เปิดมันออก

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

คณะนิเทศศาสตร์ และ สถาบันเอเชียศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ของ ซะอาดัต ฮะซัน มันโต [1]

แปลโดย จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

มีผู้กล่าวว่า ซะอาดัต ฮะซัน มันโต เป็นนักเขียนที่เขียนถึงเหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดียและปากีสถานได้ถึงแก่นมากที่สุด เอกราชจากอังกฤษนำมาซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่โหดร้ายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเอเชียใต้และของโลก มันโตเป็นนักเขียนคนแรกๆ ที่กล้าเขียนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ตลอดจนผลของมันที่ตามมาในภายหลัง งานเขียนของมันโตนำความเป็นมนุษย์กลับมาสู่เหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดียและปากีสถาน ด้วยการชี้ให้โลกเห็นถึงชะตากรรมของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการเดินหมากทางการเมืองที่ไร้หัวใจและไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้คน

“โขล โท” หรือ “เปิดมันออก”เป็นเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดียและปากีสถานของมันโตที่มีผู้อ่านกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด ในปีที่เรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ มันได้ชื่อว่าเป็นเรื่องสั้นที่ฉาวโฉ่เรื่องหนึ่งของยุคสมัย ไม่ใช่เพียงแค่ด้วยโครงเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครเท่านั้น แต่ประเด็นที่เรื่องสั้นเรื่องนี้ทำให้ทางการไม่พอใจก็คือการนำเสนอว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม หรือระหว่างชาวฮินดูสถานและชาวปากีสถาน แต่มันคือความรุนแรงที่เกิดจากสันดานดิบและความป่าเถื่อนที่ซุกซ่อนอยู่ในกายของมนุษย์

เช่นเดียวกับ โตบา เตก ซิงห์ ที่ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น (คลิ๊กที่นี่เพื่ออ่าน) เรื่องสั้นเรื่อง เนื้อเย็น (คลิ๊กที่นี่เพื่ออ่าน) นี้ก็นับว่าเป็นเรื่องสั้นอีกหนึ่งเรื่องที่ให้ภาพความโหดร้ายของความขัดแย้งระหว่างชุมชนในช่วงของการแบ่งแยกอินเดีย ค.ศ. 1974

ประวัติศาสตร์แห่งชาติมักจะเขียนเรื่องราวให้ศัตรูของชาตินั้นเป็นผู้ร้ายและเป็นผู้ที่พร้อมจะทำสิ่งชั่วช้าต่อร่างกายของชาติอื่น แต่เรื่องสั้นของมันโตเรื่องนี้กลับชวนให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือความจริงแล้วกลุ่มคนที่ชาติยกย่องว่าเป็นบุรุษนั้นเองที่เป็นผู้ย่ำยีร่างกายของชาติเสียเอง

ซะอาดัต ฮะซัน มันโตเกิดเมื่อปี ค.ศ 1912 ในครอบครัวชาวมุสลิมเชื้อสายแคชมีร์ ที่เมืองลุธิอาณา จังหวัดปัญจาบ มันโตมีชื่อเสียงในฐานะกวีและนักเขียนภาษาอูรฺดู-ฮินดูสถานี ทั้งในอินเดียและปากีสถาน งานของเขามีทั้งบทกวี นวนิยายและเรื่องสั้น บทละครสำหรับละครเวที ภาพยนตร์และวิทยุ มันโตมีบทบาทสำคัญทั้งในแวดวงสังคมและในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของนครบอมเบย์นั้น เมืองที่เขาเรียกว่าบ้านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 กระทั่งตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปยังนครละฮอร์เมื่อความรุนแรงต่อชาวมุสลิมในช่วงแบ่งแยกอินเดียและปากีสถานทวีความรุนแรงขึ้นในปี ค.ศ. 1948

มันโตเป็นมุสลิมที่ไม่ได้เคร่งครัดนักและมีแนวคิดแบบเสรีนิยม ไม่มีประเด็นหรือเรื่องราวอะไรอันเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่จะเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับเขา ในงานของเขาเราจึงพบกับตัวละครอย่างฆาตกร โสเภณี หรือแมงดา ได้ดิ่งลึกลงไปในโลกของสันดานดิบและตัณหา โลกทัศน์และการใช้ชีวิตของเขาจึงทำให้เขาต้องมีปัญหากับรัฐและกลุ่มอนุรักษ์นิยมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในสมัยที่อินเดียยังถูกปกครองโดยอังกฤษและต่อมาในสมัยที่ปากีสถานได้รับเอกราชแล้ว

งานเขียนของมันโตโดยส่วนใหญ่จะเป็นงานที่พาเราเข้าไปสัมผัสกับการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับปีศาจภายในกายของตนเอง อาจถือได้ว่างานเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนการต่อสู้ในชีวิตของเขาเองก็เป็นได้ ในบั้นปลายชีวิตมันโตต้องต่อสู้กับอาการติดสุราและโรคซึมเศร้าอยู่นานเป็นทศวรรษ ก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์เมื่อวันที่ 18 มกราคม ปี ค.ศ. 1955 ในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งนครลาฮอร์

کھول دو – เปิดมันออก – खोल दो

รถไฟขบวนพิเศษออกจากอมฤตสระตอนเวลาบ่ายสอง ใช้เวลาอีกแปดชั่วโมงก็จะมาถึงมุฆัลปุระและจากนั้นก็จะเป็นลาฮอร์ ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งถูกสังหารไปในระหว่างทาง จำนวนอีกไม่น้อยบาดเจ็บ และบางคนก็หนีสาบสูญไปไหนก็ไม่รู้

ในตอนสิบโมงเช้า เมื่อสิราชุดดีนลืมตาขึ้นมาท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บของค่ายผู้ลี้ภัย เขาก็มองเห็นคลื่นมนุษย์จำนวนมหาศาลทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กอยู่รอบตัวเขา ความสามารถที่จะคิดและเข้าใจอะไรๆ มันได้จากเขาไป เขาจ้องมองท้องฟ้าขมุกขมัวอยู่เป็นเวลานาน แม้จะอยู่ท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครมมหาศาลหูของเขาก็ดูเหมือนไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย คนที่มาเห็นสภาพของเขาในตอนนี้ก็คงนึกไปว่าเขากำลังตกอยู่ในห้วงความคิดคำนึง แต่จริงแล้วมันหาเป็นเช่นนั้นไม่ ความรู้สึกของเขามันเฉยชาไปหมด มันราวกับว่าตัวของเขานั้นกำลังถูกแขวนลอยอยู่ในอวกาศ

ขณะที่กำลังจ้องมองฟ้าขมุกขมัวอย่างเลื่อนลอย ตาของเขาก็สบเข้ากับดวงอาทิตย์ และลำแสงอันทรงพลังก็ทะลวงลึกเข้าไปในอณูกายของเขา ฉับพลันความรู้สึกของเขาก็หวนคืนกลับมา ภาพจำชุดหนึ่งวิ่งผ่านเข้ามาในความคิด ภาพของการปล้น เปลวเพลิง ความโกลาหล สถานีรถไฟ กระสุนปืน ราตรีกาล และซากีนา

สิราชชุดดีนผลุงตัวลุกขึ้นและวิ่งฝ่าวงคลื่นมนุษย์รอบตัวเขาออกไปราวกับถูกผีสิง

ตลอดสามชั่วโมงเต็มๆ ที่เขาวิ่งพล่านไปทั่วค่ายและกู่เรียก “ซากีนา ซากีนา” แต่ก็ไม่พบร่องรอยของลูกสาววัยรุ่นคนเดียวของเขา ทั่วทั้งบริเวณระงมไปด้วยเสียงบาดแก้วหู บางคนกำลังตามหาลูก บางคนกำลังตามหาแม่ บางคนก็ตามหาเมียหรือลูกสาว ในที่สุดสิราชุดดีนก็ยอมแพ้และทรุดตัวลงนั่งที่ข้างทางเดินอย่างเหนื่อยล้า พยายามเค้นความทรงจำถึงตอนที่ซากีนาพลัดหลงกับเขา แต่ทุกครั้งความพยายามที่จะรำลึกของเขาก็จะมาติดอยู่ที่ภาพร่างของเมียเขาที่ถูกชำแหละเป็นชิ้นๆ ไส้พุงถูกควักออกมาจนหมด และเขาก็หมดแรงที่จะรำลึกต่อ

แม่ของซากีนามันตายไปแล้ว ตายต่อหน้าสิราชุดดีน แต่ซากีนามันหายไปไหน? ตอนที่นางนอนรอความตาย แม่ของซากีนากำชับเขาว่า “อย่ามัวห่วงฉัน รีบพาซากีนาหนีไป”

ตอนนั้นซากีนายังอยู่กับเขา พวกเขาทั้งสองคนพากันวิ่งเท้าเปล่าหนีไป ผ้าทุปัฏฏา [2] ของเธอหลุดออกและตอนที่เขาหยุดวิ่งเพื่อที่จะเก็บมันขึ้นมา ซากีนาก็ตะโกนว่า “อับบาจี ทิ้งมันไว้” แต่อย่างไรแล้วเขาก็เก็บมันขึ้นมา ขณะที่คิดถึงเรื่องนี้ สายตาของเขาก็ชำเลืองไปมองกระเป๋าเสื้อคลุมอันตุงโป่ง เขาเอามือล้วงเข้าไปในประเป๋าเสื้อและดึงผ้าชิ้นหนึ่งออกมา มันคือทุปัฏฏาผืนนั้น มันไม่ผิดแน่ แต่ตัวซากีนานั้นหายไปไหนกัน?

สิราชุดดีนพยายามเค้นความทรงจำแต่สมองอันเหนื่อยล้าก็เขาก็สับสนปนเปไปหมด เขาพาเธอมาจนถึงที่สถานีรถไฟได้ไหม? เธออยู่กับเขาบนรถไฟหรือไม่? เขาสลบไปตอนที่กลุ่มผู้ก่อจลาจลหยุดรถไฟและบุกเข้ามาข้างในหรือเปล่า? แล้วมันใช่ตอนนั้นหรือเปล่าที่พวกนั้นมันฉุดเธอไป?

สมองของเขานั้นเต็มไปด้วยคำถามแต่มันก็ไม่มีคำตอบ เขาต้องการความเห็นใจ แต่ทุกคนที่อยู่รอบตัวเขาก็ล้วนต้องการมันเช่นกัน เขาอยากที่ร้องไห้ออกมา แต่ก็ทำไม่ได้ น้ำตาของเขามันแห้งเหือดไปจนหมดแล้ว

หกวันถัดมา เมื่อสิราชุดดีนพอที่จะฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง เขาก็ได้พบกับคนที่พร้อมจะช่วยเขา ชายหนุ่มแปดคนที่มีรถกระบะและปืนยาวพร้อม เขาอวยชัยพวกนั้นและพรรณนาถึงรูปลักษณ์ของซากีนาให้ฟัง “มันเป็นคนผิวพรรณขาวและสวยมาก มันเหมือนแม่ของมัน ไม่มีเค้าของลุงสักนิด มันน่าจะอายุราวสิบเจ็ดปี ตาโต ผมเข้ม มีไฝได้รูปสวยงามที่แก้มขวา ตามหาตัวมันให้หน่อย ขอพระเจ้าทรงอวยชัย”

บรรดาอาสาสมัครหนุ่มให้คำมั่นกับสิราชุดดีนว่า ถ้าลูกสาวของเขายังมีชีวิตอยู่เขาก็จะได้พบหน้าเธออีกครั้งในไม่กี่วัน

เหล่าอาสาสมัครทำงานอย่างเต็มที่ เสี่ยงชีวิตของตัวเองลอบเข้าไปในอมฤตสระ พวกเขาช่วยผู้หญิง ผู้ชายและเด็กได้จำนวนหนึ่งและพาพวกเขามายังที่ปลอดภัย แต่สิบวันผ่านเลยไปพวกเขาก็ยังหาตัวซากีนาไม่พบ

วันหนึ่งขณะที่กำลังเดินทางด้วยรถกระบะคันเดิมเข้าไปทำภารกิจช่วยชีวิตคนที่อมฤตสระ พวกเขาก็สังเกตเห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินมาตามถนนอย่างอิดโรยใกล้ๆ กับเมืองจุหรัต เสียงรถกระบะทำให้หญิงสาวตกใจและรีบวิ่งหนีไปด้วยความกลัว เหล่าชายหนุ่มหยุดรถและวิ่งไล่ตามเธอไป ในที่สุดพวกเขาก็ตามตัวเธอได้ทันที่กลางทุ่ง เธอเป็นผู้หญิงที่สวยจนตะลึงและมีไฝดำจุดโตอยู่ที่แก้มขวา “ไม่ต้องกลัว” ชายหนุ่มคนหนึ่งพยายามพูดปลอบประโลมเธอ “เธอชื่อซากีนาใช่ไหม?”

ทันใดนั้นใบหน้าของหญิงสาวก็ซีดเผือด เธอไม่ยอมตอบอะไร จนเมื่อพวกหนุ่มๆ ค่อยปลอบประโลมเธอ เธอก็ค่อยคลายความหวาดกลัวลงและยืนยันว่าตัวเธอนั้นใช่ซากีนา ลูกสาวของสิราชุดดีน

เหล่าชายหนุ่มพยายามเอาใจเธอ เอาอาหารมาให้เธอกิน เอานมมาให้เธอดื่ม แล้วจากนั้นก็ช่วยให้เธอปีนขึ้นรถกระบะไป เด็กหนุ่มคนหนึ่งถึงกับถอดเสื้อคลุมของเขาให้เธอสวม เมื่อเห็นว่าเธอประหม่าที่ปราศจากผ้าทุปัฏฏาคลุมหัว โดยพยายามที่จะใช้แขนทั้งสองข้างของเธอปกปิดเนินอกเอาไว้

หลายวันผ่านไป สิราชุดดีก็ยังไม่ได้ยินข่าวคราวของซากีนา ทุกเช้าเขาจะเดินไปตามค่ายและสำนักงานต่างๆ แต่กระนั้นเขาก็ยังตามร่องรอยของลูกสาวที่หายตัวไปไม่สำเร็จ ทุกราตรีเขาก็จะดุอาอ์อวยชัยให้แก่ปฏิบัติการของกลุ่มอาสาสมัครที่สัญญาว่าจะพาตัวลูกสาวของเขากลับมาหากเธอยังมีชีวิตอยู่

วันหนึ่งเขาก็เห็นกลุ่มอาสาสมัครนั้นที่ในค่าย พวกเขากำลังนั่งกันอยู่บนรถกระบะ ก่อนที่รถกระบะจะออกตัว สิราชุดดีนก็วิ่งไปทันที่จะได้สนทนากับพวกเขา “ลูกเอ๋ย หาตัวซากีนาลูกของลุงพบไหม?”


“อ๋อ พบแน่ครับ พบแน่”
พวกเขาตอบเป็นเสียงเดียวกันก่อนที่จะขับรถกระบะออกไป

อีกครั้งหนึ่งที่สิราชุดดีนดุอาอฺอวยชัยให้กับเด็กหนุ่มกลุ่มนี้ที่ช่วยยกหินในอกของเขาออกไปได้บ้าง

เย็นวันเดียวกันนั้น เขาก็ได้ยินเสียงเอะอะโหวกเหวกอยู่ใกล้ๆ กับตรงที่เขานั่งอยู่ มีชายสี่คนช่วยกันแบกเปลสนามเข้ามา จากการสอบถามเขาก็ได้ยินมาว่า มีคนพบเด็กผู้หญิงนอนไม่ได้สติอยู่ที่ข้างรางรถไฟ เขาตามคนพวกนั้นไป พวกเขานำตัวเด็กสาวมาส่งโรงพยาบาลแล้วก็รีบกลับออกไป

เขายืนพิงเสาไม้ข้างนอกห้องพยาบาลอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะค่อยๆ เดินเข้าไปข้างใน ไม่มีใครอยู่ในห้อง เขาเห็นเพียงร่างอันไร้พลังชีวิตนอนอยู่บนเปลสนามอันนั้น สิราชุดดีนเดินเข้าไปใกล้ทีละนิดๆ อย่างลังเล ทันใดนั้นไฟในห้องสว่างขึ้นมา “ซากีนา!” เขาแผดเสียงขึ้นมาทันทีที่เห็นไฝเม็ดใหญ่ส่องประกายอยู่บนใบหน้าซีดเผือดของหญิงสาวผู้ไร้ชีวิต

“มีอะไรกัน?” นายแพทย์ผู้เปิดสวิตช์ไฟถามเขา

“ผม คุณหมอครับ ผม ผมเป็นพ่อของเธอ” คำพูดเล็ดลอดออกมาจากลำคออันแห้งผากของเขา

นายแพทย์ชำเลืองมองร่างบนเปลสนาม เขาจับชีพจร ชี้ไปที่หน้าต่างแล้วบอกสิราชุดดีนว่า “เปิดมันออก”

ร่างของซากีนาที่อยู่บนเปลสนามขยับอย่างอ่อนล้า เธอใช้มืออันไร้ชีวิตคลายปมเชือกที่รัดเอวกางเกงซัลวาร์ [3] ของเธอออกอย่างช้าๆ ปลดมันลง แล้วอ้าขาออก

“ยังมีชีวิต ลูกสาวของผมยังมีชีวิตอยู่” สิราชุดดีนผู้ชราตะโกนก้องอย่างดีใจ

ด้านนายแพทย์นั้นเหงื่อกาฬของเขาแตกพล่าน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Footnotes :

[1] Saadat Hasan Manto (سعادت حسن منٹو )

[2] दुपट्टा (เทวนาครี) หรือ دوباتا (อูรฺดู) เป็นผ้าที่สตรีในเอเชียใต้เอาไว้ใช้คลุมผมหรือปกปิดส่วนบนของร่างกาย

[3] सलवार (เทวนาครี) หรือ سلوار (อูรฺดู) เป็นกางเกงเอวผูกที่มีช่วงเอวและสะโพกกว้าง และค่อยๆ ลีบลงรัดข้อเท้าแบบที่นิยมใส่กันในเอเชียใต้

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *