สุนทรพจน์ของ บังกลาพันธุ ซีค มูญีบุรฺ เราะฮฺมาน ในการชุมนุมเรียกร้องเอกราชของปากีสถานตะวันออก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1971 ณ สนามแข่งม้ารามนา กรุงธากา

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คณะนิเทศศาสตร์ และ ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้นฉบับกล่าวเป็นภาษาบังกลา [1]

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2563 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 100 ปี ชาตะกาลของ ฯพณฯ ซีค มูญีบุรฺ เราะฮฺมาน [2] ผู้นำเรียกร้องเอกราชและบิดาแห่งชาติบังกลาเทศ เดิมทีสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย และศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วางแผนจะจัดกิจกรรมทางวิชาการและวัฒนธรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระอันสำคัญยิ่งนี้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้จำเป็นเลื่อนงานดังกล่าวออกไป โครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts” จึงขอนำบทแปลภาษาไทยของสุนทรพจน์ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์แห่งชาติบังกลาเทศมาเผยแพร่

เมื่อครั้งที่อาณานิคมอินเดียของอังกฤษได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1947 นั้น ดินแดนที่เคยอยู่ในครอบครองของอังกฤษได้ถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ คือ สาธารณรัฐอินเดีย และ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน จากการต่อสู้และรณรงค์ทางการเมืองอันยาวนานของพรรคสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดียที่นำโดย ฯพณฯ มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ จุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม หลากเชื้อชาติ ภาษา และบนหลักการของอิสลามสายกลางที่เคารพและปฏิบัติต่อผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอย่างเท่าเทียมกัน แนวคิดเกี่ยวกับการสถาปนาชาติปากีสถานจึงได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามทั่วอินเดีย โดยเฉพาะในเบงกอลตะวันออกที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการแบ่งแยกประเทศ ดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเส้นแบ่งเขตเรดคลิฟและดินแดนทางทิศตะวันออกของแม่น้ำปัทมาจึงได้กลายเป็นปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออกตามลำดับ
แรกเริ่มนั้น รัฐบาลแห่งชาติปากีสถานได้ให้คำมั่นสัญญากับปากีสถานตะวันออกและดินแดนชาติพันธุ์อื่นว่าจะให้อำนาจในการปกครองตนเองและให้สิทธิในการรักษาภาษาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยสาเหตุจากพัฒนาการทางการเมืองในปากีสถานที่ได้รับผลจากสถานการณ์สงครามเย็นและการรัฐประหารโดยกองทัพ ทำให้สัญญาที่รัฐบาลกลางเคยให้ไว้นั้นไม่ได้รับการสานต่อ ในช่วง ค.ศ. 1960 เป็นต้นมารัฐบาลปากีสถานดำเนินนโยบายรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางและวัฒนธรรมแห่งชาติ อำนาจการบริหารและงบประมาณถูกดึงไปไว้ที่ปากีสถานตะวันตก แบบแผนของอิสลามและภาษาอุรดูที่ใช้กันในหมู่มุสลิมทางตอนเหนือถูกบังคับให้เป็นศาสนาและภาษาประจำชาติ สร้างความคับข้องใจให้กับประชาชนในปากีสถานตะวันออกที่ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายบังกลาที่มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเองยิ่ง กระทั่งนำมาสู่การรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิในการใช้ภาษาและการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น อันเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเรียกร้องเอกราชบังกลาเทศในกาลต่อมา

ในปี ค.ศ. 1970 พรรคสันนิบาตอวามีที่นำโดยซีค มูญีบุรฺ เราะฮฺมานชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งระดับชาติ และทำให้มีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตามกลุ่มการเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในปากีสถานตะวันตกได้พยายามขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลของท่านมูญีบุรฺด้วยวิธีการนานา โดยเฉพาะการใช้ความแตกต่างทางเชื้อชาติและภาษาของชาวบังกลามาเป็นประเด็นปลุกปั่นประชาชนให้รังเกียจและหวาดกลัว สถานการณ์ทางการเมืองในปากีสถานตึงเครียดจนถึงขีดสุดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1971 เมื่อนักการเมืองในปากีสถานตะวันตกคว่ำบาตรการประชุมรัฐสภา ณ กรุงธากา ในวันที่ 3 มีนาคม ส่งผลให้เกิดการเดินขบวนและจลาจลไปทั่วปากีสถานตะวันออก กระทั่งรัฐบาลกลางต้องออกคำสั่งให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติออกมาปราบปรามผู้เดินขบวน สันนิบาตอวามีจึงเรียกให้มีการชุมนุมใหญ่ขึ้น ณ สนามม้ารามนา ในวันที่ 7 มีนาคม เพื่อตอบโต้ต่อการกระทำของรัฐบาล

สุนทรพจน์วันที่ 7 มีนาคมชิ้นนี้ถือเป็นคำประกาศเอกราชของบังกลาเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นสุนทรพจน์ที่บันทึกความทรงจำสำคัญของมนุษยชาติ นอกเหนือจากการปลุกแรงใจให้ประชาชนลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประเทศชาติและตนเองแล้ว ท่านมูญีบุรฺยังได้ให้เค้าโครงที่สำคัญของรัฐในอุดมคติแก่บังกลาเทศและมนุษยชาติ กล่าวคือ การเมืองที่แยกออกจากศาสนาและการทหาร รัฐที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อีกทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายแตกต่าง
พี่น้องของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามาพบพวกท่านในวันนี้ด้วยหัวใจอันหนักอึ้ง พวกท่านทั้งหลายต่างก็รู้และเข้าใจทุกอย่างดี พวกเราทุกคนได้พยายามจนสุดชีวิตแล้ว แต่ความจริงอันแสนเจ็บปวดก็คือ ท้องถนนแห่งธากา จิตตะกอง ขุลนา ราชศาฮี และรังปุระ กำลังเจิ่งนองไปด้วยเลือดของพี่น้องข้าพเจ้า ชาวบังกลาต้องการอิสรภาพ ชาวบังกลาต้องการที่จะใช้ชีวิต ชาวบังกลาต้องการที่จะมีสิทธิของตนเอง พวกเราทำความผิดอันใดกันเล่า?

ประชาชนชาวบังกลาเทศได้เลือกข้าพเจ้า เลือกสันนิบาตอวามีด้วยเสียงอันท่วมท้น เราจะจัดตั้งรัฐสภาของเรา เราจะร่างรัฐธรรมนูญของเรา เราจะร่วมกันสร้างประเทศของเราขึ้น ประชาชนของเราจะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และทางวัฒนธรรม

เป็นความทุกข์ระทมของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ที่จะต้องย้อนกล่าวถึงประวัติศาสตร์อันขมขื่นตลอดช่วง 23 ปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์นองเลือดที่ชาวบังกลาต้องถูกเข่นฆ่าบนผืนดินบังกลา ประวัติศาสตร์ 23 ปีแห่งเสียงร้องอันโหยหวนของบุรุษและสตรีที่ต้องม้วยมรณา ประวัติศาสตร์ของบังกลาคือประวัติศาสตร์ของท้องถนนที่เปื้อนด้วยเลือดของพลเมืองของดินแดนแห่งนี้

เมื่อปี ค.ศ. 1952 เราหลั่งเลือดไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1954 เราชนะการเลือกตั้ง แต่เราก็ไม่อาจที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ เมื่อปี ค.ศ. 1958 การประกาศกฏอัยการศึกโดย อัยยุบ ข่านได้ทำให้เราต้องตกเป็นทาสอยู่ถึง 10 ปี เมื่อปีค.ศ. 1966 ระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อข้อเรียกร้องหกประการในวันที่ 7 มิถุนายน ลูกหลานของข้าพเจ้า ก็ถูกปลิดชีพ เมื่อปี ค.ศ. 1969 การประท้วงครั้งใหญ่ทำให้อัยยุบ ข่านต้องลาออกจากตำแหน่ง ในระหว่างนั้นยาเฮีย ข่านก็เข้ายึดกุมอำนาจ เขาให้คำมั่นสัญญาว่า
จะมอบรัฐธรรมนูญ จะมอบประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติ เราจึงยอมรับได้ แต่หลังจากนั้นก็เป็นไปตามที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เราได้รับเลือกตั้ง 

ในวันนี้ ข้าพเจ้าได้เข้าพบประธานาธิบดียาเฮีย ข่านเพื่อพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ ไม่ใช่เพียงแต่ในฐานะผู้นำของชาวบังกลา แต่ในฐานะผู้นำของพรรคเสียงข้างมากในปากีสถาน ข้าพเจ้าได้เรียกร้องให้ท่านเรียกประชุมรัฐสภาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ท่านประธานาธิบดีไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของข้าพเจ้า แต่กลับสนับสนุนข้อเรียกร้องของท่านบุตโตที่เสนอให้เรียกประชุมรัฐสภาในช่วงอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม เราก็ตกลงตามนั้น เราจะเข้าร่วมประชุมรัฐสภา ข้าพเจ้ายังได้บอกอีกว่า “หากมีผู้ใดสักหนึ่งคนมีข้อเสนอที่น่ารับฟัง เราก็จะสนับสนุนผู้นั้นแม้ว่าเราจะเป็นฝ่ายกุมเสียงข้างมากก็ตาม”

ท่านบุตโตได้เดินทางมาที่นี่ เพื่อร่วมหารือและบอกกับเราว่าประตูสำหรับการเจรจานั้นยังเปิดกว้างอยู่เสมอ และเราก็ยังเจรจากันได้ หลังจากนั้นเราก็ได้พูดคุยกับผู้นำท่านอื่นๆ และบอกว่า “ขอเชิญทุกท่านมานั่งสนทนากัน และร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ”  ท่านบุตโตกลับประกาศว่า ถ้าสมาชิกจากปากีสถานตะวันตกมาที่นี่ ที่ประชุมรัฐสภาก็จะกลายเป็นโรงเชือด เขาประกาศว่า ใครก็ตามที่เดินทางมาที่นี่จะต้องถูกปลิดชีพ หากมีตัวแทนคนใดนับตั้งแต่จากเปศวาร์ถึงการาจีเดินทางมาร่วมประชุมรัฐสภา ร้านรวงต่างๆ จะถูกปิดด้วยกำลัง ข้าพเจ้ายืนยันว่า การประชุมรัฐสภาจะยังดำเนินต่อไป แล้วจู่ๆ ในวันที่ 1 มีนาคมก็มีการประกาศปิดสภา

เมื่อประธานาธิบดียาเฮีย ข่านเรียกประชุมรัฐสภา ข้าพเจ้าก็ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมประชุม แต่ท่านบุตโตกลับปฏิเสธที่จะเข้าร่วม มีผู้แทน 35 คนจากปากีสถานตะวันตกเดินทางมาที่นี่ แล้วทันใดนั้นก็เกิดการปิดสภา ประชาชนชาวบังกลาถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุ ตัวข้าพเจ้าเองก็ถูกกล่าวหาเช่นกัน เนื่องจากการปิดสภาในครั้งนั้น ประชาชนของประเทศนี้จึงลุกฮือขึ้นต่อต้าน

ข้าพเจ้าได้บอกกับพี่น้องว่าให้เข้าร่วมการนัดหยุดงานด้วยความสงบ ข้าพเจ้าบอกให้พี่น้องร่วมกันหยุดงานและปิดโรงงาน ประชาชนตอบสนองคำร้องขอของข้าพเจ้า พี่น้องทั้งหลายได้ออกมาร่วมเดินขบวนเพื่อต่อต้านกันด้วยความสงบ แล้วเราได้รับอะไรตอบแทนหรือ? 

อาวุธที่ถูกจัดซื้อด้วยเงินของพวกเรา เพื่อใช้ป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอก กลับหันเข้าหาผู้ยากไร้และประชาชนที่ไม่ได้ติดอาวุธในประเทศของเราเอง ประชาชนจำนวนมากต้องถูกยิง เราคือประชาชนเสียงข้างมากในปากีสถาน แต่เมื่อใดก็ตามที่ชาวบังกลาพยายามที่จะเข้ามามีอำนาจ พยายามที่จะมีบทบาทในการปกครองประเทศของเรา พวกเขาก็จะเริ่มใช้ความรุนแรงกับเรา

พวกเขาเหล่านั้นคือพี่น้องของเรา ข้าพเจ้าถามพวกเขาว่า “เหตุใดท่านถึงยิงพี่น้องของท่านเอง? พวกท่านได้รับมอบหมายให้ปกป้องประเทศนี้จากอริศัตรูมิใช่หรือ” ท่านยาเฮียประกาศว่า ข้าพเจ้าได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมในวันที่ 10 มีนาคม

ข้าพเจ้าไม่เคยกล่าวเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้สนทนากับท่านทางโทรศัพท์ ข้าพเจ้าเรียนท่านว่า “ท่านนายพลยาเฮีย ข่าน ท่านคือประธานาธิบดีแห่งปากีสถาน ข้าพเจ้าขอให้ท่านมาเยือนนครธากาด้วยตนเอง ท่านจะได้มาเห็นด้วยสายตาตนเองว่าประชาชนของข้าพเจ้า ประชาชนชาวบังกลากำลังถูกกระหน่ำยิงด้วยห่ากระสุน ลูกหลานแห่งบังกลากำลังถูกพรากจากอ้อมอกของมารดา ประชาชนของข้าพเจ้ากำลังถูกเข่นฆ่าเช่นไร ขอท่านจงมาดูด้วยตาของท่านเอง แล้วยังความยุติธรรมให้บังเกิด”  
นั่นคือคำพูดที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านประธานาธิบดี

ข้าพเจ้าบอกท่านไปก่อนหน้านี้แล้วว่า เราจะประชุมโต๊ะกลมกันไปทำไม? เราจะนั่งประชุมกับใคร? ประชุมกับคนพวกนั้น… กับกลุ่มคนที่ทำให้เลือดอาบร่างประชาชนของข้าพเจ้ากระนั้นหรือ? ทั้งนี้โดยปราศจากการปรึกษาหารือกับข้าพเจ้า หรือพวกเราคนหนึ่งคนใด เพียงห้าชั่วโมงหลังจากการประชุมกันอย่างลับๆ ท่านยาเฮียข่านก็ได้กล่าวคำปราศรัย โดยโยนความผิดทั้งหมดมาให้ข้าพเจ้า มาให้ประชาชนแห่งบังกลา (ฝูงชนส่งเสียงร้อง หน้าไม่อาย หน้าไม่อาย)  ข้าพเจ้าได้ประกาศในที่ประชุมว่า การขัดขืนในครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อการปลดปล่อย การขัดขืนครั้งนี้จะเป็นไปเพื่ออิสรภาพของประเทศเรา

พี่น้องของข้าพเจ้า

จะมีการเรียกประชุมรัฐสภาขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมนี้ แม้ว่ารอยเลือดจะยังไม่ทันจางหาย ข้าพเจ้ากล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า มูญีบุรฺ เราะฮฺมาน ไม่อาจเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมโดยเหยียบย่ำไปบนกองเลือดของผู้สละชีพทั้งหลายได้ ถ้าจะเรียกประชุมรัฐสภา ข้อเรียกร้องของข้าพเจ้าจะต้องได้รับการสนองเสียก่อน ประการแรก จะต้องประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก กองทหารทั้งหมดจะต้องกลับค่าย จะต้องมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสังหารประชาชน และอำนาจจะต้องกลับไปอยู่ในมือของผู้แทนประชาชน เมื่อถึงตอนนั้นแล้วเราจึงจะพิจารณาว่าเราจะเข้าร่วมประชุมรัฐสภาหรือไม่ แต่ก่อนที่จะถึงเวลานั้น เราก็จะไม่สามารถเข้าไปนั่งในรัฐสภาได้ ประชาชนมิได้มอบอำนาจให้ข้าพเจ้าทำเช่นนั้น

พี่น้องของข้าพเจ้า

พวกท่านเชื่อมั่นในตัวข้าพเจ้าหรือไม่ (มวลชนส่งเสียง เชื่อ เชื่อ)  ข้าพเจ้าไม่ได้ต้องการที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี พวกเราต้องการที่จะสร้างสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนของประเทศนี้ ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า นับแต่บัดนี้ไป ศาล ส่วนราชการ สำนักงานและสถาบันการศึกษาทั้งมวลในบังกลาเทศจะปิดทำการโดยไม่มีกำหนด 

แต่เพื่อให้แน่ใจว่าความยากลำบากจะไม่ไปตกแก่ผู้ยากไร้ เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนของข้าพเจ้าจะไม่ต้องทนทุกข์ บริการต่างๆ ดังต่อไปนี้จะไม่รวมอยู่ในการนัดหมายหยุดงาน รถลาก และรถประจำทางจะยังคงให้บริการ รถไฟและรถรางก็ยังจะวิ่งอยู่ต่อไป สำนักเลขาธิการ ศาลสูงสุด ศาลสูง ศาลฎีกา หน่วยงานของรัฐอย่างกรมทรัพยากรทางน้ำจะหยุดทำงาน ลูกจ้างทุกคนจะได้รับเงินเดือนในวันที่ 28 ของเดือน หากไม่มีการจ่ายเงินเดือน หรือหากมีการยิงกระสุนแม้แต่นัดเดียว หรือหากประชาชนของข้าพเจ้ายังถูกเข่นฆ่าอยู่ ข้าพเจ้าขอร้องให้พวกท่านจงเปลี่ยนบ้านเรือนทุกหลังให้เป็นป้อมปราการ จงต่อสู้กับศัตรูด้วยอะไรก็ตามที่มีอยู่ในมือ 

มาตรแม้นว่าข้าพเจ้าไม่อาจออกคำสั่งให้แก่พวกท่านได้อีกต่อไป ข้าพเจ้าขอให้พวกท่านจงปิดถนนทุกสาย ทางหลวงทุกเส้น เราจะทำให้พวกศัตรูต้องอดตาย เราจะทำให้พวกศัตรูต้องขาดน้ำตาย พวกท่านคือพี่น้องของเรา ขอให้พวกท่านจงอยู่ในค่าย จะไม่มีใครสั่งการพวกท่าน แต่ได้โปรดอย่ายิงพวกเรา มันจะไม่เกิดประโยชน์ประการใดแก่พวกท่าน พวกท่านไม่อาจที่จะต้านทานผู้คนกว่าเจ็ดล้านคนได้ นับแต่วันที่พวกเราได้เรียนรู้ที่จะตาย ไม่มีผู้ใดที่จะกดขี่พวกเราได้อีกต่อไป

สำหรับเหล่าผู้สละชีพและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ พวกเราจากสันนิบาตอวามีจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะช่วยเหลือพวกท่าน ส่วนผู้ที่ยังคงมีกำลัง ขอได้โปรดสนับสนุนทางการเงินแก่กองทุนเพื่อให้การเยียวยาของพวกเรา และเจ้าของกิจการทั้งหลายโปรดให้ค่าจ้างแก่พนักงานทุกคนที่เข้าร่วมการนัดประท้วงหยุดงาน 7 วันของเรา 

คำแนะนำที่ข้าพเจ้าจะมีให้แก่ข้าราชการทุกท่านก็คือ จงเชื่อฟังคำพูดของข้าพเจ้า นับแต่วันนี้จะไม่มีการจ่ายภาษีให้กับรัฐจนกว่าประเทศของเราจะได้รับเอกราช จะไม่มีใครจ่ายอะไรทั้งนั้น จงฟังและเข้าใจด้วยว่า ศัตรูได้บุกเข้ามาเพื่อแบ่งแยกพวกเราและปล้นสดมภ์ 

คนฮินดู คนมุสลิม คนบังกลา หรือคนเชื้อชาติอื่น คนทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินบังกลาคือพี่น้องของเรา หน้าที่ในการปกป้องพวกเขาเหล่านั้นเป็นของท่าน โปรดระวังอย่าให้ชื่อเสียงของพวกเรานั้นต้องแปดเปื้อน

เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ขอให้พวกท่านรับรู้ด้วยว่า หากคำพูดของพวกเราไม่ได้รับการเผยแพร่ จะไม่มีชาวบังกลาผู้ใดฟังสถานีวิทยุของท่าน ถ้าข่าวของเราไม่ได้รับการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จะไม่มีชาวบังกลาผู้ใดรับชมสถานีโทรทัศน์ของท่าน การคว่ำบาตรนี้เกิดขึ้นทุกวันเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จนกว่าประชาชนของเราจะได้รับเงินเดือน แต่จะไม่มีเงินแม้แต่อัฐเดียวออกจากบังกลาตะวันออกไปยังปากีสถานตะวันตก 

โทรศัพท์และโทรสารยังจะคงให้บริการอยู่ในบังกลาตะวันออกของเรา เพื่อทำหน้าที่ส่งข่าวสารของพวกเราไปให้สำนักข่าวต่างประเทศ แต่ถ้าหากมีการเคลื่อนไหวอันชั่วร้ายเพื่อทำลายพวกเรา ชาวบังกลาทั้งหลาย ขอให้ท่านช่วยเฝ้าระวัง

ข้าพเจ้าขอร้องพวกท่าน ด้วยพวกท่านนั้นคือพี่น้องของข้าพเจ้า โปรดอย่าทำให้ประเทศนี้กลายเป็นนรกและทำลายมัน โปรดอย่าทำให้ประเทศนี้กลายเป็นนรกและทำลายมัน มิเช่นนั้น ในอนาคต เราคงจะไม่สามารถมองหน้ากันได้อีกต่อไป  หากท่านช่วยให้สถานการณ์นี้คลี่คลายอย่างสันติ อย่างน้อยเราก็จะยังคงอยู่ร่วมกันได้ฉันพี่น้อง

ประการที่สอง ขอให้ทุกหมู่บ้าน ทุกท้องถิ่น ทุกสหภาพ และทุกกิ่งอำเภอจัดตั้ง “สภาการต่อต้าน”  ภายใต้การนำของสันนิบาตอวามี และโปรดจงเตรียมตัวให้พร้อมต่อสู้ด้วยทุกสิ่งที่อยู่ในมือของท่าน โปรดตระหนักว่าเมื่อเราได้หลั่งเลือดไปครั้งหนึ่งแล้ว เราก็พร้อมจะหลั่งเลือดอีก ด้วยพรของพระผู้เป็นเจ้าเราจะปลดแอกประชาชนของประเทศนี้

การขัดขืนในครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อการปลดปล่อย

การขัดขืนครั้งนี้จะเป็นไปเพื่ออิสรภาพของประเทศเรา

ขอชัยจงบังเกิดแก่บังกลา[3]

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Footnotes :

[1] বাংলা – บังลา เป็นคำที่เจ้าของภาษาใช้เรียกทั้งชื่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ กลุ่มชาติพันธุ์และภาษา ส่วนในภาษาไทยมักใช้คำว่า “เบงกอล” สำหรับเรียกชื่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และใช้คำว่า “เบงกาลี” หรือ “บังคลี” สำหรับเรียกกลุ่มชาติพันธุ์และภาษา ในที่นี่จึงจะใช้ “บังกลา” ตามเจ้าของภาษาและการปริวรรตชื่อ বাংলাদেশ – บังลาเทศ เป็นบังกลาเทศ

[2] বঙ্গবন্ধু শেখ মুজিবুর রহমান หากปริวรรตตามตัวอักษรจะอ่านได้ว่า บองโกบันธุ เศข มูญีบุรฺ ระฮฺมาน

[3] চয় বাংলা แปลตามตัวอักษรว่า ชยะบังกลา

Photo credit :

– Sheikh Majibur Rahman
 https://www.dhakatribune.com/bangladesh/2016/08/16/bullets-never-kill-bangabandhu-2/

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *