สำรวจมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลอินเดียท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ศูนย์อาเซียนศึกษา ศูนย์เกาหลีศึกษา และศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ 

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Facebook Pages: กระแสอินเดีย เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563

.https://www.facebook.com/KrasaeIndia/photos/a.105349947805888/105349164472633/?type=3&theater

อาจกล่าวได้ว่า อินเดีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่อาจจะมีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก สำหรับประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1.35 พันล้านคน แต่ ณ วันที่ 10 เมษายน 2020 อินเดียมีผู้ติดเชื้อเพียง 6,725 ราย เสียชีวิต 229 ราย ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรระดับมากกว่า 1 พันล้านคน และแน่นอนว่านี่ถือเป็นการลบคำสบประมาทของหลายๆ คนที่มักจะเข้าใจว่าอินเดียคือประเทศ ยากจน ล้าหลัง ด้อยพัฒนา โดยที่เลือกมองเพียงจุดเล็กๆ ที่อาจจะเห็นความสกปรกรกรุงรังในบางพื้นที่ ไปปิดบังภาพความจริงที่ว่า อินเดีย คือ เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด เป็นอันดับที่ 3 ของโลกหากพิจารณาตามมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่ปรับความแตกต่างของค่าครองชีพ (GDPPPP) หรือฐานะของอินเดียที่มี #วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยังไม่นับความเป็น อู่อารยธรรม ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และฐานะของ ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

รัฐบาลอินเดียเริ่มต้นมาตรการตรวจสุขภาพผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ (Passenger Screening) มาตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2020 หรือ 12 วันก่อนที่จะพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศในวันที่ 30 มกราคม ในขณะที่อิตาลีเริ่มกระบวนการนี้ 25 วันหลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก และสเปนรอจนผ่านไปแล้ว 39 วัน รัฐบาลอินเดียเริ่มต้นจำกัดการเดินทางบางส่วน (Partial Lockdown) ภายใน 52 วันหลังเข้าสู่การระบาดในเฟสที่ 2 (ประชาชนติดเชื้อโดยใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติ) และตัดสินใจปิดเมือง (Complete Lockdown) ในอีก 3 วันต่อมา เมื่อมีผู้ติดเชื้อในระดับ 400-500 ราย ในขณะที่ในยุโรปและสหรัฐเริ่มต้นกระบวนการ Lockdown เมื่อมีผู้ติดเชื้อในเฟสที่ 3 (ประชาชนติดเชื้อกันเองภายในชุมชนของตน) เกินกว่า 4,000 ราย การปิดสนามบินไม่รับผู้โดยสารต่างชาติเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2020

ด้านอุปกรณ์การแพทย์อินเดียมีโรงพยาบาลที่เตรียมพร้อมรับมือการระบาดของ COVID-19 ไว้แล้ว 508 แห่ง และจะเพิ่มเติมปรับปรุงสถานพยาบาลให้สามารถรับมือกับ COVID-19 ได้อีก 5,110 แห่ง (เพิ่มจากเดิมอีกมากกว่า 10 เท่า) และจะทำให้อินเดียมีเตียงรองรับผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 196,110 เตียงสำหรับผู้ป่วยที่แสดงอาการ 35,823 เตียง ICU สำหรับผู้ป่วยวิกฤต พร้อมกับเครื่องช่วยหายใจอีก 17,802 เครื่อง (และขณะนี้กำลังสั่งซื้อเพิ่มอีก 49,000 เครื่อง)

และที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ คือ การปรับ #ตู้ขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศอีก 2,500 ตู้ให้กลายเป็นเตียงรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอีก 40,000 เตียง

ขอความร่วมมือในการปรับปรุงและเชื่อมโยงเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั้งของภาครัฐและของเอกชนให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้อีก 223 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ ณ ปัจจุบันอินเดียสามารถตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 150,000 ราย และที่สำคัญมากกว่าเครื่องไม่เครื่องมือ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีการจัดอบรมให้ความรู้ทั้งแบบ Online และ Offline ไปแล้วทั้งในระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น ซึ่งทำมาตลอดเกือบจะทุกสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมีนาคม และมีการซ้อมใหญ่หากเกิดการแพร่ระบาดขั้นรุนแรงกับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศพร้อมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มีนาคม

รวมทั้งรัฐบาลกลางยังได้มีการจัดสรรงบประมาณอีก 1.5 แสนล้านรูปี (ราว 65,000 ล้านบาท) ให้เป็นเงินทุนในการพัฒนาภาคสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการทำประกันสุชภาพให้กับบุคลากรสาธารณสุขอีก 2.2 แสนคนมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม

ด้านการเยียวยาทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอินเดีย รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้ 1.7 ล้านล้านรูปี (7.4 แสนล้านบาท) ไว้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง 4 กลุ่ม อันได้แก่ ชาวนา (Kisan), แรงงาน (Majdoor), คนยากจน (Gareeb) และ ผู้เดือดร้อนอื่นๆ (Peedit) ภายในโครงการสวัสดิภาพคนยากจนของนายกรัฐมนตรี Pradhan Mantri Garib Kalyan Yojana (Pradhan Mantri – ประธานมนตรี Garib – ยากจน Kalyan – สวัสดิการ Yojana – โครงการ) ที่น่าสนใจคือ โครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การแจกจ่ายเงิน แต่ยังดูแลลงไปจนถึงการจัดหาอาหารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงจนสามารถต้านทางโรคร้ายได้ เพราะต้องอย่าลืมว่า คนที่รับเชื้อ 100 คน จะมีอาการเจ็บป่วยเพียง 20 คน ดังนั้นสุขภาพที่แข็งแรงจะทำให้คนไม่เจ็บป่วย และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)

ภายใต้โครงการนี้รัฐบาลในทุกระดับจะ แจกจ่ายธัญพืช ให้กับประชาชน 800 ล้านคน จำนวน 5 กิโลกรัมต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน (เพิ่มขึ้นจากทุกความช่วยเหลือที่เคยมีอยู่แล้ว) แจกจ่ายถั่ว ประเภทต่างๆ (Pulses) ให้ประชาชนจำนวน 194 ล้านครอบครัว ครอบครัวละ 1 กิโลกรัมเป็นเวลา 3 เดือน ต้องอย่าลืมนะครับว่าประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียบริโภคอาหารมังสวิรัติ ดังนั้น ธัญพืชคือคาร์โบไฮเดรต และถั่วคือโปรตีน ซึ่งทำให้มีสารอาหารครบถ้วนแล้ว นอกจากนั้นแล้วยังมีการ #แจกจ่ายก๊าซหุงต้ม สำหรับประชาชนอีก 80 ล้านครัวเรือนในเวลา 3 เดือนอีกด้วย

สำหรับมาตรการแจกสตางค์เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพในยามที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้ตามปกติ รัฐบาลจะช่วยเหลือเงินจำนวน 1,000 รูปี (450 บาท) ให้กับกลุ่มผู้สูงวัยและผู้เป็นหม้าย จำนวน 30 ล้านคน มอบเงิน 2,000 รูปี (900 บาท) ให้กับเกษตรกรรายย่อยจำนวน 80 ล้านราย จ่ายเงินเพิ่มให้อีก 500 รูปี/เดือน เป็นเวลา 3 เดือนสำหรับสตรียากจนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Pradhan Mantri Jan Dhan Yojana: PMJDY) จำนวน 204 ล้านคน และยังมีการจ่ายเงินให้กับแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมในอัตรา 24% ของเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน โดยในจำนวนนี้มีแรงงานราว 8 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 รูปี/เดือน

ในระดับรัฐ จะมีการจัดตั้งกองทุนขนาด 3.1 แสนล้านรูปี (1.33 แสนล้านบาท) เพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการให้กับแรงงานในภาคก่อสร้างจำนวน 35 ล้านคน และกองทุนขนาด 1.35 แสนล้านรูปี (5.8 หมื่นล้านบาท) เป็นกองทุนเพื่อสร้างและปรับปรุงสถานพยาบาล

จากนโยบายและมาตรการที่ผมนำเสนอมาทั้งหมด รัฐบาลอินเดีย อาจจะไม่ได้แจกจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งแน่นอนจำนวนมหาศาลและถ้าแจกเงินทั้งหมดเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอและยังเป็นภาระทางการคลังอีกด้วย แต่สิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำคือ #เน้นการจัดหาปัจจัยพื้นฐาน เช่น อาหาร และบริการสาธารณสุข ให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้จะเป็นขั้นพื้นฐาน และยังแสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ผมเชื่อว่ารัฐบาลอินเดียมองไกลไปกว่าแค่การสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคอย่างทันท่วงที เข้มข้น และเด็ดขาด แต่สิ่งที่พวกเขามองคือ หลังการระบาดของโรค อินเดียจะมีระบบสาธารณสุขและระบบสวัสดิการที่ดีขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของประชากรมากกว่า 1.3 พันล้านคน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *