนคำสอนทางศาสนาจะนำมาซึ่งความแตกแยกทางสังคมทั้งในกลุ่มศาสนาเดียวกันและกลุ่มศาสนาอื่น ๆ ด้วย
4.การถูกเลือกปฏิบัติ
ความไม่เท่าเทียมและการถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเกิดจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดช่องว่างทางสังคม และความเหลื่อมล้ำตามมา ความรู้สึกไม่เท่าเทียมเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้กลุ่มแนวคิดสุดโต่งสร้างความชอบธรรมในการรวมกลุ่มก้อน เพื่อสร้างแรงต่อต้านกับสังคมส่วนใหญ่
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้วิเคราะห์ว่า ชาติพันธุ์ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของกลุ่มชน มีพื้นฐานในการปกป้องและสนับสนุนชาติพันธุ์ของตนให้สามารถยืดหยัดในสังคมได้ แม้ว่าความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงเสมอไป แต่ปัญหาชาติพันธุ์คือสาเหตุหลักความเกลียดชังที่หยั่งรากฝังลึกเป็นเวลายาวนาน และความรุนแรงชนิดที่เหลือประมาณ [2] ดังนั้น การถูกเลือกปฏิบัติจึงเป็นสาเหตุสำคัญต่อการถูกชักจูงให้เข้าร่วมกับกลุ่มแนวคิดสุดโต่งได้ง่ายมากขึ้น
5.การละเมิดสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนในอิสลามได้ให้เกียรติแก่มนุษย์ และยกย่องมนุษย์โดยถือว่ามนุษย์คือผู้ถูกสร้างที่สมบูรณ์และเพรียบพร้อมที่สุด บทบัญญัติและคำสอนของอิสลามมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองปัจจัยสิทธิขั้นพื้นฐานทั้ง 5 ประการ คือ การคุ้มครองศาสนา การคุ้มครองชีวิต การคุ้มครองสติปัญญา การคุ้มครองพันธุ์กรรมหรือศักดิ์ศรี และการคุ้มครองทรัพย์สิน [3] ดังนั้นหากมุสลิมถูกละเมิดสิทธิ์ดังกล่าวก็จะนำประเด็นทางศาสนามาใช้ในการต่อต้านและอาจเป็นสาเหตุต่อการรวมกลุ่มนิยมความรุนแรงเพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมี
6.ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ
ความซับซ้อน และปัญหาที่ยืดเยื้อ จะเป็นพลังสำคัญต่อการเติบโตของแนวคิดสุดโต่ง ซึ่งสามารถสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้กับปัญหาความขัดแย้ง อาทิ ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในจังหวัดชายแดนใต้ ความขัดแย้งในแคชเมียร์ และความขัดแย้งในโลกอาหรับ ซึ่งความยืดยื้อดังกล่าว ส่งผลต่อการขยายแนวร่วม และการสร้างเครือข่ายที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จนนำมาสู่การสร้างทัศนคตินิยมความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น
References
[1] “บทบาทผู้นำศาสนาอิสลาม”กับการบิดเบือนหลักคำสอน ออนไลน์ ในhttps://www.southernreports.org/2018/07/16/southern2561 (เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2562)
[2] “ความรุนแรงชนิดเหลือประมาณ” ในทั้งสองกรณีนี้ได้ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (2546), อาวุธมีชีวิต: แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, หน้า 15-17
[3] มัสลัน มาหะมะ (2561) สิทธิมนุษยชนในอิสลาม ออนไลน์ ใน http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=55&id=973