โดย ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนังสือเล่มนี้มิใช่หนังสือตีพิมพ์ใหม่ เพราะตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1991 คือประมาณ 30 ปีที่แล้ว แต่ที่ต้องหามาไว้ใน “จุฬาฯ ภารัตคดีสถาน” ให้ได้ ก็เพราะเล่มนี้จัดเป็นหนึ่งในวรรณกรรมชั้นเลิศเกี่ยวกับอินเดีย
ชื่อหนังสือคือ “The Honourable Company: A History of the English East India Company” เขียนโดย จอห์น คีย์ (John Keay)
บริษัทดังกล่าว ซึ่งในกาลต่อมาได้ใช้ชื่อว่า “บริษัทอินเดียตะวันออก” ก็ได้ผูกขาดการค้าเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี และปกครองพื้นที่จำนวนมากของอนุทวีปอินเดียด้วยกองกำลังทหารอันทรงพลัง แม้บริษัทจะเลิกกิจการในปี ค.ศ. 1874 แต่ปราศจากบริษัทนี้ก็คงไม่มีจักรวรรดิอังกฤษ
มีวรรณกรรมจำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงบริษัทอินเดียตะวันออก และจำนวนหนึ่งในนั้นก็ชวนผู้อ่านมองบริษัทฯ ว่ามีพฤติกรรมเลวร้ายและขูดรีดเป็นอาจิณเยี่ยงไร แต่ดังที่กล่าวไว้แล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นเล่มแรกๆ ที่ให้รายละเอียดค่อนข้างมาก และชวนเรามองบริษัทฯ แตกต่างจากเล่มอื่
สิ่งที่ผู้เขียนทำคือเล่าเรื่องใหม่ อันเป็นดั่งกาพย์แห่งความพยายามในการแผ่ขยายอิทธิพลของบริษัทโดยใช้ข้อมูลที่มาจากการบันทึกของพนักงานบริษัทฯ หนังสือแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลา ครอบคลุมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1600 ถึง ปี ค.ศ. 1820 แม้เนื้อหาสาระจะเน้นอินเดียมากเป็นพิเศษ แต่ก็ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ ด้วย
ประวัติผู้เขียนหนังสือก็น่าสนใจไม่น้อย คีย์จบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ Magdalen College มหาวิทยาลัยอ็อกซเฟิร์ด ในบรรดาอาจารย์ของเขาที่อ็อกซเฟิร์ดนั้น มี เอ.เจ.พี. เทย์เลอร์ (A. J. P. Taylor) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ และอลัน เบนเน็ตต์ (Alan Bennett) ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นนักเขียนบทละครด้วย
ในปี ค.ศ. 1965 เขาไปเยือนอินเดียเป็นครั้งแรก โดยไปตกปลาที่แคชเมียร์เป็นเวลาสองสัปดาห์ และรู้สึกชอบมาก จนในปีต่อมาต้องกลับมาเยือนอีกครั้ง คราวนี้เป็นเวลาหกเดือนเลยทีเดียว
เขาเริ่มอาชีพของเขาที่ The Economist ซึ่งที่นี่เองที่ตั้งฉายาเขาว่า “นักประวัติศาสตร์นอกวิชาการผู้มีพรสวรรค์” (“a gifted non-academic historian”) ช่วงทศวรรษ 1980 เขาทำงานให้วิทยุบีบีซี ทั้งในฐานะผู้เขียนบทและผู้จัดรายการ อีกทั้งสร้างสารคดีหลายชุดให้ช่อง BBC Radio 3 นอกจากนี้ยังจัดรายการให้ BBC Radio 4 ด้วย
เขาได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมทั้ง Sir Percy Sykes Memorial Medal ในปี ค.ศ. 2019 ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์โดยเจ้าหญิงแอนน์ จาก University of the Highlands and Islands ในสก็อตแลนด์
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts”
ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)