เส้นทางการเลือกตั้งและการหวนคืนอำนาจของตระกูล “ราชปักษา” ในศรีลังกา

โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน

นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียกได้ว่า ณ ช่วงเวลานี้ ศรีลังกากำลังเผชิญหน้ากับความท้ายทายที่มีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า ความเป็นประชาธิปไตยของชาวศรีลังกากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่ และตระกูล “ราชปักษา” จะกลับมามีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเมืองของศรีลังกาอีกครั้งหรือไม่ คำถามเหล่านี้กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงของชุนกลุ่มน้อยในศรีลังกาที่มีต่อการเมืองของประเทศตนเอง

ผลจากการเลือกตั้งในศรีลังกาในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงคะแนนนิยมของชาวศรีลังกาต่อพรรคการเมือง ศรีลังกาพุธดูจาน่า เปรามูน่า (Sri Lanka Podujana Peramuna) ของนายมหินทรา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ที่กุมเสียงข้างมากในสภาได้ถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนถึง 145 ที่นั่งจากจำนวนสมาชิก 225 คน ทั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ์การเลือกตั้งกว่าร้อยละ 75 หรือประมาณ 16 ล้านคน แม้จะอยู่ในช่วงของการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม การกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายมหินทรา ราชปักษา ครั้งที่ 4 นี้ มีผลพวกมาจากความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนายโกตาบาญ่า ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ประธานาธิบดีศรีลังกา ซึ่งเป็นน้องชายของมหินทรา ราชปักษา ที่สามารถบัญชาการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในศรีลังกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกนัยหนึ่งมองว่านายโกตาบาญ่า ราชปักษา ได้ปูทางเพื่อการกลับมาของนายมหินทรา ราชปักษา

ในขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของอดีตนายกรัฐมนตรีนายรานิล วิกรมมาสิงเห (Ranil Wickremesinghe) ผู้นำพรรคการเมืองแห่งชาติ (United National Party, UNP) ได้รับเสียงสนับสนุนน้อยกว่าร้อยละ 5 ในการเลือกตั้งระดับเขต โดยมีเพียงแค่ 1 ที่นั่งในสภาเท่านั้น สืบเนื่องมาจากผลงานในรัฐบาลของนายรานิล วิกรมมาสิงเห ที่ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาอยู่ในสภาวะตกต่ำ ทั้งในเรื่องความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน และภัยความมั่นคง รวมถึงเหตุระเบิดในวันอีสเตอร์ที่ศรีลังกาเมื่อช่วงเดือนเมษายนปี 2562 ที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนี้ ความแตกแยกของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เคยให้การสนับสนุนนายรานิล วิกรมมาสิงเหอย่างพรรคการเมืองของนายซาจิตห์ พรีมาเดซ่า (Sajith Premadasa) ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ คือ พรรคสามัคคี จาน่า บาลาเวกายา (Sammagi Jana Balawegaya) ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับนายโกตาบาญ่า ราชปักษา กลับได้ที่นั่งในสภาถึง 54 ที่นั่ง ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ อาทิ พันธมิตรแห่งชาติทมิฬ (Tamil National Alliance) มี 10 ที่นั่งจากเดิมเคยมี 16 ที่นั่ง ในสภาในครั้งก่อน ผลจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำให้ฝ่านต่อต้านอำนาจราชปักษาเห็นถึงทิศทางและนโยบายของพรรคการเมืองใหม่ ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสิทธิความเท่าเทียมทั้งในรูปแบบของสวัสดิการประชาชน การศึกษา และการสร้างอาชีพ พรรคสามัคคี จาน่า บาลาเวกายา ของนายซาจิตห์ พรีมาเดซ่า จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของชนกลุ่มน้อยในศรีลังกา และเป็นคู่แข่งทางการเมืองใหม่ตระกูล “ราชปักษา” แทนที่นายรานิล วิกรมมาสิงเห

การหวานคืนสู่อำนาจของตระกูล “ราชปักษา”

การหวนคืนสู่อำนาจของตระกูล “ราชปักษา” ครั้งยิ่งใหญ่นี้ นำมาซึ่งความกังวลของชนกลุ่มน้อย กลุ่มชนต่างชาติพันธุ์ และกลุ่มต่างศาสนา เนื่องจากตระกูลราชปักษาเคยปราบปรามกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม กวาดล้างปราบปรามจนหมดสิ้นและประกาศชัยชนะเหนือกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเมื่อปี 2009 การหวนคืนสู่อำนาจในครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสชาตินิยมจนนำมาสู่ความขัดแย้งของคนในชาติระลอกใหม่หรือไม่ การเดินเกมทางการเมืองของตระกูล“ ราชปักษา” ล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายและมีนัยสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศทั้งในแง่ของความมั่นคงและเศรษฐกิจของศรีลังกา

Photo credit : https://www.aljazeera.com/news/2020/08/rajapaksa-brothers-win-landslide-sri-lanka-election-200807025501325.html

จากผลการเลือกตั้งในศรีลังกาชี้ให้เห็นว่า ประชาชนชาวศรีลังกาให้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนนักการเมือง ตระกูล “ราชปักษา” จากชัยชนะการเลือกตั้งทั่วไปของนายโกตาบาญ่า ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ในคราวการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2019 และชัยชนะครั้งล่าสุดของนายมหินทรา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ในการหวนคืนสู่ผู้นำประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี ทำให้นักวิชาการมองว่า ศรีลังกา กำลังเผชิญหน้ากับความท้ายทายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ แม้ว่าจะใช้ระบอบการเลือกตั้งก็ตาม แต่ในความเป็นจริงกลับสะท้อนให้เห็นว่า ตระกูล “ราชปักษา” มีอิทธิพลและทรงอำนาจสูงต่อชาวศรีลังกา อำนาจของพี่น้องตระกูล “ราชปักษา” ถูกจับตามองว่ากำลังทำให้ศรีลังกากลายเป็นประเทศอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้การควบคุมเชิงอำนาจและการบริหารประเทศของตระกูล “ราชปักษา” เพียงตระกูลเดียวหรือไม่ 

ยิ่งไปกว่านั้นมีรายงานจากสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 12 สิงหาคมรายงานว่า จากรายชื่อคณะรัฐมนตรีศรีลังกาชุดใหม่ 26 คนที่เปิดเผยในวันเดียวกันนี้ปรากฏชื่อของคนจากตระกูล “ราชปักษา” จะเข้ามามีตำแหน่งสำคัญทางการเมืองหลายคน ได้แก่ โกตาบาญ่า ราชปักษา รับหน้าที่คุมงานด้านกลาโหม มหินทรา ราชปักษา คุมด้านการคลัง วัฒนธรรมและการเคหะ รวมทั้งนามัล ราชปักษา (Namal Rajapaksa) ลูกชายคนโตของมหินทรา ราชปักษา คุมรัฐมนตรีการกีฬา และนายชามัล ราชปักษา (Chamal Rajapaksa) พี่ชายของโกตาบาญ่า ราชปักษา และมหินทรา ราชปักษา ซึ่งมีอายุ 77 ปี จะยังคงมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเช่นเดิมด้วย

นายราจิวะ วิเจสิงหา (Rajiva Wisesingha) นักการเมืองศรีลังกามองว่า การเมืองและการบริหารแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของศรีลังกาในปัจจุบัน อาจทำให้เกิดการเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ ศาล การคลัง การทหาร ตำรวจ และนำมาสู่การปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ประธานาธิบดี 

ในขณะที่นางซารุ รัตตา ฮุก (Sharu Rata Hugg) ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองของศรีลังกาก็มองว่าตั้งแต่นายรานิล วิกรมสิงเห (Ranil Vikram Singh) ถูกปลดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งนายมหินทรา ราชปักษา เป็นนายกรัฐมนตรีแทน รวมไปถึงการยุบสภาในช่วงก่อนหน้านี้ กระบวนการทั้งหมดเหล่านี้อาจไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน

นัยสำคัญประการหนึ่งที่นักวิชาการทางการเมืองในศรีลังกาวิเคราะห์ว่า จากการสนับสนุนของอดีตประธานาธิบดี ไมตรีปาลา สิริเสนา (Maithripala Sirisena) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกมทางการเมืองของตระกูล “ราชปักษา” กลับมาประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าข้อขัดแย้งระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในประเด็นความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญยังขึ้นอยู่กับอำนาจดุลพินิจศาลสูงสุดในศรีลังกาว่า การกระทำดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นปัญหารัฐธรรมนูญจึงเป็นประเด็นสำคัญที่นายมหินทรา ราชปักษา และโกตาบาญ่า ราชปักษา ต้องเร่งพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคลองกับอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีในปัจจุบัน

ทิศทางในการบริหารจัดการของตระกูล “ราชปักษา”

หากพิจารณาถึงการหาเสียงแบบชาตินิยมของทั้งสองพี่น้องตระกูล “ราชปักษา” โดยใช้หลังแนวคิดของอุดมการณ์เพื่อชาว “สิงหล” ถือได้ว่ายังได้รับแรงเสียงสนับสนุนจากชาวศรีลังกามาโดยตลอด พร้อมกันนี้นโยบายของพรรคที่ให้กลุ่มต่างชาติพันธ์และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ส่งผู้แทนเข้ามาในสภาตามจำนวนและสัดส่วนความเหมาะสมได้นั้นกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อสร้างความเชื่อมั่นของชาวศรีลังกาอีกด้วย นำมาซึ่งกระแสการตอบรับที่ดีจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำให้นายมหินทรา ราชปักษาให้หวนกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง

ในช่วงที่ผ่านมา โกตาบาญ่า ราชปักษา ถือเป็นผู้นำที่เด็ดขาดและเป็นที่รู้จักในนามผู้ที่ล้มขบวนการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่ม “พยัคฆ์ทมิฬ อีแลม” ในปี 2009 ในสมัยที่กุมอำนาจกระทรวงกลาโหม จนกลุ่ม “พยัคฆ์ทมิฬ อีแลม” เจรจาตกลงยุติการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาล แม้จะทำให้ความรุนแรงในศรีลังกาลดน้อยลง แต่พลวัตของความขัดแย้งในศรีลังกากลับเปลี่ยนทิศทางไปที่ความแตกต่างทางความเชื่อและศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวพุทธสุดโต่งกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมในศรีลังกา ซึ่งกลายเป็นประเด็นความท้าทายหนึ่งของรัฐบาลศรีลังกาในยุคปัจจุบันต่อการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ และไม่ให้เกิดกลุ่มก้อนของผู้ที่มีแนวคิดสุดโต่งที่อาจนำมาซึ่งความรุนแรงได้

แม้ว่าความมุ่งหวังของรัฐบาลชุดนี้จะเน้นการให้ความสำคัญกับทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้นประเด็นการเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีในการควบคุมกองกำลัง และอำนาจทางทหาร รวมทั้งแนวโน้มการยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญข้อที่ 13 เกี่ยวกับข้อผูกมัดทางทหารภายใต้ข้อตกลง อินโด-ศรีลังกา (Indo-Lanka Accord) ที่มีมาตั้งแต่ปี 1987 โดยอนุญาตให้เขตเมืองเล็ก 9 เขต มีอำนาจในการปกครองตนเองด้วย ทิศทางการดำเนินนโยบายของนายมหินทรา ราชปักษา และนายโกตาบาญ่า ราชปักษา จึงมีแนวโน้มสำคัญที่ทำให้อินเดีย และจีน อาจเข้ามามีบทบาทต่อประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศในเชิงความมั่นคง และเศรษฐกิจของศรีลังกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการดำเนินนโยบายของศรีลังกาจึงเป็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม นับได้ว่าศรีลังกาเป็นประเทศหนึ่งในประเทศส่วนน้อยของโลกที่มีการประกาศกำหนดการเลือกตั้งในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้เสถียรภาพทางการเมืองจะเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ผลกระทบโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกาอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ดังนั้นการหวนคืนอำนาจของนายมหินทรา ราชปักษา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงเป็นความหวังของชาวศรีลังกา แม้จะต้องอยู่ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ก็ตาม

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

References

– https://www.bbc.com/news/world-asia-53688584 (accessed on 11 August 2020)

– https://www.thaipost.net/main/detail/74263 (เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2563)

-https://www.aljazeera.com/news/2020/08/rajapaksa-brothers-win-landslide-sri-lanka-election-200807025501325.html (accessed on 11 August 2020)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *