
โดย นงค์ลักษณ์ บัทเลอร์
นักวิจัยผู้ช่วยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร้านหนังสือ Mohan’s Bookshop ในโกลกาตา ก่อตั้งโดย โมฮัน ทีวารี (Mohan Tiwari) ปัจจุบันได้ส่งต่อกิจการให้กับลูกชายของเขาคือ โกปาล ทีวารี (Gopal Tiwari) ได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการควบคู่กับพ่อผู้เป็นคนปลุกปั้นร้านมา ร้านหนังสือแห่งนี้ซึ่งเปิดบริการมายาวนานหลายสิบปี แต่แล้วมีเหตุให้ต้องปิดตัวลงเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 อันเป็นผลพวงและสืบเนื่องจากการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
โมฮัน เกิดในยุคสมัยที่อินเดียยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ คนอังกฤษยังไม่ถอนตัวออกจากอินเดีย เขาเป็นลูกชายคนแรกในจำนวนลูกชายสามคนของครอบครัว เกิดที่เมืองบัลเลีย ของรัฐอุตตรประเทศ และไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือแต่อย่างใด จนกระทั่งปีค.ศ. 1943 เขามาหางานทำที่โกลกาตา “ตอนนั้นพ่ออายุน่าจะยังไม่ถึง 14 ปีด้วยซ้ำไป” โกปาล ลูกชายคนโตของเขากล่าว

“ไม่มีใครให้คำแนะนำพ่อเกี่ยวกับการทำธุรกิจกับสำนักพิมพ์ พ่อเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง พาตัวเองเข้าไปทำความรู้จักกับหนังสือ ไม่วอกแวกกับสิ่งอื่น และยังหาเวลาไปเรียนภาษาอังกฤษ” โกปาล กล่าว
หลังจากปีค.ศ. 1947 อินเดียได้รับประกาศเอกราช ผู้คนในโกลกาตาเวลานั้นต่างรู้จัก โมฮัน และร้านของเขา ส่วนลูกชายมาทำงานกับพ่อตั้งแต่ปีค.ศ. 1992 ร้านหนังสือแห่งนี้ต้อนรับคนทุกสาขาอาชีพ คนสำคัญอย่าง สัตยาชิต ราย แวะเวียนมาที่ร้านนี้บ่อยๆ สมัยที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย “พ่อรู้จักกับรายตั้งแต่เขายังไม่ได้เป็นผู้กำกับดัง ร้านหนังสือของเรายังมีคนดังอย่าง ซุปมิตรา แชตเตอร์จี และ อาปาร์นา เสน ต่างเคยมาที่นี่”
เมื่อต้องกล่าว “ลาก่อน” สำหรับผู้ก่อตั้งและลูกชายถึงกับหัวใจสลาย เมื่อต้องจำใจปิดร้านหนังสือจากสถานการณ์โควิด “ผมรู้ ว่าพ่อรู้สึกเสียใจมากกว่าผมหลายสิบเท่า”
ร้านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางวัฒนธรรมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และในช่วงสิบปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ “เมื่อก่อนโรงหนังชื่อ Lighthouse อยู่ฝั่งตรงข้ามร้านของพวกเรา คนที่มาดูหนังประจำ มักจะแวะที่ร้านเราหลังจากดูหนังจบ” โกปาล ทิวารี กล่าว
“พ่อมาที่ร้านประจำ จนมีโควิดระบาดจึงไม่มา พ่อรักร้านมาก ผมเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าสักวันเราก็ต้องขายกิจการ” ในสถานการณ์ปกติร้านหนังสือของครอบครัวแขวนอยู่บนเส้นด้าย ผนวกกับสถานการณ์ของโควิดยิ่งกระตุ้นเหตุให้ต้องปิดร้านเลิกกิจการ ร้านต้องปิดในช่วงล็อกดาวน์ แม้จะพยายามกลับมาเปิดร้านอีกหนึ่งครั้ง การแพร่ระบาดของโควิดอีกครั้งเท่ากับเป็นตะปูที่มาตอกฝาโลงให้ปิดสนิท แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่อาจต้านทานต่อการถูกโควิดแช่แข็ง ประกอบกับหลานชายของโมฮัน คนหนึ่งเป็นผู้กำกับหนังในมุมไบ ส่วนอีกคนเรียนวิศวกรรมศาสตร์และจะไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับที่สูงขึ้นไป จึงไม่มีใครสานต่อกิจการ
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2021 ร้านหนังสือ Mohan’s Bookshop เปิดดำเนินการเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อสั่งลา แต่ไม่ได้แจ้งกับลูกค้าให้รู้ว่าร้านจะปิดกิจการถาวร ทำให้เมื่อลูกค้ารู้ข่าวว่าร้านเลิกกิจการ หลายคนรู้สึกใจหาย เสียใจ และบางคนยังอยากให้ร้านช่วยหาหนังสือให้เหมือนแต่ก่อน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
References
บันทึกบรรณาธิการ: โมฮัน ทีวารี เกิดในหมู่บ้านห่างไกลชื่อ Prabodhpur ในอุตตรประเทศ ครอบครัวของเขาเป็นชาวนาจนต่อมาต้องเสียผืนนาให้กับแม่น้ำคงคา เรื่องราวของร้านหนังสือ Mohan’s Bookshop เผยแพร่ในเว็ปไซต์ https://scroll.in/ วันที่ 2 พฤษภาคม 2021 และ โมฮัน ถึงแก่กรรมวันที่ 3 พฤษภาคม 2021
เรียบเรียงจาก/Ref: https://scroll.in/article/993796/how-kolkatas-famous- Mohan’s-bookshop-lost-its-battle-against-the-covid-19-pandemic
Photo credit :
– https://scroll.in/article/993796/how-kolkatas-famous-mohans-bookshop-lost-its-battle-against-the-covid-19-pandemic