เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน (Sir Syed Ahmad Khan) กับการปฏิรูปการศึกษาของมุสลิมในอินเดีย

โดย ดร.บัณฑิต อารอมัน

นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี ค.ศ. 2020 คือวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ (Aligarh Muslim University) นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1920 โดย เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน (Sir Syed Ahmad Khan) รัฐบุรุษและนักปฏิวัติมุสลิมคนสำคัญ ช่วงเวลาในขณะนั้นอินเดียยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษามุสลิมในอินเดีย เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน จึงเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกระลึกถึงและได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้จุดแสงสว่างแห่งวงการศึกษามุสลิมและเปลี่ยนแปลงสังคมมุสลิมในอินเดียด้วยอาวุธทางปัญญา
เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 1817 ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ครอบครัวสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ โมกุล (Mughal) ยศตำแหน่งของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ได้รับการแต่งตั้งจากบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 (Bahadur Shah Zafar or Bahadur Shah II) ซึ่งเป็นจักรพรรดิโมกุลองค์สุดท้าย แม้ว่าจะสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวชนชั้นสูง แต่ท่านเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ชาวอินเดียถูกกดขี่ และเห็นชาวมุสลิมที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตก เมื่ออินเดียเข้าสู่ยุคการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ในขณะนั้น เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลในศาล ทำให้ซึมซับกับวัฒนธรรมการทำงานและบริหารจัดการแบบอังกฤษ แต่ก็ยังตระหนักดีว่าสังคมมุสลิมในอินเดีย หลังจากที่การล่มสลายลงของราชวงศ์โมกุลก็ตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ตลอดมา ชาวมุสลิมมีคุณภาพชีวิตตกต่ำ และไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาทั้งไม่รู้หนังสือและอคติกับการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตก ส่งผลให้ไม่สามารถประกอบชีพหรือหาทำงานในสังคมได้ ซึ่งต่างจากชาวฮินดูในทัศนะของเซอร์ ชัยยิด มองว่าชาวฮินดูกลับมีความทะเยอทะยานต่อการศึกษา กลายเป็นผู้มีทักษะ มีความรู้ และสามารถประกอบอาชีพค้าขายได้ดีกว่าชาวมุสลิมในขณะนั้น

จากการได้สัมผัสกับชีวิตของชาวมุสลิมสังคมอินเดียในสมัยนั้นเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่านมองว่าหากสังคมมุสลิมในอินเดียไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจะยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของชาวมุสลิมยิ่งย่ำแย่ไปอีก เป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจผันตัวเองออกมาเป็นผู้ผลักดันด้านการศึกษา โดยเริ่มก่อตั้งมัดดารอซะฮ์ (Madrassa) ในเมืองโมราดาบัด (Muradabad) ตั้งแต่ปีค.ศ. 1859 แต่มัดดารอซะฮ์แห่งนี้ มีลักษณะการเรียนการสอนที่แตกต่างกับมัดดารอซะฮ์อื่นๆ ทั่วไป เพราะโรงเรียนแห่งนี้ ได้นำหลักวิชาการทั้งทางโลกและทางธรรมมาผสมผสานในหลักสูตรการเรียนการสอน มีการเน้นองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ทางศาสนาควบคู่กันไป และจัดการเรียนการสอนในมัดดารอซะฮ์โดยใช้ทั้งภาษาอุรดู ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอารบิก และภาษาอังกฤษ

เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน มีทัศนะที่แตกต่างไปจากนักคิดมุสลิมทั่วไปในยุคนั้น ท่านมองว่า การศึกษาศาสนาและการศึกษาโลกสมัยใหม่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จึงส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้ผสมผสานทั้งแนวคิดทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกันอย่างเข้มข้น โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา วรรณะ และสีผิว และเปิดรับกลุ่มมุสลิมทั่วอินเดีย เพื่อเป็นผู้ร่วมปฏิรูปการศึกษาไปด้วยกัน จนได้รับการสนับสนุนมากมาย กระทั่ง ค.ศ. 1877 จึงได้เริ่มก่อตั้งวิทยาลัยมุฮัมมะดัน แอลโกล โอเรียนตัล (Muhammadan Anglo Oriental College, 1875-1920) ในเมืองอาลีการ์ (เรียกตามสำเนียงท้องถิ่นว่า อลิฆัร) นำต้นแบบหลักสูตรการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) มาปรับใช้ในวิทยาลัยแห่งนี้ โดยมีเน้นการใช้หลักสูตรแบบอังกฤษ แต่ดำรงไว้ซึ่งคุณค่าของศาสนาอิสลามในวิทยาลัยควบคู่กันไป
แต่ความคิดริเริ่มอุดมการณ์ทางการศึกษาเช่นนี้กลับทำให้เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ตกอยู่ในชะตากรรมที่ยากลำบาก เนื่องจากแนวคิดเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานทางโลกและทางธรรม ทำให้ถูกโจมตีจากกลุ่มมุสลิมดั่งเดิม แม้ว่าวิธีการสอนแบบนี้จะส่งผลดีต่อการพัฒนาศักยภาพของมุสลิมในอินเดียก็ตาม เพราะมีการใช้ทั้งหลักวิชาทางวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก ควบคู่ไปกับอุดมการณ์ทางศาสนา สาเหตุสำคัญมาจากมุสลิมส่วนใหญ่ยังมีความอคติต่ออังกฤษที่เข้ามายึดครองดินแดนมุสลิมแถบนี้ อันเป็นดินแดนที่เคยมีความรุ่งเรืองในสมัยอาณาจักรโมกุล แนวทางการนำเอาวิชาการจากตะวันตกมาปรับใช้ในสังคมมุสลิมอินเดียของท่านจึงถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มนักวิชาการศาสนาอิสลามในอินเดีย เพราะมองว่ากระบวนการที่จะทำให้เกิดการซึมซับวิถีทางตะวันตก และทำให้สังคมมุสลิมถอยห่างจากหลักการศาสนาและหลักปฏิบัติ
แม้จะต้องประสบกับความยากลำบากในชีวิตเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่านก็ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ เนื่องจากมองเห็นถึงข้อเสียของแนวคิดแบบดั่งเดิมที่ทำให้ชาวมุสลิมเสียเปรียบ ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไร้การศึกษา และไร้ความสามารถ ทำให้สูญเสียโอกาสมากมาย เช่น ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการค้าขายกับอังกฤษ เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา จากปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของมุสลิมในอินเดียย่ำแย่ไปด้วย
ดอกผลจากความเพียรพยายามส่งผลให้อุดมการณ์ทางการศึกษาสมัยใหม่ตามหลักแนวคิดของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่านหลอมรวมวิชาการทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ทำให้เมืองอาลีการ์กลายเป็นพื้นที่แห่งขุมทรัพย์ทางวิชาการและพื้นที่ผลิตบุคลากรมุสลิมที่สำคัญของอินเดียแห่งหนึ่ง มีผู้สนใจเข้าศึกษาที่วิทยาลัยมุฮัมมะดัน แอลโกล โอเรียนตัล มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งชาวมุสลิม ฮินดู และคริสเตียนในอินเดีย จนกระทั่งในปีค.ศ. 1920 วิทยาลัยได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ (Aligarh Muslim University) จากการสนับสนุนของนักวิชาการมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมาตลอดมา
นับจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาเข้ามารับการศึกษาเกือบจะทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแอฟริกา เอเชียตะวันตก หรือตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างให้คนทุกชั้นวรรณะ ไม่ปิดกั้นในเรื่องของหลักความเชื่อ ศาสนาและเรื่องเพศ (จรัญ มะลูลีม, 2562) นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ได้ผลิตศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมาแล้วหลายคน อาทิ ดร.ซากิร ฮูเซน (Dr.Zakir Husain) อดีตประธานาธิบดีของอินเดีย นายมุฮัมมัด ฮามิด อันซฮรี อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้และอดีตรองประธานาธิบดีของอินเดีย นายอัยยูบ ข่าน (Ayyub Khan) อดีตประธานาธิบดีของปากีสถาน นายฟัซลี อิลาฮิ เชาดารี (Fazle llahi Chaudhari) อดีตประธานาธิบดีปากีสถาน และนายมันซูร อาลี (Mansoor Ali) อดีตนายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศ

ก่อนที่เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่านจะเสียชีวิตลง ท่านได้เขียนข้อความหนึ่งไว้ว่า “โอ้ ลูกหลานที่รักของข้าพเจ้า คุณมาถึง ณ สถานที่แห่งนี้ และขอให้จดจำไว้ว่า เมื่อข้าพเจ้าต้องทำภารกิจสำคัญนี้ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์รอบตัวข้าพเจ้า ทั้งหยาบคายและทอดทิ้งข้าพเจ้า ชีวิตข้าพเจ้าต้องเจอกับความยากลำบากจนข้าพเจ้าดูแก่กว่าวัย ข้าพเจ้าผมร่วง สายตาเอียง แต่นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวิสัยทัศน์ของข้าพเจ้า วิสัยทัศน์ข้าพเจ้าไม่เคยจางหาย การตัดสินใจของข้าพเจ้าไม่เคยผิดพลาด ข้าพเจ้าสร้างสถาบันแห่งนี้เพื่อลูกหลานทุกคน ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ทุกคนจะช่วยกันทำให้สถาบันเป็นแสงสว่างที่ส่องไปยาวไกล จนกระทั่งความหมองหม่นมลายหายไปจากรอบตัวของเรา” (Syed Javaid Zaidi, 2018)

Picture3

ทัศนะของฮินดูทวาต่อเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน (Sir Syed Ahmad Khan)

สถานการณ์ในอินเดียปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกจับตามองว่าใช้แนวทางของชาตินิยมฮินดู รัฐบาลจึงตกอยู่ท่ามกลางความกดดันและความขัดแย้ง แต่มีฮินดูทวาท่านหนึ่ง ชื่อ Najmul Huda ได้แสดงทัศนะที่มีต่อท่าน เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ว่า ถ้าหากท่านเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่านยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างศาสนาและเชื้อชาติในอินเดียเช่นนี้ ท่านคงนำพาความสันติสุขด้วยอาวุธทางปัญญา ท่านจะสงวนท่าทีที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมุสลิมในอินเดีย และท่านจะใช้สติปัญญาในการนำพามุสลิมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ Najmul Huda ทัศนะของตนเองผ่านซาช่าร์ (Sachar report) ซึ่งเป็นรายงานที่ว่าด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ และสังคมของมุสลิมในอินเดีย โดยได้ยกย่องให้ท่านเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน เป็นแบบอย่างในฐานะผู้ปฏิรูปการศึกษามุสลิมในอินเดีย ใจความว่า เมื่อใดก็ตามที่อินเดียมีการเมืองที่ร้อนแรง มีการกระทบกระทั่งในเรื่องศาสนา ที่สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างศาสนา เซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน คงจะสงวนท่าทีต่อการแสดงออก เพราะท่านทราบดีว่า หากไม่ระมัดระวังนอกจากจะนำมาซึ่งความสูญเสีย และความแตกแยกระหว่างชาวอินเดียด้วยกันแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อมุสลิมในอินเดียตามมาอีกด้วย เนื่องจากมุสลิมยังคงยิดติดอยู่กับหลักแนวความคิดเชิงอนุรักษ์นิยม และไม่เปิดกว้างต่อการหลอมรวมวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อเอกภาพของชาติ (Najmul Huda, 2020)
ดังนั้น ในวาระครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ ชื่อของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน จึงถูกหยิบยกจากฮินดูทวามาพูดถึงอีกครั้ง เพื่อนำมาเป็นข้อคิดให้กับสังคมมุสลิมอินเดียในปัจจุบันว่า มุสลิมอินเดียกำลังสร้างความแตกแยกภายในประเทศ ทำลายประเทศด้วยการพึ่งพาอำนาจจากการเป็นสมาชิกทางการเมือง (บางพรรค) เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จากรากฐานแนวคิดของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน มีวิสัยทัศน์ระหว่างศาสนากับการเมืองว่า “ต้องแยกกัน” เพราะศาสนาไม่สามารถจะผนวกร่วมกับผลประโยชน์ใดๆ ได้ เว้นแต่การมุ่งหวังต่อผลตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น การสร้างสังคมที่สันติสุข ไม่สร้างความแตกแยกและความวุ่นวายจึงเป็นเรื่องที่ชาวมุสลลิมความปฏิบัติตาม ด้วยเหตุนี้ ทัศนะของเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ต่อฮินดูทวาจึงมีลักษณะประณีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย ดังนั้นหากว่าท่านเซอร์ ชัยยิด อะหมัด ข่าน ยังคงมีชีวิตอยู่ ท่านจะตักเตือนต่อผู้นำเหล่านั้น (สมัยนั้นคือ กลุ่มขุนนางมุสลิม) ให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและท่าทีโดโดยคิดถึงผลประโยชน์แห่งชาติ คิดถึงรัฐธรรมนูญ คิดถึงผลประโยชน์มุสลิมในอินเดียมาก่อน จากแนวทางการทำงานของท่านก่อตั้งกลุ่มนักปฏิรูปทางการศึกษา และพิสูจน์ให้เห็นว่า อิสลามสามารถหลอมรวมให้เข้ากับวัฒนธรรมอินเดียได้อย่างลงตัว และมุสลิมในอินเดียล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติทั้งสิ้น

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

References

Syed Javaid Zaidi, (2018) website: gulf-times, online available at https://www.gulf-times.com/story/609635/Tribute-to-Sir-Syed-a-visionary-educationalist

NAJMUL HODA, 2020, Hindutva to Sachar report — What Syed Ahmad Khan would have done today, online available at https://theprint.in/opinion/hindutva-to-sachar-report-what-syed-ahmad-khan-would-have-done-today/524910/

จรัญ มะลูลีม มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 – 26 ธันวาคม 2562 ออนไลน์ https://www.matichonweekly.com/column/article_258975
https://www.amu.ac.in/ourfounder.

Photo credit :

Sir Syed Ahmad Khan Sketch.https://siliconeer.com/current/200-years-of-sir-syed-a-cause-to-celebrate-and-look-back/

Aligarh Muslim University https://i.pinimg.com/originals/fd/59/b4/fd59b4e8ba253b9207623d7cf8716a78.jpg

The last message of Sir Syed, etched in stone at the Aligarh Muslim University.https://siliconeer.com/current/200-years-of-sir-syed-a-cause-to-celebrate-and-look-back/

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *