Muzeul Naţional de Istorie a Moldovei (The National Museum of History of Moldova) เรารู้จักมอลโดวาน้อยไปจริง ๆ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต

ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และ

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมุดหมายถัดมาในการลงพื้นที่ในฐานะนักวิจัยแลกเปลี่ยน ก็คือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติประวัติศาสตร์มอลโดวา วันนั้นเราใช้การเดินเท้าจากหอพักไปที่พิพิธภัณฑ์ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที แดดตอน 10 โมงก็ร้อนจัดแล้ว พอไปถึงเห็นความอลังการของตัวพิพิธภัณฑ์ เราก็ทำใจเลยว่า น่าจะเดินดูข้างในอีกนาน เลยนั่งพักให้หายเหนื่อย และเติมพลังด้วยเชอร์รี่ ผลไม้ประจำฤดูร้อน (มาช่วงนี้ กินให้สะใจไปเลย)

หลังจากใช้เวลา 3 ชั่วโมงในพิพิธภัณฑ์ ใจก็คิดแล้วว่า จะเล่าเรื่องนี้อย่างไรดีนะให้ผู้อ่านเห็นภาพไปพร้อมกับเรา เพราะเนื้อหา/ข้อมูลช่างมากมาย พอเราเริ่มเขียนร่างแรก เล่าเนื้อหาจากนิทรรศการแบบละเอียด แต่เขียนไปเขียนมากลายเป็นยาวมาก เพราะประวัติศาสตร์ของมอลโดวามีความซับซ้อนและซ้อนทับกับหลายประเทศ เดี๋ยวก็อยู่กับรัสเซีย แต่เอ๊ะเดี๋ยวก็กลายเป็นโซเวียต ไล่เรียงลำดับทางประวัติศาสตร์กันชุลมุนพอตัว (ถ้าสนใจอ่านประวัติศาสตร์ของประเทศโดยย่อ เราขอแนะนำที่เพจของกระทรวงการต่างประเทศ จะทำให้เข้าใจบริบทที่นี้ขึ้นนิดหน่อย) ว่าแล้วก็ตามมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ผ่านความทรงจำและความรู้สึกของเราพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า

ก่อนเข้าชม เรามาทำความรู้จักเจ้าบ้านกันสักหน่อย…ข้อมูลจากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติประวัติศาสตร์มอลโดวา ระบุไว้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 1983 เดิมนั้นใช้ชื่อว่า The State Museum of History of MSSR ที่มีมาตั้งแต่สมัยเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวีย (Moldavian Soviet Socialist Republic: MSSR) และเปลี่ยนมาใช้ชื่อในปัจจุบันตั้งแต่ปี 1991 หลังจากประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต ส่วนที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั้นเคยเป็นยิมเนเซียมสำหรับเด็กชายของเมือง Chișinău [1] มาก่อน

ตัวอาคารก็มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ คือ ในปี 1977 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้อาคารแห่งนี้เสียหายอย่างหนัก จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ สุดท้ายจึงต้องทำลายอาคารเก่า และสร้างอาคารใหม่ในช่วงปี 1980 – 1987 แต่ยังคงรูปแบบภายนอกและการตกแต่งเหมือนยิมเนเซียมเดิม น่าเสียดายที่ข้อมูลในเว็บไซต์เล่าเรื่องนี้ไม่มาก จึงไม่สามารถรู้รายละเอียดได้ถึงการตัดสินใจทำลายอาคารเก่าในช่วงเวลานั้น (ท่านใดที่สนใจตัวอาคาร สามารถดูคลิปตัวอาคารเดิมเปรียบเทียบอาคารใหม่ได้จากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์)
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติประวัติศาสตร์มอลโดวาเปิดให้บริการในอาคารหลังใหม่มาตั้งแต่ปี 1987 มีห้องจัดแสดง 12 ห้องและห้องไดโอรามา (Diorama) รวมเป็นพื้นที่จัดแสดงทั้งหมด 5,700 ตารางเมตร (3 ชั้น) ส่วนค่าเข้าชม มีการแบ่งตามประเภทนิทรรศการ ถ้าจะเข้าชมทุกห้องคิดรวมเป็น 20 Lei และมีค่าถ่ายรูปอีก 15 Lei รวมเป็นเงิน 35 Lei หรือประมาณ 70 บาท แต่ถ้าไปชมในวันเสาร์และอาทิตย์สุดท้ายของแต่ละเดือน ก็จะเข้าฟรี ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยา และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็จ่ายราคาเดียวกับชาวมอลโดวา

เมื่อจ่ายเงินค่าเข้าชมแล้ว เราก็จะเดินขึ้นไปชั้น 2 ของอาคาร ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรในแนวคิด ‘ประวัติศาสตร์และอารยธรรม’ (History and Civilization) นำเสนอประวัติศาสตร์ของมอลโดวา ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จวบจนถึงปัจจุบัน

โถงแรกของนิทรรศการถาวร เป็นห้องสีแดง จัดแสดงยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมอลโดวา
โถงที่สองเป็นโซนของมอลโดวายุคกลาง (ศตวรรษที่ 13-18)

จากจักรวรรดิรัสเซียถึงจนเป็นมอลโดวา

สำหรับเรา เริ่มรู้สึกเชื่อมโยงช่วงประวัติศาสตร์ยุคศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากสงครามรัสเซีย-ตุรกี ทำให้พื้นที่ที่เรียกว่า Moldavia กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย (ยุคสมัยซาร์) สิ่งจัดแสดงในห้องนี้สะท้อนถึงความศิวิไลซ์ในยุคนั้นอย่างชัดเจน ทั้งหนังสือพิมพ์ ธนบัตรลวดลายสวยงาม เครื่องคิดเลข หนังสือเรียน รวมไปถึงวารสารของสมาคมนักวิทยาศาสตร์แห่งเบสซาเรเบีย (Berssarabia) นอกจากสิ่งจัดแสดงแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังนำเสนอบุคคลสำคัญของยุคนั้น คือ Carol Schmidt นายกเทศมนตรีของคิชิเนา (1877 – 1903) เป็นช่วงแห่งการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย ทั้งระบบน้ำประปาที่ดื่มได้ การสร้างโรงพยาบาลเด็ก ที่พักสำหรับคนไร้บ้าน โรงเรียนศิลปะ โรงเรียนมัธยมสำหรับผู้หญิง เป็นต้น วิธีการนำเสนอใช้เพียงแผ่นปลิว (Leaflet) ที่สรุปสาระสำคัญไว้อย่างกระชับ

ห้องถัดไป นำเราไปสู่ช่วงเวลาที่ประเทศได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติครั้งใหญ่ในรัสเซีย โดยเฉพาะด้านการศึกษา ศาสนา การปกครอง (รัฐบาล) และต่อเนื่องไปถึงเรื่องราวของสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ห้องนี้ยังเล่าถึงกลุ่มนางพยาบาลในช่วงสงคราม รวมทั้งบทบาทของหนังสือพิมพ์ Cuvânt moldovenesc ต่อขบวนการเคลื่อนไหวระดับชาติ จนนำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากรัสเซีย บุคคลสำคัญที่ห้องนี้นำเสนอ คือ Alexandra Remenco (1897 – 1959) ผู้ที่เป็นทั้งครู ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของคิชิเนา ข้อมูลจากแผ่นปลิวที่จัดแสดง สรุปได้ว่าผลงานของเธอเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในโรมาเนียและต่างประเทศ แม้กระทั่ง Maria Montessori นักการศึกษาชื่อดังชาวอิตาลียังเคยมาเยี่ยมชมสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ และเสนอว่า Alexandra ควรจะได้ไปนำเสนอผลงานที่โรมเกี่ยวกับวิธีการสอนแบบหัวก้าวหน้าสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนของเธอ เรื่องราวของเธอยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

ส่วนหนึ่งของสิ่งจัดแสดงในห้องสีเหลือง ทั้งหนังสือเรียน ภาพถ่ายครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ธนบัตรและเครื่องคิดเลข

มอลโดวาใต้เงาสหภาพโซเวียต

การจัดแสดงนำเสนอเรื่องราวต่อเนื่องไปถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และภายหลังสงคราม มอลโดวาถูกครอบครองโดยสหภาพโซเวียต (USSR) อีกครั้ง ช่วงนี้แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายในยุคนั้น และความยากลำบากของพลเมืองโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กที่ถูกส่งตัวไปในดินแดนห่างไกลเพื่อถางป่า ทำความสะอาดคูน้ำ หรือไปทำงานในฟาร์ม รวมถึงการรอแบ่งปันส่วนเมล็ดพันธุ์พืชจากรัฐบาล แต่โซนนี้ก็ยังจัดแสดงจดหมาย แผ่นปลิวและหนังสือที่ต่อต้านสหภาพโซเวียต ทำให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของคนในชาติที่แสดงออกต่อการถูกครอบครองโดยโซเวียต จากนั้นนิทรรศการก็นำผู้ชมเข้าสู่ช่วงความพยายามแยกตัวเป็นเอกราช ผู้ชมจะรับรู้เรื่องราวผ่านการจัดแสดงเอกสารประวัติศาสตร์ทั้งหนังสือพิมพ์ โปสเตอร์รณรงค์ ภาพถ่าย และธงชาติที่ลงนามโดยสมาชิกผู้แทนราษฎรที่โหวตสนับสนุนการประกาศเอกราช ในวันที่ 27 สิงหาคม 1991

นำเข้าสู่ห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ช่วงผลกระทบจากการปฏิวัติครั้งใหญ่ในรัสเซีย
จุดเริ่มต้นจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมอลโดวา
ภาพถ่ายของผู้หญิงและเด็กที่ถูกส่งตัวไปในดินแดนห่างไกล
ตัวอย่างจดหมาย แผ่นปลิวและหนังสือที่ต่อต้านสหภาพโซเวียต
การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมของมอลโดวาภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต
ภาพประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับความพยายามแยกตัวเป็นเอกราช

บุคคลสำคัญกับมอลโดวายุคใหม่

จากนั้น เราก็เดินเข้าสู่ห้องโถงสุดท้ายของนิทรรศการถาวร เป็นการเล่าถึงมอลโดวาในยุคใหม่ผ่าน “Personalities” หรือบุคคลสำคัญของประเทศ เราชอบวิธีการแนะนำห้องนี้ที่ทำได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการเชื่อมไปถึงช่วงที่ถูกครอบครองโดยสหภาพโซเวียตว่า แม้จะมีความโหดร้ายหรือน่าสะพรึงกลัว แต่ก็เป็นช่วงที่มีความสำเร็จอันโดดเด่นในหลากหลายสาขา ดังนั้น สิ่งจัดแสดงในห้องนี้จึงเน้นไปที่บุคคลสำคัญในแต่ละด้านของมอลโดวาที่ควรได้รับการเชิดชู ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แพทย์ รวมไปถึงศิลปินแขนงต่างๆ ทั้งนักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน นักร้องโอเปร่า นักดนตรี และจิตรกร ชิ้นงานที่น่าสนใจคือภาพวาด “The Coronation of King Ferdinand and Queen Maria 1922” ขนาด 295 X 383 ซม (เกือบ 3 X 4 เมตร) ของ Elena Bria ชาวมอลโดวา ที่เป็นผลงานชิ้นจบการศึกษาของเธอ ที่ Academy of Fine Arts Ilya Repin ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2018 โดยภาพนี้ใช้เวลาในการหาข้อมูลและสเก็ตภาพเกือบ 2 ปี และใช้เวลาในการวาดจริง 6 เดือน ภาพนี้ถูกจัดแสดงในห้องนี้เป็นกรณีพิเศษระหว่าง 10 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2567 นี้เท่านั้น ก่อนที่จะไปจัดแสดงอีก 2 งานที่โรมาเนีย
ภาพวาด “The Coronation of King Ferdinand and Queen Maria 1922” ผลงานชิ้นจบการศึกษาของ Elena Bria ชาวมอลโดวา
การจัดแสดงเกี่ยวกับ Maria Cebotari นักร้องโอเปราคนสำคัญของประเทศ
เดินวนครบรอบชั้นบน เราก็ลงมาข้างล่าง เพื่อดูนิทรรศการชั่วคราว ซึ่งเราได้ชมนิทรรศการเสื้อผ้าของประเทศจีน (ที่ได้รับจากสนับสนุนจากสถานทูตจีนในมอลโดวา) นิทรรศการแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในยุคศตวรรษที่ 20 ที่จัดแสดงเสื้อผ้าที่พิพิธภัณฑ์เก็บไว้ ซึ่งจัดโชว์เสื้อผ้าในตู้กระจก แต่ก็มีภาพถ่ายของบุคคลจริงในยุคนั้นๆ ประกอบเพื่อให้เห็นบรรยากาศของจริงด้วย แล้วก็ยังมีนิทรรศการอาวุธสงครามของยุคต่างๆ ให้ได้ชม
เดินลงไปชั้นใต้ดิน ก็มีอีก 2 นิทรรศการ คือ ห้องคลังสมบัติ (Treasure Room) ที่จัดแสดงเครื่องทองเครื่องเงินโบราณ อีกห้องจัดเป็นนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับนักโทษทางการเมืองที่ต่อต้านสหภาพโซเวียต หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้กับโรมาเนีย คนเหล่านี้ถูกคุมขังหรือไม่ก็ถูกผลักให้ออกนอกประเทศ (Deportation) ไปยังดินแดนห่างไกล นิทรรศการจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร จดหมายจากไซบีเรีย โปสเตอร์ รวมไปถึงของใช้ส่วนตัวของผู้ที่เป็นเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าว เราอ่านบทสรุปหน้าห้องจบแล้ว ชะโงกหน้าเข้าไปดูห้องจัดแสดง แล้วก็ต้องเดินออกมา ความรู้สึกมันท่วมท้นเกินกว่าจะดูสิ่งจัดแสดงได้ เราจึงขอผ่านห้องนี้ กลับขึ้นมาข้างบน
บางส่วนของนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในด้านต่าง ๆ

เทคโนโลยีสร้างประสบการณ์ร่วมกับพิพิธภัณฑ์

แต่เราเริ่มเห็นถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว ทั้งการใช้แอพพลิเคชัน ARTIVIVE เพื่อให้ผู้ชมได้ดูคลิปหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดงเหมือนที่ National Museum of Ethnography and Natural History  และ Interactive Book ที่นำเสนอวิวัฒนาการของตัวอักษรและการเขียนของมอลโดวา ซึ่งนิทรรศการระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Programului Muzeele Viitorului แปลคร่าวๆ คือ โครงการพิพิธภัณฑ์สำหรับอนาคต วันแรกที่ไป ไม่รู้ว่าเล่นอย่างไร เลยไม่ได้ทดลองเล่น ดังนั้น วันเสาร์สุดท้ายของเดือนที่พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าฟรี เราเลยแวะไปอีกรอบด้วยความอยากรู้อยากเห็นหลักการทำงานของ Interactive Book เล่มนี้

ภาพปกของ Interactive Book ในห้องมอลโดวายุคกลาง
หลักการก็คือ เราต้องไปยืนในจุดที่กำหนดไว้ จะมีกล้องจับการเคลื่อนไหว แล้วเราก็ใช้มือปัด/โบก เพื่อเปิดหน้าสมุด แรกๆ ยังจับจังหวะไม่ได้ ก็โบกมั่ว (เอิ๊ก ๆ) กล้องก็จะจับเราไม่ทัน แต่พอจับจังหวะได้ ก็สามารถเปิดได้ทีละหน้า เพียงแค่ติดที่ภาษาเท่านั้น เท่าที่ดูคือเล่าเรื่องพัฒนาการของการเขียนตั้งแต่ยุคแรกเริ่มถึงปัจจุบัน รวมไปถึงอุปกรณ์เกี่ยวกับการเขียนด้วย
เราได้โอกาสสังเกตดูผู้เข้าชมอื่น โดยเฉพาะที่มากับเด็กๆ จะสนุกและทดลองเล่น Interactive Book นี้ ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความตื่นเต้นระหว่างผู้เข้าชมกับพิพิธภัณฑ์ แล้วยังสร้างปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวที่มาชมด้วยกันอีกด้วย

ประวัติศาสตร์คือสะพานเชื่อมโลก

สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ (และอาจจะแห่งอื่นๆ ด้วย) คือ การคำนึงถึงกลุ่มผู้เข้าชมที่เป็นผู้พิการในรูปแบบต่างๆ การเพิ่มความช่วยเหลือในการเรียนรู้/เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้พิการจะช่วยสร้างการมีใจคำนึงถึงคนอื่นแก่ผู้เข้าชมทุกคน
โดยรวม ต้องยอมรับว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจัดการความรู้ การให้ข้อมูลที่ดีทีเดียว สิ่งจัดแสดงก็ทำได้สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีข้อมูลภาษาอังกฤษประกอบทุกจุด แต่ด้วยความประณีตและสวยงาม จึงทำให้นิทรรศการมัน “แห้ง” ไปนิด ขาด Human Touch ระหว่างผู้ชมกับสิ่งจัดแสดง แม้ว่าจะนำเรื่องราวของบุคคลสำคัญในแต่ละช่วงสมัยมาเล่าในห้องต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงคนดูกับประวัติศาสตร์แล้วก็ตาม อย่างห้อง Diorama ข้างล่าง ที่จัดแสดงเกี่ยวกับปฏิบัติการ “Iasi-Chisinau” ก็มีคำอธิบายเพียงสองย่อหน้า หากมีคลิปสั้นๆ หรือ Audio-visual ประกอบการชม ก็จะส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศมอลโดวาอย่างจำกัด
ที่นี่ยังมีร้านหนังสือและร้านขายของที่ระลึกขนาดใหญ่ด้วย หนังสือมีมากมายหลากหลายประเภท มีจัดมุมให้นั่งอ่านไว้หลายจุด เหมาะกับการนั่งพักหลังจากเดินรอบพิพิธภัณฑ์ สำหรับสายหนังสืออย่างเราก็เดินชมชั้นหนังสือด้วยความอิ่มเอมและตื่นตาตื่นใจที่เห็นหนังสือในภาษาโรมาเนีย ภาษารัสเซีย และเป็นครั้งแรกที่แอบรู้สึกดีใจมากที่อ่านไม่ออก เลยไม่เสียเงินให้กับร้านนี้ (ที่สำคัญ ยังไม่พร้อมที่จะเพิ่มน้ำหนักให้กับกระเป๋าเดินทาง)
ความเย้ายวนใจของร้านขายหนังสือและของที่ระลึก
เวลาเกือบครึ่งวันในพิพิธภัณฑ์ ยิ่งยืนยันได้ว่า มอลโดวาเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ซับซ้อนแต่น่าสนใจมาก ทั้งยืนอ่าน ถ่ายรูปกลับมาอ่านต่อ หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเพิ่ม ก็ยังต้องค่อยๆ ย่อย (แถมยังย่อยยากอีกด้วย) ที่สำคัญเราไม่เคยได้เรียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภูมิภาคนี้เลย เรารู้เรื่องราวเหล่านี้น้อยมาก ทำให้แอบยากที่จะเข้าใจผ่านการชมพิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียว (และเพียงครั้งเดียว) แต่อย่างน้อยการเข้าชม Muzeul Naţional de Istorie a Moldovei นี้ทำเราได้เห็น ได้รู้จัก และได้ตระหนักได้ว่า “เรายังรู้น้อยเกินไปจริง ๆ”
After spending 3 hours at Muzeul Naţional de Istorie a Moldovei, I came to realise that Moldova has a very complex and complicate history. I must admit that I have very limited knowledge about Moldova and this area. I am so fortunate to learn about Moldova from the first-hand experience with the funding from Marie Curie Research and Innovation Staff Exchange scheme within the H2020 Programme (LABOUR Project). I really enjoy the museum as it provides comprehensive and appealing Moldova’s historical information from pre-historical era to present. The objects are carefully and neatly exhibited. I like the way the museum integrates stories of people in the exhibitions, especially the last room of its permanent exhibition upstairs. AR and interactive technology are also introduced to engage the visitors under the “Muzeele Viitorului” programme. I found that this interactive book was an engaging tool to connect visitors (especially young people) with the museum. It was rather fun to interact or play with it. It added ‘exciting’ element to the museum. One thing that can be added for this museum though (and probably other museums) is the learning aids for disabled people, enhancing the concept of “museum for all”.

บทความนี้เป็นประสบการณ์จากการเดินทางในฐานะนักวิจัยแลกเปลี่ยน ภายใต้โครงการ Marie Curie Research and Innovation Staff Exchange scheme within the H2020 Programme (LABOUR Project)

[1] การออกเสียงชื่อเมือง มักจะออกเสียงว่า คิชิเนา (คิชินาว) แต่กระทรวงการต่างประเทศสะกดออกเสียงว่า คิชิเนฟ ผู้เขียนขอใช้การออกเสียงคิชิเนาตามที่ใช้กันทั่วไป

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *