วันนี้ฉันจะพูดกับท่าน วาริศ ชาห์

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คณะนิเทศศาสตร์ และ สถาบันเอเชียศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย อมฤตา ปริตัม
ถอดความโดย จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

ในวันที่ 14 และ 15 สิงหาคมของทุกปีจะเป็นวันเฉลิมฉลองการได้รับเอกราชของประเทศปากีสถานและประเทศอินเดียตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวาระที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์แบ่งแยกอินเดียในปี ค.ศ. 1947 ที่นำมาสู่เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างชุมชนและการอพยพย้ายถิ่นข้ามพรมแดนครั้งใหญ่ที่สุดในโลก คาดการณ์กันว่าจำนวนผู้ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นนั้นมีมากถึงยี่สิบล้านคน และเชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงถึงสองล้านคน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดปัญจาบที่ต้องถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานและอินเดียตามลำดับ
ปัญจาบ หรือ ดินแดนแห่งแม่น้ำห้าสายนั้นประกอบด้วยกลุ่มคนที่นับถือศาสนาซิกข์ ฮินดูและอิสลามอาศัยอยู่ปะปนกันไปมานานนับร้อยร้อยปี คนกลุ่มนี้ใช้ภาษาพูดร่วมกันคือภาษาปัญจาบี โดยอาจจะใช้ตัวอักษรคุรมุกขี (ਗੁਰਮੁਖੀ) อักษรนาครี (नागरी) หรือ อักษรชาห์มุกขี (شاہ مکھی) เพื่อจดบันทึกแตกต่างกันไปตามศาสนาความเชื่อและท้องถิ่นที่อาศัย
การแบ่งแยกปัญจาบออกเป็นสองส่วนด้วยพรมแดนที่จินตนาการขึ้นมาใหม่ ไม่เพียงแต่แยกนครละฮอร์และนครอมฤตสระที่อยู่ห่างจากกันเพียง 49 กิโลเมตรออกจากกัน แต่ก็ยังได้สร้างสำนึกใหม่ที่แตกต่างกันของประชากรที่อยู่ในฝั่งปากีสถานและฝั่งอินเดีย ส่งผลให้เกิดความรุนแรงระหว่างชุมชนที่เคยอยู่ร่วมกันมานับร้อยนับพันปี ความขัดแย้งได้ทำให้เพื่อนบ้านก็กลายเป็นอื่น ผู้คนจำนวนนับล้านต้องล้มตายจากสงครามนองเลือดระหว่างชุมชน ส่วนที่เหลือรอดก็ต้องพลัดพรากจากดินแดนที่อาศัยอยู่มาแต่ครั้งบรรพบุรุษ

เช่นเดียวกันกับชาวปัญจาบที่นับถือศาสนาซิกข์คนอื่นๆ อมฤตา ปริตัม นักเขียนสตรีผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของอินเดียที่ในขณะนั้นอายุได้ 28 ปีและกำลังตั้งท้องบุตรชายอยู่ ได้จำต้องเดินทางอพยพออกจากบ้านเกิดที่อยู่ในฝั่งปากีสถานมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในฝั่งอินเดีย หลังจากเหตุการณ์วิปโยคครั้งนั้น อมฤตาได้รจนาบทกวีชื่อ อัช อาขํา วาริศ ชาห์ นูน หรือ “วันนี้ฉันจะพูดกับวาริศ ชาห์” เพื่อสะท้อนประสบการณ์และมุมมองของเธอต่อเหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1947 บทกวีบทนี้สร้างชื่อให้กับอมฤตา ปริตัมเป็นอย่างมาก ทำให้เธอเป็นนักเขียนที่ได้รับการยกย่องและความนิยมอย่างมากในทั้งสองประเทศ นอกจากนี้แล้วบทกวีบทนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นบทกวีที่มีจำนวนผู้อ่านและจำนวนการถูกอ้างถึงมากที่สุดบทหนึ่ง

อมฤตา ปริตัม (ਅੰਮ੍ਰਿਤਾ ਪ੍ਰੀਤਮ – أمريتا برايتام) เกิดและเติบโตในกุชรัญวาลลา ที่ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดปัญจาบของปากีสถาน เมื่อมารดาของเธอเสียชีวิต บิดาของเธอผู้ซึ่งเป็นครูสอนหนังสือ นักคิดและกวีที่ยึดมั่นในคำสอนของศาสนาซิกข์จึงได้พาเธอย้ายมาอาศัยในนครละฮอร์ อมฤตาเริ่มเขียนบทกวีเพื่อจัดการกับความเศร้าและความโดดเดี่ยวของเธอตั้งแต่วัยเยาว์ หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของเธอได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1936 เมื่อเธออายุได้ 16 ปี บทกวีของเธอในยุคแรกๆ นั้นมักจะเกี่ยวข้องกับความรักและความโดดเดี่ยว หลังจากเกิดเหตุการณ์ความอดอยากในแคว้นเบงกอลในปี ค.ศ. 1943 ไปงานของก็ได้เปลี่ยนแนวทางมาให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมมากขึ้น

อมฤตา ปริตัมเป็นผู้หญิงที่มีความคิดก้าวหน้ากว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ในยุคสมัยเดียวกัน เธอเคยทำงานในสถานีวิทยุแห่งนครละฮอร์จนกระทั่งถึงเหตุการณ์การแบ่งแยกประเทศ เธอช่วยจัดตั้งห้องสมุดประชาชนและทำงานสังคมสงเคราะห์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในเดลี เธอแยกทางจากสามีของเธอเมื่อเธอแน่ใจว่าหมดรักเขาแล้วและมีคนอื่นที่เธอรักมากกว่า

นอกจากบทกวี อัช อาขํา วาริศ ชาห์ นูน แล้ว ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของอมฤตา ปริตัม ก็คือ นวนิยายเรื่อง ปินจาร์ (ਪਿੰਜਰ) หรือ โครงกระดูก ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1950 โดยเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของผู้หญิงในช่วงเวลาของการแบ่งแยกอินเดีย

อัช อาขํา วาริศ ชาห์ นูน เป็นคำตัดพ้อของอมฤตาต่อกวีชาวปัญจาบที่มีนามว่า วาริศ ชาห์ (وارث شاہ – ਵਾਰਿਸ ਸ਼ਾਹ) ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1722 ถึง ค.ศ. 1798 แม้ว่างานโดยส่วนใหญ่ของกวีท่านนี้จะได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมอิสลามสายซูฟี แต่บทกวีของเขาก็เป็นที่นิยมของผู้ที่ใช้ภาษาปัญจาบีทุกหมู่เหล่าโดยไม่แบ่งแยกศาสนา กระทั่งวาริศ ชาห์ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีแห่งปัญจาบ ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งก็คือบทกวีที่เล่านิยายโศกนาฏกรรมความรักของ หีรฺและราญฌา (ਹੀਰ ਰਾਂਝਾ – Heer Ranjha) ที่อมฤตาใช้เป็นสัญลักษณ์อ้างอิงถึงในบทกวีชิ้นสำคัญของเธอบทนี้

หีรฺและราญฌา เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแถบลุ่มน้ำจนาพ อันเป็นหนึ่งในแม่น้ำทั้งห้าสายของปัญจาบ ตามท้องเรื่องนั้น หีรฺ นางเอกของเรื่องตกหลุมรักเสียงขลุ่ยเพียงออของหนุ่มเลี้ยงวัวที่ชื่อว่า ราญฌา ทั้งสองลักลอบพบปะกันเป็นเวลานานนับแรมปี กระทั่งถูกลุงของเธอและเป็นตัวร้ายของเรื่องที่ชื่อว่า ไกโท จับได้ ทำให้หีรฺต้องถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่เธอไม่ได้รัก ราญฌาเสียใจมากและเดินออกจากเมืองไป เขาได้กลายเป็นโยคี ละทิ้งทางโลกและเดินทางไปทั่วปัญจาบเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งได้มาพบหีรฺอีกครั้งในหมู่บ้านที่เธออาศัยอยู่ ในที่สุดบิดาและมารดาของหีรฺก็ยินยอมให้ทั้งสองแต่งงานกัน แต่ในวันแต่งงานนั้นเองที่ไกโท ลุงผู้ชั่วร้ายของเธอก็ได้หลอกให้เธอกินขนมลฑฺฑูที่แอบใส่ยาพิษไว้เพื่อเป็นการลงโทษที่เธอทำตัวนอกลู่นอกทาง ทันทีที่ราญฌาได้ยินข่าว เขาก็รีบไปหาเธอแต่มันก็สายเกินไป ราญฌาจึงกินขนมลฑฺฑูที่เหลือและสิ้นลมไปเคียงข้างผู้หญิงที่เขารัก

อัช อาขํา วาริศ ชาห์ นูน ใช้สัญลักษณ์จากบทกวีอันเป็นที่รักของชาวปัญจาบเรื่องนี้เพื่อเปรียบเปรยถึงยาพิษแห่งความเกลียดชังที่มีฤทธิ์อยู่ในจิตใจของชาวปัญจาบในช่วงเหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดีย กระทั่งทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องล้มตายและไร้ที่อยู่ ขณะเดียวกันในการปลุกเรียกให้วาริศ ชาห์ให้ฟื้นตื่นจากหลุมศพเพื่อจดจารกวีบทใหม่ในหนังสือแห่งรัก อมฤตา ปริตามก็ได้พยายามปลุกความรักและความเป็นมนุษย์ในใจของพวกเราทุกคน

ในการแปลครั้งนี้ ผู้แปลใช้วิธีการแปลแบบถอดความ โดยยังได้เขียนขึ้นใหม่ตามรูปขนบกวีนิพนธ์ที่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นในภาษาปัญจาบีหรือในภาษาไทย การนี้เพื่อเก็บความและถ่ายทอดเนื้อหาและความเปรียบให้ผู้อ่านได้เข้าใจตามที่อมฤตา ปริตัมต้องการ อย่างไรก็ตามผู้แปลก็ได้ถ่ายเสียงบทกวีภาษาปัญจาบีเป็นอักษรไทยไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักกับฉันทลักษณ์และสำเนียงลีลาของบทกวีต้นฉบับ

ਅੱਜ ਆਖਾਂ ਵਾਰਸ ਸ਼ਾਹ ਨੂੰ – วันนี้ ฉันจะพูดกับท่าน วาริศ ชาห์ – اَج آکھاں وارث شاہ نُوں

คำถอดความ

วันนี้ ฉันจะพูดกับท่าน วาริศ ชาห์

จงเปล่งสุรเสียงของท่านจากหลุมฝังศพ

จงจดจารกวีบทใหม่ในหนังสือแห่งรัก

ครั้งหนึ่ง เมื่อบุตรสาวแห่งปัญจาบเพียงหนึ่งร่ำไห้ ท่านยังได้รจนามหากาพย์ถึงความทุกข์ระทมของนาง

ในวันนี้ บุตรสาวแห่งปัญจาบนับล้านคนกำลังร้องเรียกหาท่าน วาริศ ชาห์

ขอให้ท่านจงฟื้นตื่น กวีแห่งผู้ทุกข์ระทม

ขอให้ท่านจงฟื้นตื่นและเพ่งพิศดูปัญจาบของท่าน

ท้องทุ่งในวันนี้เกลื่อนกลาดด้วยซากศพ

สายนทีจนาพเอ่อล้นด้วยหยาดโลหิต

มีผู้วางยาพิษในสายน้ำทั้งห้า แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้แผ่นดินของเรา

ผืนดินอันอุดมนั้นถูกปนเปื้อนด้วยยาพิษ

ขอบฟ้าแปรเป็นสีแดงเถือกและเสียงสาปแช่งก็ลอยอบอวลทั่วท้องนภา

สายลมอุดมพิษที่พัดสู่ดงไพรได้เปลี่ยนหน่อไผ่อ่อนทั้งมวลให้กลายเป็นงูจงอาง

พิษงูฉกแรกส่งผลให้หมองูสิ้นมนตรา

พิษงูฉกต่อมาทำให้มหาชนมึนเมา

พิษงูฉกแล้วฉกเล่า จนทั่วองคาพยพของปัญจาบแปรเปลี่ยนเป็นสีนิล

เสียงดนตรีในท้องถนนกลายเป็นความเงียบ เส้นด้ายในกงปั่นก็ขาดผึง

หญิงสาวพากันหลบลี้จากลานบ้านและล้อหมุนของกงปั่นด้ายก็หยุดนิ่ง

เตียงวิวาห์และเรือแจวถูกทิ้งขว้าง

กิ่งโพธิ์ที่เคยใช้แขวนชิงช้าก็หักโค่น

เสียงขลุ่ยเพียงออที่เคยเป็นสื่อกลางแห่งรักก็สาบสูญ

เหล่าพระเอกของราญฌาต่างก็ลืมลีลาแห่งคีตานี้จนสิ้น

โลหิตหลั่งเป็นสายพิรุณสู่ผืนพิภพ ฉ่ำซึมแทรกออกมาจากหลุมศพ

เหล่าเจ้าหญิงแห่งนิยายรักพากันร่ำไห้ที่ใจกลางสุสาน

วันนี้มนุษย์ทุกผู้ล้วนกลายเป็นไกโท จอมโจรผู้ปล้นชิงความงามและความรัก

วันนี้เราจะควานหาวาริศ ชาห์คนใหม่ได้จากหนใด?

วันนี้ ฉันจะพูดกับท่าน วาริศ ชาห์

จงเปล่งสุรเสียงของท่านจากหลุมฝังศพ

จงจดจารกวีบทใหม่ในหนังสือแห่งรัก

คำถ่ายเสียง

อัช อาขํา วาริส ชาห์ นูน กิโตน กพรํา วิโจ โพล
เต อัช กิตาเพ อิชกึ ทา โกอี อคลา วรกา โฝล


อิก โรอี สี ธี ปัญชาพ ที ตูน ลิขะ ลิขะ มาเร ไวณา
อัช ละขํา ธีอํา โรนทีอํา ไตนู วาริส ชาหฺ์ นูน กหิณา

อุฐ ทะรทมันทํา ทิอา ทะรทีอา อุฐ ตัก อาปณา ปัญชาพ
อัช เพเล ลาสำ วิฉีอํา เต ลหู ที ภรี จนาพ

กิเส เน ปัญชํา ปาณีอํา วิจัจ ทิตี ซะหิระลา
เต อุหนา ปาณีอํา ธรตนูฯ ทิตา ปาณี ลา
อิส ชะรเขช ซามีน เท ลูน ลูน ผุฏิอา ซะหิร
คิฐ คิฐ จระหิอํา ลาลีอํา ผุฏ ผฏ จรหิอา กหิร

วิหุ วลิสสี วา ผิระ วณ วณ วัคคี ชา
อุหเน หาร อิก วําสะ ที วันฌลี ทิตี นาค พณา
ปหิลา ฑังค มทารีอํา มันตฺร คเอ คุอาจ
ทูเช ฑังค ที ลัค คะอี ชเณ ขเณ นูน ลาจ

ลาคํา กีเล โลก มูนห พัส ผิร ฑังค หี ฆังค
ปโล ปะลี ปัญชาพ เท นีเล ไป คะเอ อังค
คะลิโอน ฏุเฏ คีต ผิร ตฺรกลิโอน ฏุฏี ตังท
ตฺรินชโณ ฏุฏีอํา สเหลีอํา จะรัขเร ฆูกร พันท

สเณ เสช เท เพรีอํา ลุนฑณ ทินตีอํา โรหร
สเณ ฑาลีอํา ปีนฆ อัช ปิปลํา ทิตี โตร
ชิเถ วะชะที สี ผูก ปิยาร ที เว อุห วันฌลี คอี คุอาจ
รําเฌ เท สภ วีร อัช ภุล คเอ อุสที ชาจ

ธรตี เต ลหู วาระสิยา กพรํา ปอีอํา โจณ
ปฺรีต ทีอํา ชาหซาททีอํา อัช วิชัจ มะซารํา โรณ
อัช สภเภ ไกโท พณ คเอ, หุสน อิชกึ เท โจร
อัช กิโถํ ลิอาอีเอ ลัภ เก วาริส ชาห์ อิก โหร

อัช อาขํา วาริส ชาห์ นูน กิโตน กพรํา วิโจ โพล
เต อัช กิตาเพ อิชกึ ทา โกอี อคลา วรกา โฝล


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Photo credit :

Amrita Pritam https://www.quora.com/Who-was-Amrita-Pritam

Amrita Pritam’s 100th Birthday https://www.google.com/doodles/amrita-pritams-100th-birthday

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *