Indian Summer: The Secret History of the End of an Empire

โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถ้าจำไม่ผิด ท่านอาจารย์ประทุมพร วัชรเสถียร อาจารย์ผู้ใหญ่ใจดีและน่าเคารพรักเป็นคนแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ผม ชื่อภาษาอังกฤษต้นฉบับคือ “Indian Summer: the Secret History of the End of an Empire” เขียนโดย อเล็กซ์ ฟอน ทันเซลมันน์ (Alex von Tunzelmann) จัดพิมพ์โดย Picador ปี ค.ศ. 2007 ซึ่งก็คือฉบับเดียวกับที่วางไว้ใน “จุฬาฯ ภารัตคดีสถาน” แต่ก็ได้เพียงนำมาวางไว้เฉย ๆ ไม่เคยมีโอกาสเขียนแนะนำเลย ครั้นวันนี้ได้ฉบับแปลมา ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะแนะนำหนังสือเล่มนี้เสียเลย

ประเทศปากีสถานและประเทศอินเดียดังที่เรารู้จักกันในวันนี้ ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 สิงหาคม และวันที่ 15 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1947 ตามลำดับ อุปราชอินเดียคนสุดท้ายที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมทำภารกิจมอบเอกราชให้ทั้ง 2 ประเทศ คือ ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน (Lord Louis Mountbatten) ที่ใช้คำว่า “ทางการ” ก็เพราะว่า ในช่วงเวลานั้นใครต่อใครก็รู้แล้วว่าอังกฤษจะออกจากอนุทวีปอินเดียไม่ช้าก็เร็ว และแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามนั้น ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมยวาหระลาล เนห์รูจึงใช้คำว่า “tryst with destiny” (หรือ เมื่อชะตากรรมได้กำหนดแล้ว)
ดังที่ ทันเซลมันน์ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ปี ค.ศ. 2007 และสุภัตรา ภูมิประภาสผู้แปลหนังสือเล่มนี้ก็ได้นำมาเล่าในหนังสือฉบับแปล คือ แรกเริ่มเดิมทีทันเซลมันน์ผู้ซึ่งขณะนั้นเพิ่งสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์เฟิร์ดมาได้ไม่นานนัก มีเจตนาต้องการเขียนเรื่องลอร์ดเมานต์แบ็ตเทน และภริยา เลดี้เอ็ดวินา เมานต์แบ็ตเทน (Lady Edwina Mountbatten)
ในปี ค.ศ. 2005 ระหว่างที่เธอกำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับทั้งสองที่ Nehru Memorial Museum and Library ณ นิวเดลี เธอก็รู้สึกสะดุดตากับภาพถ่ายภาพหนึ่งที่เลดี้เมานต์แบ็ตเทนกับเนห์รูเกาะกุมมือกันอยู่ เรื่องนี้ถูกนำมาเป็นเรื่องซุบซิบนินทาโดยผู้คนหลายกลุ่มที่ผมได้พบเจอในอินเดีย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีสารัตถะความจริงอยู่ แต่ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ไปสู่ความสัมพันธ์ทางกายภาพหรือไม่ ก็คงไม่มีใครทราบ ผู้แปลเองก็เขียนไว้ชัดเจนว่า “มีเพียงคนสองคนเท่านั้นที่รู้ และทั้งสองก็ตายไปแล้ว” ผู้อ่านลองดูภาพที่ 2 และ 3 ก็แล้วกัน
ผู้คนในแวดวงประวัติศาสตร์ชื่นชมทันเซลมันน์มากเป็นพิเศษ ที่เป็นเช่นนี้เพราะหนังสือเล่มนี้เลือกที่จะเล่าเรื่องราวการส่งมอบเอกราชประเทศผ่าน 5 บุคคลสำคัญ ได้แก่ (1) หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน (2) เอ็ดวินา เมานต์แบ็ตเทน (3) เนห์รู (4) โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (Mohammed Ali Jinnah) และ (5) โมหันทาส กรัมจันท์ คานธี หรือมหาตมาคานธี ปฏิกิริยาระหว่างบุคคลเหล่านี้ในช่วงเวลาฤดูร้อนในอินเดีย คือนอกจากอากาศจะร้อนแล้ว บรรยากาศก็เร่าร้อนไม่แพ้กัน การห้ำหั่นกันระหว่างฮินดูและซิกข์ฝ่ายหนึ่งกับมุสลิมอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นความหายนะของมนุษยชาติครั้งสำคัญเลยก็ว่าได้
ประวัติศาสตร์นี้เมื่อเล่าผ่านชีวประวัติที่เชื่อมต่อกันของผู้คนเหล่านี้ทำให้เห็นว่า เอกราชอินเดียเป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างบุคคลทั้ง 5 คนที่มีอิทธิพลอย่างมหันต์ยิ่ง ความสัมพันธ์ที่ว่านี้มีทั้งแบบความรัก แบบใกล้ชิดสนิทสนม และแบบเป็นปฏิปักษ์อย่างโจ่งแจ้ง ฯลฯ
หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลเกร็ดเคล็ดมากมาย ขึ้นอยู่กับผู้อ่านแต่ละคนว่าจะชอบส่วนไหนมากเป็นพิเศษ ส่วนตัวที่รู้สึกชอบมาก คือส่วนที่พรรณนาเกี่ยวกับเมานต์แบ็ตเทนและดยุกแห่งเอดินบะระ (Duke of Edinburgh)
เรื่องราวเกี่ยวกับเมานต์แบ็ตเทนก็ถือเป็นหัวข้อที่นักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ยังถกเถียงกันมาก กลุ่มที่ไม่ชอบเมานต์แบ็ตเทนก็มีจำนวนมากอยู่พอสมควร ฉายาไม่ดีที่เขาได้รับก็เช่น เจ้าแห่งความมืด (Lord of darkness) หรือ เจ้าแห่งมหันตภัย (the master of disaster) ในมุมมองผม ซีรีส์ “The Crown” โดย Netflix ที่ฉายครั้งแรกในปี ค.ศ. 2016 ก็ให้ภาพของเมานต์แบ็ตเทนในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่นี่ก็คือบุคคลที่นายกรัฐมนตรีคลีเมนต์ แอตลีย์ (Clement Attlee) เลือกให้ทำภารกิจมอบเอกราชแก่อินเดีย ซึ่งต้องทำอย่างรวดเร็วและอย่างประหยัดด้วย ในประเด็นนี้ทันเซลมันน์โต้แย้งว่าเมานต์แบ็ตเทนได้ “เปลี่ยนความยุ่งเหยิงที่สร้างความชะงักงัน ให้กลายเป็นการล่าถอยจากจักรวรรดิที่อาจจะประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็จากมุมมองของชาติจักรวรรดินิยมนี้” แต่นี่ย่อมไม่ใช่มุมมองของหลายคน โดยเฉพาะชาวซิกข์ที่มองว่า เมานต์แบ็ตเทนไม่ได้จัดกองกำลังอังกฤษเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างหนักหนาสาหัสในปัญจาบ สิ่งที่เมานต์แบ็ตเทนเลือกทำคือการรีบเร่งแบ่งประเทศก่อนทั้งสองจะได้รับเอกราชด้วยการนองเลือด
หนังสือเล่มนี้ถือเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมเล่มหนึ่งที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์อนุทวีปอินเดียในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากอาณานิคมสู่เอกราช หากใช้ศัพท์ภาษาของวิลเลียม ดาลริมเพิล (William Dalrymple) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อินเดียชาวสก็อตแลนด์ หนังสือเล่มนี้คือ “งานชิ้นเอกอย่างไม่ต้องลังเลสงสัย” ที่น่าชื่นชมมากคือ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีอายุน้อยมาก ตอนที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 เธอมีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น และหากนับเวลาช่วงที่เธอเริ่มหาข้อมูลในเดลี เธอก็มีอายุเพียง 28 ปีเท่านั้น กล่าวคือเพียงไม่กี่ปีหลังจากเธอจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์เฟิร์ดนั่นเอง

ฉบับแปลภาษาไทยมีชื่อว่า “ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ” แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส ตีพิมพ์โดยยิปซีกรุ๊ป ปี พ.ศ. 2564 อ่านฉบับแปลคร่าว ๆ แล้ว รู้สึกชอบ ตัวหนังสือมีหัวตัวใหญ่ อ่านง่าย ภาษาไทยก็เรียบง่ายเป็นไปตามสำนวนไทย ที่ชอบมากอีกคือ มีส่วนอภิธานศัพท์ และดัชนีคำด้วย ราคา 585 บาท แต่ถือว่าไม่แพงเพราะหนังสือมีความหนาถึง 569 หน้า

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”

ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *