ความฝันของสุลตาน่า (Sultana’s Dream)

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คณะนิเทศศาสตร์ และ สถาบันเอเชียศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ของ เบกัม โรเกญา [1]
แปลโดย จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

นิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนสตรีนั้นมีอยู่ไม่มาก และมันก็ยิ่งน่าอัศจรรย์ขึ้นไปอีกที่ผลงานชิ้นนั้นถูกเขียนโดยนักประพันธ์สตรีมุสลิมจากเอเชียใต้ เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีล่วงมาแล้ว ในยุคสมัยที่สตรีในยุโรปและอเมริกาก็ยังต้องเรียกร้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันกับเพศชาย ความฝันของสุลตาน่า (ค.ศ. 1905) [2] เป็นเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ในมุมมองแบบสตรีนิยมชิ้นแรกๆ ของโลกที่พยายามฉายภาพอนาคตของวิทยาศาสตร์และสังคมอุดมคติในโลกที่เพศหญิงมีอำนาจที่จะกำหนดความเป็นไปของโลก

ผู้เขียน ความฝันของสุลตาน่า คือ โรเกญา สาขาวัต โฮเซน [3] หรือที่รู้จักกันในนาม เบกัม โรเกญา (ค.ศ. 1880 – ค.ศ. 1932) เป็นนักคิด นักเขียน นักการศึกษา และ นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญคนหนึ่งในเอเชียใต้ เธอได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดแบบสตรีนิยมและขบวนการปลดปล่อยสตรีในเอเชียใต้ เบกัม โรเกญาเกิดในครอบครัวเจ้าที่ดินในเขตจังหวัดรังปุระ มณฑลเบงกอล บริติชอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศบังกลาเทศ) ครอบครัวของเธอนั้นเป็นมุสลิมอนุรักษ์นิยมที่เคร่งครัด เธอจึงเติบโตขึ้นมาภายในเขตรั้วกำแพงของบริเวณบ้านอันพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้หญิงที่เรียกว่า เชนานา [4]

แม้ว่าบิดาของเบกัม โรเกญาจะสนับสนุนให้บุตรสาวของตนเรียนหนังสือ แต่การศึกษาของเบกัม โรเกญาและพี่สาวของเธอก็จะจำกัดอยู่แค่เพียงการเรียนภาษาอาหรับเพื่อการอ่านพระคัมภีร์ และภาษาเปอร์เชียเพื่อใช้สื่อสารในสังคมชั้นสูงเท่านั้น พี่ชายคนโตของพวกเธอที่ชื่อว่า อิบรอฮีม จึงต้องแอบสอนภาษาอังกฤษและภาษาบังกลาให้กับน้องสาวทั้งสองคนด้วยตนเองจนพวกเธอมีความรู้แตกฉานในภาษาเหล่านั้น เช่นเดียวกับตัวเบกัม โรเกญา พี่สาวคนโตของของเธอที่ชื่อว่า กะริมุนฺเนสา ขานม เจาธุรานี [5] ต่อมาก็ได้กลายมาเป็นกวีสตรีที่มีชื่อเสียงและนักเคลื่อนไหวทางสังคมคนสำคัญของเบงกอล โดยกะริมุนฺเนสานั้นได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนสตรีคนแรกๆ ที่ยึดภาษาบังกลาเป็นภาษาหลักในงานเขียน ร่วมทั้งเป็นผู้นำคนสำคัญของการสร้างความปรองดองระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม

เบกัม โรเกญาแต่งงานเมื่ออายุได้สิบแปดปีกับ ฃ่าน บาฮาดุรฺ สาขาวัต โฮเซน สามีของเธอนั้นเป็นผู้พิพากษาและมีหัวคิดโอนเอียงไปทางเสรีนิยม เขาจึงได้สนับสนุนให้เธอเรียนภาษาอังกฤษและภาษาบังกลาต่อ รวมทั้งเป็นผู้ที่คะยั้นคะยอให้เบกัม โรเกญาจับงานเขียนและตีพิมพ์ผลงานของเธอสู่สาธารณะ ซึ่งถือว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามากในสมัยนั้น

งานเขียนชิ้นแรกของเบกัม โรเกญาที่ออกสู่สายตาผู้อ่าน เป็นความเรียงแนวสตรีนิยมในภาษาบังกลาที่ชื่อว่า ปิปาสา (ค.ศ. 1902) หลังจากนั้นเธอก็ได้ตีพิมพ์[6] หนังสือเป็นภาษาบังกลาออกมาอีกหนึ่งเล่มในปี ค.ศ. 1905 และในปีเดียวกันนั้นเองเธอก็ได้ตีพิมพ์ผลงานที่เขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษในวารสารภาษาอังกฤษที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มัทราส ผลงานชิ้นดังกล่าวก็คือ Sultana’s Dream หรือ ความฝันของสุลตาน่า

ความฝันของสุลตาน่า สร้างชื่อเสียงให้กับเบกัม โรเกญามาก โดยความนิยมของผู้อ่านที่มีต่อเรื่องสั้นเรื่องนี้ส่งผลให้มันถูกพิมพ์เพื่อจัดจำหน่ายในรูปหนังสือทันทีในปี ค.ศ. 1908
เมื่อนำเรื่องสั้นเรื่องนี้มาอ่านอีกครั้งในเวลานี้ เราก็อดทึ่งไม่ได้กับความคิดและวิสัยทัศน์ของนักเขียนสตรีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน ความคิดหลายอย่างที่เธอเชิญชวนให้เราร่วมตั้งคำถามยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญแม้ในปัจจุบัน โลกอุดมคติ หรือ ยูโทเปีย ที่เธอฉายภาพผ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า หากเราให้ความสำคัญแก่ความคิดและผลงานของเธอมากกว่านี้อีกสักนิด โลกที่เราอยู่อาศัยจะดีกว่าเป็นอยู่หรือเปล่า
ความฝันของสุลตาน่า อยู่ในขนบของนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือมันเป็นวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างจากโลกของวิทยาศาสตร์ที่เพศชายเป็นหัวเรือและคัดหางเสือ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา พัฒนาการของวิทยาศาสตร์นั้นเชื่อมโยงกับความต้องการที่จะเพิ่มความสามารถทางการทหารและยุทโธปกรณ์ ความรู้ดังกล่าวถูกใช้ไปเพื่อการทำลายล้าง เพื่อยึดครองดินแดนและกอบโกยทรัพยากร เรื่องสั้นของเบกัม โรเกญาเรื่องนี้ชวนให้เราคิดถึงโลกทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้หากเราเปลี่ยนมุมมองและคุณลักษณะของคนที่มาเป็นผู้นำ
ความฝันของสุลตาน่า เป็นโลกที่รุ่มรวยและซับซ้อนทางความคิด ไม่ต่างอะไรจากความคิดและการทำงานของผู้ประพันธ์ นักวิชาการจำนวนมากชอบตีตราให้เบกัม โรเกญาอยู่ในกลุ่มของนักคิดแนวสตรีนิยม แต่ในความคิดของผู้แปลชีวิตและงานของสุภาพสตรีท่านนี้กว้างไกลเกินกว่าสตรีนิยม ความฝันของเธอนั้นคือการสร้างโลกอันสันติมที่เปี่ยมด้วย สัจจะ ความเท่าเทียมและยุติธรรม

หลังจากที่สามีของเธอสิ้นใจไปในปี ค.ศ. 1909 เบกัม โรเกญาก็ทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษา เธอได้ก่อตั้งโรงเรียน Sakhawat Memorial Girls’ High School อันมีชื่อเสียงในโกลกาตา โดยเริ่มจากการเดินไปตามบ้านต่างๆ เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้แต่ละครอบครัวส่งลูกสาวเข้าเรียน นอกจากนี้แล้วเธอก็ยังได้ก่อตั้งสมาคมสตรีมุสลิม Anjuman-e-Khawateen-e-Islam ขึ้นมาเพื่อให้เป็นพื้นที่ทางสังคมสำหรับสนทนาและครุ่นคิดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีมุสลิมและการศึกษา

เบกัม โรเกญาเสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจ ไปในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1932 ขณะที่เธอมีอายุได้ 52 ปี ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลุมฝังศพของเบกัม โรเกญาในเมืองโสทปุระ ที่อยู่ใกล้กับนครโกลกาตานั้นได้ถูกบดบังด้วยบรรดาสิ่งก่อสร้างในสมัยหลัง ก่อนที่มันจะถูกค้นพบและกลับมาเป็นหลักหมายทางปัญญาให้แก่โลกอีกครั้ง

ความฝันของสุลตาน่า – Sultana’s Dream

เย็นวันหนึ่งฉันกำลังเอนหลังอยู่บนเก้าอี้นั่งเล่นภายในห้องนอนและคิดเรื่อยเปื่อยถึงเงื่อนไขของความเป็นผู้หญิงอินเดีย ฉันไม่แน่ใจว่าได้เผลองีบไปหรือเปล่า แต่เท่าที่จำได้ยังตาสว่างดี ฉันมองเห็นท้องฟ้ากระจ่างแสงจันทร์และดวงดาวนับพันส่องแสงระยิบระยับราวประกายเพชร ทันใดนั้นก็มีสตรีคนหนึ่งมายืนตรงหน้า เธอเข้ามาได้อย่างไรไม่มีใครรู้ ฉันคิดว่าเธอเป็นเพื่อนของฉันที่ชื่อ ภคินีซาร่า


‘อรุณสวัสดิ์’
ภคินีซาร่าเอ่ยขึ้น ฉันแอบยิ้มอยู่ในใจ ด้วยรู้ดีว่ามันมิใช่ยามเช้าแต่เป็นคืนดาวพราว กระนั้นฉันก็ตอบเธอไปว่า ‘เธอเป็นอย่างไรบ้าง?’


‘ฉันสบายดี ขอบใจจ้ะ เธอจะออกมาข้างนอกและไปชมสวนของพวกเรากันไหม?’

ฉันมองพระจันทร์ลอดผ่านหน้าต่างอีกครั้ง และก็คิดว่ามันไม่น่าจะมีอะไรที่จะออกไปข้างนอกในเวลานั้น พวกคนรับใช้ผู้ชายก็หลับกันหมดแล้วและฉันก็จะได้เดินเล่นเย็นใจกับภคินีซาร่า

ฉันเดินเล่นกับภคินีซาร่าเสมอเมื่อตอนที่เราอยู่กันที่ดาร์จีลิง หลายครั้งเราก็จะเดินจูงมือและพูดคุยสัพเพเหระกันในสวนพฤกษศาสตร์ที่นั่น ฉันจินตนาการว่าภคินีซาร่าจะมาฉันไปที่สวนในลักษณะอย่างนั้น ฉันจึงตอบรับคำชวนของเธออย่างเต็มใจและออกไปกับเธอ

เมื่อออกไปเดิน ฉันก็ต้องประหลาดใจว่ามันเป็นเช้าที่สดใส ทั้งเมืองตื่นขึ้นจากหลับใหลและท้องถนนก็คราคร่ำไปด้วยฝูงชน ฉันรู้สึกอายที่ออกมาเดินกลางถนนตอนกลางวันแสกๆ เยี่ยงนี้ แต่ก็ไม่มีผู้ชายแม้เพียงสักคนโผล่มาให้เห็น

คนที่เดินผ่านไปผ่านมาบางคนล้อเลียนฉัน ถึงแม้ว่าฉันจะไม่เข้าใจภาษาของพวกเขา แต่ฉันก็แน่ใจว่าพวกเขาล้อเลียนฉัน ฉันถามเพื่อนของฉันว่า ‘พวกเขาพูดอะไรกันหรือ?’

‘ผู้หญิงพวกนั้นบอกว่าเธอเหมือนผู้ชาย’

‘เหมือนผู้ชาย? เขาหมายถึงอะไรกัน?’

‘เขาหมายความว่าเธอดูขี้อายและตื่นกลัวเหมือนผู้ชายน่ะสิ’

‘ขี้อายและตื่นกลัวเหมือนผู้ชายหรือ?’ มันต้องเป็นเรื่องตลกแน่ๆ ฉันเริ่มตกประหม่าเมื่อเห็นว่าเพื่อนร่วมทางของฉันนั้นเป็นคนแปลกหน้า มิใช่ภคินีซาร่า ฉันนี่มันเปิ่นจริงที่ทึกทักไปเองว่าสตรีผู้นี้คือภคินีซาร่า เพื่อนเก่าของฉัน เธอคงรู้สึกได้ว่านิ้วมือของฉันกำลังสั่นระริก ขณะที่เราเดินจูงมือกัน

‘มีอะไรหรือจ๊ะ?’ เธอถามอย่างเอ็นดู

‘ฉันรู้สึกอึดอัดนิดหน่อยจ้ะ ผู้หญิงในปุรฺดา [7] อย่างฉัน ไม่ค่อยคุ้นกับการออกมาเดินเตร่โดยไม่คลุมหน้า’ ฉันตอบอย่างขอโทษ

‘เธอไม่ต้องกลัวว่าจะเจอผู้ชายดอก สถานที่แห่งนี้คือสตรีประเทศอันไร้บาปและภยันตราย ที่นี่มีเพียงความดีงามครองแผ่นดิน’

ฉันเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ จริงๆ แล้วมันยิ่งใหญ่มาก ฉันเข้าใจผิดไปว่าผืนหญ้านั้นเป็นฟูกกำมะหยี่ ฉันรู้สึกราวกับกำลังเดินอยู่บนพรมอันอ่อนนุ่ม เมื่อก้มหน้าลงมองถึงได้พบว่ามันเป็นทางเดินที่ปกคลุมด้วยหญ้ามอสและมวลดอกไม้

‘ดีจริง’ ฉันเปรยขึ้น


‘เธอชอบหรือ?’
ภคินีซาร่าถาม (ฉันเรียกเธอว่าภคินีซาร่าต่อไปและเธอก็ยังคงเรียกฉันด้วยชื่อตัว)


‘มากเลยทีเดียว แต่ฉันไม่อยากจะเหยียบลงไปบนดอกไม้ที่อ่อนหวานและนุ่มนวลเช่นนี้เลย’


‘อย่าห่วงไปเลย สุลตาน่าที่รัก ฝีเท้าของเธอจะไม่ทำอะไรพวกมัน พวกมันเป็นถนนดอกไม้’


‘ทั้งเมืองช่างดูราวกับอุทยาน ‘ ฉันเอ่ยชม ‘  พวกเธอจัดเรียงต้นไม้ทุกต้นอย่างมีฝีมือจริงๆ’


‘กัลกัตตาของเธอก็สามารถกลายเป็นอุทยานที่งดงามกว่าที่นี่ได้ หากเพื่อนร่วมชาติของเธออยากจะให้มันเป็น’


‘พวกเขาคงจะคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระที่จะต้องมาให้ความสำคัญกับสวน ในเมื่อพวกเขามีอย่างอื่นอีกที่ต้องทำ’


‘พวกเขาไม่มีข้อแก้ตัวที่ดีกว่านี้กันหรือ’
เธอพูดยิ้มๆ

ฉันเริ่มสงสัยว่าพวกผู้ชายนั้นหายไปไหนกันหมด ที่เดินผ่านมาฉันเห็นผู้หญิงเป็นร้อยคน แต่ไม่เห็นผู้ชายเลยสักคนเดียว

‘พวกผู้ชายไปอยู่ไหนกันหรือ?’ ฉันถามเธอ

‘อยู่ในที่ของพวกเขา ที่ที่พวกเขาควรอยู่’

‘โปรดอธิบายฉันหน่อยว่า ที่เธอบอกว่า ที่ที่พวกเขาควรอยู่ นั้นหมายความว่ากระไร?’

‘โอ้ ความผิดของฉันเอง เธอไม่เคยมาที่นี่มาก่อน เธอเลยไม่รู้ธรรมเนียมของพวกเรา เราขังพวกผู้ชายของเราไว้ข้างใน’

‘อย่างที่พวกฉันต้องอยู่ในเชนานาน่ะหรือ?’

‘อย่างนั้นเลย’

น่าขันจริง’ ฉันหลุดหัวเราะออกมา

ภคินีซาร่าก็หัวเราะตาม

‘แต่สุลตาน่าที่รัก มันไม่ยุติธรรมเลยที่จะขังผู้หญิงที่ไม่มีอันตรายใดๆ ไว้ข้างในและปล่อยให้พวกผู้ชายเป็นอิสระ’


‘ทำไมล่ะ? พวกเราเป็นเพศอ่อนแอ มันไม่ปลอดภัยสำหรับเราที่จะออกมาข้างนอกเชนานา’


‘ใช่ มันคงไม่ปลอดภัยหากพวกผู้ชายยังออกมากันเกลื่อนถนน อย่างเดียวกันกับเวลาที่มีสัตว์ป่าเข้ามาที่ตลาด’


‘แน่นอนว่าไม่ปลอดภัย’


‘ลองคิดดูว่า ถ้ามีกลุ่มคนบ้าหนีออกมาแล้วเริ่มก่อเรื่องร้ายๆ กับผู้คน ม้าและสัตว์อื่นๆ คนในบ้านเมืองของเธอจะทำอย่างไรกัน?’


‘พวกเขาก็จะพยายามจับคนเหล่านั้นแล้วส่งตัวกลับไปไว้ในโรงพยาบาลบ้า’


‘ขอบคุณ และเธอยังไม่คิดว่ามันประหลาดที่เอาตัวคนสติดีไว้ข้างในและปล่อยคนสติไม่ดีออกมาอยู่ข้างนอกอีกหรือ?’

ประหลาดสิ’ ฉันตอบพร้อมหัวเราะเบาๆ

‘ความจริงก็คือ นี่คือสิ่งที่ทำกันในบ้านเมืองของเธอ! พวกผู้ชายที่ลงมือทำหรืออย่างน้อยที่มีความสามารถจะทำเรื่องร้ายๆ กลับถูกปล่อยให้อยู่ข้างนอก ในขณะที่พวกผู้หญิงที่ไม่มีพิษภัยต้องถูกขังอยู่ในเชนานา! พวกเธอเชื่อใจพวกผู้ชายที่ปราศจากการขัดเกลาให้อยู่ข้างนอกกันได้อย่างไร?’


‘พวกเราไม่มีมือเท้าหรือเสียงที่จะจัดการเรื่องทางสังคมของพวกเราได้ ในอินเดีย ผู้ชายคือนายและเจ้าชีวิต เขายึดเอาอำนาจและอภิสิทธิ์เอาไปไว้ทั้งหมด และขังพวกผู้หญิงไว้ในเชนานา’


‘ทำไมพวกเธอถึงยอมให้ตัวเองถูกกักขังล่ะ’


‘ก็เพราะมันทำอะไรไม่ได้ พวกเขาแข็งแรงกว่าผู้หญิง’


‘ราชสีห์นั้นแข็งแกร่งกว่ามนุษย์นัก แต่มนุษย์ก็ยังไม่ยอมให้ราชสีห์อยู่เหนือมนุษย์ พวกเธอละทิ้งหน้าที่ที่พวกเธอควรมีต่อตนเองและพวกเธอก็สูญสิ้นสิทธิที่มีตามธรรมชาติด้วยการปิดหูปิดตาจากเรื่องของตัวเอง’


‘แต่ภคินีซาร่าที่รัก ถ้าพวกเราทำทุกอย่างด้วยตัวเอง พวกผู้ชายจะทำอะไรกันล่ะ?’


‘ก็ไม่ต้องทำอะไร ขอโทษเถิดนะ พวกนั้นไม่มีปัญญาที่จะทำอะไรได้ทั้งนั้น ก็แค่จับพวกเขาเข้าไปอยู่ในเชนานาเท่านั้น’


‘แต่การจะจับพวกเขาไปอยู่ข้างหลังกำแพงนั้นมันจะง่ายอย่างนั้นเลยหรือ?’   
ฉันถาม ‘และถ้าทำอย่างนั้นแล้ว งานของพวกเขา อย่างการเมืองและการค้าขายมิต้องตามเข้าไปอยู่ในเชนานาด้วยรึ?’

ภคินีซาร่าไม่ได้ตอบอะไร เธอเพียงแค่ยิ้มหวาน บางทีเธอคงจะคิดได้ว่าการโต้เถียงกับคนที่เหมือนกับกบในบ่อน้ำอาจจะไม่มีประโยชน์อันใด

ถึงตอนนี้เราก็มาอยู่ที่บ้านของภคินีซาร่าแล้ว มันตั้งอยู่ใจกลางสวนรูปหัวใจอันงดงาม ตัวบ้านเป็นบังกะโลมุงหลังคาสังกะสี มันเย็นสบายและน่าอยู่กว่าตึกสวยๆ ของพวกเราอีก ฉันอธิบายไม่ถูกว่าบ้านนั้นเป็นระเบียบและตกแต่งอย่างสวยงามและมีรสนิยมเพียงใด

เรานั่งเคียงข้างกัน เธอหยิบผ้าปักออกมาและเริ่มปักลวดลายใหม่


‘เธอทำงานปักหรือถักไหมพรมเป็นไหม?’


‘เป็นสิ เราไม่มีอะไรอย่างอื่นต้องทำในเชนานา’


‘แต่พวกเราก็ไม่ปล่อยให้คนในเชนานาของเราทำงานเย็บปักถักร้อยดอกนะ’   
เธอพูดกลั้วหัวเราะ ‘ผู้ชายน่ะมีความอดทนไม่พอที่จะสนเข็มให้ได้เสียด้วยซ้ำ’


‘เธอปักงานพวกนี้ด้วยตัวเองหรือ’
ฉันถามพร้อมกับชี้ไปที่ผ้ารองจานที่ปักอย่างงดงาม


‘ใช่’


‘เธอไปหาเวลาจากไหนมาทำงานทั้งหมดนี้กัน? เธอยังต้องทำงานออฟฟิศอีกด้วยไม่ใช่หรือ?’


‘ใช่ แต่ฉันก็ไม่ต้องอยู่ในห้องทดลองทั้งวันนี่ แค่สองชั่วโมงฉันก็ทำงานเสร็จแล้ว’


‘สองชั่วโมง! เธอทำได้อย่างไรกัน ที่ประเทศของเรา พวกเจ้าหน้าที่อย่างผู้พิพากษาทำงานกันวันละถึงเจ็ดชั่วโมง’


‘ฉันก็เคยเห็นพวกนั้นทำงานอยู่ เธอคิดจริงๆ หรือว่าเขาทำงานกันทั้งเจ็ดชั่วโมง?’


‘ทำสิ!’


‘เปล่าเลย สุลตาน่าที่รัก พวกเขาเสียเวลาไปกับการสูบยามวน บางคนสูบสองถึงสามมวนระหว่างเวลางาน พวกเขาพูดถึงงานเสียมาก แต่ลงมือทำจริงนิดเดียว ลองคิดดูว่ายามวนหนึ่งกว่าจะสูบหมดก็ปาไปครึ่งชั่วโมง ผู้ชายคนหนึ่งสูบกันทีวันละสิบสองมวน วันๆ หนึ่งพวกผู้ชายก็ใช้เวลาหมดไปแล้วหกชั่วโมงกับการสูบยา’

เราพูดคุยกันหลายเรื่อง และฉันก็ได้เรียนรู้ว่าพวกเธอไม่เคยป่วยด้วยโรคระบาดหรือยุงกัดอย่างพวกเราเลย ฉันยิ่งทึ่งที่ได้ยินว่าไม่มีใครในสตรีประเทศที่ต้องตายในวัยเยาว์เลย เว้นเพียงบางกรณีเท่านั้น

เธออยากไปชมครัวของพวกเราไหม?’ เธอถาม

‘อยากสิ’ ฉันตอบและเราก็พากันไปชมมัน แน่นอนว่าพวกผู้ชายถูกขอร้องให้ออกไปจนหมดตอนที่ฉันเดินเข้าไป ครัวนั้นตั้งอยู่กลางสวนครัวอันงดงาม เถาวัลย์และมะเขือทุกต้นล้วนงามดั่งไม้ประดับ ฉันไม่พบว่ามีควันหรือปล่องควันในครัวเลย มันช่างสะอาดแบะสว่างตา หน้าต่างทุกบ้านตกแต่งด้วยกระถางดอกไม้ ไม่เห็นจะมีวี่แววของถ่านหรือกองไฟเลย


‘พวกเธอทำครัวกันอย่างไรนี่’
ฉันถาม


‘ด้วยพลังแสงอาทิตย์’
เธอตอบ พร้อมทั้งชี้ให้ฉันดูท่อที่แสงอาทิตย์และความร้อนเข้มข้นผ่านเขามา เธอลงมือปรุงอาหารเพื่อให้ฉันดูว่ามันทำงานอย่างไร

เธอทำอย่างไรถึงรวบรวมและเก็บกักความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้ได้ล่ะนี่?’ ฉันถามเธอด้วยสนเท่ห์

‘ให้ฉันเล่าประวัติศาสตร์ให้เธอฟังนะ เมื่อสามสิบปีก่อน เมื่อตอนที่ราชินีองค์ปัจจุบันของเรามีพระชนมพรรษาสิบสามชันษา พระองค์ก็ได้ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงเป็นเพียงสมเด็จพระราชินีแต่เพียงในนาม นายกรัฐมนตรีนั้นคือผู้ที่บริหารประเทศจริงๆ’

‘สมเด็จพระราชินีของเราทรงโปรดวิทยาศาสตร์นัก พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่าผู้หญิงทุกคนในประเทศควรได้รับการศึกษา ดังนี้โรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงจำนวนหลายโรงจึงถือกำเนิดขึ้นมาและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล การศึกษาแผ่ขยายไปในหมู่ผู้หญิง และการแต่งงานในวัยเด็กก็หยุดไปด้วย ไม่มีผู้หญิงคนไหนจะได้รับอนุญาตให้แต่งงานก่อนอายุยี่สิบเอ็ดปี ฉันต้องเล่าด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้พวกเราเองก็ถูกขังไว้ในปุรฺดาอย่างเคร่งครัด’

‘แล้วมันเปลี่ยนไปได้อย่างไรล่ะ’ ฉันขัดขึ้นพร้อมหัวเราะ

‘ถึงอย่างนั้นก็ตาม การปลีกตัวก็ยังคงดำรงอยู่’  เธอพูด ‘ในเวลาไม่กี่ปีเราก็มีมหาวิทยาลัยสำหรับผู้หญิงที่ห้ามผู้ชาเข้า’

‘ในเมืองหลวงที่สมเด็จพระราชินีประทับอยู่ มีมหาวิทยาลัยอยู่สองแห่ง แห่งหนึ่งได้ประดิษฐ์ลูกโป่งมหัศจรรย์ที่มีท่อจำนวนหนึ่งเชื่อมติดไว้ขึ้นมา ด้วยลูกโป่งที่พวกเขาบังคับให้ลอยสูงขึ้นเหนือแดนก้อนเมฆ พวกเขาก็สามารถเก็บกักน้ำในชั้นบรรยากาศไว้ได้ตามที่ต้องการ จากการที่น้ำถูกเก็บกักไว้อย่างต่อเนื่องโดยคนของมหาวิทยาลัย เมฆจึงหยุดก่อตัวและท่านอธิการินีผู้ปราชญ์เปรื่องก็สามารถยับยั้งพายุฝนได้’

‘จริงหรือนี่! ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมที่นี่ถึงไม่มีโคลนเลย’ ฉันพูดขึ้น กระนั้น ฉันก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะเก็บกักน้ำไว้ในท่อพวกนั้น เธอพยายามอธิบายว่าทำอย่างไร แต่ฉันก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีจำกัด อย่างไรก็ตาม เธอก็เล่าต่อว่า

‘เมื่ออีกมหาวิทยาลัยหนึ่งได้ยินเรื่องนี้ พวกเขาก็เกิดอิจฉาตาร้อนและพยายามที่จะประดิษฐ์อะไรที่ประเสริฐกว่านั้น พวกเขาคิดค้นเครื่องมือที่จะทำให้ก้อนเมฆสะสมความร้อนไว้ให้ได้ดั่งใจ และพวกเขาก็เก็บความร้อนไว้เพื่อแจกจ่ายตามความต้องการ ในขณะที่พวกผู้หญิงกำลังศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ บรรดาผู้ชายในประเทศนี้ก็หมกมุ่นอยู่กับการสั่งสมอำนาจทางทหาร ตอนที่พวกเขาได้ยินว่ามหาวิทยาลัยสตรีสามารถดึงน้ำจากชั้นบรรยากาศและสั่งสมความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ได้ พวกเขาก็หัวเราะเยาะสมาชิกของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ และพูดดูถูกงานนี้ว่า “ฝันร้ายอันฟูมฟาย”

‘ความสำเร็จของพวกเธอนั้นวิเศษจริงๆ! แต่บอกหน่อยเถิดว่าพวกเขาเอาบรรดาผู้ชายในประเทศของเธอเข้าไปไว้ในเชนานาได้อย่างไร? ต้องจับตัวพวกเขาก่อนหรือเปล่า?’


‘เปล่า’


‘ไม่ใช่ว่าพวกนั้นจะยอมสละชีวิตอันอิสระเสรีภายนอกเข้าไปอยู่ข้างหลังกำแพงทั้งสี่ด้านของเชนานาด้วยตัวเองดอกนะ พวกเขาต้องถูกเอาชนะเสียก่อน’


‘ใช่แล้ว พวกเขาถูกเอาชนะ’


‘ใครเป็นคนเอาชนะได้หรือ โดยบรรดานักรบสตรีใช่ไหม?’

‘ไม่ใช่ ไม่ได้เอาชนะด้วยกำลัง’

‘นั่นสิ มันเป็นไปไม่ได้ กำลังของพวกผู้ชายนั้นแข็งแกร่งกว่าของผู้หญิง ถ้าเช่นนั้นด้วยอะไรล่ะ’

‘ด้วยสมอง’

‘แต่สมองของผู้ชายก็ใหญ่และหนักกว่าของผู้หญิงมิใช่หรือ?’

‘ก็จริง แต่จะเป็นไรไป สมองของช้างก็ยังใหญ่และหนักกว่าของมนุษย์ แต่มนุษย์ก็ยังจับช้างมาใช้งานตามที่ต้องการได้’

‘ก็มีเหตุผล แต่บอกฉันหน่อยเถิด มีเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉันอยากรู้เต็มแก่แล้ว’

‘สมองของผู้หญิงนั้นว่องไวกว่าสมองของผู้ชาย ราวสิบปีก่อน ตอนที่บรรดานายทหารเรียกการค้นพบของพวกเราว่า “ฝันร้ายฟูมฟาย” พวกผู้หญิงสาวๆ ก็อยากที่จะพูดอะไรโต้ไป แต่ท่านอธิการินีทั้งสองได้ห้ามไว้ โดยบอกว่าเราไม่ควรจะตอบโต้ด้วยคำพูด แต่ถ้ามีโอกาสก็ให้ตอบโต้ด้วยการกระทำ และพวกเธอก็ไม่ต้องรอโอกาสนั้นนาน’

‘ดีจริง’   ฉันปรบมือผ่าง  ‘และคราวนี้บรรดาสุภาพบุรุษผู้ทะนงตนต่างก็กำลังฝันถึงฝันอันฟูมฟายด้วยตนเอง’

‘หลังจากนั้นไม่นานก็มีคนจำนวนหนึ่งหลบหนีจากประเทศเพื่อนบ้านมาพักพิงอยู่ในประเทศของเรา พวกเขามีปัญหาด้วยคดีทางการเมือง กษัตริย์ผู้ทรงใส่พระทัยในอำนาจมากกว่าในรัฐบาลที่ดีได้ขอให้พระราชินีผู้เมตตาของเราส่งตัวพวกเขาให้แก่เจ้าหน้าที่ของพระองค์ พระนางทรงปฏิเสธด้วยมันขัดกับหลักการของพระองค์ที่จะให้พระนางส่งมอบตัวผู้ลี้ภัย ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์พระองค์นั้นจึงประกาศสงครามกับประเทศของเรา’

บรรดานายทหารของเราก็ลุกขึ้นและกรีฑาทีพออกไปประจันบานกับศัตรูโดยพลัน แต่ศัตรูนั้นมีกำลังมากกว่าพวกเขานัก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทหารของเรารบพุ่งอย่างห้าวหาญเพียงใด แต่กระนั้นกองทัพต่างแดนก็รุกคืบเข้ามาในดินแดนของเราทีละก้าว

ผู้ชายเกือบทั้งหมดออกไปร่วมรบ แม้แต่เด็กหนุ่มอายุสิบหกปีก็ยังต้องออกไปจากบ้าน นักรบของเราเกือบทั้งหมดถูกสังหาร พวกที่รอดชีวิตก็ต้องถอยร่นกลับมา และศัตรูก็ยกทัพมาประชิดเมืองหลวงของเราห่างออกไปเพียงยี่สิบห้าไมล์

สตรีผู้มีปัญญากลุ่มหนึ่งมาประชุมกันในพระราชวังของสมเด็จพระราชินี เพื่อให้คำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรจึงจะรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ บางคนเสนอว่าให้ผู้หญิงออกไปรบเยี่ยงทหาร บางพวกก็คัดค้านและบอกว่าผู้หญิงไม่ได้ถูกฝึกมาให้รบด้วยดาบและปืน หรือคุ้นเคยกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ กลุ่มที่สามก็คร่ำครวญว่าร่างกายของพวกเธอนั้นอ่อนแอไร้ความหวัง

“ถ้าพวกท่านปกป้องประเทศชาติด้วยกำลังกายไม่ได้ ก็ขอให้ลองปกป้องด้วยพลังสมองดู'”  สมเด็จพระราชินีตรัส

ที่ประชุมนิ่งงันไปชั่วครู่

“เราคงต้องปลิดชีวิตตนเองหากต้องสูญสิ้นดินแดนและเกียรติยศ” พระองค์ดำรัสต่อ

ท่านอธิการินีของมหาวิทยาลัยแห่งที่สอง (คนที่คิดเรื่องสะสมความร้อนแสงอาทิตย์) ที่นั่งครุ่นคิดอยู่เงียบๆ ในที่ประชุมก็ได้เอ่ยขึ้นมาว่าพวกเราอาจจะไร้หนทาง แต่ก็ยังพอมีความหวังเหลืออยู่บ้าง ยังมีแผนที่เธออยากจะลองดู และนี่ก็จะเป็นทั้งความพยายามแรกและสุดท้าย หากเธอล้มเหลวก็ไม่มีทางเลือกอื่นเหลือนอกจาก ทุกคนที่อยู่ที่ตรงนั้นต่างร่วมกันปฏิญาณว่าจะไม่ยอมให้ถูกจับตัวไปเป็นทาสไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

สมเด็จพระราชินีขอบพระทัยพวกเธอและมีดำรัสให้อธิการินีลองใช้แผนของเธอ ท่านอธิการินีลุกขึ้นยืนและกล่าวว่า ‘ก่อนที่เราจะออกไปกัน พวกผู้ชายต้องเข้าไปอยู่ในเชนานากันเสียก่อน หม่อมฉันอธิษฐานเรื่องนี้ด้วยเกียรติของปุรฺดา’

“ได้สิ” สมเด็จพระราชินีดำรัสตอบ

วันต่อมา สมเด็จพระราชินีได้ทรงร้องขอให้ผู้ชายทั้งหลายปลีกตัวเข้าไปอยู่ในเชนานาเพื่อรักษาเกียรติยศและอิสรภาพ ด้วยบาดเจ็บและเหนื่อยล้าเต็มกำลัง พวกเขาล้วนสนองพระดำรัสด้วยถือว่าเป็นบุญ พวกเข้าน้อมศรีษะลงต่ำและพากันเข้าไปอยู่ในเชนานาโดยไม่โต้แย้งอะไร พวกเขาล้วนมั่นใจว่าไม่มีความหวังสำหรับประเทศนี้อีกแล้ว

จากนั้นท่านอธิการินีพร้อมกับนักศึกษาสองพันคนก็เดินขบวนออกไปยังสนามรบ และเมื่อไปถึง พวกเธอก็ปล่อยลำแสงอันเข้มข้นของพลังแสงอาทิตย์และความร้อนตรงไปที่เหล่าศัตรู

ความร้อนและแสงนั้นทรงพลังเกินกว่าที่พวกเขาจะทนทาน เหล่าศัตรูจึงวิ่งเตลิดกันไปอย่างลนลาน เพราะไม่รู้ว่าจะต่อสู้กับความร้อนอันเหลือทนนี้ได้อย่างไร ตอนที่พวกเขาเตลิดไป พวกเขาก็ได้ทิ้งปืนและยุทโธปกรณ์ทั้งมวลของพวกเขาไว้เบื้องหลัง อาวุธเหล่านี้ก็ได้ถูกเผาไหม้จนปลาสนาการด้วยพลังอาทิตย์นั้น นับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เคยมีใครที่จะกล้ามารุกรานประเทศเราอีก

‘ตั้งแต่ตอนนั้นมา ผู้ชายในประเทศของเธอก็ไม่เคยพยายามจะออกมาจากเชนานาอีกเลยหรือ?’

‘พยายามสิ พวกเขาต้องการจะเป็นอิสระ ผู้บังคับการตำรวจและผู้พิพากษาบางคนถวายฎีกาต่อสมเด็จพระราชินีว่าสมควรที่จะจองจำนายทหารทั้งมวลโทษฐานที่ล้มเหลวในการปกป้องประเทศ แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่และด้วยเหตุนี้จึงอ้อนวอนต่อสมเด็จพระราชินีว่าพวกเขาไม่ควรที่จะต้องถูกลงโทษและขอให้พวกเขาได้กลับไปทำงานอีกครั้ง’

สมเด็จพระราชินีได้มีจดหมายเวียนไปถึงทุกคนว่า หากพระองค์ต้องการจะใช้งานผู้ใดก็จะเรียกตัวมา แต่ในตอนนี้ขอให้ทุกคนอยู่ที่นั่นกันไปก่อน ถึงตอนนี้พวกเขาก็คุ้นชินกับระบบปุรฺดากันแล้วและก็เลิกคร่ำครวญว่าจะต้องอยู่อย่างสันโดษ พวกเราเรียกระบบนี้ว่า “มรฺดานา” [8] แทน “เชนานา”

‘แล้วพวกเธออยู่กันโดยไม่มีตำรวจหรือผู้พิพากษากันได้อย่างไรเวลาที่มีโจรกรรมหรือมีฆาตกรรม?’ ฉันถามภคินีซาร่า


‘ตั้งแต่เรามีระบบ “มรฺดานา” มันก็ไม่เคยมีอาชญากรรมหรือการทำบาปกรรมอีกเลย เราจึงไม่จำเป็นต้องใช้ตำรวจออกล่าโจร หรือต้องใช้ผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรม’

‘ช่างดีจริง ฉันคิดว่าถ้าเกิดมีคนทุจริตขึ้นมา พวกเธอก็คงจะจัดการกันเองได้ง่ายๆ พวกเธอชนะสงครามกันโดยไม่เสียเลือดสักหยดมาแล้ว เรื่องขจัดอาชญากรรมและอาชญากรก็คงไม่ใช่เรื่องยาก’

‘เอาล่ะ สุลตาน่าที่รัก เธอจะอยู่ตรงนี้หรือจะไปที่ห้องนอนของฉัน?’ เธอถาม

‘ห้องครัวของเธอไม่ได้ด้อยไปกว่าห้องประทับของพระราชินีเลย’   ฉันตอบ ‘แต่เราคงต้องไปจากที่นี่กันแล้ว มิเช่นนั้นพวกผู้ชายจะบ่นฉันว่ามาขวางไม่ให้พวกเขาทำงานครัวนานเกินไป’

เราทั้งสองคนหัวเราะร่วน

‘เพื่อนที่บ้านของฉันคงนึกขันและประหลาดใจนัก เวลาที่ฉันกลับไปเล่าให้พวกเธอฟังว่า ในสตรีประเทศอันไกลแสนไกลนั้น ผู้หญิงเป็นผู้ปกครองประเทศและควบคุมกิจการทางสังคมต่างๆ ในขณะที่พวกผู้ชายใช้ชีวิตอยู่กันในมรฺดานา เลี้ยงดูลูก ทำอาหารและทำงานเรือนอื่นๆ นอกจากนี้แล้วการทำอาหารก็ยังเป็นเรื่องง่ายจนเป็นงานที่จรรโลงใจ!’

‘เอาเลย เล่าให้พวกเธอฟังว่าเธอได้เห็นอะไรมาบ้าง’

‘โปรดบอกฉันหน่อยว่าพวกเธอทำไร่นากันอย่างไร และพวกเธอไถนาหรือทำงานหนักๆ กันได้อย่างไร’

‘พวกเราไถไร่นากันด้วยไฟฟ้า อันเป็นพลังงานที่ขับเคลื่อนงานหนักอื่นๆ ด้วย และเราก็ใช้มันสำหรับยานเหาะของพวกเราอีกเช่นกัน ที่นี่เราไม่มีทางรถไฟหรือถนนสำหรับรถวิ่ง’

‘เพราะเหตุนี้ที่นี่จึงไม่มีอุบัติเหตุทางรถไปหรือทางถนน’ ฉันเปรย

‘พวกเธอเคยขาดน้ำฝนกันบ้างไหม?’ ฉันถาม

‘ไม่เคยเลยตั้งแต่ที่เรามีลูกโป่งน้ำกันมา เธอสังเกตเห็นลูกโป่งยักษ์ที่มีท่อติดนั้นไหม พวกมันช่วยให้เราดึงน้ำฝนมาได้มาเท่าที่เราจะต้องการ นอกจากนี้เราก็ยังไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับน้ำท่วมหรือพายุ พวกเรายุ่งอยู่กับการทำให้ธรรมชาติผลิดอกออกผล พวกเราไม่เคยนิ่งเฉยจนมีเวลาว่างพอที่จะมาทะเลาะกับใคร สมเด็จพระราชินีของเราก็ทรงโปรดต้นไม้มาก พระองค์มีพระประสงค์ที่พลิกฟื้นทั้งประเทศให้กลายเป็นอุทยานขนาดใหญ่’

‘ช่างเป็นความคิดที่ประเสริฐยิ่ง แล้วอาหารหลักของพวกเธอเป็นอะไรกัน?’

‘ผลไม้’

‘พวกเธอทำอย่างไรอากาศถึงยังเย็นอยู่แม้ในหน้าร้อนได้? พวกเรามองว่าฝนกลางฤดูร้อนเปรียบดั่งพรจากสวรรค์’

‘เวลาอากาศร้อน เราก็จะประพรมผืนดินด้วยละอองน้ำจากน้ำพุประดิษฐ์ และยามอากาศหนาว เราก็จะใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้ห้องอบอุ่น’

เธอพาฉันไปดูห้องน้ำของเธอที่มีหลังคาเปิดออกได้ เธอสามารถอาบน้ำจากฝักบัวได้ง่ายๆ ด้วยการเปิดหลังคาออก (คล้ายๆ กับฝากล่อง) แล้วก็เปิดก๊อก

‘พวกเธอช่างโชคดีอะไรเช่นนี้’   ฉันโพล่งออกมา ‘เธอไม่เคยขาดแคลนอะไรเลย ฉันขอถามหน่อยได้ไหมว่าพวกเธอนับถือศาสนาอะไรกันหรือ?’

‘ศาสนาของพวกเรานั้นมีพื้นฐานอยู่บนความรักและสัจจะ มันเป็นหน้าที่ตามศาสนาของเราที่จะรักผู้อื่นและยึดถือสัจจะ หากผู้ใดมุสา ผู้นั้นก็จะ….’

‘ต้องถูกประหารชีวิต?’

‘ไม่ ไม่มีการประหารชีวิต พวกเราไม่ชอบทำลายชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่มุสาจะถูกขอให้ออกไปจากดินแดนแห่งนี้และไม่มีวันที่จะได้กลับมาอีก’

‘แล้วคนทำผิดไม่เคยได้รับอภัยเลยหรือ?’


‘เคยสิ ถ้าคนๆ นั้นสำนึกผิดอย่างจริงใจ’


‘แล้วเธอได้รับอนุญาตให้พบผู้ชายคนอื่นนอกจากญาติบ้างไหม?’


‘ไม่เลยนอกจากญาติ’


‘วงวารศักดิ์สิทธิ์ของพวกเราแคบนัก แม้ญาติชั้นลูกพี่ลูกน้องก็ไม่รวมอยู่ในนั้น’


‘วงวารศักดิ์สิทธิ์ของเรากว้างขวางเหลือคณา แม้ญาติห่างๆ ก็นับว่าศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่าพี่ชายหรือน้องชาย’


‘ดีจริง เห็นได้ชัดว่าดินแดนของเธอนั้นปกครองด้วยความบริสุทธิ์ ฉันอยากเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินี ผู้ทรงหลักแหลมและมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทำให้กฏเหล่านี้บังเกิดขึ้น’


‘ได้สิ’
ภคนีซาร่าตอบ

หลังจากนั้นเธอก็ยึดม้านั่งสองสามตัวกับแผ่นกระดานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสแผ่นหนึ่ง รวมทั้งติดลูกบอลที่ขัดจนเรียบเป็นมันวาวสองลูกเข้ากับมัน เมื่อฉันถามว่าลูกบอลทั้งสองลูกนั้นมีไว้ทำอะไร เธอก็ตอบว่ามันเป็นลูกบอลไฮโดรเจนที่เอาไว้ช่วยต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ลูกบอลแต่ละขนาดจะมีกำลังที่แตกต่างกันไปตามน้ำหนักที่ต้องการแรงต้าน จากนั้นเธอก็ผูกปีกสองข้างของยานเหาะที่มีรูปร่างคล้ายใบมีด เธอบอกว่าพวกมันขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า หลังจากที่เรานั่งกันสบายแล้ว เธอก็เอามือแตะที่ปุ่มปุ่มหนึ่งและปีกทั้งสองก็เริ่มหมุนเร็วขึ้นและเร็วขึ้น ในตอนแรกยานเหาะของเรายกตัวขึ้นสูงจากพื้นประมาณหกหรือเจ็ดฟุต จากนั้นก็พุ่งทะยานออกไป ก่อนที่ฉันจะรู้ตัวว่าพวกเราเคลื่อนตัวออกมาแล้ว พวกเราก็มาถึงพระราชอุทยานของสมเด็จพระราชินี

เพื่อนของฉันเอายานลงจอดด้วยการย้อนกลับการทำงานของกลไก เมื่อยานแตะถึงพื้นเครื่องยนตร์ก็หยุดทำงาน และเราก็พากันลงจากยาน

จากบนยานเหาะ ฉันมองเห็นสมเด็จพระราชินีเดินไปตามทางเดินของอุทยานพร้อมกับพระราชธิดา (ผู้ซึ่งมีพระชันษาสี่ปี) และบรรดานางสนองพระโอษฐ์

‘ฮัลโล เธอตรงนั้น’ สมเด็จพระราชินีตะโกนทักภคินีซาร่า เธอแนะนำฉันกับสมเด็จพระราชินี ผู้ซึ่งยินดีต้อนรับฉันโดยไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไร

ฉันดีใจที่ได้รู้จักกับพระองค์ ในระหว่างการสนทนาของเรา พระองค์ได้เล่าให้ฟังว่า พระองค์ไม่ได้ห้ามให้คนในประเทศของพระองค์ค้าขายกับประเทศอื่นๆ ‘แต่…’ พระองค์ดำรัสต่อ ‘มันเป็นไปไม่ได้ที่จะค้าขายกับประเทศที่ขังผู้หญิงไว้ในเชนานา โดยพวกผู้หญิงไม่อาจจะออกมาค้าขายกับพวกเราได้ พวกเราพบว่า พวกผู้ชายนั้นไม่ค่อยมีศีลธรรมจรรยาและพวกเราก็ไม่ค่อยชอบติดต่อค้าขายกับพวกเขา เราไม่คิดจะไปยึดดินแดนของผู้อื่นหรือทำสงครามเพื่อเพชรที่ส่งประกายเจิดจ้ากว่า โค-อิ-นูรฺ [9] หรือแม้กระทั่งเพื่อบัลลังก์มยุรา [10] พวกเราดำดิ่งไปในมหาสมุทรแห่งปัญญา เพื่อค้นหาเพชรนิลมีค่าที่รอคอยเราอยู่ เรายินดีกับของขวัญจากธรรมชาติให้มากเท่าที่จะยินดีได้’

เมื่ออำลาสมเด็จพระราชินีมา ฉันก็ได้ไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงทั้งสองแห่ง และได้ไปชมโรงผลิต ห้องทดลองและสถานีสังเกตการณ์ของพวกเขา หลังจากที่ได้ไปตามสถานที่ที่น่าสนใจเหล่านี้แล้ว พวกเราก็กลับไปขึ้นยาเหาะ แต่ทันทีที่มันเริ่มเคลื่อนตัว ตัวของฉันก็ลื่นไหลตกลงมาจนทำให้ให้ฉันสะดุ้งตื่นจากความฝัน เมื่อฉันลืมตาขึ้นมา ฉันก็พบว่าตัวเองอยู่ในห้องนอนของตัวเอง กำลังเอนหลังอยู่บนเก้าอี้นั่งเล่น

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Footnotes :

[1] বেগম রোকেয়া – Begum Rokeya

[2] เพศหญิงของ สุลต่าน แปลว่าผู้ปกครองที่เป็นผู้หญิง

[3] রোকেয়া সাখাওয়াত হোসেন – Rokeya Sakhawat Hossain

[4] เชนานา (Zenana, เปอร์เซีย : زنانه, บังกลา : জেনানা, อุรฺดู : زنانہ, ฮินดี : ज़नाना) เป็นคำศัพท์ที่หยิบยืมมาจากภาษาเปอร์เซีย อันมีความหมายว่า “ของสตรี” หรือ “สงวนไว้สำหรับสตรี” ในที่นี้หมายถึงสัดส่วนของบ้านชาวฮินดูและมุสลิมในเอเชียใต้ที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับผู้หญิง ในบ้านของชาวบังกาลีนั้น เชนานาจะเชื่อมต่อด้วยทางเดินแคบๆ หรือช่องประตูกับส่วนหน้าของบ้านที่เป็นที่อยู่ของผู้ชายที่เรียกว่า มรฺดานา ปกติแล้วผู้หญิงที่อยู่ในเชนานาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาข้างนอก ขณะเดียวกันผู้ชายที่จะสามารถเข้าไปในส่วนนี้ได้ก็มีเพียงแต่สมาชิกในครอบครัวเท่านั้น

[5] করিমুন্নেসা খানম চৌধুরানী – Karimunnesa Khanam Chaudhurani

[6] পিপাসা หรือ ความกระหาย

[7] ปุรฺดา (Purdah, เปอร์เซีย : پرده, บังกลา : পর্দা, ฮินดี : पर्दा ) เป็นคำยืมจากภาษาเปอร์เซียมีความหมายว่า “ม่าน” เป็นวัตรปฏิบัติทางศาสนาและทางสังคมที่แยกเพศหญิงออกจากเพศชาย ในเอเชียใต้นั้นนิยมปฏิบัติกันทั้งในหมู่ชาวฮินดูและมุสลิม โดยเฉพาะในครอบครัวชนชั้นสูง ปุรฺดานั้นมีสองรูปแบบด้วยกัน  อย่างแรกคือการแยกเพศหญิงและเพศชายทางกายภาพ เช่น การแยกสัดส่วนของพื้นที่ หรือ การเข้าไปอยู่ในเชนานา อย่างที่สองคือการการคลุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น การใช้ชายส่าหรีหรือใช้ผ้าคลุมผมที่เรียกว่า ทุปฏฺฏา ในครอบครัวมุสลิมก็อาจจะเป็นการสวมบุรเกาะอฺ นิกอบ หรือ ฮิญาบ

[8] มรฺดานา (Mardana, บังกลา : মর্দানা) เป็นสัดส่วนที่อยู่ด้านหน้าของบ้านในเอเชียใต้ เป็นที่อยู่อาศัยและที่รับรองแขกที่เป็นผู้ชาย ที่แยกออกจาก เชนานา ที่เป็นที่อยู่ของผู้หญิง ในที่นี้เป็นการเล่นกับการผลิกคำและระบบความคิด

[9] The Koh-i-Noor (เปอร์เซีย : کوہ نور) หรือ ภูเขาแห่งแสงสว่าง เป็นเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเม็ดหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์สหราชอาณาจักร ตามหลักฐานนั้นค้นพบในเหมืองโกคอนดา รัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย เคยเป็นหินมีค่าที่ประดับบัลลังก์มยุราแห่งราชวงศ์มุฆัล จากนั้นก็ได้ตกไปอยู่ในมือของจักพรรดิ์นาดีรฺ ชาฮฺ แห่ง เปอร์เซีย และเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะกลับมาอยู่ในมือของกษัตริย์แห่งปัญจาบและถูกริบเป็นของจักรวรรดิ์อังกฤษ

[10] บัลลังก์มยุรานั้นเป็นชื่อที่ชาวต่างชาติตั้งให้กับบัลลังก์ประดับหินมีค่าของจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์มุฆัล เมื่อจักพรรดิ์นาดีรฺ ชาฮฺ แห่ง เปอร์เซีย ยกทัพมาตีนครเดลีแตกก็ได้นำของมีค่าต่างๆ จากเดลีซึ่งก็รวมหินมีค่าที่เคยประดับบัลลังก์มยุรากลับไปด้วย เครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งเปอร์เซียส่วนใหญ่ก็จะประดับด้วยหินมีค่าที่แกะไปจากบัลลังก์มยุรา

Photo credit :

https://www.observerbd.com/news.php?id=288566

https://garagemca.org/en/event/afrah-shafiq-nobody-knows-for-certain/materials/rokeya-sakhavat-hosseyn-son-sultany-sultana-s-dream-by-rokeya-sakhawat-hossain

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *